ภูมิปัญญาปลูกข้าวชาวนาโคกโพธิ์


ภูมิปัญญาคนทำนาถิ่นนี้สอดคล้องกับความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศเป็นอย่างดี

           ปกติเมื่อถึงวันเข้าพรรษา  ชาวนาแถบจังหวัดปัตตานีก็จะเริ่มหว่านกล้ากันแล้ว  หลังจากนั้นอีกประมาณ ๔๐ วัน ก็จะเริ่มดำนา   ข้าวกล้าที่ต้องทำก่อนต้องเป็นข้าวที่หนักหน่อย  คืออายุกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ต้อง  ๕ - ๖ เดือน  เช่น ข้าวพันธุ์ "ลูกเขย"  "ลูกแดง" "ช่อลุง" เป็นต้น   หากหว่านหลังจากนี้ก็จะเป็นข้าวเบาลงมา อาจจะ ๔ - ๕ เดือน เช่น ข้าวพันธุ์"เล็บนก"  "หอมจันทร์"  เป็นต้น    ถ้าหากเป็นข้าวที่ทำหลังวันออกพรรษาก็จะเป็นข้าวเบามากๆ เช่นข้าว ๓ - ๔ เดือน เช่น ข้าวพันธุ์ "หัวนา"  "สังหยด"  เป็นต้น   พันธุ์ข้าวที่เอ่ยชื่อมาทั้งหมดเป็นข้าวพันธุ์ท้องถิ่นทั้งสิ้น  ถิ่นอื่นอาจจะไม่เคยรู้จัก  ที่อาจจะคุ้นหู้อยู่บ้าง น่าจะเป็น ข้าวสังหยด  ที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงส่งเสริมการปลูกและอนุรักษ์        พันธุ์ข้าวที่ชาวนาแถวอำเภอโคกโธิ์  จังหวัดปัตตานี  นิยมปลูกเป็นพิเศษ คือข้าวพันธุ์ลูกเขย  เหตุผลเพราะเป็นข้าวพันธุ์หนัก  เหมาะสมกับสถาพภูมิประเทศและสภาพอากาศ  เพราะว่าถิ่นนี้ฝนเริ่มตกบวกกับน้ำจากชลประทานมาตั้งแต่เดือน ๗  ทำให้ทุ่งนากลายเป็นพรุน้ำขัง  ทำนายาก  แต่พอถึงช่วงเข้าพรรษาฝนจะทิ้งช่วง  การทำนาช่วงนี้จึงสะดวก เพราะน้ำพอเหมาะ  ครั้นหลังจากนี้ไปอีก ๓ - ๔ เดือน  ก็จะเป็นฤดูน้ำท่วม  ถิ่นภาคกลางที่บอกว่าเดือน ๑๒ น้ำทรง (เดือน ๑๑ น้ำนอง)  แต่ภาคใต้เดือน ๑๒ ช่วงลอยกระทงเป็นฤดูน้ำนอง น้ำท่วมทุกปี  ข้าวพันธุ์ลูกเขยที่ปลูกตั้งแต่เดือน ๘ - ๙  พอถึงฤดูน้ำนองจะเป็นช่วงที่ข้าวหนักกำลังเติบโตเต็มที่  ครั้นน้ำลดข้าวก็จะออกรวงไสว และเก็บเกี่ยวได้เมื่อถึงเดือนยี่ เดือนสาม


      จะไม่พูดถึงพันธุ์ข้าวหนักเบากลางๆ  แต่จะพูดถึงข้าวพันธุ์เบาอายุ ๓ - ๔ เดือน   เหตุผลการปลูกก็สอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพภูมิประเทศ เช่นกัน  กล่าวคือ  เมื่อถึงเดือน ๑๑ - ๑๒ ที่ลุ่ม นาลึก นาพรุ น้ำจะท่วมสูง  ลงดำนาไม่ได้  หรือดำไปก็เน่าเสียหมด   ช่วงนี้ชาวนาแถบนี้จะต้องทำนาโคก(นาที่อยู่ที่สูงกว่า)  เพราะน้ำพอเหมาะ  จึงปลูกข้าวพันธ์เบา  และเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือน ๓ - ๔ เช่นเดียวกัน     

 

    จะเห็นว่าภูมิปัญญาคนทำนาถิ่นนี้สอดคล้องกับความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศอย่างดี          ผมเคยทดลอง  นำวิธีการทำนาของคนภาคอื่น ๆ  มาใช้ เพราะไปเห็นคนภาคกลาง เหนือ อีสาน คือทำนาหว่าน ด้วยข้าวพันธุ์ชัยนาท ๑  เลือกที่ที่สะดวกต่อการระบายน้ำ  ทำประมาณ ๔ ไร่  ไปซื้อพันธุ์ข้าวมาจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ ๒๓ จังหวัดปัตตานี   ปรากฏว่าข้าวขึ้นงามมาก  ได้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ  คำนวณแล้วว่าหว่านหลังจากวันลอยกระทง  ข้าวจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือน ๓  ซึ่งปกติจะเป็นหน้าแล้งและเป็นฤดูเก็บเกี่ยวปกติ   แค่ปีแรกที่ทดลองก็เจอดีเลย  คือฝนตกหนักกลางเดือน ๓   น้ำท่วม  ข้าวที่เกี่ยวไว้กะว่าผึ่งให้แห้งก่อนเก็บสักวันสองวัน   แต่ไม่ทันเก็บกลับบ้าน   น้ำท่วมเสียหายหมด  ต้องเอามานวดขายเป็นข้าวเปลือกเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด  โชคดีที่ขายได้ราคาปกติถังละ ๘๐ บาท  ก็พอหายเหนื่อยได้บ้าง  แต่ที่เอามาทดลองสีเป็นข้าวสารเสียหายหุงกินไม่ได้  ขึ้นราเพราะความชื้นที่ถูกน้ำท่วมนั่นเอง        ที่เล่าเรื่องนี้ให้ทราบเพราะจะชี้ให้เห็นว่า วิธีการที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่นใช่ว่าจะใช้ได้เสมอไป  ข้าวพันธุ์ชัยนาท ๑  เป็นพันธุ์ข้าวเตี้ย  สูงไม่กิน ๒ ฟุต  แต่พันธุ์ข้าวที่ปลูกแถบอำเภอโคกโพธิ์  เป็นพันธุ์ข้าวที่สูงเกิน ๔ ฟุตทั้งสิ้น  เหตุผลก็คือเมื่อน้ำท่วม  ก็ไม่จมรวงข้าวนั่นเอง  

 

      เมื่อวันที่ ๒๒  กรกฎาคม  ๒๕๔๙ หว่านข้าวกล้าพันธ์ข้าวลูกเขยสำหรับนาลึกไปแล้ว วันนี้ ( ๘  สิงหาคม  ๒๕๔๙)  ต้นกล้าสูงประมาณ ๖ นิ้ว   ไปไถนาที่นาลึกไว้แล้ว  คาดว่าภายในปลายเดือนสิงหาคมคงได้ปักดำ

หมายเลขบันทึก: 36061เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2006 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท