สิ่งดีๆใน Gotoknow และพลังที่ยิ่งใหญ่ในตัวเรา


...เราใช้ blog เป็นพื้นทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงแม้ว่าผู้ที่เข้ามา Comment อาจจะเห็นแตกต่างจากเราที่เป็นเจ้าของ blog ...ก็ไม่เป็นไร เพราะประเด็นที่แชร์กันส่วนใหญ่ เป็น "Tacit Knowledge" เป็น "เคล็ด" วิชา เป็นเทคนิคเฉพาะตัวที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องออกมาเป็น "ข้อสรุป" หรือเป็น "คำตอบสุดท้าย" เสมอไป...

        การพูดคุยกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 มิถุนายน 2549) เรื่อง "การจัดการความรู้: แนวคิดจากชีวิตจริง" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในงาน "รวมพลังเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการศึกษาไทย" ของ สมศ. นั้น หลังจากที่ผมได้เล่าเรื่อง blog ใน GotoKnow .... ได้มีผู้ฟังท่านหนึ่งถามผมว่า "ถ้าเกิดคนที่เข้ามาเขียนใน GotoKnow มีเจตนาหรือจิตใจที่ไม่ดี เอาความรู้ที่เป็น "ขยะ" ใส่เข้าไป .... แล้วจะทำอย่างไร? สคส.  มีมาตรการป้องกันอะไรบ้างเพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้เกิดขึ้น?"

        ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ ผมได้ถามกลับไปว่า "ท่านเคยเข้ามาใน Gotoknow แล้วหรือยัง?" ซึ่งคำตอบที่ได้ ก็เป็นไปตามที่คาดไว้ คือ ท่านผู้ถามยังไม่ได้เข้าไปใน Gotoknow ผมจึงถือโอกาสนี้ ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะหนึ่งของ "ความคิด" ว่ามันมักจะคิดไปแต่ในเรื่องอนาคต พยายามที่จะหาคำตอบ คิดนั่น คิดนี่ ตลอดเวลา ตัดสินว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ไม่ดี เป็นการคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยที่ใช้ข้อมูลเก่าในอดีตเป็นหลัก ผมเดาว่าที่ท่านผู้นั้นถาม (ด้วยความห่วงใย) ก็คงเป็นเพราะท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยจะดีกับข้อเขียนที่อยู่ใน Website ซึ่งก็เป็นเรื่องที่พวกเราเห็นกันอยู่ทั่วไปใน Webboard ทั้งหลาย ที่ใครนึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียนลงไป โดยที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ มอง Webboard เหมือนกับเป็น "ที่สาธารณะ" ที่ใครอยากจะทิ้ง "ขยะ" อะไรก็โยนลงไป

        แต่ใน Gotoknow ไม่เป็นเช่นนั้นครับ เราทุกคนที่เป็นสมาชิก Gotoknow ต่างก็มีความรับผิดชอบ เรารับผิดชอบ blog ของเรา เราใช้ blog เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ เป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทอดประสบการณ์ (ด้านบวก) ของเรา ใครเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ด้านใด ก็บันทึกลงไปใน blog เราใช้ blog เป็นพื้นทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงแม้ว่าผู้ที่เข้ามา Comment อาจจะเห็นแตกต่างจากเราที่เป็นเจ้าของ blog ...ก็ไม่เป็นไร เพราะประเด็นที่แชร์กันส่วนใหญ่ เป็น "Tacit Knowledge" เป็น "เคล็ด" วิชา เป็นเทคนิคเฉพาะตัวที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องออกมาเป็น "ข้อสรุป" หรือเป็น "คำตอบสุดท้าย" เสมอไป

       หากใคร Comment อะไรที่เรารับไม่ได้จริงๆ ก็ลบทิ้งไป เพราะในแต่ละ blog นั้นเปรียบเหมือนบ้านแต่ละหลัง เราแต่ละคนต้องเป็นแม่บ้านจัดการดูแลบ้านของเรา ....ซึ่งเท่าที่ผ่านมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ผมว่า Gotoknow ก็เรียบร้อยดีนะครับ นอกจากนั้นหากบาง blog มีอะไรที่ไม่ค่อยดี หรือไม่สร้างสรรค์ ทุกท่านต่างก็มีอิสระที่จะเลือกบริโภค ...ไม่ชอบใจ ก็ไม่เข้าไปอ่าน ....มันก็เท่านั้น ใช่ไหมครับ . . . สรุปก็คือถ้าท่านผู้ถามเข้าไปใช้ Gotoknow ท่านก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ผมเองมองคำถามในลักษณะนี้ว่าเป็นผลอันเนื่องมาจากที่เราถูก "เจ้าความคิด" มันใช้งาน...แทนที่เราจะใช้มัน (ความคิด) กลายเป็นว่าเจ้าความคิดนั้นมันดันมาใช้งานเราซะนี่!!

        ในวันนั้นโดยรวมแล้วผมค่อนข้างประทับใจในตัวผู้ที่เข้าร่วมค่อนข้างมาก เพราะท่านเหล่านั้นได้ให้ความสนใจในประเด็นที่พูดคุยกันตลอดเวลา...จะมีสดุดอยู่บ้างที่บางคำถามเป็นการถามในลักษณะประชดประชันในทำนองที่ว่า "เอาละ ....พวกเราเข้าใจแล้วว่า KM นั้นเป็นเช่นไร แต่จะทำยังไงให้ผู้บังคับบัญชา หรือคนในกระทรวงศึกษาฯ ได้เข้าใจอย่างพวกเราบ้าง.... " การถามของท่านส่อไปในทำนองที่ว่า "เราคงไม่สามารถจะทำอะไรๆ ได้ เพราะเจ้านายหรือผู้ที่อยู่เหนือเรายังไม่เข้าใจในเรื่อง KM" ....ผมเห็นด้วยครับว่านายมีผลโดยตรงต่อการทำงานของเรา....แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ ผมมองว่าถ้าเราสามารถจัดการกับความคิด และชีวิตของเราได้ ....พลังที่ยิ่งใหญ่นั้นอยู่ที่นั่นต่างหากล่ะครับ

        เราต้องไม่เอาแรงบันดาลใจของเราไปฝากไว้กับสิ่งรอบข้าง (ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือสถานการณ์ต่างๆ)  สิ่งอื่นหรือคนอื่นนั้นไม่สามารถบันดาลหรือสั่งการให้พลังนี้ออกมาได้หรอกครับ ....มีแต่เราเท่านั้นที่จะ "กดปุ่ม" เรียกพลังนี้ออกมาได้ เราต้องเริ่มจากพลังข้างในของเราก่อนนะครับ โปรดอย่าท้อแท้หรือหาข้อแก้ตัวว่าเป็นเพราะคนอื่นหรือสิ่งอื่นเลย!!

หมายเลขบันทึก: 35724เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2006 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ย่อหน้าสุดท้ายที่อาจารย์เสนอแนะ เปรียบได้ดั่งการชาร์ทแบตเตอร์รี่ที่เดียวคครับ  คือรับพลังที่เกิดจากสิ่งที่อยู่รอบข้างและบรรจุพลังนั้นไว้อยู่ข้างใน แล้วเก็บพลังนั้นไว้ในยามที่ต้องการ เพื่อนำไปใช้ในการสตาร์ทเครื่องยนต์ โดยสาร เพื่อในการบรรทุกผู้คนและสัมภาระให้ถึงจุดหมายปลายทางครับ  เมื่อเปรียบได้ดั่งนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาในใจของผมขึ้นมาทันทีว่า เมื่อขณะเครื่องยนต์ทำงาน ตัวไดร์ชาร์ทจะรับผลจากการทำงานของเครื่องเพื่อผลิตกระแสพลังไฟเข้าไปไว้ในแบตเตอร์รี่เพื่อไว้ใช้ในการทำงานครั้งต่อไป ... ถามว่า ตัวไดร์ชาร์ทนี้ จะเปรียบได้กับอะไรในตัวเราครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ขอโทษครับ ลืมลงชื่อ (ทัศน์ CM.) ครับ เรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อความชัดเจนในการสื่อสารภายหลัง

ขอบคุณข้อคิดและบันทึกที่ดี ๆ ผ่าน Gotoknow ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้จากท่านอาจารย์ครับ และเป็นพลังอันหนึ่งทำให้ผม ตัดสินใจเปิด blog ใน gotoknow  แม้ว่าไม่เคยพบกันแบบ F2F เลยก็ตาม
มีแรงขึ้นอีกเยอะเลยต่ะ วันนี้เจอ "เจ้าความคิด" สวนหมัดเข้าปลายคาง เกือบถูกน็อค ได้บทสุดท้ายของอาจารย์ ก็จะลุกขึ้นสู้ต่อไปค่ะ
เริ่มต้นจัดการความรู้จากตัวเราเองก่อนค่ะ และขยายสู่เพื่อนข้าง ๆ ตัวเราจาก 1..2..3...10..มากขึ้น จะได้ความรู้จากการปฏิบัติ เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติ ผลที่ได้เห็น ๆ คือ วัฒนธรรมของการ "เปิดใจ"...ถึง "นาย" จะเข้าใจ KM ดี...มีนโยบายให้พวกเราทำ KM แต่ก็ไม่ใช่ "ลูกน้อง" ทุกคนจะเดินตาม เป็นเพราะเขาไม่ "เปิดใจ" และไม่คิดจะเริ่มที่ตัวเองหรือเริ่มที่กลุ่มเล็ก ๆ ก่อนค่ะ จากการทำ KM มาสักระยะหนึ่ง ตัวเองรู้สึกว่า ไม่ต้องรอใคร เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ ที่เราทำ... KM จะช่วยจัดการให้งานของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พอเราเริ่มทำเป็นผลสำเร็จใน "กลุ่มเล็ก" จะทำให้ "กลุ่มใหญ่" เห็นดีเห็นงามค่อย ๆ ทยอยเดินตามเราค่ะ
   ผมก็เผลอบ่อยครับ  ขอบคุณที่ช่วยกระตุกให้ตื่น  ความคิดจากอดีต มักจะมาสร้าง อวิชชา ในปัจจุบัน ทันทีที่เราเผลอ  ก็ช่วยๆกันไม่ให้เผลอบ่อยๆก็ดีนะครับ ...     แล้วเมื่อ 24 มิย. อาจารย์พบอะไรและคิดอะไรบ้างล่ะครับ  มีคนอยากอ่านอย่างน้อยก็ 4-50 คนครับผม
ผมมีโอกาสฟังการบรรยายจากอาจารย์ และได้นำความรู้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารโรงเรียน และคณะครูสังกัด สพท.สพ.2 มากกว่า 10 ครั้งแล้ว แต่พึ่งสมัครเป็นสมาชิก ขอบคุณความรู้ที่ดีๆมาให้อย่างต่อเนื่อง  

ยินดีต้อนรับท่านอาจารย์เข้าสู่ชุมชน GotoKnow ครับ ...คงจะได้มีโอกาสอ่าน blog ของอาจารย์นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท