ผลกระทบของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย


มาตรการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ประเทศคู่ค้าบังคับใช้กับสินค้าส่งออกของไทยมีผลกระทบให้ปริมาณการส่งออกของไทยลดลง สินค้าเหล่านี้ ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง และดอกกล้วยไม้ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ผลกระทบของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย                       

          สำหรับผลกระทบของการบังคับใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้วที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ย่อมส่งผลเชิงลบต่อปริมาณการค้าแน่นอน ยกเว้นกรณี ปลาทูน่า-ปลาโลมา เนื่องจากประเทศไทยมิใช่แหล่งปลาโลมา

          มาตรการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ประเทศคู่ค้าบังคับใช้กับสินค้าส่งออกของไทยมีผลกระทบให้ปริมาณการส่งออกของไทยลดลง สินค้าเหล่านี้ ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง และดอกกล้วยไม้ ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

          ส่วนอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการบังคับใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าจากไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์เกษตร การประมงน้ำเค็มและการเลี้ยงสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

          สำหรับสินค้าเกษตรของไทย เกษตรกรมักใช้สารเคมีเป็นปุ๋ยและยาฆ่าแมลงทำให้เกิดปัญหาสารตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งมักจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ด้วยเหตุนี้การส่งออกสินค้าอาหารเหล่านี้ของไทยอาจจะลดลง ถ้าเกษตรกรไม่มีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดีขึ้นเพื่อลดปริมาณสารเคมีตกค้าง การส่งออกสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่นอาจประสบปัญหา เนื่องจากญี่ปุ่นห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีสาร Anti-Biotic ตกค้าง ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี (Organic Food) จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

          ส่วนการประมงน้ำเค็มและการเลี้ยงสัตว์น้ำ (เช่น กุ้ง) ของไทยนั้นก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศอย่างรุนแรง เช่น การจับปลามากเกินไป (Overfishing) และการจับปลาด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การใช้แหอวนที่มีขนาดของตาข่ายเล็กเกินไป ซึ่งทำให้ปลาขนาดเล็กติดตาข่ายขึ้นมาด้วย รวมถึงการใช้ระเบิดจับปลาซึ่งเป็นการทำลายแนวปะการังได้ นอกจากนี้การเลี้ยงกุ้งอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ จนทำให้น้ำเสียที่ปล่อยออกจากบ่อเลี้ยงกุ้งไปทำลายความสมดุลทางธรรมชาติในแหล่งน้ำกร่อยหรือชายฝั่งทะเล ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงพยายามออกมาตรการที่จะควบคุมมลพิษและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในประเทศ และพยายามบังคับใช้กับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศด้วย เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐอเมริกานำมาใช้เพื่อกีดกันผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่มีการจับปลาทูน่าด้วยกรรมวิธีที่ไม่คุ้มครองปลาโลมา รวมทั้งการกีดกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีการจับกุ้งด้วยกรรมวิธีที่ทำร้ายเต่าทะเล ซึ่งส่งผลให้การส่องออกปลาทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทยลดลงอย่างมาก

         สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป นอกจากกระบวนการผลิตจะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศแล้ว วัตถุดิบที่ใช้อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยได้ ในกรณีนี้ เยอรมนี และบางประเทศในสหตาพยุโรปตระหนักถังคุณลักษณะสินค้าสิ่งทอมากขึ้น และได้กำหนดมาตรฐานสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปรวมทั้งเครื่องหนังด้วยว่า มิให้สารเคมีเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบในการผลิตสินค้า มาตรการนี้ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องหนังของไทยไปยังสหภาพยุโรปชะลอตัวลง และส่งผลต่อการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้

          การขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ก่อให้เกิดปัญหาขยะมลพิษ กล่าวคือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เลิกใช้ไม่สามารถกำจัดได้ง่าย อีกทั้งกระบวนการผลิตยังอาจก่อให้เกิดสารตกค้างประเภทโลหะหนัก (Heavy Metals) เช่น ทองแดง ตะกั่ว แคดเมียม ในแหล่งน้ำหรือน้ำบาดาล ณ สถานที่ใกล้เคียงแหล่งผลิตและแหล่งขยะของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นอกจากนี้ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด เช่น ตู้เย็น ซึ่งใช้สาร CFCs ช่วยทำความเย็น ยังเป็นการทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะเละกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ และมีแนวคิดที่จะโยกย้ายแหล่งผลิตจากประเทศผู้นำด้านผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิคส์ไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีทั้งค่าจ้างแรงงานถูกและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่ำ ทั้งนี้พิจารณาจากจำนวนโรงงานของอุตสาหกรรมนี้ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีลดลงในขณะที่จำนวนโรงงานดังกล่าวในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ที่มา : มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ พิสมัย ภูรินสินสิทธิ์ เอี่ยมสกุลรัตน์ , การค้า vs ปัญหาสิ่งแวดล้อม จากแกตต์ถึงองค์การการค้าโลก , สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , สู่ทศวรรษใหม่ของการค้า-สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย , เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ จัดโดย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

นิรมล สุธรรมกิจ , มาตรฐานสิ่งแวดล้อมกับระเบียบการค้าระหว่างประเทศ , เอกสารวิชาการหมายเลข 2 โครงการ WTO Watch (จับกระแสองค์การการค้าโลก)   

หมายเลขบันทึก: 35931เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 12:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

   ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่อการค้าระหว่างประเทศนั้น น่าจะเกิดจากการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆและผลประโยชน์ของผู้ประกอบการมากกว่า   /อุ๋ย

"ปัจจุบัน  เราอยู่ในเวทีแข่งขันระดับโลก ซึ่งไม่มีช่วงเวลาพักระหว่างการแข่งขันแม้แต่วินาทีเดียวในสนามแห่งนี้"    วาทะของ Jack Welch

สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญมีผลต่อการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าภายในหรือต่างประเทศ

แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมเป็นอุปสรรคทางการค้าอย่างหนึ่งในการกีดกันการนำเข้าทางอ้อม ซึ่งรัฐผู้ส่งออกเองก็ควรคำนึงถึงเรื่องนี้เช่นกันเพราะเป็นเรื่องทีมีผลกระทบต่อความเป็นอยู๋ของโลกเราด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้เขียนนำมาเป็นประเด็นค่ะ

อุตสาหกรรมของมนุษย์มักสวนทางกับสิ่งแวดล้อมเสมอ

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก ในหลักการของWTO ก็ได้บัญญัติเรื่องนี้โดยเน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับGATT ที่ผ่านมา

อ่านแล้วนะค่ะ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก กรณีการค้ากับสิ่งแวดล้อมเห็นว่าน่าจะมีแนวทางที่จะทำให้มี่การพัฒนาไปพร้อมๆกันนะคงจะดีกว่านี้

มีประโยชน์ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท