โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ : ความกระจ่างแจ้งระหว่างความรู้ 2 ประเภท


การพูด หรือการเล่าเรื่องไม่ได้เป็น Tacit อย่างเดียวเท่านั้น ส่วนการเขียนก็ไม่ได้เป็น Explicit อย่างเดียวเท่านั้น เช่นกัน แต่ทั้งการพูดและการเขียนต่างเป็นได้ทั้ง Explicit และ Tacit

               วันนี้  (22  มิถุนายน 2549)  สคส.  นำโดย  ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด  และ ผู้เขียน  ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ  “ทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  กลุ่มเป้าหมายโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้”  ณ  โรงแรมท็อปแลนด์  จังหวัดพิษณุโลก    ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 3  แล้ว (มีทั้งหมด  6  ครั้ง)  โดยในสองครั้งแรก  สคส. รับผิดชอบในการเป็นวิทยากรกระบวนการให้  แต่ในครั้งที่ 3 – 6  ทีมนักวิจัยของโครงการฯ  จะต้องเป็นวิทยากรกระบวนการเอง  โดย  สคส.  ถอยหลังมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมนักวิจัยแทน   
              เวทีครั้งที่  3  นี้  มีความน่าสนใจและน่าติดตามมากมาย  ไม่ใช่เฉพาะทีมวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้มือใหม่เท่านั้น  แต่ผู้เขียนยังได้ฟังการบรรยายของ อ.ประพนธ์  ซึ่งจริงๆ  แล้วผู้เขียนก็ฟังมาหลายรอบแล้ว  แต่ทุกครั้งที่ฟัง อ.ประพนธ์  บรรยายจะรู้สึกประทับใจและได้ความรู้เพิ่มเติมตลอด  โดยในครั้งนี้  อ.ประพนธ์  ได้เพิ่มเนื้อหาการบรรยายใหม่ๆ  ขึ้นมา  เน้นความกระจ่างระหว่างความรู้  2  ประเภท  คือ  Explicit  Knowledge  และ  Tacit  Knowledge   ให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น  
               อ.ประพนธ์  ได้อธิบายให้ฟังว่า  ความรู้  2  ประเภทแตกต่างกัน  โดย  Explicit  Knowledge  คือ  ความรู้ที่เป็นวิชาการ  หลักวิชา  ทฤษฎี  ปริยัติ  การวิเคราะห์  วิจัย  เป็นต้น  แต่  Tacit  Knowledge  คือ  เคล็ดวิชา  ภูมิปัญญา  ปฏิบัติ  ประสบการณ์  วิจารณญาณ  ปฏิภาณ  เป็นต้น  แต่ทั้ง  Explicit  Knowledge  และ  Tacit  Knowledge  อยู่ได้ทั้งในรูปของคำพูดและข้อเขียน    
                โดยความรู้ทั้ง  2  ประเภท   ต้องมีการจัดการด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน   และ  สคส.  เน้นการจัดการความรู้ประเภทที่ 2  คือ  Tacit  Knowledge  ที่นำวิธีการเล่าเรื่อง  (Storytelling)  มาใช้ในการดึง  Tacit  Knowledge  ของคนออกมา   แต่ถึงแม้การเล่าเรื่องจะเป็นวิธีการดึง Tacit  Knowledge  ของคนออกมาก็จริง    แต่หากคนเล่าเรื่อง เล่าถึงทฤษฎี  เล่าแบบหลักวิชา  สิ่งที่ผู้เล่าเล่าออกมานั้น  ก็จะเป็น Explicit  Knowledge   ในขณะเดียวกัน  หากมีการเขียนหรือบันทึกเรื่องเล่า  โดยเนื้อหาในข้อเขียนนั้น  เป็นการเขียนหรือบันทึกเรื่องเล่าที่มีสาระเกี่ยวกับเคล็ดลับ เคล็ดวิชา  ประสบการณ์    สิ่งที่อยู่ในข้อเขียนนั้นก็จะเป็น  Tacit  Knowledge   
               นอกจากนั้น  มีผู้เข้าร่วมประชุม  เสนอความคิดเห็นว่า  Explicit  Knowledge    +   ประสบการณ์   +  การนำไปใช้  จะได้ออกมาเป็น  Tacit  Knowledge    ของคนๆ  นั้น    ส่วน  Tacit  Knowledge   ที่มาจากประสบการณ์และการปฏิบัติของหลายๆ    คน  อาจจะพัฒนาเป็น  Explicit  Knowledge    ก็ได้  นั่นแสดงว่า  Explicit  Knowledge  และ  Tacit  Knowledge   จะผสมปนเปกันไป  ซึ่ง  อ.ประพนธ์   ก็ได้เน้นย้ำว่า  สำหรับการเริ่มต้นการจัดการความรู้  จะต้องแยกให้ออกระหว่าง  Explicit  Knowledge  และ  Tacit  Knowledge   เพื่อจะได้นำวิธีการหรือเครื่องมือมาจัดการความรู้ทั้ง 2  ประเภทได้อย่างเหมาะสม
             ผู้เขียนขอสรุป  (ตามความเข้าใจของตัวเอง  ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้) จากสิ่งที่ได้ฟัง อ.ประพนธ์  บรรยาย  คือ   เราจะแยกแยะว่า  อะไรคือ  Explicit  Knowledge  และ  อะไรคือ  Tacit  Knowledge  นั้น  จะต้องดูหรือพิจารณาที่เนื้อหาสาระ ถ้อยคำ  เนื้อเรื่อง  วิธีการปฏิบัติ   ที่สื่อสารถ่ายทอดออกมา  ทั้งในรูปของคำพูดและการเขียนว่า  ความรู้นั้น  เป็นหลักวิชาหรือเคล็ดวิชา  ความรู้นั้นเป็นทฤษฎีหรือภูมิปัญญา  ความรู้นั้นเป็นปริยัติหรือปฏิบัติ  ความรู้นั้นเป็นการวิเคราะห์วิจัย  หรือความรู้นั้นเป็นประสบการณ์ วิจารญาณ หรือปฏิภาณ   ไม่ใช่อยู่ที่วิธีการสื่อสารถ่ายทอด  ว่าความรู้นั้นอยู่ในรูปของคำพูดหรือการเขียน  
             การพูด หรือการเล่าเรื่องไม่ได้เป็น  Tacit  อย่างเดียวเท่านั้น  ส่วนการเขียนก็ไม่ได้เป็น   Explicit   อย่างเดียวเท่านั้น เช่นกัน  แต่ทั้งการพูดและการเขียนต่างเป็นได้ทั้ง  Explicit  และ Tacit   การจะแยกแยะ  Explicit  และ Tacit    นั่นจะพิจารณาที่รูปแบบหรือสิ่งห่อหุ้ม  (คำพูดหรือข้อเขียน)  ความรู้นั้นไม่ได้   แต่จะต้องพิจารณาที่เนื้อหาสาระหรือประเภทของความรู้ที่ถ่ายทอดออกมา  
             ความแตกต่างของความรู้ 2  ประเภท  จึงอยู่ตรงที่นั่นเอง 
อ.ประพนธ์  บอกว่า  หากเราเข้าใจความแตกต่างของความรู้ 2  ประเภท นี้อย่างชัดเจน  แล้วจะรู้ว่า การจัดการความรู้ให้ถูกประเภทถูกเครื่องมือไม่ใช่เรื่องยากเลย  ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง

หมายเลขบันทึก: 36088เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2006 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท