ระวังนิ้วล็อก คุณแม่บ้าน นักชอปป์


คุณใช้งานนิ้วมือหนักเกินไปหรือเปล่า
คุณใช้งานนิ้วมือหนักเกินไปหรือเปล่า
นิ้วมือเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อหยิบจับสิ่งของต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการทำกิจกรรมบางประเภทซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน สามารถนำไปสู่อาการบาดเจ็บหรือผิดปกติได้อย่างที่คาดไม่ถึง
นิ้วมือประกอบด้วยเอ็น กระดูก และปลอกรัด (ต่อไปจะเรียกว่าปลอกหุ้มเอ็น) เพื่อยึดเส้นเอ็นและกระดูกเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อนิ้วมือมีการเคลื่อนไหว เส้นเอ็นจะถูกดึงให้หดและยืดตามกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีการเสียดสีไปมากับปลอกหุ้มเอ็นตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากเป็นการใช้งานอย่างหนักซ้ำๆ ในตำแหน่งเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน เส้นเอ็นอาจเกิดอาการบวม หรืออาจทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นสูญเสียความยืดหยุ่น มีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้น ส่งผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวผ่านปลอกหุ้มเอ็นไม่ได้ กลายเป็นความเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหว (กำและคลาย) นิ้วได้ลำบาก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้นิ้วค้าง (คือถ้านิ้วงอก็เหยียดยืดไม่ได้ หรือถ้าเหยียดค้างก็งอไม่ได้) และขยับไม่ได้อีกต่อไป จึงเป็นที่มาของคำว่าโรคนิ้วล็อกหรือ trigger finger
แน่นอนว่าถ้าร่างกายมีอายุมากขึ้นร่างกายที่ผ่านการใช้งานมานานก็ย่อมเสื่อมไปตามวัย แต่คนส่วนใหญ่กลับมีอาการนิ้วล็อกมากขึ้น เนื่องจากใช้งานนิ้วมืออย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาชีพและกิจกรรมบางประเภทที่มีการใช้งานซ้ำเป็นประจำทุกวัน เช่น การบีบ การกำ การกด หรือหิ้วของหนักจนปลอกหุ้มเอ็นบวมและขาดความยืดหยุ่น ทำให้เอ็นเคลื่อนตัวผ่านได้ไม่สะดวก ความเชื่อที่ว่านิ้วมือสามารถรับน้ำหนักมากๆ ได้นั้นจึงเป็นการคิดไปเอง เพราะเส้นเอ็นที่ข้อนิ้วนั้นเป็นเส้นเล็กๆ ไม่สามารถทำงานหนักเกินความสามารถที่มี โรคนิ้วล็อกจึงเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นในคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่เอง
อย่างไรก็ตาม โรคนี้มักพบมากในผู้หญิง เนื่องจากมีการทำงานจุกจิกด้วยมือมากกว่าผู้ชาย เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร จ่ายตลาด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่มีอาชีพสัมพันธ์กับการทำงานที่ต้องใช้นิ้วมืออย่างมาก ปัจจัยสองประการที่เร่งให้เกิดโรคนี้คือ ความรุนแรงของการใช้งาน ยิ่งมีการกระทบกระแทกสูงโอกาสเสี่ยงยิ่งสูง อีกประการหนึ่งคือ การใช้งานถี่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไม่ได้เป็นการใช้งานหนัก แต่ไม่เคยหยุดพักเลย ก็มีโอกาสเสี่ยงได้มากเช่นกัน ลักษณะงานที่อาจเกิดโรคนิ้วล็อก ได้แก่
กลุ่มคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ได้แก่ พนักงานพิมพ์ดีด เลขานุการ หรือนักเขียนที่มีการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์งานวันละหลายๆ ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรมที่ต้องใช้นิ้วมือคลิกเมาส์ตลอดทั้งวัน การใช้นิ้วมือในตำแหน่งเดิมๆ อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะนิ้วชี้และนิ้วกลาง คนกลุ่มนี้อาจพบร่วมกับอาการพังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณอุโมงค์ ข้อมือ (carpal tunnel syndrome) และอาการพังผืดรัดเส้นเอ็นข้อมือ

4
กลุ่มคนที่ต้องใช้การเขียน ได้แก่ นักเขียน ผู้บริหารที่ต้องเซ็นต์เอกสารจำนวนมาก เลขานุการ
ผู้พิพากษา นักบัญชี ครูอาจารย์ ฯลฯ มักพบว่ามีนิ้วล็อกที่นิ้วโป้งด้านขวาเพราะมีการกดกับปากกา
กลุ่มคนที่ประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ พนักงานธนาคารที่ต้องเกร็งนิ้วเพื่อนับธนบัตรจำนวนมาก นักเล่นกอล์ฟที่เพิ่งหัดเล่นมักจะต้องไดรฟ์กอล์ฟคราวละหลายๆ ถาดโดยไม่หยุดพัก และมือเสียดสีกับด้ามจับคราวละหลายๆ ชั่วโมง แม่บ้านที่จับจ่ายซื้อของและหิ้วของหนักเป็นประจำ การหิ้วถุงพลาสติกที่บรรจุของน้ำหนักมาก จะทำให้ถุงพลาสติกกดลงบนเส้นเอ็นและเกิดการอักเสบได้ง่าย คนเล่นกีตาร์ เจ้าหน้าที่บำบัดด้วยการนวด แม่บ้านที่ต้องซักผ้าและบิดผ้าอยู่เป็นประจำ เจ้าหน้าที่เสริมความงามที่ใช้นิ้วพันผมเข้ากับหลอดดัดผม ช่างตัดเสื้อผ้าที่ต้องใช้กรรไกรตัดผ้าวันละหลายๆ ชั่งโมง หรือคนที่ชอบถักโครเชต์อาจเกิดนิ้วล็อกที่นิ้วชี้ ซึ่งใช้จับด้ามโครเชต์และข้างที่ใช้พันด้ายที่มือเป็นต้น
อาการในช่วงเริ่มต้นจะเริ่มจากการเจ็บที่บริเวณฐานนิ้ว รักษาได้ด้วยการพักการใช้งานนิ้วมือ แช่น้ำอุ่น ขั้นต่อมาอาจมีอาการนิ้วฝืด เคลื่อนไหวติดขัดไม่สะดวก อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบ ทำกายภาพบำบัด หากรุนแรงจนเริ่มเป็นอาการนิ้วล็อกอาจต้องฉีดยาเพื่อสลายพังผืดในปลอกหุ้มเอ้นเพื่อลดการบวม ซึ่งช่วยบรรเทาได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น หากรุนแรงมากก็จำเป็นต้องรับการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบใหม่ที่ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ ใช้เวลาเพียงสั้นเพียง 5-10 นาที เพียง 3 วันเท่านั้นแผลก็หายดีได้
จึงอาจกล่าวได้ว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดอาการนิ้วล็อก หากมีการใช้งานนิ้วมืออย่างหนักตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันอาการเหล่านี้ได้ด้วยการทะนุถนอมนิ้วมือ ดังนี้ 

ป้องกันนิ้วล็อกกันเถอะโรคนิ้วล็อก เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ งอ และเหยียดได้อย่างปกติ อาการเริ่มจากเจ็บ บวมบริเวณฐานนิ้วมือ สะดุด กระเด้ง ล็อกจนกระทั่งนิ้วเสียรูป กำไม่ลง เกยกันและไม่สามารถใช้งานได้อย่างปกติเกิดความทุกข์ทรมารอย่างมาก เมื่อเป็นโรคนิ้วล็อกแล้วเริ่มต้นอาจเพียงสะดุด ต่อมาจะเจ็บปวดมากเวลาจะงอนิ้ว หรือเหยียดนิ้วให้ตรงออกไป บางครั้งงอลงแล้วเหยียดไม่ออก ต้องง้างจึงออกและเจ็บปวดอย่างมาก ต้องตื่นกลางดึกเพราะมืออยู่ในท่าล็อกไม่สามารถเหยียดออกได้ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โรคนิ้วล็อกมักจะเกิดในสุภาพสตรี วัยกลางคนขึ้นไป พบมาช่วงอายุ50-60 ปี คนยิ่งแข็งแรง ใช้มือรุนแรง ใช้มือไม่ถูกหลัก หิ้วถุงอาหารผลไม้ สิ่งของจากการช๊อปปิ้ง ซ้ำๆ บ่อยๆทำให้เพิ่มโอกาสเกิดโรคนิ้วล็อกได้เร็วยิ่งขึ้น สุภาพบุรุษพบน้อยกว่า มักพบในกลุ่มคนตีกอล์ฟ คนทำงานช่าง ทำงานสวน ที่ต้องกำบีบเครื่องมือเก็งทำงานเป็นเวลานานๆ คนไทยเป็นโรคนิ้วล็อกมาก พบได้เกือบทุกบ้าน เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้มือหิ้วถุงพลาสติก(ถุงมหาภัย) หนักๆเป็นประจำ เช่นการหิ้วถุงผลไม้ อาหารสิ่งของในการเดินจ่ายตลาด และหิ้วโดยใช้นิ้วเกี่ยวเพียงนิ้วใดนิ้วหนึ่ง และหิ้วครั้งละหลายๆ ถุง หิ้วเกี่ยวถุงด้วยนิ้วเดินจากตลาดถึงบ้าน หรือหิ้วถึงที่จอดรถ บางครั้งหิ้วจนนิ้วเขียวคล้ำและระบมตามมา 2-3 วัน การบาดเจ็บสะสมตัวจนพังผืดหนาตัวที่เข็มขัดรัดเส้นเอ็น และปลอกหุ้มเอ็นจนในที่สุดขวางการเคลื่อนตัวของเส้นเอ็น ทำให้มีปํญหาในการงอและเหยียดนิ้วและเป็นโรคนิ้วล็อกในที่สุดกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกเช่นการกำเครื่องมือทำสวน เครื่องมือช่าง เครื่องมือทำครัว การกำไม้กอล์ฟกระแทกลูกกอล์ฟ การซักผ้าด้วยมือ การเช็ดล้าง ซึ่งต้องบิดผ้าให้แห้งเกิดการบดกันของเส้นเอ็นกับเข็มขัดและปลอกหุ้มเอ็นจนเกิดพยาธิสภาพเช่นเดียวกันล้วนเป็นเหตุทำให้เป็นโรคนิ้วล็อกในที่สุด  การป้องกันโรคนิ้วล็อก สิ่งแรกสุดคือการตระหนักหรือคิดถึงภัยนิ้วล็อกโดยทั่วไปคนเราจะไม่นึกถึงไม่ระวัง ไม่ป้องกันใช้มือรุนแรงจนเกิดอาการนิ้วล็อกแล้วจึงค่อยคิดถึงเหมือนภาษิตว่าไว้ วัวหายล้อมคอก กว่าจะรู้ก็เป็นตามกันมาหลายนิ้วแล้วทั้งๆที่เป็นโรคที่ป้องกันได้ ลดอุบัติการณ์ได้ โดยลดความเสี่ยงต่างๆ ดังต่อไปนี้1 หลีกเลี่ยงการหิ้วถุงหนักๆด้วยการใช้นิ้วมือเกี่ยว ควรหิ้วให้หูหิ้วอยู่ในฝ่ามือ และควรมีผ้าขนหนูหรือกระดาษรองให้นุ่มและหนา อย่าหิ้วหนักและหิ้วไว้นาน หากเป็นไปได้ควรใช้รถเข็น รถลากช่วยทุ่นแรงลดการบาดเจ็บของนิ้วมือ2 ควรใช้เครื่องป้องกันเช่น ใส่ถุงมือเวลาทำงาน ช่าง ,การทำสวน,ขุดดิน ใช้ผ้าหนาๆ หรือใส่ถุงมือหนัง3.อย่าฝืนใช้มือจนเมื่อยล้า เช่น กำบีบเครื่องมือตัดกิ่งไม้ เครื่องมือช่างนานเกินไป ควรหยุดพักเป็นช่วงๆ เมื่อยแล้วอย่าฝืนทำต่อ ควรพักเป็นช่วงๆ เมื่อให้มือได้พัก คุณครูอย่าฝืนเขียนหนังสือเป็นเวลานานๆ 4. ควรหลีกเลี่ยงการบิดผ้ารุนแรง เช่น แม่บ้านซักผ้า ,บิดผ้าขี้ริ้วทำความสะอาดล้างรถ การบิดผ้าซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วมือเสียความยืดหยุ่นและกลายเป็นนิ้วล็อกตามมา ของนิ้วโป้ง นิ้วชี้นิ้วกลางได้แนะนำใช้เครื่องซักผ้า เวลาตากผ้าไม่ควรบิดรุนแรง เพื่อถนอมมือไว้ใช้นานๆ5.มือกอล์ฟควรใส่ถุงมือ คนมือใหม่อย่าฝืนDrive รุนแรงหลายถาดเกินไปควรฝึกค่อยเป็นค่อยไปมิฉะนั้น นิ้วกลาง นาง ก้อยมือซ้ายอาจเกิดปัญหานิ้วบวมอักเสบและเป็นนิ้วล็อก ในที่สุด6. พ่อครัว แม่ครัว ระวังเรื่องการหิ้วซื้ออาหารวัตถุดิบควรหิ้วให้ถูกวิธีอุปกรณ์ทำครัวควรมีผ้ารองด้ามจับให้นุ่มและใหญ่ เลี่ยงการหั่น สับ    เนื้อ กระดูก เป็นเวลานานๆ ควรพักมือเป็นระยะๆ           โรคนิ้วล็อกเป็นภัยเงียบ มีสาเหตุ ป้องกันได้ รักษาให้หายขาดได้แต่ป้องกันไว้ดีกว่าแก้......................ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก               www.trigger-finger.net    

 


           
คำสำคัญ (Tags): #โรคนิ้วล็อก
หมายเลขบันทึก: 3599เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2005 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณหมอ...นายแพทย์ Vichai - Vijitpornkul

  • ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้...ความเป็นห่วงคุณผู้หญิง
  • ครูอ้อยเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้นิ้วมือมากค่ะ..เช่นเขียน..พิมพ์งาน..และ...ชี้นิ้วให้คนอื่นทำงานค่ะ

ขอบคุณค่ะ...ต้องระวัง..ไม่ใช้นิ้วมากเกินไปค่ะ

อรรถภรณ์ ธรรมนิรัติศัย

ถ้าจะไปผ่าตัดที่ครีนิคจะต้องใช่ค่าใช่จ่ายเท่าไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท