ชีวิตจริงกับสิ่งที่ดีรองลงไป


ชีวิตคนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด ทว่า... ได้สิ่งที่ดีรองลงไป

                                         

อาจารย์สมัทรชา เนียมเรืองใช้นามแฝงว่า “คนเขียนข่าว” บันทึกเรื่อง “Water & Coke น้ำกับโค้ก จะเลือกอย่างไหน (http://gotoknow.org/blog/suikadream/35841)

  • อาจารย์ท่านเขียนว่า “ชีวิตคนเราควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุด” ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิด ความเห็นในเรื่องชีวิตอีกประเด็นหนึ่ง...
  • เรื่องสิ่งที่ดีที่สุด(ถ้าเป็นเรื่องของชีวิต)มักจะเป็นเรื่องของคนที่บุญมากจริงๆ และเป็นคนกลุ่มน้อย ชีวิตคนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด ทว่า... ได้สิ่งที่ดีรองลงไป
  • ข้อดีประการหนึ่งของสิ่งที่ดีรองลงไปคือ สิ่งที่ดีรองลงไปมักจะคุ้มทุน (cost-effective) และใช้การได้จริง (practical) มากกว่าสิ่งที่ดีที่สุด

    • ตัวอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์... เรามักจะไม่ใช้เครื่องที่ดีที่สุด เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (server) ขนาดยักษ์ชนิดที่ยาฮู (Yahoo) หรือกูเกิ้ล (Google) ใช้ ฯลฯ ทว่า... จะใช้เครื่องที่ดีพอประมาณ
    • อีกตัวอย่างหนึ่งคือ รถยนต์... เรามักจะไม่ใช้รถที่เชื่อกันว่าดีที่สุด ทว่า... จะใช้รถที่ดีพอประมาณแทน

    ของที่ดีรองลงไปมักจะมีราคาต่ำกว่าของที่ดีที่สุดมาก ขณะที่คุณสมบัติด้อยกว่ากันไม่มากนัก

    • มาตรฐานทอง (gold standard) หรือมาตรฐานที่ดีที่สุดดีจริง ทว่า... ชีวิตจริงเรามักจะใช้มาตรฐานที่ดีรองลงไป ดูจะเป็นมาตรฐานเงิน (silver standard) เสียมากกว่า
    • คุณอาผู้เขียนท่านหนึ่งกล่าวว่า “อย่าใช้ชีวิตเปลือง” ท่านหมายถึงทำอะไรให้รู้จักประมาณ ไม่ควรปล่อยให้ชีวิตเปลืองเกินไป เช่น เหนื่อยเกิน อดนอน ภาระงานมากเกิน ทำอะไรที่เกินกำลัง ฯลฯ

    หนังสือของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชกล่าวถึง “ดารา” ว่า เป็นชีวิตที่มักจะ “บินสูง ตกต่ำเร็ว (Fly high, die young)”

    • เรื่องบินสูงนี่ก็เข้าทำนองการไต่เต้าไปหามาตรฐานทองคำเหมือนกัน มันอาจจะดี มีค่า และคุ้มทุนสำหรับบางคนบางครั้ง ทว่า... ไม่ใช่เรื่องสำหรับทุกคนทุกครั้ง
    • ถ้ารู้จักเลือกว่า เรื่องนี้(ส่วนน้อย)ควรใช้สิ่งที่ดีที่สุด เรื่องนี้(ส่วนใหญ่)ควรใช้สิ่งที่ดีรองลงไปแล้ว การใช้ชีวิตจะสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น

    บินให้ต่ำลงมาสักหน่อยจะบินได้ไกลกว่าเดิมเยอะเลย (Fly lower, fly longer)...

    แหล่งข้อมูล:                                                                                   

    • ขอขอบคุณ > อาจารย์สมัทรชา เนียมเรือง (นามแฝง “คนเขียนข่าว” http://gotoknow.org/profile/suikadream ) > Water & Coke น้ำกับโค้ก จะเลือกอย่างไหน. > http://gotoknow.org/blog/suikadream/35841
    • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ >
      สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๙. ท่านผู้อ่านนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ครับ...

      เชิญอ่าน & ดาวน์โหลดที่นี่:                                                                  

หมายเลขบันทึก: 35903เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 10:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ค่ะ สิ่งทีดีที่สุดก็คือบนพื้นฐานความเป็นอยู่อันพอเพียงของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เช่นระหว่างรถยนต์ 2 ยี่ห้อ เบนซ์ หรือ..... ของไทย ผู้มีความเป็นอยู่อย่างฟุ้งเฟื้อไม่ได้  ก็ต้องใช้รถ เบ็นซ์ไม่ได้ ม่ายงั้นต้องตัวเองเดือดร้อนแน่ๆ

 

ขอขอบคุณอาจารย์สุวรรณา และท่านผู้อ่านทุกท่าน

ข้อคิดเห็นของอาจารย์มีคุณค่ามาก ดูจะมีคำกล่าวว่า "The common man is not common." = ไม่มีใครเหมือนกัน

--> ความพอดีของคนเราแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน

  • ความดี + ความพอดี = ใช้การได้จริง (practical) มีส่วนเกื้อกูลให้เกิดผลดีได้เร็ว + ยั่งยืน
  • ความดี + ความไม่พอดี = นำมาซึ่งความลำบาก(อาจจะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือหลายฝ่ายก็ได้) อาจจะทำดีได้ไม่นาน
  • ความเลว + ความพอดี = อาจจะทำเลวได้นาน เป็นลักษณะของคนเลวมืออาชีพ และอาจก่อผลเสียอย่างกว้างขวางในระยะยาว
  • ความเลว + ความไม่พอดี = ความซวย สงสัยจะทำเลวได้ไม่นาน

--> ถ้าทำงานอะไรที่เป็นงานใหญ่ งานส่วนรวม หรือประโยชน์สาธารณะ... "ทำดี" อย่างดีอาจจะไม่พอ ควรทำอะไรๆ ให้ "พอดี" ด้วย ความดีจะได้ผลโดยเร็ว และยั่งยืน...

  • ขอใช้ชีวิตแบบพอเพียง
  • เป็นประโยช์ต่อสังคม ถึงแม้ว่าเราตายไปแล้วสิ่งที่เราทำไว้ยังคงอยู่ เช่นการเขียนหนังสือ การเขียนบทความ ตำราทางวิชาการเพื่อให้ลูกศิษย์รุ่นหลังครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • คำพูดของอาจารย์ทำให้นึกถึงคำพูดของคุณพ่อครับ

ท่านบอกว่า "มนุษย์พันธุ์ดี...
(1). กินน้อย ใช้น้อย ทำงานมาก
(2). ไม่ใช่กินมาก ใช้มาก ทำงานน้อย

  • ขอขอบคุณอาจารย์ และขอแสดงความยินดีกับท่านผู้มีความเป็นอยู่แบบพอเพียงทุกท่าน...

ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน

  • ขอขอบคุณครับ...

ขอร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ

คุณลิขิตเข้าใจว่าอยู่ที่ความคิดนึกของตัวเรานะคะ ว่า " สิ่งที่ดีทีสุด คือ อะไร? "  เพียงแต่ขั้นตอนการจัดการตนเอง ที่จะไปสู่  "ความพอใจในความพอดี หรือ ความเป็นตัวเรานั้น"  ไม่ง่ายเลย แต่ผ่านได้ก็นับว่า ไม่เลวทีเดียวค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณอาจารย์ "ลิขิต" ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • จริงอย่างที่อาจารย์ว่าครับ

(1). ความดี...พอจะรู้ได้
(2). ความพอดี...รู้ได้ยาก

  • พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องความพอดีในหมวด "สัปปายะ" หรือที่คนไทยชอบเรียกว่า "สบาย"
  • เรื่องความพอดีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมมากมาย เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย บุคคล ฯลฯ
  • ตัวอย่างเช่น อาหาร ฯลฯ... วันนี้จะกินอะไรดีที่พอเหมาะกับฐานะ พอดีกับสุขภาพ และหามาได้โดยชอบธรรม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา
  • ถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่า เหล้า เบียร์ ไวน์ บุหรี่นี่ไม่ดีเลย...

ขอขอบคุณอาจารย์ลิขิต ท่านผู้ให้ข้อคิดเห็น และท่านผู้อ่านทุกท่าน... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท