หิ้วกระเป๋าเข้าชุมชน


เวลาผมได้พูดคุยได้ถามไถ่ความเป็นอยู่ ผมได้คุยกับลุงป้าที่มองผมด้วยสายตาเป็นมิตรปรารถนาดีไม่มีประสงค์ร้าย สิ่งนี้เป็นความสุขกระตุ้นพลังใจของผมครับ

     วันไหนมีเวลาว่างซักสองสามชั่วโมง ผมมักจะโดดขึ้นรถแวนเพื่อนเก่าคู่ใจ(คบกันมาร่วมสิบปีแล้วครับไม่เคยทอดทิ้งกัน) นึกถึงป้าหรือลุงคนไหนได้ อยู่หมู่บ้านไหน ตำบลไหน ก็ให้เพื่อนเก่าพาไปในทันที ผมอยู่ในเขตอำเภอเมือง แต่ละตำบลไม่ห่างไกลกันเท่าไรครับใช้เวลาเดินทางประมาณไม่เกินยี่สิบนาที น้องๆบางคนสงสัยว่าหัวหน้าไปทำอะไร หนีงานรึเปล่าเนี่ย นึกไม่ออกว่าจะบอกยังไงดี ก็เอาเป็นว่าเป็น home health care แบบหมอนิพัธ ละกันนะครับ เวลาเข้าชุมชน ในรถผมไม่มีอะไรมากมี หูฟัง อันเดียวแหละครับ  เพราะวัตถุประสงค์ของผม ไม่ใช่เข้าไปตรวจรักษา เหมือนกับอยู่ในโรงพยาบาล แต่ผมต้องการให้ ลุง ป้า คนไข้เก่าที่ผมสนิทสนมได้เห็นหน้ากลมๆของผม  ผมก็จะได้เห็นรอยยิ้มของลุงป้าเหล่านั้น แค่นี้ก็คุ้มค่าแล้วครับ  แต่ไม่ใช่เท่านั้น เวลาผมได้พูดคุยได้ถามไถ่ความเป็นอยู่ ผมได้คุยกับลุงป้าที่มองผมด้วยสายตาเป็นมิตรปรารถนาดีไม่มีประสงค์ร้าย สิ่งนี้เป็นความสุขกระตุ้นพลังใจของผมครับ

     เครื่องมือทางมานุษยวิทยา ที่ใช้ทำงานในชุมชน ไม่เหมือนกับเครื่องมือ home health care แบบเดิมๆของผมนะครับ (แบบใช้ หูฟังกับหัวใจ) แต่เป็นชุดเครื่องมือ ในการทำงานกับชุมชน เรื่องนี้ผมเคยได้ฟังครั้งแรกเมื่อห้าปีมาแล้ว จาก อ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันท่านก็เป็นแพทย์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากมายเรื่องของการทำงานในชุมชน แล้วก็ได้มาเรียนอีกครั้ง จาก ดร.ตู้ ในการอบรมวิจัยครั้งนี้แหละครับ  เครื่องมือ 7 ชิ้นนั่น ผมว่าคนทำงานชุมชนคงคุ้นเคยกันดี คิดซะว่าทบทวนละกันนะครับว่าเข้าใจตรงกันหรือไม่

     1  แผนที่เดินดิน เป็นเครื่องมือแรกที่ใช้เข้าไปสัมผัสกับพื้นที่ ทักทายทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้คน  เห็นพื้นที่ทางกายภาพว่าบ้านเรือน สถานที่สำคัญตั้งอยู่ตรงไหนบ้าง และเข้าใจพื้นที่ทางสังคม ว่าจุดใดกันที่เป็นจุดศูนย์รวมของคนในชุมชน สถานที่ใดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นเขตหวงห้าม นักวิจัยคุณภาพจำเป็นต้องเรียนรู้ให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถึงเรื่องต่างๆเหล่านี้ของชุมชน

     2   ผังเครือญาติ family genogram บอกความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในครอบครัวหรือในวงศ์สกุลเดียวกัน ว่าใครเป็นใครกันบ้าง มีความผูกพันธ์กันระดับใดในครอบครัว ผังเครือญาตินี่มีประโยชน์มากสำหรับชาวสาธารณสุขครับ ดูผังเดียวอาจจะบอกได้ถึงโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธ์เพื่อเตรียมการระวังป้องกัน ถ้าคุ้นเคยกับครอบครัวนี้ดี อาจจะช่วยแนะนำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาครอบครัวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างสละสลวยสวยงาม แต่มันก็สำคัญที่คนบันทึกครับ ต้องบันทึกได้ดีครับถึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

     3   โครงสร้างองค์กรชุมชน เครื่องมือนี้จะทำให้รู้จัก กลุ่มต่างๆในชุมชน เน้นกลุ่มที่ยังมีบทบาทอยู่นะครับ จะเป็นกลุ่มที่ถูกจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เช่น อบต อสม หรือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้นำที่ไม่มีตำแหน่งอะไรแต่ได้รับความเคารพนับถือจากคนในชุมชน กลุ่มเกษตรกร ฯลฯ ยิ่งรู้กว้างๆยิ่งดี ยิ่งรู้ลึกซึ้งก็ยิ่งเป็นประโยชน์ครับ

     4   ระบบสุขภาพชุมชน เครื่องมือนี้มีประโยชน์โดยตรงกับชาวสาธารณสุขเช่นกันครับ  ถ้าเข้าถึงชุมชนได้เรียนรู้การดูแลรักษาตนเองของคนในชุมชน(ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดูแลตนเองเป็นเบื้องต้นก่อน) การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์สมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพื่อการดูแลคนในชุมชนต่อไปในอนาคต

     5   ปฏิทินชุมชน เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจวิถีชีวิต การเข้าใจวิถีชีวิตของคนในชุมชนเป็นรากฐานสำคัญของการทำขบวนการเชิงรุก โดยอาศัยปฏิทินชุมชนเราจะหาจังหวะสำหรับการทำขบวนการเชิงรุกใดๆกับชุมชนได้อย่างเหมาะสม เช่นถ้ารู้ว่าเค้าจะเกี่ยวข้าวกันช่วงไหนก็พยายามหลีกเลี่ยงการรณรงค์ต่างๆ เพราะจะไม่มีใครว่างมาทำงานร่วมกับเราแน่ครับ

     6   ประวัติศาสตร์ชุมชน เครื่องมือนี้เป็นการเรียนรู้ตื้นลึกหนาบางของชุมชนนั้นๆ ความภาคภูมิใจของคนในชุมชน หรืออดีตที่คนในชุมชนไม่อยากจะจำ บันทึกเรื่องราวต่างๆในอดีตทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการสาธารณสุข การใช้เครื่องมือนี้เปรียบเสมือนใช้เป็นใบเบิกทางเพื่อการกลมกลืนกับชุมชนนั้นๆจนเป็นเนื้อเดียวกัน

     7   ประวัติชีวิต ของคนที่เป็นตัวอย่าง ไม่เน้นว่าต้องเป็นคนดี มีความสามารถหรือประสบความสำเร็จเท่านั้นนะครับ ประวัติชีวิตคนจนๆที่น่าสนใจก็ใช้เครื่องมือนี้ได้ ประวัติชีวิตของหมอตำแยในหมู่บ้าน หรือหมอน้ำมันหมอน้ำมนต์ ก็เช่นเดียวกัน เราใช้วิธีนี้ในการเรียนรู้ ความเป็นมนุษย์จากชีวิต

     เครื่องมือทั้ง 7 ชิ้นนี้จะใช้ไม่ได้ผลเลยครับ ถ้าคนใช้ยังไม่เข้าใจว่าขบวนการทำงานในชุมชนต้องตั้งต้นที่ใจมุ่งมั่น บางทีผมก็นึกเหมือนกันว่า เอ นี่เรากำลังทำอะไร คำตอบที่ผมให้กับตัวเองเสมอๆคือ ผมกำลังทำงานเพื่องานที่ผมรัก งานนี้จะได้ประโยชน์ต่อคนทั้งชุมชนหรือแค่คนเดียวก็นับว่าคุ้มค่า

 

หมายเลขบันทึก: 36097เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2006 15:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ได้อ่านวิธีการเข้าไปทำความรู้จักกับลุง ป้า และชุมชนที่อจ.ดูแลอยู่น่าชื่นใจแทนพวกเขาจริงๆในอนาคตเราคงจะมีหมอประจำครอบครัวหน้ากลมๆตามที่ได้ฝันไว้จริงๆ(1:10,000)

เป็นบันทึกที่น่ารักมากครับ จะตามอ่าน
อ่านแล้วตรงกับความคิด ความรู้สึก หรือเอาเป็นว่าตรงใจดีกว่า ว่าการทำงานชุมชนต้องทำด้วยใจไม่เห็นว่าการออกชุมชนเป็นภาระ  ถึงแม้จะทำประโยชน์ได้เพียงคนเดียวก็คุ้มค่าแล้วค่ะและขอเป็นกำลังใจให้อจ.หมอประจำครอบครัวในอนาคตค่ะ

เป็นบันทึกที่น่าจดจำจริงๆค่ะ ทำให้หวลคิดถึงครั้งเมื่อได้ไปฝึกภาคสนามในการใช้เครื่องมือทางมานุษยวิทยาของอจ.หมอโกมาตร ที่ชุมชนหลังวัดสามัคคี  จ.นคราชสีมา ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตและศักดิ์ศรีของคนทุกข์คนยาก ผู้เฒ่าผู้แก่ รวมทั้งแหล่งพึ่งพายามเจ็บป่วยในมุมมองของชาวบ้าน (ไม่ใช่ของเรา) บทเรียนนี้ยังอยู่ในความทรงจำมาตลอดและยังเป็นส่วนที่ช่วยสร้าง Adtitude.ในการทำงานPrimary  Care ด้วยค่ะ

ได้อ่านเครื่องมือศึกษาชุมชน เหตุที่เลือกอ่านเรื่องนี้ก่อน เพราะอยากรู้ว่าเครื่องมือคืออะไร ตรงใจ แต่ที่สำคัญคือต้องทำด้วยใจ แล้วก็จะได้ใจกลับมานะคะ

อาจารย์มีวิธีสร้างสุขง่ายๆแบบนี้เอง อาจเหนื่อยกายเล็กน้อยแต่ได้ความสุขกลับมาเยอะมากๆเลย วิธีของเจี้ยวก็คล้ายๆอาจารย์ค่ะแต่บริบทต่างกัน แรกๆคนรอบข้างอาจงงๆกับการหายตัวไปของเรา เราก็อธิบายยากเหมือนกัน ช่วงหลังๆก็ไม่มีคนถามแล้วค่ะเพราะผลลัพธ์งานของเราจะช่วยตอบคำถามได้เองค่ะ

ขอเติมอีกหน่อยนะคะ การทำงานกับชุมชนของสภากาชาดไทยเกี่ยวกับการรับภัยพิบัติของชุมชน ก็ใช้เครื่องมือเหมือนๆกัน แต่การทำเรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะไม่ใช่วิถีประจำวันของชุมชน ต้องใช้ความพยายามค่อนข้างมาก เพื่อให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมตนเอง ช่วยเหลือตนเองก่อนที่องค์กรภายนอกจะเข้าไปให้การช่วยเหลือ มีการใช้เครื่องมือในการประเมินความเสี่ยง คือ ประเมินภัย ความอ่อนแอ ความสามารถ ของชุมชน จัดตั้งองค์กรชุมชน จัดทำแผน ดำเนินการ ติดตามและประเมินผล และทำอย่างไรเพื่อให้โครงการฯนี้ยั่งยืน แต่ถ้าเราทำสำเร็จก็จะเกิดความภูมิใจในผลงาน และที่สำคัญคือการช่วยให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยลง

คนที่ทำงานกับชุมชนจะหวังเหมือนๆกันว่าชุมชนนั้นจะสามารถดูแลด้วยตนเองได้ในเบื้องต้น ถ้าไม่ไหวจริงๆแล้วถึงจะมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน เปรียบเสมือนพี่เลี้ยง ข้อสำคัญคือ ความยั่งยืน ที่จะต้องยืนหยัดด้วยคนในชุมชนเอง ใครไปช่วยก็ไม่ได้ ใครไปทำแทนก็ไม่ได้ ต้องประชาชนในชุมชนเท่านั้น งานที่อ้อยทำก็เหมือนกับที่เราทำแหละนะ ผลสุดท้ายคือความสุขของประชาชนที่เราดูแล สิ่งตอบแทนคือความภาคภูมิใจเหมือนกันจ้ะ

ขอบคุณนะค่ะที่เขียนบันทึกนี้ขึ้น ....ทำให้หนูสามารถเอาปายตอบคำถามอาจารย์ได้ อิอิ ^^ ขอบคุณค่ะ

พรุ่งนี้ต้องออกชุมชนแร้ว ... จะพยายามทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุดค่ะ ..^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท