patchy
นางสาว พัชรา ทองสวัสดิ์

เทคโนโลยีการศึกษา 2


นักการศึกษาเริ่มมองเข้าไปเบื้องหลังขององค์ประกอบและยุทธศาสตร์ของระบบการศึกษา
          เทคโนโลยีระบบ แนวคิดและการใช้เทคโนโลยีเครื่องมือ หรือสื่อในกระบวนการศึกษาและการเรียนการสอน ตามนัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ปรากฏว่าต้องประสบกับความล้มเหลว และมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เช่น การขาดแคลนสื่อเชิงวัสดุที่เหมาะสมและเพียงพอสำหรับใช้กับเครื่องมือ ผลที่ออกมาไม่แน่ใจว่าจะดีเสมอไป ตลอดจนการขาดแรงจูงใจของผู้ใช้ และเหตุผลในการใช้ เป็นต้น
          จากความรู้สึกดังกล่าวเหล่านี้นั่นเอง ทำให้นักการศึกษาเริ่มมองเข้าไปเบื้องหลังขององค์ประกอบและยุทธศาสตร์ของระบบการศึกษาและระบบการเรียนการสอน และหันมาสนใจกับการออกแบบหรือการวางแผนระบบใหญ่ทั้งหมด (system as a whole) งานของนักเทคโนโลยีการศึกษาจึงครอบคลุมออกไปถึงการกำหนด วัตถุประสงค์ และจุดมุ่งหมายการวางแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียน การสำรวจและจัดทำโครงสร้างเนื้อหาวิชา การกำหนดยุทธศาสตร์และสื่อการเรียนที่เหมาะสม การประเมินประสิทธิภาพของแผน และนำผลมาปรับปรุงหรือพัฒนาระบบนั้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป เทคโนโลยีการศึกษาตามแนวความคิดนี้ เน้นในเรื่องของการจัดระบบการศึกษาและการเรียนการสอน โดยยึดจุดมุ่งหมายของงานเป็นหลักและจัดองค์ประกอบของระบบให้สัมพันธ์ และมีบูรณาการระหว่างกันอย่างเหมาะสม นี่เป็นลักษณะที่แท้จริงของเทคโนโลยีการศึกษา ที่อยู่ในรูปเทคโนโลยีระบบ (systems technology) ซึ่งเน้นการใช้วิธีระบบในการออกแบบ และพัฒนาระบบการศึกษาและระบบการเรียนการสอน ซึ่งมีลักษณะเป็นการจัดระบบทางการศึกษาที่เป็นเทคโนโลยีของการศึกษา (technology of education) ในการจัดระบบทางการศึกษาและทางการเรียนการสอนนั้น ผู้จัดระบบย่อมต้องอาศัยทฤษฎีและหลักการของศาสตร์สาขาต่างๆ มาประยุกต์ใช้ทั้งทางด้านการออกแบบหรือวางแผน และการดำเนินการโดยมุ่งผลไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ
          การประยุกต์หลักการของเทคโนโลยีการศึกษาไม่ใช่ของใหม่ เราทราบและใช้กันมาตั้งแต่สมัยของนักปฏิรูปหลักสูตรรุ่นเก่าอย่าง    ราล์ฟ เทเลอร์ (Ralph Tayler) ย้อนหลังไปราว ค.ศ. 1930 และหลังจากนั้นเรื่อยมา และวิธีวิทยาศาสตร์ก็นับย้อนหลังจากยุคของ "ขั้นของการแก้ปัญหา" ของ จอห์น ดุย กลับไปจนถึง โรเจอร์ เบคอน หรือแม้กระทั่งอริสโตเติล นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลอื่นอีกหลายสาย ซึ่งส่งผลต่อเทคโนโลยีการศึกษาตามนัยแห่งเทคโนโลยีระบบ เป็นต้นว่า การวิจัยสื่อการวิเคราะห์ระบบจิตวิทยาการศึกษา พฤติกรรมศาสตร์ ทฤษฎีการศึกษาแบบพิพัฒนาการ ทฤษฎีการสื่อสาร ทฤษฎีการจัดองค์การ การจัดโดยการยึดจุดมุ่งหมายเป็นหลัก การวัดผลทางการศึกษา การวิเคราะห์ทักษะ และการพัฒนาหลักสูตร เทคโนโลยีการศึกษาจะออกแบบระบบการศึกษาและการเรียนการสอนอะไรขึ้น ย่อมมาจากการประยุกต์หลักการและทฤษฎีดังกล่าวได้ทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การสอนแบบโปรแกรม (programmed instruction) ซึ่งเป็นตัวอย่างของการประยุกต์หลักการ และทฤษฎีจากหลายสาขาวิชา โดยเฉพาะทางด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ โดยเน้นในเรื่องทฤษฎีสิ่งเร้า การสนองตอบ และการเสริมแรง ทฤษฎีการศึกษาแบบพิพัฒนาการที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนความแตกต่างระหว่างบุคคลและอื่นๆ จนได้ระบบการสอนที่ผู้เรียนแต่ละคนสามารถเรียนเองไปตามลำดับขั้นตอนทีละน้อย เร็วช้าตามความสามารถของแต่ละคน หลังการสนองตอบทุกครั้งมีการป้อนผลย้อนกลับให้ทราบ และมีการเสริมแรงหรือกระตุ้นใหมีกำลังใจที่จะเรียนด้วยตนเองได้ผลแล้ว ผู้สร้างและผู้พัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบนี้ก็พัฒนาต่อไปเป็นแบบต่างๆ กัน เช่น ทำเป็นตำราเรียนแบบโปรแกรม ทำเป็นเครื่องสอนและทำเป็นโปรแกรมสำหรับเรียนกับไมโครคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
          นอกจากนั้น ในการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาโอกาสและความเสมอภาคและปัญหาคุณภาพทางการศึกษาก็เช่นกัน ทางแก้ที่สำคัญก็คือ การใช้เทคโนโลยีในการออกแบบหรือวางแผนระบบที่เหมาะสมสำหรับแต่ละปัญหา ดังเช่นที่มีการกระทำอยู่เป็นอันมากในขณะนั้น เป็นต้นว่า ระบบการศึกษาทางไกล ระบบมหาวิทยาลัยเปิด ระบบการจัดการศึกษาเคลื่อนที่ ระบบการศึกษานอกระบบโรงเรียน ระบบงานพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนและอื่นๆ ระบบต่างๆ เหล่านี้ รวมเอาบุคคลและวัตถุมาประสานสัมพันธ์กัน เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาแต่ละด้าน แทบจะกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีการศึกษาก็คือ เรื่องของการศึกษาทั้งหมดนั่นเอง ระบบเหล่านั้นเมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว ก็จะต้องนำไปปฏิบัติประเมินผล แล้วนำข้อมูลจากการประเมินผล ป้อนกลับมาปรับปรุงส่วนประกอบบางอย่างของระบบแล้วแต่กรณีให้ดีขึ้น ถ้ามีการซ้ำกระบวนการดังกล่าวนี้หลายครั้งตามความจำเป็นแล้ว ก็เท่ากับเป็นการพัฒนาระบบเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
           ตามที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาการศึกษาตามวิธีของเทคโนโลยีการศึกษามีอยู่ 4 ระยะ หรือ ขั้นตอนที่สำคัญ คือ (1) การกำหนดและวิเคราะห์จุดมุ่งหมายหรือปัญหา (2) การออกแบบระบบหรือวางแผน (3) การประเมินผล และ (4) การปรับปรุงแก้ไข
คำสำคัญ (Tags): #just#want#to#know
หมายเลขบันทึก: 35783เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2006 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เดี๋ยวจะรอใช้ตอนบรรจุนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท