ชีวิตที่พอเพียง : 50. วิ่งออกกำลังในต่างแดน


การออกกำลังเพื่อสุขภาพโดยการวิ่งเหยาะของผมเริ่มเมื่ออายุ ๔๐ แล้วกลายเป็นกิจกรรมประจำวันอย่างเหนียวแน่น เพราะมันช่วยชีวิตของผม ช่วยลดความเครียด และเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย

ชีวิตที่พอเพียง : 50. วิ่งออกกำลังในต่างแดน

  • ฝรั่งมีศัพท์ jogging แต่ไทยไม่มีศัพท์เฉพาะสำหรับการวิ่งเหยาะออกกำลังแบบแอโรบิก เราเรียกว่าวิ่งเหมือนกับการวิ่งอื่นๆ อาจมีคำคุณศัพท์ขยายความว่า “วิ่งเหยาะ” แสดงว่าการวิ่งเหยาะออกกำลังไม่ใช่วัฒนธรรมไทย สมัยผมเด็กๆ เรายกย่องนักกีฬาวิ่งทนหมื่นเมตรเป็นฮีโร่ ผมคิดว่าเขาต้องเป็นคนเก่งพิเศษมากจึงวิ่งได้ทนขนาดนั้น เขาเรียกชื่อการแข่งขันว่า “แข่งวิ่งทน” ผมไม่เข้าใจเลยว่าใครๆ ก็สามารถฝึกฝนให้เป็นนักกีฬาวิ่งทนได้ รวมทั้งผมซึ่งเป็นเด็กไม่เอาไหนด้านกีฬา ผมคิดว่าถ้าผมได้รับการปลูกฝังความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกกำลังตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ผมน่าจะมีสุขภาพดีกว่านี้
  • การออกกำลังเพื่อสุขภาพโดยการวิ่งเหยาะของผมเริ่มเมื่ออายุ ๔๐ แล้วกลายเป็นกิจกรรมประจำวันอย่างเหนียวแน่น เพราะมันช่วยชีวิตของผม ช่วยลดความเครียด และเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย ผมจึงมีรองเท้าวิ่งและกางเกงขาสั้นสำหรับวิ่งติดตัวตลอด ไม่ว่าอยู่บ้านหรือเดินทางไปต่างจังหวัด / ต่างประเทศ แม้ไปพักโรงแรมชั้นหนึ่ง มีห้องยิมให้ออกกำลัง ผมก็ไม่เคยเข้าไปใช้ ผมไม่ชอบการออกกำลัง indoor ผมชอบ outdoor ชอบที่โล่ง ชอบวิ่งโดยเห็นชีวิตผู้คนและธรรมชาติรอบตัว
  • ไปบอสตันคราวนี้ผมเอารองเท้าวิ่งและกางเกงขายาวสำหรับสวมวิ่งที่มีอยู่ตัวเดียวไปด้วย กางเกงตัวนี้นานๆ ใช้ครั้ง จึงทนมาก อายุกว่า ๑๕ ปีแล้วยังใช้การได้ดี
  • เห็นสถานที่แล้วน้ำลายหก เพราะบริเวณภายใน HBS (Harvard Business School) ที่เราไปพักอยู่กับลูกสาวเหมาะต่อการวิ่งมาก ยิ่งออกไปวิ่งริมแม่น้ำ Charles ยิ่งวิเศษ มีลู่วิ่งให้อย่างดีเยี่ยม และทิวทัศน์สวยงาม แม้ฝนจะไม่ค่อยเป็นใจ แต่ถ้าเห็นว่าพอวิ่งได้ คือฝนหยิมๆ ที่ฝรั่งเรียก drizzles ผมก็ออกไปวิ่ง บริขารในการวิ่งของผมคือกล้องถ่ายรูปขนาดเล็กแบนๆ หนึ่งตัว และ iPod สำหรับฟังดนตรีไปพร้อมๆ กัน ภรรยาบอกว่าไม่ใช่ชีวิตพอเพียงแล้ว เพราะซื้อของใช้ราคาแพง ผมมองว่าถ้าเราใช้จ่ายอย่างมีสติ ไม่เกินกำลัง ไม่หรูหรา ไม่ใช้เพื่ออวดมั่งอวดมี ถือเป็นชีวิตที่พอเพียง ภรรยาเขาเป็นสติของผม คือคอยทักท้วง ผมถือหลักว่าคนที่ฟังภรรยาจะได้ดี ส่วนใหญ่ผม “เชื่อฟัง” ภรรยา แต่บางครั้งก็ “รับฟัง” ไว้ไตร่ตรอง และบางครั้งก็ “ทนฟัง” แต่ไม่เถียงแล้วครับ เพราะแน่ใจแล้วว่าผู้ชายที่เถียงเมียชีวิตไม่เจริญ คือทำให้จิตใจไม่แจ่มใส คิดอะไรไม่ออก

                    

แม่น้ำ ชาร์ลส อาคารสูงและบริเวณทางซ้ายมือเป็นบริเวณ HBS ทั้งหมด  อยู่ฝั่งเมืองบอสตัน  ในขณะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดคณะอื่นๆ ทั้งหมดอยู้ฝั่งเมืองเคมบริดจ์

  • เช้าวันนี้ (๑๐ มิย. ๔๙) ผมออกไปวิ่งริมแม่น้ำ ชาร์ลส สังเกตเห็นนกตัวโตสีขาวยืนอยู่ริมน้ำจึงทดลองฝีมือในการถ่ายรูปซูมด้วยกล้องขนาดเล็กทันที การถ่ายรูปช่วยเพิ่มความช่างสังเกต ช่วยฝึกประสาทตา สักครู่ผมก็สังเกตเห็นว่ามีนกชนิดเดียวกันที่ริมน้ำนับสิบตัว คุณลุงวิ่งผ่านมาก็เข้ามาบอกว่าเขาเรียกชื่อว่า White Heron ก็นกกระยางของเรานั่นเอง แต่เป็นชนิดที่คอไม่ยาว คุณลุงบอกว่าปีนี้เห็นนกนี้จำนวนมากกว่าปีก่อนๆ บอกว่าเมื่อก่อนอยู่ที่ มินนีโซต้า มีนกนี้มาก ผมถามว่าเป็นนกท้องถิ่นหรือนกย้ายถิ่น คุณลุงบอกว่าไม่แน่ใจ เข้าใจว่าย้ายถิ่น ผมลองเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ มันหนีทุกที ผมจึงสรุบว่ามันเป็นนกที่ไม่คุ้นคน น่าจะเป็นนกย้ายถิ่น

                       

                     นกกระยาง ๓ ตัว ยืนนิ่งรอเหยื่อ

                       

                            นกกระยาง (White Heron)

                             

                             นกกระยางกับลู่วิ่งของผม

  • แต่ฝูงห่านเป็นนกประจำถิ่นแน่นอน เชื่องมาก ถ่ายรูปใกล้ๆ ได้สบาย อยู่กันเป็นฝูง บางฝูงมีกว่า ๓๐ ตัว

                             

                                                  ฝูงห่าน

                             

                                 ห่านเชื่อง เข้าไปถ่ายรูปใกล้ได้

  • คนพายเรือแคนูออกกำลังเป็นวิวที่ผมชอบดู วิ่งไปหน่อยได้ยินเสียงเครื่องขยายเสียงบอกว่าวันนี้ยูทำได้ดีกว่าเมื่อวาน หันไปดูจึงเห็นเรือติดเครื่องยนต์แล่นมากับขบวนเรือแคนู จึงรู้ว่าเป็นเรือของครูฝึก ไม่รู้ว่าแข่งเป็นกีฬา หรือแข่งกับตัวเอง วิ่งไปหน่อยเห็นเรือเครื่องติดท้ายแล่นมาลำเดียว เดาว่าเป็นเรือรักษาความปลอดภัยในแม่น้ำ

                      

          คนอีกจำนวนหนึ่งออกกำลังโดยกรรเชียงเรือแคนู

  • วิ่งไปถ่ายรูปไปฝนหยิมก็เริ่มตกลงมา ผมสังเกตเห็นเก้าอี้ไม้บริเวณที่พักของ HBS หลากหลายรูปทรง สำหรับให้คนนั่งพักผ่อน ลูกสาวบอกว่า HBS รวยมาก เก็บค่าเล่าเรียนแพง และจัดเครื่องอำนวยความสะดวกอย่างดีเยี่ยม แต่เก้าอี้ไม้เหล่านี้มีคนใช้น้อยมาก ไม่คุ้มค่าก่อสร้าง

                       

                               ความงามของดอกหญ้า

                        

                        โปรดสังเกตเก้าอี้ไม้ใต้ตึกช้าง

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มิย. ๔๙

ห้อง 209 อาคาร 6, Soldiers Field, HBS, Boston

 

หมายเลขบันทึก: 35591เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2006 04:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 04:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท