โรงเรียนทางเลือก


“โรงเรียนทางเลือก” ฟังแล้วดูเข้าท่า เพราะเป็นเหมือนทางเลือกใหม่ของการศึกษาในปัจจุบัน จากที่ฉันได้รับชมวีดิทัศน์ของโรงเรียนทางเลือก 3 โรงเรียนด้วยกันคือ โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา และโรงเรียนปัญโญทัย ทั้ง 3 โรงเรียนนี้ฉันมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า มีข้อดีตรงที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง จนเกิดทักษะหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านการคิด ทักษะชีวิต และทักษะสังคม รวมถึงเป็นการเรียนรู้แบบสนุกสนาน ไม่เครียด ส่วนโรงเรียนปัญโญทัย ก็ขึ้นกับว่าผู้ปกครองยอมรับได้ไหม ถ้าลูกเรียนช้ากว่าโรงเรียนอื่น แต่มันก็เป็นการเรียนที่สอดคล้องกับช่วงพัฒนาการเด็ก ถ้าผู้ปกครองเข้าใจในส่วนนี้ก็ไม่เกิดปัญหา ฉันว่าดีซะอีกที่ลูกจะเรียนรู้ตามธรรมชาติ ไม่ถูกยัดเยียดจนต้องเครียดตั้งแต่เด็ก

             

   “โรงเรียนทางเลือก” ถ้าถามฉันว่าดีมากไหม ขอตอบตามตรงว่า อาจจะดีมาก แต่ใช้ได้จริงกับคนบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ดี ในวีดิทัศน์ชี้ให้เห็นว่าตัวผู้เรียนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจอย่างมากกับสถานศึกษาแบบนี้ และยอมรับว่าเนื้อหาที่ทางโรงเรียนจัดสอน อาจไม่เข้มข้น หรือเรียนไม่แน่นเท่ากับโรงเรียนโดยทั่วไป ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้หวังว่าจะต้องไปสอบแข่งขันกันเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐบาล ในส่วนตัวฉันแอบมีความคิดเชิงลบนิดๆกับโรงเรียนแบบนี้ ว่าเด็กที่เข้าเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี เขาคงจะเรียนอะไรก็ได้ที่เรียนแล้วไม่เครียด และจบตามเกณฑ์ ซึ่งความคิดนี้มาจากการที่ฉันได้ฟังประโยคหนึ่งของผู้เรียนในวีดิทัศน์ที่พูดประมาณว่า “ถ้าหนูเรียนจบ จะไปต่อต่างประเทศ” ผู้ปกครองบางท่านก็บอกว่าไม่คิดให้ลูกไปแข่งขันกับใครในการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยของรัฐ ฉันก็แอบคิดว่า “ก็คุณรวยนี่ เข้ามหาวิทยาลัยเอกชนก็ได้ จบมาก็มีงานทำ เพราะมีธุรกิจของครอบครัวที่บ้าน” ที่ฉันคิดเช่นนี้ก็เพราะว่าประสบการณ์ทางความคิดมันได้ยินได้ฟังมาตลอด ไม่ว่าจะจากเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย หรือรุ่นน้องบางคนที่ ไม่ใส่ใจการเรียน หนีเรียนบ่อย เรียนหนังสือพอผ่านๆ เพราะที่บ้านรวย เรียน 7-8 ปี ก็ได้ ไม่ต้องเรียนแน่นให้เครียด แต่ก็จบมามีงานทำ เพราะมีเส้นสาย หรือบางคนก็ทำธุรกิจกับครอบครัว ทำให้ไม่ต้องเครียดกับการเรียนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อหวังเกรดเฉลี่ยดีๆ ที่มีผลต่ออนาคต

               

วกกลับมาในส่วนของการเรียนการสอนของทั้ง 3 โรงเรียน ฉันยอมรับว่าเป็นการดีที่เด็กได้ปฏิบัติ เกิดการเรียนรู้จากสภาพจริงและได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งฉันเองยังแอบอิจฉาแทนนักเรียนที่โรงเรียนที่ฉันสอนอยู่ ซึ่งเป็นโรงเรียนในตัวเมือง บางบทเรียนที่เป็นภาคปฏิบัติแทบจะไม่ได้ปฏิบัติจริง เพราะเวลาเรียนไม่พอและบางวิชาก็ไม่มีแหล่งเรียนรู้ตามสภาพจริงอย่างเช่น ทุ่งนา ป่าไม้ ฯลฯ แต่ในอดีตที่ผ่านมาเนื่องจากฉันเองเรียนที่โรงเรียนบ้านนอก ฉันจึงได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงคล้ายๆกับโรงเรียนทางเลือกนั่นแหละ แต่ตรงกันข้ามที่ฐานะทางการเงินที่ไม่ได้ร่ำรวย การเรียนจะเน้นเรียนเพื่อเข้าสอบมหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ เพราะไม่มีเงินเรียนของเอกชน เนื้อหาทางวิชาการไม่ค่อยเข้มข้นเท่าโรงเรียนในเมือง ไม่มีเรียนกวดวิชา นักเรียนต้องค้นคว้าด้วยตนเอง ใครไม่ค้นคว้าก็สอบไม่ติด

               

 ที่โรงเรียนฉันเคยเรียนเรื่องระบบนิเวศ ฉันและเพื่อนๆก็ได้เดินสำรวจระบบนิเวศป่าเต็งรังด้านหลังโรงเรียน ด้านชุมนุมฉันเรียนชุมนุมวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำโครงงาน ได้ฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์ การแก้ปัญหา   การร่วมโครงการนักสืบสายน้ำก็ได้ไปสำรวจลำห้วยในท้องถิ่นที่อุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะแมลงที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าน้ำสะอาด เช่น แมลงชีปะขาว  ตัวอ่อนแมลงปอ การวิเคราะห์ความขุ่นของน้ำ ฯลฯ ส่วนชุมนุมพฤกษศาสตร์ ฉันก็ได้รับมอบหมายให้สำรวจพันธุ์ไม้ทุกชนิดพร้อมทำแผนผังที่ตั้งต้นไม้ทั้งหมดในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ทำให้ฉันได้รู้จักต้นไม้มากมาย และเป็นความรู้ที่ฝังใจ จดจำได้มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแตกต่างจากเด็กปัจจุบันที่ดูจากรูปภาพและท่องจำชื่อ  ด้านสังคมวัฒนธรรมทางโรงเรียนจะจัดให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมบวชป่ากับชุมชน การปลูกต้นไม้เทิดไท้องค์ราชัน การร่วมประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นต้น ด้านวิชาทางการเกษตรก็ได้ทำการ ปักชำ ตอนกิ่ง การขึ้นแปลงปลูกพืช ซึ่งส่วนมากจะเป็นพืชสมุนไพร และให้นักเรียนมีต้นไม้ประจำตัว และต้องดูแลต้นไม้นั้นจนตนเองจบการศึกษาก็จะโอนต่อให้รุ่นน้องดูแล ซึ่งปัจจุบันนี้ต้นไม้ที่ฉันเคยดูแล “ต้นกัลปพฤกษ์” ลำต้นสูงขึ้นมากและออกดอกสีชมพูสวยงามในยามฤดูกาล ส่วนวิชาคหกรรม ก็ได้ลงมือทำอาหารจริงๆเพราะทางโรงเรียนเรามีเวลาเหลือเฟือ กิจกรรมไม่มากเหมือนโรงเรียนในเมือง ซึ่งนับได้ว่าในอดีตฉันก็เคยเรียนอย่างไม่เครียด และเรียนคล้ายๆโรงเรียนทางเลือกเหมือนกันแฮะ (แอบคิดอย่างนั้น) แต่จะมาเครียดตอนใกล้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ฉันต้องอ่านหนังสือและทำแบบฝึกหัดจำนวนมาก แต่ไม่เรียนกวดวิชา เพราะไม่อยากเปลืองเงินพ่อแม่ รวมถึงถ้าจะเรียนต้องนั่งรถไปในเมืองหลายต่อ ฉันจะมาเครียดตอนต่อรถนี่แหละ เพราะเป็นคนเมารถง่ายและไม่ชำนาญทาง แต่ด้วยความพยายามก็เอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้

               

แต่ในปัจจุบัน น้องสาวของฉันเข้าเรียนโรงเรียนนี้แล้วปรากฏว่าเปลี่ยนแปลงจากรุ่นของฉันมาก ไม่ค่อยได้ทำการปฏิบัติ กิจกรรมก็เริ่มเข้ามาเยอะ นักเรียนต้องแข่งขันกันสูง ส่วนใหญ่เข้าไปกวดวิชาตามกระแสสังคม ทำให้ โรงเรียนทางเลือกรอบนอกของฉันหายไป ...หายไป...สงสัยจะไปอยู่กรุงเทพนู่นแล้ว..ทำให้น่าเสียดายมาก เพราะอันที่จริงโรงเรียนนี้น่าจะกลายเป็นโรงเรียนทางเลือกของคนที่มีฐานะ “ยากจน” ที่ดีก็ได้ ค่าเรียนไม่แพง การเรียนการสอนก็ดี แต่ใยไม่มีใครรักษาไว้ ฉันเชื่อว่าโรงเรียนรัฐบาลรอบนอก ของจังหวัดเชียงใหม่หรือตามต่างจังหวัดอื่นๆ สามารถเป็นโรงเรียนทางเลือกของผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ยากจนได้ดีเลยทีเดียว แต่ต่างตรงที่ค่านิยมของคน ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียนเองที่ต้องการเรียนเพื่อให้ตนเองสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ บางคนเห่อตามกระแสการเรียนกวดวิชาเพราะคิดว่าเรียนแล้วจะสอบติด ผู้ปกครองก็คงมีความคิดต่างจากผู้ปกครองของทั้ง 3 โรงเรียนทางเลือกที่กล่าวเบื้องต้น เพราะอุตส่าห์เจียดเงินส่งลูกเล่าเรียนก็หวังให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ และสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ และมีงานทำส่งเงินมาให้ทางบ้าน หากลูกเรียนๆเล่น เอาสนุกไม่ตั้งใจเรียน พ่อแม่คงไม่ปลื้มเป็นแน่ จะไปต่อเมืองนอก หรือเอกชนงั้นหรือ ก็อาจจะไม่ได้ ทำให้มีเด็กบางกลุ่มจบแล้วเรียนสายอาชีพ และเนื่องจากเป็นเด็กบ้านนอก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเหลวแหลกก็มากมายเพราะตามกระแสการแต่งกายและเครื่องใช้ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ มันมาจากพื้นฐานทางครอบครัวและค่านิยมที่ต่างกัน

               

...... ความคิดเห็นที่ฉันกล่าวมาอาจจะถูกไม่ทั้งหมดแต่ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏจริงในสังคม ที่ระบบการศึกษาต้องยอมรับว่า “ใครแน่ ที่รังแกฉัน” อันนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ ทำไมโรงเรียนกวดวิชายังได้รับความนิยม ทำไมการศึกษาไทยไม่สอนให้เหมือนกันทั้งหมด มีหลายมาตรฐานเหลือเกิน คนที่มีเงินมีทางเลือกมากกว่า และถ้าเด็กยากจนเรียนมาแล้วบางคณะ บางสาขาจบแล้วไม่มีงานทำต้องกลับมาทำไร่ทำสวนที่บ้าน หรือขายของชำ ขายของตามตลาดนัด ใครจะรับผิดชอบเขา บางมหาวิทยาลัยเปิดหลายสาขา หลายคณะแต่เด็กเรียนจบไม่มีงานทำ ใครรับผิดชอบ???? ฉันเองสงสัยมานานว่าจะเปิดมันทำไม เพื่อนำเงินเข้ามหาวิทยาลัยงั้นรึ?? แตกต่างจากเด็กทั้ง 3 โรงเรียนทางเลือก ที่เขาจบมาก็มีงานทำเพราะมีพื้นฐานครอบครัวดี เรื่องนี้กลุ่มคนมีฐานะ “ร่ำรวย” เขาไม่มีปัญหาแล้ว แต่...กลุ่มคนที่มีฐานะ “ยากจน” ล่ะ ใครจะมาจัดการเรื่องนี้

                                                                                                                                                .......เอวังฯ.......

หมายเลขบันทึก: 358302เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

ควรคิดให้เด็กได้มีอนาคตที่ดี ทำถูกแล้วค่ะ ถ้าครูไม่ช่วยสร้างแล้ว ใครจะทำล่ะคะ

เป็นกำลังใจให้ค่ะ

วันนี้เพิ่งได้อ่านบทความของครูลีลาวดี คุณแม่เป็นอดีตผู้ปกครองคนหนึ่งที่มีลูกเรียนอยู่โรงเรียนทางเลือกที่ครูได้เอ่ยมา 1 ใน 3 โรงเรียนเห็นด้วยกับบทความของครูค่ะ ถึงการเรียนการสอนที่ครูได้รับในอดีตว่าเป็นแนวทางเลือกที่แท้จริง (back to the basic) และหากบุคคลากรทุกคนมีความคิดเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกัน โรงเรียนในฝัน คงเป็นโรงเรียนแห่งความเป็นจริงได้ในประเทศไทย โดยไม่่จำเป็นต้องเป็นลูกคนมีฐานะถึงจะเรียนโรงเรียนดังกล่าวได้ หากทุกคนที่มีหน้าที่ มองสิ่งรอบ ๆ ตัวสอดแทรกในการสอนไปตามพื้นที่่ ภูมิลำเนา ทุกโรงเรียนในประเทศไทย คงเป็นโรงเรียนในฝันทุกที่ (โรงเรียนทางเลือก) ไม่ต้องแข่งขันแย่งชิง แต่สอนให้เด็ก ๆ รักและรักษ์ ในสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวพวกเค้า แค่นี้เด็ก ๆ ก็จะรู้ตัวเองว่าวันหนึ่งที่เค้าโตขึ้นเค้าจะเลือกทำในสิ่งไหน ที่เหมาะและเป็นตัวตนของเค้ามากที่สุด แต่โรงเรียนในฝัน ย่อมไม่เป็นเหมือนที่คิด หรือที่คุณครูได้เคยสัมผัสมานะคะ (สิ่งที่เห็น ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด) วันนี้จึงเป็นอดีตผู้ปกครองค่ะ

สวัดีค่ะคุณแม่มือใหม่ ดิฉันต้องขอขอบคุณกับความคิดเห็นนะคะ และต้องขอโทษด้วยที่อาจมีทัศนคติทางลบ แต่คุณก็ช่วยให้ฉันได้เห็นว่าอย่างน้อยยังมีโรงเรียนที่ดีอย่างนี้ค่อยๆเจริญเติบโตขึ้นในสังคมไทย และหวังว่าต่อไปโรงเรียนทางเลือกเหล่านี้ น่าจะเข้าถึงทุกที่ ไม่จำกัดที่ฐานะคนว่าจะจนหรือรวย ของเพียงแค่ภาครัฐดำเนินการ ให้ต่อเนื่อง คงจะดีนะคะ ขอบคุณอีกครั้งทีทำให้เกิดทัศนคติในเชิงบวกขึ้นมานะคะ

สวัสดีค่ะ ของคุณกำลังใจจากคุณ ARIS มากเลยนะคะ

หากมีโอกาส ... ขอให้ได้อยู่ "โรงเรียนทางเลือก" นะครับ ศักยภาพของเราถึงอยู่แล้ว ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท