ทิศทางงานวิจัยด้านโภชนาการและอาหารเพื่อสุขภาพ


มีการนำผลการวิจัยไปใช้น้อยเกินไป เพราะโจทย์มาจากนักวิจัย โดยไม่ได้คำนึงว่าใครจะนำไปใช้ และเขาต้องการจริงหรือไม่

สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง "ทิศทางงานวิจัยของประเทศด้านโภชนาการและอาหารเพื่อสุขภาพ" เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๘ ที่ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ รศ.ดร.เอมอร วสันตวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ รายงานว่าแรงบันดาลใจของการจัดการประชุมครั้งนี้ เกิดจากประสบการณ์การวิจัยที่ผ่านมา พบว่ามีการนำผลการวิจัยไปใช้น้อยเกินไป เพราะโจทย์มาจากนักวิจัย โดยไม่ได้คำนึงว่าใครจะนำไปใช้ และเขาต้องการจริงหรือไม่ อีกทั้งข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่บอกประโยชน์ของอาหารไทยยังมีน้อย ผลจากการประชุมครั้งนี้ จะทำเป็นเอกสารเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและกำหนดทิศทางการวิจัยต่อไป

กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย แหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย หน่วยงานที่ทำวิจัย เครือข่ายงานวิจัย นักวิจัย ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนไม่หวังผลกำไร สมาคมต่างๆ และสื่อมวลชน

กิจกรรมมีทั้งการปาฐกถา การบรรยาย และที่เน้นคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มย่อยตามประเด็นที่กำหนด

ภาคเช้า เริ่มตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. ฯพณฯ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม และปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายการวิจัยที่สนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาคนของประเทศ" ต่อจากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข บรรยายเรื่อง "การวิจัยทางโภชนาการเพื่อคนไทยแข็งแรง เมืองไทยแข็งแรง" ภาคบ่าย ดร.ยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอาหารไทยและครัวไทยสู่โลก บรรยายเรื่อง "ยุทธศาสตร์การวิจัย เพื่อผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก"

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มย่อย (๑๑ กลุ่ม) มีทั้งในภาคเช้าและภาคบ่าย ช่วงละ ๑ ชม. และให้นำเสนอกลุ่มละ ๓ นาที ประเด็นสำคัญคืองานวิจัยโภชนาการและอาหารสุขภาพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งช่วงเช้าเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาคน ช่วงบ่ายเน้นยุทธศาสตร์การแข่งขัน/ส่งออก รวมทั้งแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับนโยบาย แหล่งทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้วิจัย และผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

ดิฉันเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้แทน ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ กลุ่มย่อยของดิฉันมี ๙ คน คือ ดิฉัน นักโภชนาการจาก รพ.กรุงเทพคริสเตียน (เป็นกรรมการสมาคมและชมรมหลายแห่ง) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต อาจารย์ของสถาบันวิจัยโภชนาการเอง ๒ ท่าน ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการเกษตร และจากสภาวิจัยแห่งชาติ ส่วนภาคเอกชนมีมาจากบริษัทอุตสาหกรรมนมไทย และบริษัทโรงงานเส้นหมี่ชอเฮง เมื่อเริ่มกิจกรรมกลุ่มย่อย กลุ่มเราใช้เวลาพูดคุยแนะนำตนเองกันอยู่นาน รู้สึกดีที่ได้มารู้จักกัน ช่วงบ่ายมีการแลกนามบัตรกัน เผื่อว่าจะมีโอกาสร่วมมือกันทำอะไรต่อไปในอนาคต

ทิศทางงานวิจัยที่เน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาคน แต่ละกลุ่มมีข้อเสนอที่หลากหลาย หลายกลุ่มให้เน้นเรื่องการป้องกันเด็กอ้วน ป้องกันเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งเรื่อง health communication

ทิศทางงานวิจัยที่เน้นยุทธศาสตร์การแข่งขัน มุ่งไปในเรื่องของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารไทยต่อสุขภาพ การทดสอบ health benefits การวิจัยในเชิงอุตสาหกรรม (เช่น กระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ การตลาด ฯลฯ) กลุ่มเป้าหมายมีทั้งคนทั่วไปและกลุ่มเฉพาะโรค รวมทั้งการวิจัยวัตถุดิบ การพัฒนาเมนู และความปลอดภัย

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านสรุปผลการประชุมได้ที่ www.nu.mahidol.ac.th และ www.inmu.mahidol.ac.th

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘

หมายเลขบันทึก: 3607เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2005 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท