กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ในโรงเรียน


กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ (Girl Guides)

           กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์   เป็นกิจกรรมอาสาสมัครสำหรับเด็กผู้หญิงและสตรีที่สนใจ  โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  วรรณะ  และศาสนา เป็นกิจกรรมสำหรับฝึกเยาวสตรีให้เป็นผู้หญิงที่เก่ง  ดี  และมีประโยชน์ต่อสังคม  ตามหลักการที่ Lord Baden Powell ผู้ก่อตั้งกิจการลูกเสือและผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้กำหนดไว้  ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บำเพ็ญประโยชน์   และทำให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุด ในการเป็นพลเมืองดี  มีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามพันธกิจของกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์    กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้รับเลือกให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพึ้นฐานพุทธศักราช 2544  ปัจจุบัน   กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์  มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ทั่วประเทศ   ซึ่งมีทั้งสมาชิกนอกโรงเรียนและสมาชิกที่อยู่ในโรงเรียนต่างๆ 
           สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์  The Girl Guide Association of Thailand Under The Patronage of Her Majesty The Queen (GGAT) เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อการพัฒนาเด็กผู้หญิงและเยาวสตรีให้เป็นผู้ที่เก่ง ดี และมีประโยชน์ต่อสังคม  สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ  เป็นองค์กรสมาชิกขององค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก The World Association of Girl Guides and Girl Scouts (WAGGGS) ซึ่งเป็นองค์กรสตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก   ที่มีสมาชิกทั่วโลก 145 ประเทศ   และมีสมาชิกกว่า 10 ล้านคน
           คำว่า  "บำเพ็ญประโยชน์" หมายความว่า "ผู้ที่ฝึกฝนตนเองให้พร้อมที่จะนำและช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ" มาจากภาษาอังกฤษว่า "GUIDE" แปลว่าผู้นำทาง หมายถึงผู้ที่ฝึกตนเองให้พร้อมที่จะช่วยเหลือคนเดินทาง โดยการฝึกทักษะต่างๆ ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม

วัตถุประสงค์ของการฝึกผู้บำเพ็ญประโยชน์
           เพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรี
             1. มีอุปนิสัยที่ดีตามแนวทางของคำปฏิญาณและกฎ
             2. มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมกับสังคมในปัจจุบันและอนาคต
             3. เป็นผู้นำที่ดีในระบอบประชาธิปไตย
             4. รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ขอบข่ายการพัฒนา
           ในการฝึกจะต้องให้สมาชิก ได้รับการพัฒนาทุกด้าน คือ
             1. ร่างกาย (Physical)
             2. อารมณ์ (Emotional)
             3. สังคม (Social)
             4. สติปัญญา (Intellectual)
             5. จิตใจ (Spiritual)
             6. คุณธรรม (Moral )

การใช้วิธีการของผู้บำเพ็ญประโยชน์ในการฝึกสมาชิก (Methods)

           กิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์  Girl Guiding/Girl Scouting   เป็นกิจการหรือกระบวนการ(Movement)  กิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์  จึงมีลักษณะที่แตกต่างไปจากกิจการขององค์กรเยาวชนอื่น ๆ โดยใช้ วิธีการของผู้บำเพ็ญประโยชน์  ซึ่งวิธีการของผู้บำเพ็ญประโยชน์เป็นแนวทางในการทำงานเพื่อเพิ่มพูนการพัฒนาเด็กผู้หญิงและเยาวสตรี ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น  (Flexible) มีโอกาสเท่ากันในการพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า  มีการบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน  มีความรู้ความซาบซึ้ง  และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ วิธีการนี้ช่วยให้หัวหน้าหมวดและสมาชิกสามัญ  พัฒนาเด็กผู้หญิงและเยาวสตรีให้พัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุด ในฐานะเป็นพลเมืองโลกที่มีความรับผิดชอบตามพันธกิจ

        

                                    

                   ผู้ก่อตั้ง                                    Olave Baden Powell(ประมุขกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์) 

         ท่านลอร์ด เบเดน โพล  ผู้ก่อตั้งได้กล่าวไว้ว่า  วิธีการของผู้บำเพ็ญประโยชน์  คือ  แนวทางที่มีลักษณะเฉพาะในการพัฒนาเยาวชนที่แตกต่างไปจากวิธีของกิจการอื่น  โดยมีรายละเอียด  ดังนี้
          1. ยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎ
              คำปฏิญาณและกฎ  คือหัวใจของกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์  เป็นปรัชญาชีวิตของสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์ทุก ๆ คน  หลักการของกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์  สามารถแสดงให้เห็นได้หลายวิธี  เป็นการรวมความเข้าใจในคำปฏิญาณ และกฎแต่ละข้อ สมาชิกแต่ละคนยอมรับและยึดมั่นด้วยความสมัครใจที่จะใช้ชีวิต ตามหลักการพื้นฐานของผู้บำเพ็ญประโยชน์  และรับมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
          2. ระบบหมู่   (The Patrol System)
               ระบบหมู่  ทำให้หัวหน้าหมวดทำงานด้วยกันภายใต้ภาวะผู้นำของแต่ละคน  และของสมาชิกในหมู่  คุณลักษณะหลักของระบบหมู่  คือการส่งเสริมให้สมาชิกเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  นำซึ่งกันและกัน  และจัดสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนได้แสดงบทบาท  และความรับผิดชอบร่วมกัน  เป็นการจัดโอกาสทางการศึกษา ได้แก่ การเข้าไปร่วมส่งเสริม Team spirit  การร่วมมือ  การมอบและแบ่งปันความรับผิดชอบ  พัฒนาทักษะความเป็นประชาธิปไตย  รวมทั้งวิธีการตัดสินใจด้วย  
          3. การเรียนรู้โดยการลงมือทำ  (Learning by doing)
              การลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง  เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์  ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ชัดเจน ทั้งการทำผิดและทำถูก ทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง มีการริเริ่มทำสิ่งใหม่  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง  ฝึกให้มีความพยายามและเพิ่มพูนความสามารถด้วยตนเอง  ได้มากกว่าการไปรับฟัง  หรือสังเกตการณ์เท่านั้น 
          4. การพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้า  (Progressive Development)
              การจัดโปรแกรมแก่เยาวสมาชิก เป็นการจัดเพื่อให้พัฒนาสมาชิกแต่ละคนให้ก้าวหน้า  สร้างโอกาสให้มีการทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายความสามารถของตนเอง  สมาชิกมีสิทธิที่จะเลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง 

          5. ความร่วมมือระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก  (Active Co-operation between Youths and Adults)
              ความร่วมมือระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก เป็นความร่วมมือทั้งในด้านความคิดและการวางแผนการตัดสินใจ การดำเนินกิจกรรม  และการประเมินผลร่วมกัน  ความร่วมมือนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการส่งเสริมให้คนรุ่นเยาว์  ให้ก้าวหน้าในการพัฒนาตนเอง  และมีความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบ  การส่งเสริมให้คนรุ่นเยาว์ให้ก้าวหน้าในการพัฒนาตนเอง  และมีความเข้าใจในหน้าที่รับผิดชอบ
          6. การใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน  (Symbolism)
              สัญลักษณ์  คือ  สิ่งที่ทำให้สมาชิกทุกคนรู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน  มีความเป็นเจ้าของและมีความสามัคคีกัน สัญลักษณ์ของผู้บำเพ็ญประโยชน์ คือ เครื่องหมาย เครื่องแบบ คำปฏิญาณและกฎ  คติพจน์  ธง  เป็นต้น
          7. กิจกรรมกลางแจ้ง  (Outdoor activities)
              กิจกรรมกลางแจ้ง   หรือกิจกรรมนอกอาคารสถานที่มีคุณค่าต่อการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  การตระหนักรู้  คุณลักษณะของตนเอง  ทำให้คนเรามีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น  เป็นการส่งเสริมให้ตนเอง  มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  มีการร่วมมือ  และประสานกันเป็นทีม
          8. การบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน
              การทำงานกับชุมชน  จะช่วยส่งเสริมสำนึกในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  ที่ทุกคนมีส่วนร่วมกัน  รับผิดชอบต่อโลกและสังคมที่เราอาศัยอยู่  ให้โอกาสเรียนรู้และเข้าใจ  และยอมรับนับถือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
          9. ประสบการณ์นานาชาติ  (International Experiences) 
              กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เป็นกิจการที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  (Movement)  การส่งเสริมความนับถือผู้อื่นและความอดทนต่อผู้อื่น  ความรับผิดชอบต่อโลกที่อาศัยอยู่  การศึกษาเรื่องนานาชาติ  เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บำเพ็ญประโยชน์ โดยการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองทั้งด้านวัฒนธรรมและศาสนา  ผู้บำเพ็ญประโยชน์จะได้รับความรู้ความเข้าใจ  และยอมรับความแตกต่างของวิธีคิด  การดำเนินชีวิต  และการมีเพื่อที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน  ผู้บำเพ็ญประโยชน์สามารถพัฒนาความรู้สึกในความรับผิดชอบ และความรู้ของการพึ่งพาอาศัยกัน  และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมประสบการณ์นานาชาติให้ผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้เข้าใจในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี (Custom)  ของวัฒนธรรมอื่น ๆ เพื่อลดข้อขัดแย้ง  ให้ได้มีโอกาสแบ่งปัน  และวิเคราะห์ประสบการณ์ที่มี  และสนับสนุนให้นำประสบการณ์เหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป

ประวัติกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์ไทย

          กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เริ่มขึ้นจากการที่นางสาวกนก สามเสน (ปัจจุบัน คือ ดร.คุณหญิงกนก สามเสน วิล ) ได้ไปดูงานและเยี่ยมชมกิจการของ The Girl Scouts Association of U.S.A ที่นครนิวยอรค์ เนื่องในโอกาสเข้าร่วมสัมมนากับ Committee of Correspondence เมื่อ พ.ศ. 2499
          จากความประทับใจในกิจกรรมการทำงานของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ การที่ได้พบเห็น Girl Scouts เป็นบุคคลที่คล่องแคล่ว มีบุคลิกภาพดี และแต่งตัวเก๋ ท่านจึงเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง   เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณหญิงกนก ซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมสตรีอุดมศึกษาสมัยนั้นได้รับอาสาเป็นผู้ดำเนินงานกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ สโมสรปรียา เครือหนังสือพิมพ์สตรีสาร ซึ่งมีการชุมนุมที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ หลังจากที่มีกิจกรรมไป 3-4 ครั้งก็ได้นำเรื่องราวที่พบเห็น มาเล่าให้สมาชิกกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ฟัง สมาชิกให้ความสนใจมาก มีความกระตือรือร้นที่จะรับการฝึกบ้าง  ท่านจึงได้นำเรื่องราวทั้งหมดปรึกษากับคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง และคณะกรรมการสมาคมสตรีอุดมศึกษา ขณะนั้นมีอาจารย์สมัยสวาท พงศ์ทัต เป็นนายกสมาคม ทุกคนไม่ขัดข้องจึงได้ติดต่อไปยัง Committee of Correspondence ให้ช่วยหาเอกสารให้ องค์การนี้จึงติดต่อไปยัง Girl Scouts of U.S.A. ภายในสองสัปดาห์ ก็ได้รับหนังสือคู่มือต่างๆ ขณะเดียวกัน Girl Scouts of U.S.A. ได้แจ้งองค์กรผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก หรือ The World Association of Girl Guide and Girl Scouts ให้ทราบด้วย
          เดือนมีนาคม ปี 2500 องค์การโลกได้ส่ง Miss Mildred Mode ปัจจุบันคือ Mrs. Mildred Owenhuge ซึ่งเป็น Traveling commissioner ของภาคพื้นเอเชีย และ Miss Marie de Figuredo ผู้ฝึกจากฮ่องกง มาช่วยฝึกเยาวสตรีเป็นผู้จัดกิจกรรม (หัวหน้าหมวด) Girl Guides ที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา ถนนรองเมือง ผู้รับการฝึกส่วนใหญ่ คือ นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 20 คน สมาชิกกลุ่มแรกนี้สอบผ่านและปฏิญาณตนเมื่อเดือน มีนาคม 2500 จำนวน 18 คน ผู้รับปฏิญาณตน คือ  Miss Helen Mc Swinny ต่อมาผู้ที่ได้รับการฝึกเป็นหัวหน้าหมวด Girl Guides ได้เปิดหมวดสมาชิก Girl Guides หมวดแรก คือ กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ของสโมสรปรียา และสมาชิกกลุ่มแรก เป็นผูลงคะแนนเสียงให้เรียก Girl Guides ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์” เพราะเห็นว่าเป็นชื่อที่แสดงความหมายที่เข้าใจ คณะอนุกรรมการได้มีโอกาสเข้าเฝ้ากรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ขอประทานข้อคิดเห็นถึงชื่อว่าอย่างใดจะเหมาะสมกับเรื่องราวดีอยู่แล้ว
          นอกจากตั้งชื่อแล้ว สมาชิกกลุ่มแรกยังเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของผู้บำเพ็ญประโยชน์ด้วย โดยถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เครื่องแบบที่ยังคงยึดถืออยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เสื้อสีฟ้าอมเทา สวมหมวกเบเร่ต์สีกรมท่า มีตราสมาคมสีแดงติดหน้าหมวก เข็มขัดหนังสีดำ หัวเข็มขัดมีตราสมาคมอยู่ตรงกลาง
          เนื่องจากสมาคมสตรีอุดมศึกษา เป็นสมาชิกสหพันธ์สมาคมสตรีอุดมศึกษาระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีกฎพิเศษ และกฎข้อหนึ่ง คือ สมาชิกของสมาคมสตรีอุดมศึกษาจะต้องเป็นผู้จบปริญญาตรี หรือผ่านการเรียนระดับอุดมศึกษาอย่างน้อย 2 ปี จึงเห็นว่าถ้าจะให้กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้มีการขยายกิจการให้กว้างขวาง จะต้องมีสมาชิกเพิ่ม และสมาชิกส่วนมาก คือ บุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้ผ่านการศึกษาขั้นปริญญา อีกประการหนึ่ง การที่องค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แต่ละประเทศจะเป็นสมาชิกองค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก จำเป็นต้องยึดหลักการในข้อหนึ่งนั้น คือองค์การต้องเป็นอิสระ อนุกรรมการขณะนั้นจึงมีมติให้แยก “กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์” จากสมาคมสตรีอุดมศึกษาและตั้งเป็นสมาคมโดยเอกเทศขึ้น โดยใช้ชื่อว่า สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย  (THE GIRL GUIDES ASSOCIATION OF THAILAND)

โปรแกรมที่ใช้ในการจัดกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์

 
          1. การบำเพ็ญประโยชน์ (
GIVING SERVICE)
              โปรแกรมนี้จะช่วยเส่วงเสริมและสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้เรียนรู้ เกี่ยวกับกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์ (GIRL GUIDING) ได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้เป็นผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ แสดงความเมตตากรุณา เพื่อให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม “การทำความดีอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง เป็นการบำเพ็ญประโยชน์อย่างหนึ่ง”
          2. การเป็นพลเมืองดี (CITIZENSHIP)
              โปรแกรมนี้จะช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้ฝึกฝนตนเองให้เป็นพลเมืองที่ดีมีความรับผิดชอบ  โดยการปฏิบัติหน้าที่ต่อโรงเรียน  ชุมชน  และประเทศชาติด้วยความเต็มใจ  และปฏิบัติตามคำปฏิญาณ  และกฎของผู้บำเพ็ญประโยชน์
         3. วัฒนธรรมและมรดกของชาติ(CULTURE AND HERITAGE)
             โปรแกรมนี้จะช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีมีความรู้ ความเข้าใจ  และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเชื่อ  และมรดกของชาติ  พร้อมที่จะอนุรักษ์และช่วยเผยแพร่สิ่งที่ดีงามนี้แก่ผู้อื่น 
          4. สิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENT)
              โปรแกรมนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กผู้หญิง และเยาวสตรีได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม การพัฒนา การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          5. การอยู่ร่วมกับผู้อื่น (RELATIONSHIPS)
              โปรแกรมนี้ช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้รู้จักตนเองและรู้จักผู้อื่น โดยการเป็นมิตรและเรียนรู้การทำงานร่วมกับ ผู้อื่น โดยกระบวนการของระบบหมู่
          6. สุขภาพ (HEALTH)
              โปรแกรมนี้จะช่วยเตรียมตัวให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีมีสุขภาพดี  สติปัญญาเฉลียวฉลาด  มีอารมณ์มั่นคงและรู้จักปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสังคมได้เป็นอย่างดี
          7. ประสบการณ์นานาชาติ  (INTERNATIONAL UNDERSTANDING)
              โปรแกรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้มีประสบการณ์นานาชาติ และมีความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งมีพื้นฐาน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสันติเด็กหญิงและเยาสตรีจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนานาชาติ ภาษาต่างประเทศ กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ของประเทศต่างๆ เรื่องเกี่ยวกับองค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคและสายใยแห่งความสัมพันธ์ของสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์ ทั่วโลก 
          8. เทคโนโลยี  (TECHNOLOGY) 
              โปรแกรมนี้ช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี  มีทักษะและสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
          9. ครอบครัว (FAMILY LIFE)
              โปรแกรมนี้จะทำให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีทราบและเข้าใจบทบาทความรับผิดชอบและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อครอบครัว ความสัมพันธ์และภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
         10. วิสัยทัศน์ (MY VISION)
               โปรแกรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้มีโอกาสค้นคว้าหาความต้องการ ความสามารถ ความสนใจ  วิสัยทัศน์ของตนเอง  และได้เรียนรู้ทักษะใหม่ต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเองให้สามารถตัดสินใจที่จะเลือกอาชีพที่ตนเองถนัดและต้องการได้ในอนาคต

การจัดหมวดหมู่ของผู้บำเพ็ญประโยชน์

          กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจกรรมใช้ระบบหมู่เป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมดังนั้น เมื่อนักเรียนสมัครเป็นสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์  จึงต้องมีการจัดหมวดหมู่ของตนเอง ซึ่งการจัดกิจกรรมให้เกิดหมวดหมู่ โดยความสมัครใจของสมาชิก นิยมใช้กิจกรรมการสร้างความคุ้นเคย กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในหมู่สมาชิก  เพื่อให้เกิดความรู้จักคุ้นเคย สนิทสนมกัน   และเป็นการละลายพฤติกรรมให้สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ทุกคนได้อย่างมีความสุขลักษณะการจัดหมวดหมู่ของผู้บำเพ็ญประโยชน์  หากเป็นหมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์รุ่นนกน้อยคือ ระดับอนุบาล จะมีสมาชิกจำนวนอย่างน้อย 8 คน และไม่เกิน 16 คน  สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ ไม่เกิน 6 คน  หมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์รุ่นนกสีฟ้ามีสมาชิกอย่างน้อย 12 คนหรือ 2 หมู่ อย่างมากไม่เกิน 24 คน หรือ 4 หมู่  สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ ไม่เกิน 6 คน  และสำหรับหมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์  รุ่นกลางและรุ่นใหญ่มีสมาชิกอย่างน้อย 16 คนหรือ 2 หมู่  อย่างมากไม่เกิน 32 คนหรือ 4 หมู่  สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่  ไม่เกิน  8  คน

วิธีการคัดเลือกหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่

          การคัดเลือกหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ดำเนินการตามแบบประชาธิปไตยโดยสมาชิกในหมู่เสนอชื่อเพื่อนในหมู่อย่างน้อย 2 คน เป็นหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่  โดยมีการลงคะแนน  ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดเป็นหัวหน้าหมู่ ส่วนคนที่ได้คะแนนรองลงมาจะเป็นรองหัวหน้าหมู่ ซึ่งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลสมาชิกในหมู่และประสานงานกับหัวหน้าหมวด

วิธีการตั้งชื่อหมู่

          กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์นิยมตั้งชื่อของหมู่เป็นดอกไม้ เช่น หมู่ดอกมะลิ หมู่ดอกบานบุรี หมู่ดอกแก้ว หมู่ดอกบานเช้าเหลือง  ทั้งนี้เพราะกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เป็นกิจกรรมสำหรับเยาวสตรี  ดังนั้นชื่อของหมู่จึงนิยมใช้ชื่อดอกไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงาม น่ารักและสดชื่น สดใสเหมือนสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์ทุกคน

หมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์  รุ่นนกน้อย

         

          1. ให้มีสมาชิกจำนวนอย่างน้อย  8  คน  และไม่ควรเกิน  16  คน
          2. สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่  ไม่เกิน  6  คน

หมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์  รุ่นนกสีฟ้า

          1. ให้มีสมาชิกอย่างน้อย  12  คน หรือ  2 หมู่  อย่างมากไม่เกิน  24 คน  หรือ  4 หมู่
          2. สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่  ไม่เกิน  6  คน

หมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์  รุ่นกลางและรุ่นใหญ่

          1. ให้มีสมาชิกอย่างน้อย  16  คน หรือ  2 หมู่  อย่างมากไม่เกิน  32 คน  หรือ  4 หมู่
          2. สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่  ไม่เกิน  8  คน

ผู้บำเพ็ญประโยชน์มุสลิม

                           

สมาชิกสามัญ,สมาชิกกิตติมศักดิ์,                                                สมาชิกสมทบ,กิตติมศักดิ์ชาย

                        หัวหน้าหมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์                  

                        สมาชิกสามัญ,สมาชิกกิตติมศักดิ์

    หมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์

         • ต้องมีหัวหน้าหมวดซึ่งผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรของผู้บำเพ็ญประโยชน์และมีใบอนุญาตให้เปิดหมวด
         • ในหมวดหนึ่ง ๆ ให้มีผู้ช่วยหัวหน้าหมวดไม่เกินหมวดละ  2  คน
         • การเปิดหมวด ต้องขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาของสถานศึกษานั้น ๆ และให้คณะกรรมการจังหวัดหรือสมาคม

ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ฯ  ทราบ

  

 ค่ายพักแรม

      ญี่ปุ่น                

เคนยา  

   ไอร์แลนด์

นามีเบีย  

 

คำปฏิญาณของผู้บำเพ็ญประโยชน์ 

          1. ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่อันพึงมีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
          2. ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ
          3. ข้าพเจ้าเชื่อและจะปฏิบัติตามกฎของคณะผู้บำเพ็ญประโยชน์

 กฎของผู้บำเพ็ญประโยชน์

          ข้อ 1 ทำตนให้เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจได้
          ข้อ 2 ซื่อสัตย์
          ข้อ 3 ทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ
          ข้อ 4 เป็นมิตรกับคนทั้งหลายและถือเป็นพี่เป็นน้องกับผู้บำเพ็ญประโยชน์ร่วมคณะ
          ข้อ 5 สุภาพอ่อนน้อม
          ข้อ 6 เมตตากรุณาต่อสัตว์
          ข้อ 7 เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่ง
          ข้อ 8 อดทนต่อความยากลำบากด้วยใจร่าเริง
          ข้อ 9 มัธยัสถ์
          ข้อ 10 สุจริตพร้อมกายวาจาใจ

 

 คติพจน์ของผู้บำเพ็ญประโยชน์

"เตรียมพร้อมเสมอ" 

 

คำขวัญของสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์

"ทำความดี อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง"

 

     

ที่มา : สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

     

จากหลักการดังกล่าว  ในการจัดกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ของโรงเรียนวัดน้อยนพคุณ  ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมโดยยึดวิธีการฝึก  9  วิธี  โปรแกรมการฝึก  10 โปรแกรม โดยเน้นห้สมาชิก  มีพัฒนาการด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคม สติปัญญา จิตใจและคุณธรรม เน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมให้มากที่สุด เนื้อหาวิชาเป็นส่วนประกอบ  แต่การจัดกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเป็นการฝึกฝนตนเอง  ถือเป็นสำคัญ 

        การจัดกิจกรรมจึงเน้นเพลง เกม  ฝึกระเบียบ มารยาทในการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือ  คิดร่วมกัน  เน้นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม

หมายเลขบันทึก: 360178เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2010 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้น

เรียนบำเพ็ญประโยชน์

อยากทราบว่าสัญลักษณ์ของผู้บำเพ็ญประโยชน์..ผักเบี้ย,ดาวดวงสองบนใบผักเบี้ยมีความหมายว่าอย่างไร ? และความหมายของเข็มทิศ,สีทองของผักเบี้ยและสีฟ้าของผืนธงคืออะไรมีความหมายว่าอย่างไร ?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท