การศึกษารายกรณี (Case study )


การศึกษารายกรณี  (Case study ) 

 

              การศึกษารายกรณี (Case study ) เป็นรูปแบบหนึ่งของการวิจัยในชั้นเรียนเชิงคุณภาพ  เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยครูในการเชื่อมโยงกลับไปสู่เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเป็นผล คือบุคลิกภาพเด็กที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

การศึกษาเด็กเป็นรายกรณี หมายถึง การศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลของเด็กเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม รายห้องเรียนในด้านต่างๆ เช่น พัฒนาการ พฤติกรรม สภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู อย่างละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องศึกษาเฉพาะเด็กที่มีปัญหาเสมอไป อาจศึกษาเด็กที่มีความสามารถ พัฒนาการหรือบุคลิกภาพด้านใดด้านหนึ่งเด่นชัด ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป เช่น เด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีความประพฤติปฏิบัติดี เป็นต้น

                การศึกษาเด็กเป็นรายกรณีจึงเป็นประโยชน์มากสำหรับการนำมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน เพราะจะช่วยให้ครูเข้าใจผู้เรียนที่ครูต้องการช่วยเหลือได้อย่างละเอียดลึกซึ้งจนสามารถหาแนวทางแก้ไขหรือพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์

 

ขั้นตอนการศึกษาเด็กเป็นรายกรณี

                การศึกษาเด็กเป็นรายกรณีโดยทั่วไปมีอยู่ 5 ขั้นตอน ดังนี้

                1.  ขั้นรวบรวมข้อมูล/ จัดหมวดหมู่ข้อมูล  การรวบรวมข้อมูลผู้รวบรวมข้อมูลต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านพัฒนาการ และจิตวิทยาพัฒนาการ มีจรรยาบรรณของนักวิจัย  และต้องพยายามรวบรวมข้อมูลเด็กให้ครบครอบคลุมพัฒนาการทุกด้านโดยละเอียดอย่างต่อเนื่อง  ตลอดจนเลือกวิธีรวบรวมให้เหมาะสม หลายวิธี  จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายน่าเชื่อถือ เช่น

                                - การสัมภาษณ์เด็กโดยตรง

                                - การรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

                                - การรวบรวมข้อมูลจากเอกสารในชั้นเรียน เช่น แบบบันทึกพฤติกรรม ระเบียนสะสม

                2.  ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล คือ การนำข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมมาพิจารณา ตั้งสมมุติฐาน

                3.  ขั้นวินิจฉัยปัญหา เป็นการวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรม จากข้อมูลที่ได้มาอย่างเพียงพอ

                4.  ขั้นเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา หลังจากวินิจฉัยปัญหา ขั้นต่อมาเป็นขั้นตอนแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องเป็นวิธีการที่มีระเบียบแบบแผน

                5.  ขั้นติดตามและประเมินผล เป็นการติดตามว่าการช่วยเหลือหรือพัฒนาแก้ไขพฤติกรรม บุคลิกภาพเด็กนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างไร

การพิจารณาข้อมูล(Criteria of Good Information)

                การรวบรวมข้อมูลในการศึกษาเด็กเป็นรายกรณีนั้นบางครั้งต้องพิจารณาว่าข้อมูลที่รวบรวมมาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา หรือนำมาใช้ในการศึกษาได้หรือไม่ อย่างไร ดังนั้นจึงมีหลักในการพิจารณา ตรวจสอบข้อมูล ดังนี้

  1. ความถูกต้อง น่าเชื่อถือได้
  2. ความเที่ยงตรงของข้อมูล
  3. ความเป็นปรนัยของข้อมูล
  4. ข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมแสดงถึงพัฒนาการของเด็ก
  5. เวลาและสถานที่ที่รวบรวมข้อมูล
  6. สถานการณ์และความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่ต้องการศึกษา

 

การเขียนรายงานการศึกษาเด็กเป็นรายกรณี

                การเขียนรายงานการศึกษาเด็กเป็นรายกรณี ควรประกอบไปด้วยรายละเอียด ต่อไปนี้

1.ชื่อผู้ทำการศึกษา ระยะเวลาที่ศึกษา เหตุผลในการศึกษา แหล่งข้อมูล

2.ข้อมูลผู้ถูกศึกษา เช่น ชื่อ  ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด อายุ สถานที่เกิด เชื้อชาติ สัญชาติ

 ศาสนา หน้าตาท่าทางโดยทั่ว ๆไป

3.ปัญหาของผู้ถูกศึกษา

4.ประวัติครอบครัว สภาพแวดล้อมของครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู

5.ประวัติสุขภาพ

6.ประวัติการศึกษา (ผลสัมฤทธิ์)

7.พัฒนาการทางสังคม

8.พัฒนาการทางอารมณ์และสุขภาพจิต

9.การวินิจฉัย วิเคราะห์และตั้งสมมุติฐาน

10.ข้อเสนอแนะ

11.การประเมินติดตาม ควรทำในระยะหนึ่งหลังการศึกษา เพื่อจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม

หรือทราบผลของการเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา

 

ตัวอย่างการเขียนรายงานการศึกษารายกรณี

 

เรื่อง    การแก้ปัญหาเด็กไม่กล้าแสดงออก

โดย

นายเทอดศักดิ์ จันเสวี

ครู อันดับ คศ 1

 

 

 

ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2550

โรงเรียนบ้านยางครก

ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 5

 

คำนำ

           รายงานการศึกษารายกรณีฉบับนี้ เป็นการศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือ  พัฒนา ปรับปรุงพฤติกรรมการไม่กล้าแสดงออกของเด็กหญิง ก (ชื่อสมมุติ) ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ผู้ศึกษาหวังว่าข้อมูลจากรายงานการศึกษารายกรณีฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็ก ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป ขอขอบพระคุณผู้ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

                                                                 เทอดศักดิ์  จันเสวี

 

 

หัวข้อเรื่อง/ ปัญหา  การแก้ปัญหาเด็กไม่กล้าแสดงออก

เหตุผลในการศึกษา

                ข้าพเจ้าเป็นครูประจำชั้นระดับชั้นอนุบาล 1 และอนุบาล 2 โรงเรียนบ้านยางครก จากการที่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติทั้งในและนอกห้องเรียน พบว่า เด็กหญิง ก (ชื่อสมมุติ)ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นอนุบาล 1 มีพฤติกรรมไม่พูดคุยกับเพื่อนและครู นอกจากนี้เวลาครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเมื่อถามคำถามหรือเรียกชื่อเด็กหญิง ก ก็จะก้มหน้าไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง หรือมอบหมายให้ทำกิจกรรมทุกกิจกรรม เด็กหญิง ก จะไม่สนใจ และจะไม่ร่วมหรือทำกิจกรรมใดใดกับเพื่อน  ดังนั้นในฐานะครูประจำชั้นจึงสนใจที่จะศึกษาพฤติกรรม กรณีเด็กหญิง ก เพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรม และหาแนวทางช่วยเหลือปรับปรุง พัฒนาพฤติกรรมให้ดีขึ้นต่อไป

 

แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษา          

1. ตัวเด็กเอง                          2. พ่อแม่เด็ก                       3. เอกสารในชั้นเรียน

 

สมมุติฐานขั้นต้น

                จากการสังเกตเด็กหญิง ก อย่างไม่เป็นทางการในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน และการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้ปกครอง ผู้ศึกษาขอตั้งสมมุติฐานขั้นต้นว่า เด็กหญิง ก มีปัญหาทางด้านสังคม ซึ่งมีรากฐานสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมการอบรมเลี้ยงดูทางบ้าน

 

ข้อมูลส่วนตัวโดยทั่วไป

                เด็กหญิง ก (ชื่อสมมุติ)  เพศ หญิง เกิดวันที่ 2  เดือนเมษายน พ.ศ. 2546  อายุ 4 ปีเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ศาสนาพุทธ  ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 1

                อาชีพบิดา-มารดา  ทำนาทำไร่ ขายของป่าตามฤดูกาล และชำแหละหมูขายเป็นครั้งคราว

                ที่อยู่ปัจจุบัน  บ้านเลขที่ 11/5 หมู่ที่ 9 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  

 

ประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัว

                เด็กหญิง ก อายุ 4 ปี รูปร่างเล็กกะทัดรัด ผมหยิก ผิวค่อนข้างดำ แต่งตัวเสื้อผ้าสะอาดเรียบร้อยดี  ดูโดยทั่วไปมีสุขภาพดี

                เด็กหญิง ก เป็นลูกคนเดียวของบิดากับมารดาคนปัจจุบัน และมีพี่น้องต่างมารดาด้วย

               บิดาอายุ 57 ปี เป็นคนพื้นเมือง มารดาอายุ 38 ปี เป็นชนเผ่ากระเหรี่ยง  ทั้งบิดามารดา ดูโดยทั่วไปสุขภาพดี และดูแลเอาใจใส่ทนุถนอมเด็กหญิง ก เป็นอย่างดี  ไม่ค่อยได้เล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนวัยเดียวกัน ครอบครัวนี้อาศัยอยู่บ้านของตัวเองในบ้านเลขที่ 11/5 หมู่ที่ 9 ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อยเป็นหลัก แต่บางครั้งก็มาอาศัยอยู่ที่กระท่อมชั่วคราวใกล้กับโรงเรียนเพื่อค้าขายของป่าเล็กๆน้อยๆ 

จากการให้ข้อมูลของผู้ปกครอง เด็กหญิง ก เคยเข้าเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง ระยะเวลาไม่นานนัก เด็กหญิง ก ก็ไม่ยอมไปเรียน  จึงได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนบ้านยางครก เมื่อเริ่มมาโรงเรียนใหม่ๆ เด็กหญิง ก จะมาโรงเรียนบ้างไม่มาบ้าง จากการสอบถาม พบว่า ผู้ปกครองตามใจเด็กกล่าวคือ ถ้าเด็กบอกว่าไม่อยากมาโรงเรียนก็ไม่ชักจูง หรือพยายามชักชวนให้เด็กมาโรงเรียน

 

การวินิจฉัยปัญหา

                จากการพูดคุยสัมภาษณ์ บิดามารดาของเด็กทำให้เข้าใจสภาพการอบรมเลี้ยงดู มากขึ้นถึงการดุแลของบิดามารดาแบบตามใจ เอาใจใส่ ทนุถนอมลูกเป็นอย่างดี และด้วยความที่บิดาเป็นคนเมือง มารดาเป็นกระเหรี่ยง สรุปข้อวินิจฉัยได้ว่าเด็กหญิง ก มีปัญหาทางด้านสังคม  และอาจมีปัญหาทางด้านความสับสนทางภาษาจึงส่งผลให้ไม่มั่นใจในตนเองในการสื่อสารกับผู้อื่น

 

ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ปัญหา 

                จากข้อวินิจฉัยดังกล่าวผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา ดังนี้

                1. พยายามพูดคุยแนะนำผู้ปกครองให้ปรับปรุงวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็ก

                2. ขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยปรับปรุงทัศนคติของเด็กที่มีต่อการมาโรงเรียน

                3. ให้โอกาสเด็กในการแสดงออก  ให้แรงเสริมโน้มน้าวใจเด็กให้สนใจร่วมหรือร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อน

 

การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ

                ข้อเสนอแนะข้อ 3  ข้าพเจ้าได้ดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจะพยามชักชวน โน้มน้าวใจให้แรงเสริมให้เด็กหญิง ก มีส่วนร่วมในกิจกรรมมากที่สุดโดยไม่มีการบังคับให้เด็กหญิง ก ทำกิจกรรม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ให้เพื่อนชักชวนให้เด็กหญิง ก ร่วมกิจกรรมในทุกกิจกรรม

                ข้อเสนอแนะข้อ1 และข้อ 2 ได้ดำเนินการลำดับต่อมา โดยการไปพบปะพูดคุยกับผู้ปกครองที่บ้าน และเมื่อผู้ปกครองมาส่งเด็กหญิง ก ที่โรงเรียน

                จากการดำเนินการตามข้อเสนอแนะทั้ง 3 ข้อ พบว่า ผู้ปกครองมีความเข้าใจและมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการปรับพฤติกรรมของเด็กให้มีพัฒนาการเป็นไปในทางที่ดีขึ้น กล่าวคือ ปัจจุบันเด็กหญิง ก มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเมื่อครูเรียกชื่อ เด็กหญิง ก ก็จะขานตอบ เล่นกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น สนใจทำกิจกรรมต่างๆที่ครูจัดมากขึ้น

การติดตามผลการศึกษา

                ถึงแม้ว่าการศึกษาครั้งนี้ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ในขณะที่เขียนรายงานนี้ ผู้ศึกษาหวังว่าการช่วยเหลือ พัฒนาปรับปรุงพฤติกรรมเด็กหญิง ก จะได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะจากการสังเกตพบว่าในปัจจุบันพฤติกรรมของเด็กหญิง ก มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และผลจากการศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ เป็นแนวทางในการช่วยเหลือ พัฒนาปรับปรุงพฤติกรรมของเด็กหญิง ก ให้ดีขึ้น และนำไปใช้กับกรณีอื่นๆ ต่อไป

               

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 359457เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

ขอบคุณสำหรับสิ่งที่เป็นประโยชน์จะนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กต่อไป

ขอบคุณสำหรับประโยชน์ที่ได้รับจะนำไปปฏิบัติกับเด็กต่อไป

ขอบคุณตัวอย่างดี ๆ กรณีศึกษา

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์สำหรับความรู้ที่มีประโยชน์

จำลูกศิษย์คนนี้ได้หรือเปล่าคะ

รหัส 48231060 ค่ะ

จำลูกศิษย์ได้ทุกคนและจำได้เสมอครับ.......

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ที่มีประโยชน์ให้ครูมือใหม่ค่ะ

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ดีๆ

ดิฉัน กำลังมีปัญหาในการดูแลบุตร และต้องการหาคำตอบในการดูแลบุตร เนื่องจากเป็นลูกคนเดียว พฤติกรรม ที่บ้านและโรงเรียน จึงแตกต่างกัน ที่บ้าน ดูเป็นเด็ก น่ารัก เชื่อฟัง เพราะอาจจะกลัวโดนดุ  แต่ที่โรงเรียนชอบ ทำตัวเด่น และ เรียกร้องความสนใจจากเพื่อน ชอบทำตลก โดยไม่คิดถึงความรู้สึกเพื่อน โดยเฉพาะ ตอนนี้อายุเริ่มเข้าวัยรุ่น ตอนต้น แต่ยังเรียนอยู่ป. ๕ จะขึ้น ป. ๖

อาจารย์มีวิธีอย่างไรแนะนำบ้างคะ ที่จะให้เด็กพัฒนาบุคลิกภาพให้ดูดีและเป็นที่ยอมรับของเพื่อน ในทางที่ถูกในการดำรงชีวิตในสังคม  และหันมาตั้งใจเรียน เอาใจใส่การเรียน  โดยไม่สนใจเพศตรงข้าม หรือ คิดทำตลก ในลักษณะที่ไม่สมควรทำ

ขอบคุณมากค่ะ

แม่เลี้ยงเดี่ยว

 

 

นักรียนในห้องมีปัญหากำลังคิดว่าน่าจะ แก้ปัญหานี้ด้วยการศึกษารายกรณีอยู่
ขอบคุณมากในความรู้ที่ให้

ตอบ  คุณแม่เลี้ยงเดียว

ปัญหาที่คุณแม่กำลังหาคำตอบนี้ อาจารย์คิดว่าคำตอบคงไม่อยาก และอยู่ไม่ไกลตัวคุณแม่หรอกครับ เนื่องจากลูกเป็นลูกคนเดียว ฉะนั้นปัญหานี้ให้คุณแม่ลองหันกลับมาทบทวนดูวิธีการอบรมเลี้ยงดูลูกของคุณแม่เองนะครับว่าเลี้ยงดูอย่างไร โดยดูรวมไปถึงบุคคลอื่นรอบข้างที่ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้องกับลูกด้วย ทั้งนี้คงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนเด็กๆครับว่าน้องอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร เท่าที่วิเคราะห์ดูแล้วน้องน่าจะถูกเลี้ยงมาแบบลูกคนเดียวทั่วๆ คือ ถูกเลี้ยงมาแบบตามใจจากคนรอบข้าง(ถ้าคุณแม่ไม่ตามใจเสียเอง) หรือถ้าตรงกันข้ามกันเลยก็คือ รัก เข้มงวดกับลูกเกินไปด้วยความเป็นห่วงเพราะเป็นลูกคนเดียวก็อาจเป็นไปได้  สรุปแล้วผมคิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุมาจากประเด็นที่สองมากกว่าง เพราะหากเข้มงวด หรือดูแลแบบทนุถนอมเกินไปที่บ้าน เด็กอาจรู้สึกอึดอัด เมื่อเก็บสะสมนานเข้าจึงไประบายที่โรงเรียน โดยแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมดังกล่าว ฉะนั้นให้คุณแม่ลองทบทวนดูนะครับว่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยๆปรับพฤติกรรมไปทีละนิด เช่น ให้อิสระแก่ลูกบ้างเมื่ออยู่ที่บ้าน ไม่เข้มงวดเกินไป ไม่ตามใจเกินเหตุ นั่งจับเข่าคุยกัน่วาลูกต้องการอย่างไรทำไมเมื่ออยู่โรงเรียนถึงทำพฤติกรรมแบบนั้น คิดว่าวิธีนี้คงช่วยได้

          สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เข้ามาในบล็อก และมีคำถามฝากไว้ก็ขอให้คุณแม่ประสบความสำเร็จกับการแก้ปัญหานะครับ มีอะไรสอบถามเพิ่มเติม เข้ามาถามได้ครับยินดีรับฟังและให้ข้อเสนอแนะครับ

Very good.I like you Case study.

Thank you Very much.

GoodBye.

ขอบคุณครับผม.

ขอขอบคุณข้อมูลดี ดีที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนและเป็นแนวทางได้เป็นอย่างดีขอขอบคุณ

กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่พอดีค่ะขอบคุณนะค่ะที่ให้ความรู้

นวรตน์ ท.1 หนองบัวลำภู

ขอขอบคุณสำหรับความเอื้อเฟื้อ จะนำไปปรับใช้ในการศึกษารายกรณีของตนเอง

กำลังหาข้อมูลอยู่พอดีเลย ขอบคุณครับสำหรับข้อมูล

กำลังหาข้อมูลการศึกษานักเรียนทั้งชั้นที่มีความแตกต่างกัน(ความประสงค์ผู้บริหาร)ในสาระหลัก คือ ไทย คณิตฯ วิทย์ กำลังมึน ขอคำแนะนำในการศึกษานักเรียนทั้งชั้นที่มีความแตกต่างกัน และครอบคลุม 3 สา่ระ จะทำในรูปแบบไหนได้บ้าง ข้อคำแนะนำหน่อยได้ไหมค่ะ

เพิ่งรู้จักงานคุณครูเทอดศักดิ์ครั้งแรก ขอชื่นชมคุณครูมากค่ะที่มีผลงานออกมาเพื่อพัฒนาบุคคลสำคัญของชาติ(เด็กปฐมวัย)เพราะตัวเองก็มีแนวคิดจะพัฒนาเด็กอย่างเต็มตามศักยภาพให้มากที่สุด คงได้ขอคำแนะนำจากคุณตรูในโอกาสต่อไปนะคะ

ขอบคุณคับ

ชอบคุณค่ะอาจารย์ เดี๋ยวจะชองานจากอาจารย์เยอะๆเลย  มีงานเข้า งานประเมินเข้ม  งานประเมินภายใน-ภายนอกอีกอาจารย์ช่วยด้วยค่ะ

ขอบคุณสำหรับกรณีศึกษาดีๆแบบนี้นะคะ หนูนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีมากเลยคะ

 

ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลครับ  เป็นประโยชน์มาก

อ่านแล้วให้ความรู้มาก ขอขอบคุณ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท