โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๒) 


           เรื่องราวของการเรียนรู้ระดับมัธยมยากขึ้นสมชื่อ    มีการใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น   มีความเป็นรูปธรรมเห็นด้วยตาน้อยลง    แต่พอเรียนชำนาญมากขึ้น ชาวนาสร้างการเรียนรู้ที่น่าประทับใจยิ่ง    โปรดติดตามครับ 


ตอนที่  1  หลักสูตร  2  การปรับปรุงบำรุงดิน
 
     จากลมหนาวที่พัดผ่าน  สู่ลมร้อนที่พัดพา  นับตั้งแต่เดือนสิบสอง  เดือนอ้าย  เดือนยี่  เดือนสาม  เดือนสี่  และนับรวมมาจนถึงเดือนห้า  ก็จึงนับรวมได้  6  เดือน  หากนับตามปฏิทินสากลใน  สุริยคติแล้ว  จะอยู่ในราวๆเดือนพฤศจิกายน  2547  ถึงเดือนเมษายน  2548 
     6  เดือนดังกล่าวนี้เป็นช่วงระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรมในระยะที่  2  ของโครงการ      ส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  หนึ่งในโครงการของมูลนิธิข้าวขวัญ  จังหวัดสุพรรณบุรี  โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  พอนับรวมระยะเวลาที่ได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาจากครั้งก่อนในระยะที่  1  (ช่วงเวลา  6  เดือนเช่นกัน)  ในคราวนี้จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินกิจกรรมตามโครงการครบ  1  ปี  พอดิบพอดี 
     การเรียนรู้ในระยะที่  2  เป็นหลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดิน  การเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาในหลักสูตรนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับดินที่ใช้ในทำนาปลูกข้าว  อันเป็นอีกจุดหนึ่งในการเตรียมพร้อมเพื่อจะก้าวไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน  …  ดินดี  น้ำดี  ข้าวก็จะงอกงามดี  และจะได้มีสุขภาวะดี
     ดินๆ  ดินๆ…  นักเรียนชาวนาจะได้เรียนรู้เรื่องของดินกันอย่างละเอียด  จนสามารถที่จะวิเคราะห์ดินในแปลงนาของตนเองได้  เมื่อรู้และเข้าใจถึงสภาพของดินแล้ว  จึงจะสามารถทำการปรับปรุงหรือบำรุงดินได้อย่างเหมาะสมกับสภาพ  นักเรียนชาวนาจะเรียนรู้เรื่องดินผ่านทางต้นข้าว  ผ่านทางตัวแมลง  และผ่านเครื่องมือทดสอบทางวิทยาศาสตร์  การบำรุงดินด้วยการปุ๋ยหมักชีวภาพ  ด้วยเชื้อจุลินทรีย์  การดูแลพืชหรือข้าวด้วยชีววิธี  ซึ่งบางส่วนได้เรียนรู้มาแล้วจากหลักสูตรแรกในช่วงระยะแรก
       ตัวอย่างหลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดินของโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  มีรายละเอียดดังนี้
      1.  เรื่องวิเคราะห์ปัญหาและเรียนรู้ดินสมบูรณ์ 
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้รู้และเข้าใจถึงปัญหาที่พบในแปลงนาของตนเอง  โดยเรียนรู้ได้จากการเจริญเติบโตของข้าวในแปลงนา
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เห็นภาพสิ่งมีชีวิตในดินที่อุดมสมบูรณ์  เช่น  แมลงตัวเล็ก  ไส้เดือน  เชื้อรา  เป็นต้น
        เนื้อหา  คือ
        -  การวิเคราะห์สภาพพื้นที่ปัญหาที่พบในแปลงนาของตนเอง
        -  การเรียนรู้สิ่งมีชีวิตในดินที่อุดมสมบูรณ์จากสื่อประสมมัลติมีเดียหรือวีซีดี  เรื่องดินมีชีวิต
      2.  ศึกษาดูงานแปลงนาอินทรีย์และคัดเลือกพันธุ์ข้าว
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้ศึกษาดูสภาพดินในแปลงนาที่ไม่ใช้สารเคมี  และให้สังเกต  การเจริญเติบโตของต้นข้าว
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้มีส่วนร่วมและเรียนรู้ถึงการคัดเลือกพันธุ์จากต้นข้าวที่สมบูรณ์    ในแปลงคัดพันธุ์ข้าว
        เนื้อหา  คือ
        -  การเรียนรู้โดยการสังเกตดินในแปลงนาข้าวอินทรีย์ของมูลข้าวขวัญ  และฟังบรรยายจากคุณเดชา  ศิริภัทร  ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ
        -  การร่วมคัดเลือกพันธุ์ข้าวในแปลงนาทดลองของมูลนิธิข้าวขวัญ
      3.  โครงสร้างและส่วนประกอบของดิน
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ 
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างและส่วนประกอบของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์  พร้อมกันนี้ได้ใช้ตัวอย่างดินจากแปลงนาของนักเรียนชาวนาแต่ละรายมาใช้ในการศึกษา
        เนื้อหา  คือ
        -  การเรียนรู้โครงสร้างและส่วนประกอบของดินทางกายภาพ  ทางชีวภาพ  และทางเคมี
      4.  ตรวจความเป็นกรดเป็นด่าง  และการแก้ไขปัญหา
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้รู้ถึงสภาพความเป็นกรดเป็นด่างในแปลงนาของตนเอง  อันมีผลต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารในดินให้กับต้นข้าว
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้วิธีที่จะแก้ปัญหาจากดินที่เป็นกรดในแปลงนา
        เนื้อหา  คือ
        -  การฝึกใช้เครื่องมือตรวจวัดความความเป็นกรดเป็นด่างในแปลงนาของนักเรียนชาวนา
        -  การแก้ไขปัญหาในสภาพดินที่เป็นกรด 
      5.  จุลินทรีย์ที่มีต่อการเกษตร
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้เกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพ  หรือปุ๋ยหมักชีวภาพที่ใช้ใน  การทำนาว่าเป็นจุลินทรีย์ประเภทใด
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้ถึงประโยชน์และหน้าที่ของจุลินทรีย์ที่ทำให้ดินเกิดความอุดมสมบูรณ์และทำให้พืชเจริญเติบโต
        เนื้อหา  คือ
        -  จุลินทรีย์อยู่อย่างอิสระที่ใช้ในการเกษตรในเรื่องน้ำหมักชีวภาพ
        -  จุลินทรีย์ที่อยู่แบบพึ่งพิงพึ่งพา  ในการเกษตร
      6.  ศึกษาดูงานและเก็บจุลินทรีย์ในป่าที่อุดมสมบูรณ์
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้ทบทวนความอุดมสมบูรณ์ของป่าธรรมชาติ  ซึ่งไม่ทีสารเคมีใดๆ  โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี 
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาเก็บตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์มาเพาะเลี้ยง  และนำไปใช้ในการย่อยสลายอินทรียวัตถุ  ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการทำน้ำหมักและปุ๋ยหมักชีวภาพ
        เนื้อหา  คือ
        -  การศึกษาดินในป่าที่สมบูรณ์  ณ  ป่าน้ำตกไซเบอร์  จังหวัดอุทัยธานี
        -  การเก็บจุลินทรีย์จากป่ามาเพาะเลี้ยงเพื่อเอาไว้ใช้ในการเกษตร
      7.  ฟื้นฟูพิธีกรรมและประเพณีเกี่ยวกับการทำนา
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้รู้จักพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวกับขั้นตอนของการทำนา    และนำความรู้นั้นไปใช้ในการทำนา 
        เนื้อหา  คือ
        -  พิธีกรรมการแรกไถ
        -  พิธีกรรมการแรกหว่าน
        -  พิธีกรรมการรับท้องข้าว
        -  พิธีกรรมการแรกเกี่ยว
        -  พิธีกรรมเรียกข้าวเข้าลาน
        -  พิธีกรรมรับขวัญข้าวเข้าลาน
        -  พิธีกรรมตักยุ้ง
      8.  ธาตุอาหารที่พืชต้องการ
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้ธาตุอาหารพืชที่จำเป็น  16  ชนิด  (จากเดิมที่รู้จักธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีเพียง  3  ชนิด)     
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้รู้ถึงปริมาณของธาตุอาหาร  N-P-K  ที่มีในแปลงนาของตนเอง
        -   เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้ถึงวัสดุจากธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีได้  และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของข้าวหรือพืช
      9.  การสร้างปุ๋ยธรรมชาติที่ยั่งยืนในแปลงนา
        เป้าหมายในการเรียนรู้  คือ
        -  เพื่อให้นักเรียนชาวนาใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้
        เนื้อหา  คือ
-          การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่  

 

ภาพที่  1  บรรยากาศการเรียนรู้ใต้ถุนบ้าน   

ภาพที่  2  บรรยากาศการเรียนรู้ในสวนผัก

ภาพที่  3  บรรยากาศการเรียนรู้ในศาลาวัด


ภาพที่  4  บรรยากาศการเรียนรู้กลางทุ่งนา

 

          พอจะเห็นภาพความซับซ้อนของหลักสูตรระดับมัธยมไหมครับ    มขข. ดูจะมีความชำนาญในการออกแบบ “การเรียนรู้แบบบูรณาการ” ได้อย่างเป็นนวัตกรรมทีเดียว     คงจะต้องชักชวนนักการศึกษาไปวิเคราะห์วิธีคิดในการออกแบบหลักสูตรนี้


วิจารณ์ พานิช
๑๗ สค. ๔๘

 


 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3610เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2005 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท