KM เพื่อการออกแบบการเรียนรู้ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา


โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้ผลสัมฤทธิ์ คือ การที่ผู้นำองค์กร เปิดโอกาสให้บุคลากรได้กล้าคิด กล้าเสนอความคิดเห็น มีความเป็นอิสระในการคิดอย่างสร้างสรรค์ ให้บุคลากรรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน

          วันที่  ๓๐  สิงหาคม  ๒๕๔๘   ผู้เขียน และทีมประชาสัมพันธ์ สคส.  คือ คุณศศิธร  อบกลิ่น  และ  คุณจิราวรรณ  เศลารักษ์  ได้มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมเยียนโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  หลังจากที่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนมาสอนมานาน  ครั้งนี้ได้มีโอกาสได้ศึกษาเรียนดู ชมการเรียนการสอนของโรงเรียนอย่างใกล้ชิด  จึงรู้สึกตื่นเต้นไม่ได้   และก็ไม่ผิดหวัง  สมแล้วที่เป็นหนึ่งในโรงเรียนตัวอย่าง และผู้บริหารต้นแบบของวงการศึกษาไทยจริงๆ   


         ดร. สุทธาทิพย์  ไชยรัตนะ  รองผู้จัดการโรงเรียน  และคณะ  ก็ได้ออกมาต้อนรับคณะของ สคส.  พร้อมทั้งให้คณะของเราสอบถาม พูดคุย  สัมภาษณ์ไขข้อข้องใจต่างๆ  อย่างเต็มที่  ทำให้ทราบว่า  โรงเรียนจิระศาสตร์  เป็นโรงเรียนที่มีการทำ KM  กันอยู่แล้ว  โดยที่ไม่ได้เรียกว่า KM  ผู้บริหาร  ครู อาจารย์  ได้มีการพูดคุยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน  การออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสาระวิชาหลักให้กับนักเรียนอยู่สม่ำเสมอ  มีการร่วมมือกับผู้ปกครอง และหน่วยงานต่างๆ  ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการช่วยสนับสนุนส่งเสริมหรือให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กนักเรียน  โดยคณะครูอาจารย์  ได้มีการวิเคราะห์หลักสูตรจากอยุธยามรดกโลก เพื่อจัดทำเป็นแผนการเรียนรู้  ซึ่งมีการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน  เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ในบริบทของตนเองมากที่สุด 

          โดยในครั้งนี้  เราได้เดินทางไปดูกระบวนการเรียนรู้ “ของจริง”  ที่สวนพฤกษศาสตร์  (เนื้อที่กว่า ๖๐  ไร่)  ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นแหล่งเรียนรู้แบบบูรณาการแหล่งสำคัญของโรงเรียนเลยทีเดียว  โดยมีคุณลุงเสถียร และครอบครัว  เป็นผู้ดูแล พัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมของสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ มานานหลายปี  ซึ่งลุงเสถียร  เป็น “ครูภูมิปัญญา”  ของนักเรียนโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยามาหลายรุ่นทีเดียว 


          วันที่คณะของเราไปนั้น  เป็นการบูรณาการสาระวิชาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  ซึ่งคณาจารย์ได้ร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยนำสาระวิชาหลัก มาบูรณาการเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจในกิจกรรมฐานต่างๆ  ซึ่งได้มีการแบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น ๔  ฐาน  คือ


          ฐานที่ ๑  Discovery  เน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีสาระวิชาวิทยาศาสตร์เป็นหลัก  โดยให้นักเรียนฝึกทักษะการสำรวจและการสังเกตพืชที่นักเรียนสนใจภายในสวนพฤกษศาสตร์  แล้วให้นำผลจากการสังเกตพืชที่นักเรียนสนใจมาวาดภาพแสดงลักษณะโครงสร้างของพืชและสภาพนิเวศวิทยาที่พืชอาศัยอยู่รวมทั้งสรรพสิ่งที่ล้วนเกี่ยวพันกับพืชที่นักเรียนสนใจ  ออกมาเป็นภาพวาดหรืองานศิลปะ  โดยยึดหลักสภาพความเป็นจริงของพืช, สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในบริเวณที่สำรวจพร้อมตั้งชื่อผลงาน
          ในฐานที่ ๑  นี้ นักเรียนได้ใช้วัสดุอุปกรณ์,  เอกสารตำรางอ้างอิงต่างๆ  ทั้งที่เตรียมมาเองและครูอาจารย์จัดไว้ให้  ในการศึกษาเรียนรู้, การสังเกตพืชและสิ่งมีชีวิต, การใช้ทักษะและความรู้ด้านต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ,  ภาษาไทย,  งานศิลปะ ฯลฯ  รวมทั้งได้เรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม  ที่จะต้องมีการวางแผนการดำเนินงาน และการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ  เช่น  บางคนช่างสังเกตก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่นำแว่นขยายมาส่องดูพืชและแมลง รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ต้นไม้นั้น  เพื่อรายงานให้เพื่อนคนอื่นๆ  ในกลุ่มฟังว่า  สังเกตเห็นอะไรบ้าง  บางคนมีทักษะในการวาดภาพระบายสี  ก็จะทำหน้าที่วาดรูปพืชที่กลุ่มเลือกศึกษา  และวาดสิ่งแวดล้อมต่างๆ  จากการสังเกตของเพื่อน  บางคนสนใจทางด้านข้อมูลก็จะทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลจากตำราและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ  เพื่อเขียนอธิบายขยายความหรืออ้างอิงลงไปในชิ้นงานของกลุ่ม  เป็นต้น 
ฐานนี้  นักเรียนแต่ละกลุ่มได้มีการบูรณาการสาระวิชาต่างๆ  เข้าด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์  ที่เน้นการสังเกตพืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆ, วิชาศิลปะ  เน้นการวาดภาพพืชและสิ่งมีชีวิตที่พบ,  วิชาภาษาไทย  มีการอธิบายขยายความ  บางกลุ่มได้ใช้ความรู้วิชาภาษาไทยมาแต่งเป็นกลอนเพื่ออธิบายภาพบอกเล่าเรื่องราวที่ได้สังเกตเห็น,  วิชาภาษาอังกฤษ  มีการบอกส่วนประกอบต่างๆ ของพืชและสิ่งมีชีวิตที่ศึกษาเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษ, วิชาคณิตศาสตร์  บางกลุ่มเน้นการเรียนรู้ถึงมาตรวัด เช่น ความสูงของต้นไม้  เป็นต้น  บางกลุ่มเน้นการตั้งเป็นโจทย์คณิตศาสตร์  เพื่อให้เพื่อนช่วยกันหาคำตอบ  เป็นต้น


          ฐานที่ ๒  Fantasy  Model   โดยให้นักเรียนออกแบบสร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้หรืออื่นๆ  ตามความสนใจของกลุ่ม  แต่มีเงื่อนไขว่า วัสดุที่นำมาใช้จะต้องนำวัสดุที่มีอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างสรรค์ผลงาน  พร้อมทั้งตั้งชื่อผลงานและสรุปถึงแนวทางการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
          ฐานนี้จะเน้นสาระวิชาศิลปะและการงานอาชีพเป็นหลัก  และบูรณาการเข้ากับวิชาคณิตศาสตร์  ซึ่งแต่ละกลุ่มจะต้องมีการวางแผนคิดอย่างสร้างสรรค์แบบมีจินตนาการว่าจะประดิษฐ์ชิ้นงานอะไร  โดยต้องเขียนแบบ Model  ออกมาก่อน  มีการคำนวณความกว้างความยาวความสูงและน้ำหนักก่อนที่จะลงมือประดิษฐ์ชิ้นงานนั้นจริงๆ  หลังจากนั้นจึงมีการตั้งชื่อผลงาน  มีการแต่งกลอน  และหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงานด้วย  ซึ่งบางกลุ่มก็ประดิษฐ์กระทงจากใบตอง,  บางกลุ่มทำเรือสำเภา  ที่ในอดีตใช้บรรทุกสินค้าเข้ามายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นต้น


          ฐานที่ ๓  Food Healthy  ให้นักเรียนสำรวจพืชสมุนไพรตามธรรมชาติที่มีอยู่ภายในสวนพฤกษศาสตร์  หลังจากนั้นจึงร่วมกันคิดเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ  โดยต้องมีการตั้งชื่ออาหาร, บอกส่วนประกอบ, ขั้นตอนการทำ และประโยชน์ที่ได้รับจากเมนูอาหารนั้นๆ ด้วย  และสุดท้ายต้องมีการนำเสนอเมนูอาหารของกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มอื่นๆ  ได้รู้ด้วย  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 
          โดยเมนูอาหารจานเด็ดที่แต่ละกลุ่มเลือกทำ  คือ  กล้วยพร้อมเสิร์ฟ (กล้วยทอดคลุกเนย), ผัดกระเพราผักรวม,  ข้าวผัดเพื่อสุขภาพ  และยำมะม่วง  นอกจากนั้น ยังมีน้ำสมุนไพรด้วย  เช่น  น้ำตะไคร้, น้ำใบเตย,  น้ำกระเจี๊ยบ  เป็นต้น
          ฐานนี้เน้นสาระวิชาการงานอาชีพ  และมีการบูรณาการสาระวิชาอื่นๆ  เข้าไปด้วย  เช่น  สาระวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  เพราะเด็กนักเรียนจะต้องเขียนส่วนประกอบ, ขั้นตอนการทำ  และสรรพคุณหรือประโยชน์ของเมนูนั้นๆ  ออกมาเป็นเล่มด้วย  อีกทั้งยังมีสาระวิชาคณิตศาสตร์  ที่เน้นการตวง  เป็นต้น
          การเรียนรู้ในฐานนี้  เด็กๆ  สามารถนำไปทำเป็นอาชีพเสริมได้  หรือสามารถใช้เป็นกิจกรรมหนึ่งของครอบครัวได้เป็นอย่างดี  เท่าที่สอบถามเด็กนักเรียนถึงสูตรอาหารต่างๆ ที่นำมาทำในครั้งนี้  เด็กบางคนบอกว่า  ไปถามสูตรมาจากพ่อแม่ผู้ปกครองบ้าง,  บางคนทำกินเองอยู่แล้วบ้าง 
          คณะของเราได้ชิมฝีมือการทำอาหารของนักเรียนทั้ง ๔  กลุ่มแล้ว  ต้องยกนิ้วให้ไปเลยกับรสชาติเยี่ยมและคุณค่าทางอาหารที่ครบถ้วน

          ที่สำคัญ  เราได้พบ KM  ในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนด้วย  คือ  ในรุ่นก่อนๆ  มีการทำเมนูซาลาเปาไส้ดอกโสน  และมีการเก็บสูตรต่างๆ  เหล่านี้ไว้  รุ่นน้องถัดมา  จึงนำมาพัฒนาต่อเป็นซาลาเปาไส้สมุนไพรชนิดอื่นๆ  ด้วย  เช่น ซาลาเปาสมุนไพรอัญชัน มีการนำสูตรนี้มาทำเพื่อจำหน่าย  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  เรียกได้ว่า  มีการบันทึกความรู้  และนำความรู้มาใช้ประโยชน์  มีการพัฒนาปรับปรุง  และบันทึกเป็นสูตรต่อไป  นี่เป็นการหมุนเกลียวความรู้อย่างต่อเนื่องไม่รู้จบจริงๆ


          ฐานที่ ๔  The trees  can talk  ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันอธิบายถึงพืชที่รู้จัก และบอกถึงลักษณะพิเศษของพืชนั้นๆ  โดยสร้างเป็นบทละครเป็นภาษาอังกฤษ   มีการกำหนดตัวละครให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ภายในสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งเนื้อหาบทละครต้องเป็นการรณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ รวมทั้งอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม  หลังจากนั้น จึงแสดงบทบาทสมมติให้เพื่อนๆ  ได้ชม 
          ในฐานนี้  เด็กนักเรียนจะแสดงบทบาทสมมติโดยบูรณาการสาระวิชาการแสดงละคร  โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการนำเสนอเนื้อหา  มีการนำวิชาคณิตศาสตร์มาใช้ในการบอกรูปทรงของต้นไม้  รวมทั้งเชื่อมโยงถึงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน 

          หลังจากที่เด็กนักเรียน ได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้ครบถ้วน ซึ่งใช้เวลาเกือบครึ่งวันจึงเดินทางกลับโรงเรียน  จากนั้นในช่วงบ่าย เด็กนักเรียนจะมารวมตัวกันเพื่อนำเสนอผลงานของกลุ่มตนเองให้เพื่อนๆ  ได้รับรู้รับฟัง และซักถามด้วยความสนใจใคร่รู้  เพราะคนหนึ่งจะเข้าทำกิจกรรมได้เพียงฐานเดียว  ฉะนั้น จึงต้องมีการนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับฐานอื่นๆ  ด้วย โดยมีครูทำหน้าที่สรุปกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการสาระวิชาให้กับนักเรียนอีกครั้งหนึ่ง  
          เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบตัวคูณของนักเรียนกันแล้วหรือยังค่ะ  เรียกได้ว่า  ทำกิจกรรมเพียงฐานเดียว  แต่ได้เรียนรู้อีกสามฐานไปพร้อมๆ  กันด้วย  เป็นความแยบยลในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมมากๆ 


          และในช่วงบ่ายแก่ๆ  คณะของเรา  ก็ได้พบกับ อาจารย์จิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  และคณะครูอีกหลายคน  รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่เดินทางมารับลูกหลานพอดี  โดยจากการพูดคุย เราได้เห็นกระบวนการจัดการความรู้ของคณาจารย์เช่นกัน  คือ กิจกรรม Teacher  Show  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คณะครูอาจารย์  จะประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และมีการนำเสนอผลการสอนแบบรายกลุ่ม และรายบุคคล  โดยการนำเสนอผลงานรายกลุ่ม  เช่น  กลุ่มสาระภาษาอังกฤษ,  กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์  ก็จะมีการนำเสนอผลงานโครงการของแต่ละกลุ่ม   ส่วนการนำเสนอแบบรายบุคคล จะมีการนำประสบการณ์หรือวิธีการที่นำไปใช้ในการเรียนการสอนกับเด็กของตนเองว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร  ได้ผลอย่างไร  เด็กมีการเรียนรู้อย่างไร เป็นต้น  ซึ่งผลการนำเสนอต่างๆ  เหล่านี้ จะบันทึกไว้ในแฟ้มงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าทุกๆ ปี นอกจากนั้น  ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชั้นเรียนด้วย  ว่าแต่ละระดับชั้นมีการออกแบบการเรียนการสอน  วิธีการสอนอย่างไร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ที่สำคัญ  คณะครูอาจารย์ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา   จะต้องมีการเรียนรู้ร่วมกันในหลายกิจกรรม เช่นการไปเตรียมแผนการสอนจะต้องไปศึกษาดูงาน เพื่อกลับมาวางแผนการสอนร่วมกัน ส่วนครูคนใดมีโอกาสไปอบรมที่ใด ก็จะมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้เพื่อนครูได้มีความรู้ที่ทัดเทียมกัน และเพื่อขยายผลในการเรียนการสอนต่อไป
          อีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือ  กิจกรรมกลุ่ม Star  คือ  Small, Team, Activities  และ  Relationship  ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้  โดยให้ครูจับกลุ่มกัน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ  เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการแก้ไขป้องกันปัญหาของเด็กนักเรียนด้วยกัน  ทำให้ครูมีกิจกรรมร่วมกัน  ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน


          นอกจากนั้น  ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรในโรงเรียน  ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร  ครูอาจารย์  คนสวน และคนขับรถ  เพื่อนำความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเหล่านั้น  มาใช้ประโยชน์และเพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันต่อไป

         โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้ผลสัมฤทธิ์  คือ  การที่ผู้นำองค์กร  เปิดโอกาสให้บุคลากรได้กล้าคิด กล้าเสนอความคิดเห็น  มีความเป็นอิสระในการคิดอย่างสร้างสรรค์  ให้บุคลากรรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมกัน 


          ที่สำคัญโรงเรียนจิระศาสตร์ ได้เชื่อมโยงเด็กนักเรียนและโรงเรียน เข้ากับผู้ปกครองและชุมชนอย่างกลมกลืน  มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  พ่อแม่ผู้ปกครองจะมีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนและโรงเรียนได้  เช่น  หากเรียนรู้เรื่องอาชีพหมอ  ก็จะเชิญผู้ปกครองที่มีอาชีพหมอ มาพูดคุยในสาระวิชาที่จะสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้โดยตรงจากประสบการณ์จริงในอาชีพนั้นๆ   หรือหากมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของชุมชน ก็จะมีการติดต่อประสานงานและวางแผนกระบวนการเรียนการสอนร่วมกับเจ้าของชุมชนหรือเจ้าของสถานที่นั้นๆ  เช่น  เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ก็จะมีการนำเด็กนักเรียนไปเรียนรู้จากสถานที่จริง  โดยมีเจ้าของชุมชนหรือเจ้าของสถานที่เป็นผู้ให้ความรู้ที่เหมาะสมกับหัวข้อการเรียนการสอนหรือเนื้อหาของเด็กนักเรียนในชั้นนั้นๆ  ได้เป็นอย่างดี  เด็กนักเรียนก็จะรู้สึกสนุกสนานแต่ได้สาระ  เพราะได้เห็น ได้สัมผัสเรื่องราวในบริบทจริงของตนเอง ทำให้เด็กไม่หลงลืมหรือห่างไกลท้องถิ่นตนเองมากจนเกินไป  และทำให้นักเรียนรู้สึกภาคภูมิใจในพื้นถิ่นตนเองในที่สุด


          เรียกได้ว่า โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ได้มีการดำเนินการจัดการความรู้เพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคณาจารย์และบุคลากรของโรงเรียน,  ผู้ปกครอง  และชุมชน   ซึ่งได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้  JIRASART Teaching’s Model  ซึ่งได้นำตัวพยัญชนะภาษาอังกฤษมาเป็นตัวกำหนดคำสำคัญ คือ
          J - Joy  to  learn                         เรียนรู้อย่างมีความสุข
          I – Integrating  Knowledge          บูรณาการความรู้
          R – Reflecting  Observation          การสะท้อนความรู้สึกจากการสังเกต
          A – Acting  Experimentation         การลงมือปฏิบัติ/ทดลอง
          S – Satisfaction                           ความภาคภูมิใจในผลงาน
          A – Achievement                        การดำเนินงานสู่ความสำเร็จ
          R – Research &  Development      วิจัยและพัฒนา
          T – Teamwork                            การทำงานเป็นทีม
           
          โดยมีครูทำหน้าที่  “คุณอำนวย”   สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  คอยกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด  รู้จักสังเกต  รู้จักตั้งคำถาม และการลงมือปฏิบัติหรือค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง  มีการบูรณาการการเรียนรู้ทั้งจากในตำราและนอกตำรา,  มีการนำความรู้จากเชิงทฤษฎีหรือความรู้สมัยใหม่เช่น  นวัตกรรมต่างๆ  ผสมผสานอย่างกลมกลืนกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่สำคัญมีการออกแบบกระบวนการเรียนรู้จากความรู้ฝังลึก (Tacit  Knowledge)  ในตัวคนและสถานที่จริง บริบทจริง  ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานและท้องถิ่นของตนเอง  พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าถาม กล้าเสนอความคิดเห็น  สามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดี  มีการทำงานเป็นทีม  รู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ซึ่งสิ่งต่างๆ  เหล่านี้ ล้วนส่งผลให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  เป็นเด็กที่มีศักยภาพรอบด้านและมีทักษะชีวิตอย่างเต็มเปี่ยม  พร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคมต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #โรงเรียน
หมายเลขบันทึก: 3606เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2005 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท