แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาจิตสาธารณะนักเรียน1


แผนการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างจิตสาธารณะให้แก่นักเรียนโดยเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจก่อนค่ะ

แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวเพื่อพัฒนาจิตสาธารณะนักเรียน

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

เรื่อง จิตสาธารณะคืออะไร                                           เวลา 1  ชั่วโมง 

สาระสำคัญ 

         จิตสาธารณะ คือ คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่มีความพร้อม ความปรารถนาที่จะช่วยแก้ปัญหา การแสดงออกที่จะอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการใช้และการรักษาสิ่งของที่เป็นของส่วนรวม การพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะในตัวบุคคล ควรได้รับการพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมของเด็กก็คือ บิดา มารดา ครู และเพื่อนร่วมวัย หากครอบครัว ครู เพื่อนร่วมวัย ได้ถ่ายทอดความมีจิตสำนึกที่ดี มีจิตสำนึกต่อสาธารณสมบัติส่วนรวมให้แก่เด็กอย่างสม่ำเสมอ เด็กก็จะซึมซับเอาคุณลักษณะที่ดีนี้ติดตัวไป

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง 

          นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องจิตสาธารณะ ตระหนัก เห็นความสำคัญของการมีจิตสาธารณะอาสามีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียนของตนเอง

จุดประสงค์การเรียนรู้ 

  1. เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิตสาธารณะ
  2. เพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ

สาระการเรียนรู้ 

        จิตสาธารณะ คือ คุณลักษณะทางจิตใจของบุคคลที่มีความพร้อม ความปรารถนาที่จะช่วยแก้ปัญหา การแสดงออกที่จะอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงการใช้และการรักษาสิ่งของที่เป็นของส่วนรวม การพัฒนาจิตสำนึกสาธารณะเป็นการพัฒนา 3 ด้านคือ ด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ของส่วนรวมในโรงเรียนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้านความคิดความเชื่อที่ใช้เป็นหลักในการตัดสินใจเชิงจิตสำนึกสาธารณะ และด้านการปฏิบัติตนโดยเน้นพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อของส่วนรวม การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ และการเคารพสิทธิในการใช้ของของส่วนรวมโดยไม่ยึดครองของส่วนรวมมาเป็นของตน ตลอดจนไม่ปิดกั้นโอกาสของบุคคลอื่นที่จะใช้ของส่วนรวมนั้น

กิจกรรมการเรียนรู้ 

ขั้นนำ 

1.  ครูให้นักเรียนดูภาพสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียนเทศบาล 2 (แม่ต๋ำดรุณเวทย์) ที่สกปรก  เสื่อมโทรม  ชำรุด เสียหาย และที่สะอาดสวยงาม ไม่ชำรุด เช่น   ม้าหินอ่อนที่หักพัง   ชุดม้านั่งที่สะอาดไม่พัง   ผนังอาคารที่ถูกขีดเขียน  กับไม่มีรอยขีดเขียน เป็นต้น 

ขั้นดำเนินกิจกรรม

2.  นักเรียนพิจารณาภาพในข้อที่ 1  และอภิปรายร่วมกันว่านักเรียนชอบภาพใด ไม่ชอบภาพใดเพราะเหตุใด  ภาพที่นักเรียนไม่ชอบ  นักเรียนมีความรู้สึกอย่างไร  ก่อให้เกิดผลกระทบกับใครบ้าง  นักเรียนคิดว่าภาพที่เห็นเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขหรือไม่    นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านั้นไหม  ทำไมเราจึงควรร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

3.  เมื่อนักเรียนอภิปรายแสดงความคิดเห็นพอสมควรแล้วครูนำเข้าสู่เรื่องจิตสาธารณะ โดยชี้แจงว่าที่นักเรียนอภิปรายกันมาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุของปัญหาเหล่านั้นเกิดมาจากการที่นักเรียนจำนวนหนึ่งขาดจิตสาธารณะ  

4.  ครูสนทนาซักถามนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องจิตสาธารณะคืออะไร  ทำไมเราต้องมีจิตสาธารณะ 

5.  ครูให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องจิตสาธารณะแก่นักเรียน โดยชี้แจงประกอบใบความรู้ และให้นักเรียนลองยกตัวอย่างการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดเป็นจิตสาธารณะ  ทั้งที่นักเรียนสามารถทำได้ด้วยตนเอง และการทำร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของนักเรียนจากนั้นให้นักเรียนตอบคำถามในใบงานท้ายบทเรียน

ขั้นสรุป 

6.   ครูสรุปให้นักเรียนตระหนักเห็นความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ

สื่อการเรียนรู้ 

  1. ภาพสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน
  2. ใบความรู้เรื่องจิตสาธารณะ

การวัดผลประเมินผล 

วิธีการวัด 

  1. สังเกตการอภิปรายแสดงความคิดเห็น และตอบคำถามของนักเรียน
  2. ตรวจใบงาน

เครื่องมือวัด 

  1. แบบสังเกตการปฏิบัติกิจกรรมระหว่างเรียน
  2. ใบงาน

เกณฑ์การประเมิน 

  1. ผ่านการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมได้ระดับพอใช้ ขึ้นไป
  2. ตอบคำถามในใบงานได้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดระดับพอใช้ ขึ้นไป

เกณฑ์การประเมินใบงานกิจกรรมแนะแนว เรื่อง จิตสาธารณะคืออะไร 

คำชี้แจง  ครูผู้สอนพิจารณาคำตอบของนักเรียนแต่ละข้อและให้คะแนนตามเกณฑ์ดังนี้ 

ให้ 3 คะแนน ตอบคำถามได้ถูกต้อง ชัดเจน ตรงประเด็น มีเหตุผลประกอบที่เหมาะสม

ให้ 2 คะแนน ตอบคำถามได้ถูกต้อง แต่ไม่ค่อยชัดเจนขาดประเด็นย่อยบางประเด็น

ให้ 1 คะแนน ตอบคำถามส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน ขาดประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญ

 

ใบความรู้ เรื่องจิตสาธารณะ

ประกอบการจัดกิจกรรมแนะแนว เรื่อง จิตสาธารณะคืออะไร

  

  จิตสาธารณะ

จิตสาธารณะ (Public mind) หมายถึง จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม เพราะคำว่า “สาธารณะ” คือ สิ่งที่มิได้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด จิตสาธารณะจึงเป็นความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของในสิ่งทีเป็นสาธารณะ ในสิทธิและหน้าที่ที่จะดูแลและบำรุงรักษาร่วมกัน เช่น การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยการไม่ทิ้ง ขยะลงในแหล่งน้ำ การดูแลรักษาสาธารณะสมบัติ เช่นโทรศัพท์สาธารณะ หลอดไฟที่ให้แสงสว่างตามถนนหนทาง แม้แต่การประหยัดน้ำประปา หรือไฟฟ้า ที่เป็นของส่วนรวม โดยให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าตลอดจนช่วยดูแลรักษาให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ได้ยาก หรือผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนร่วมมือกระทำเพื่อให้เกิดปัญหาหรือช่วยกันแก้ปัญหา แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนร่วม

  ความสำคัญของการมีจิตสาธารณะ

                 จิตสาธารณะเป็นความรับผิดชอบที่เกิดจากภายใน คือ ความรู้สึกนึกคิด จิตใต้สำนึกตลอดจนคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งอยู่ในจิตใจ และส่งผลมาสู่การกระทำภายนอก จิตสาธารณะจึงเป็นสิ่งสำคัญในสังคม เยาวชนต้องให้ความสำคัญและตระหนักในสิ่งนี้  การที่คนมาอยู่รวมกันเป็นสังคม ย่อมต้องมีความสัมพันธ์ในรูปแบบการพึ่งพากัน การที่คนในสังคมขาดจิตสาธารณะนั่น จะมีผลกระทบต่อบุคคล ครอบครัว องค์กร อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก ดังนี้

                  ผลกระทบต่อบุคคล ทำให้เกิดปัญหา คือ

                  1.    สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง

                  2.    สร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น

                  ผลกระทบระดับครอบครัว ทำให้เกิดปัญหา คือ

                  1.   ความสามัคคีในครอบครัวลดน้อยลง

                  2.   การแก่งแย่ง ทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว

                  ผลกระทบระดับองค์กร ทำให้เกิดปัญหา

                  1.   การแบ่งพรรคแบ่งพวกภายในองค์กร

                  2.   ความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น

                  3.   การเบียดเบียนสมบัติขององค์กรเป็นสมบัติส่วนตน

                  4.   องค์กรไม่ก้าวหน้า ประสิทธิภาพและคุณภาพของงานลดลง

                  ผลกระทบในระดับชุมชน ทำให้เกิดปัญหา คือ

                  1.   ชุมชนอ่อนแอ ขาดการพัฒนา เพราะต่างคนต่างอยู่ สภาพชุมชน มีสภาพ เช่นไรก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ไม่เกิดการพัฒนา และยิ่งนานไปก็มีแต่เสื่อมทรุดลง

                  2.   อาชญากรรมในชุมชนอยู่ในระดับสูง

                  3.   ขาดศูนย์รวมจิตใจ ขาดผู้นำที่นำไปสู่การแก้ปัญหา เพราะคนในชุมชนมองปัญหาของตัวเองเป็นเรื่องใหญ่ ขาดคนอาสานำพาการพัฒนา เพราะกลัวเสียทรัพย์กลัวเสียเวลา หรือกลัวเป็นที่ครหาจากบุคคลอื่น

                  ผลกระทบในระดับชาติถ้าบุคคลในชาติขาดจิตสาธารณะจะทำให้เกิด

                  1.   วิกฤตการณ์ภายในประเทศบ่อยครั้ง และแก้ปัญหาไม่ได้ เกิดการเบียดเบียนทำลายทรัพยากรและสมบัติที่เป็นของส่วนรวม

                  2.   ประเทศชาติอยู่ในสภาพล้าหลัง เนื่องจากขาดพลังของคนในสังคม เมื่อผู้นำประเทศนำมาตรการใดออกมาใช้ ก็จะไม่ได้ผลเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน

                  3.   เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดการแก่งแย่งแข่งขัน เห็นแก่ประโยชน์กลุ่มของตนและพวกพ้อง เกิดการทุจริตคอรัปชั่น

องค์ประกอบของการมีจิตสาธารณะ

                  องค์ประกอบที่  1     คือ การหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดความชำรุดเสียหายต่อส่วนรวมที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม กำหนดตัวชี้วัดจาก

                  1.    การดูแลรักษาของส่วนรวม ใช้ของส่วนรวมแล้วเก็บเข้าที่

                  2.    ลักษณะการใช้ของส่วนรวม รู้จักใช้ของส่วนรวมอย่างประหยัด และทะนุถนอม

                  องค์ประกอบที่  2     คือ การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาของส่วนรวมในวิสัยที่ตนสามารถทำได้ กำหนดตัวชี้วัดจาก

                  1.    การทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อส่วนรวม

                  2.    การรับอาสาที่จะทำบางอย่างเพื่อส่วนรวม

                  องค์ประกอบที่ 3     คือ การเคารพสิทธิในการใช้ของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของกลุ่ม กำหนดตัวชี้วัดจาก

                  1.    การไม่ยึดครองของส่วนรวมนั้นมาเป็นของตนเอง

                  2.    การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้สามารถใช้ของส่วนรวมนั้น

แนวทางการสร้างจิตสาธารณะ
        ความรับผิดชอบต่อตนเอง

จิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อตนเอง นับว่าเป็นพื้นฐานต่อความรับผิดชอบ ต่อสังคม ตัวอย่างความรับผิดชอบ ต่อตนเองดังนี้
        1. ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนหาความรู้
        2. รู้จักการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้แข็งแรงสมบรูณ์
        3. มีความประหยัดรู้จักความพอดี
        4. ประพฤติตัวให้เหมาะสม ละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย
        5. ทำงานที่รับมอบหมายให้สำเร็จ
        6. มีความรับผิดชอบ ตรงเวลา สามารถพึ่งพาตนเองได้
        ความรับผิดชอบต่อสังคม

เป็นการช่วยเหลือสังคม ไม่ทำให้ผู้อื่นหรือสังคมเดือดร้อนได้รับความ เสียหายเช่น
       1. มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เช่น เชื่อฟังพ่อแม่ ช่วยเหลืองานบ้าน ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ
       2. มีความรับผิดชอบต่อโรงเรียน ครูอาจารย์ เช่น ตั้งใจเล่าเรียน เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูอาจารย์
ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัยของโรงเรียน ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของโรงเรียน
       3. มีความรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นเช่นให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำ ไม่เอาเปรียบเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
       4. มีความรับผิดชอบในฐานะพลเมือง เช่น ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม ปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาสมบัติของส่วนรวม ให้ความร่วมมือต่อสังคมในฐานะพลเมืองดี ให้ความช่วยเหลือ
       การสร้างจิตสาธารณะ เป็นความรับผิดชอบในตนเอง แม้ว่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนถ้าใจตนเองไม่ยอมรับ จิตสาธารณะก็ไม่เกิด ฉะนั้นคำว่า "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" จึงมีความสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสาธารณะถ้าตนเองไม่เห็นความสำคัญแล้วคงไม่มีใครบังคับได้

 

ใบงานประกอบการจัดกิจกรรมแนะแนวเรื่อง จิตสาธารณะคืออะไร

ชื่อ..........................................................................................................เลขที่.................ชั้นป.6/1

 คำชี้แจง  ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ (ข้อละ 3 คะแนน)

1. บุคคลที่มีจิตสาธารณะจะมีลักษณะอย่างไร

………………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

2 . ถ้าคนในประเทศชาติขาดจิตสาธารณะประเทศชาติจะเป็นอย่างไร
………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

3. เพราะเหตุใดเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องจิตสาธารณะ
………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

4.  ให้นักเรียนยกตัวอย่างแนวทางในการสร้างจิตสาธารณะในตนเองมาอย่างน้อย 5 อย่าง

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

5. ให้นักเรียนยกตัวอย่างจิตสาธารณะที่นักเรียนสามารถทำได้มาอย่างน้อย 5 อย่าง

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………………………………………

 

หมายเลขบันทึก: 358858เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2010 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่ารักจังเลย ที่พยายามหาอะไรใหม่ ๆ มาทำให้การสอนแนะแนวมีมิติมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องจิตสาธารณะที่หาแผนมาให้ดูเป็นตัวอย่างยาก เป็นกำลังใจให้นะคะ คุณครูแนะแนว สู้..สู้

นับว่าเป็นแบบอย่างจิตสาธารณะที่ได้ประโยชน์นำไปใช้ได้ เป็นอีกแนวทางหนึ่งผมเองก็นำแนวทางที่ท่านคุณครูได้เสนอไว้ไปประยุกต์ใช้ได้ผลดีเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม....ขอบคุณมากครับ...คุณความดีนี้....ส่งสุขให้คุณครูนะครับ

xxxxxxxxxxxssssxxxxxxxxxxxxxx

ขอให้ยกตัวอย่างจิตสาธารณะเยอะๆๆๆๆๆน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท