การประเมินคุณภาพภายนอกของสถาบันอุดมศึกษา


คงต้องเอาเกณฑ์ต่างๆ ไปทำความ ตกลงกับ ทาง มอ. ที่จะรับการประเมิน ว่าจะทำให้เกณฑ์ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับเฉพาะ มอ. ตรงไหนบ้าง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ สมศ. ได้เรียนรู้ และจะได้พัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ชัดเจน ยืดหยุ่น และเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนขบวนการคุณภาพของการศึกษาของประเทศ ได้ดียิ่งขึ้น

การประเมินคุณภาพภายนอกของสถาบันอุดมศึกษา

          เมื่อวันที่ ๒๒ มิย. ๔๙ ผมไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการผู้ประเมินภายนอก ระดับอุดมศึกษา จัดโดย สมศ. ระหว่าง ๒๒ - ๒๔ มิย. ๔๙  ที่ต้องไปร่วมก็เพราะ ศ. ดร. สมหวัง มาขอให้ไปประเมิน มอ.    เรื่องทำงานให้ มอ. นี้ผมปฏิเสธไม่ลงครับ    ผมคงจะรับประเมินสถาบันเดียวใน รอบสองนี้   เพราะงานมากเกินจนรับไม่ไหว

         ศ. ดร. สมหวัง บอกว่า รอบ 2 ประเมินเพื่อการพัฒนา เปลี่ยนจาก assessment ในรอบที่ 1 เป็น evaluation ในรอบที่ 2  

         ดร. โอฬาร ชัยประวัติ ประธาน สมศ. มากล่าวนำ เน้นการจัดกลุ่มสถาบัน โดยให้สถาบันเลือกกลุ่มเอง    ท่านเล่าวิวัฒนาการสถาบันอุดม ศึกษาของโลกได้อย่างน่าสนใจมาก คือ

           รุ่นที่ 1 : Oxford, Cambridge Type เกิดก่อนยุคอุตสาหกรรม เน้นการศึกษาปรัชญา ศาสนา เน้นการศึกษาตรรกะ การปกครอง มีเป้า เพื่อปกครองเมืองขึ้น

           รุ่นที่ 2 : Harvard, Yale Type เกิดยุคอุตสาหกรรม เมื่อ 200 ปีก่อน เน้นวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ

           รุ่นที่ 3 : MIT, Warton Type เริ่มเป็นโรงเรียนช่างกล หรือพาณิชย์ เน้นวิชาชีพ เมื่อ 100 ปีก่อน

           รุ่นที่ 4 : Community College Type เริ่มเมื่อ 50 ปีก่อน มีเป้าเพื่อขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่มวลชน

        ประเด็นของท่านก็คือ สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องมีครบทั้ง 4 แบบ โดยที่ในปัจจุบันมีครบทั้ง 4 แบบอยู่แล้ว ก็มอบให้แต่ละสถาบัน เลือกเอาเองว่าจะอยู่ในกลุ่มไหน สมศ. จะได้ประเมินตามเกณฑ์ของกลุ่มนั้น ได้แก่

           1. สถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิตและวิจัย (ผมมีความเห็นว่าควรแก้เป็น เน้นบัณฑิตศึกษาและวิจัย)

           2. สถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม

           3. สถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม 

           4. สถาบันที่เน้นการผลิตบัณฑิต

        ผมมองว่าเป็นการจำแนกกลุ่มแบบกล้าๆ กลัวๆ ไม่ค่อยกล้าระบุชัด    ทำให้เกณฑ์เป็นแบบไม่ชัด   แต่ก็นับว่าดี ที่มีการจำแนกกลุ่ม   สกอ. สมศ. และหน่วยงานอื่นๆ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนเงื่อนไขให้สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งต้องโฟกัสภารกิจของตนเอง เพื่อให้ทำได้ดีมี คุณภาพจริงๆ

        การประเมินรอบสองนี้ต่างจากรอบแรกตรงที่

          1. ประเมินทั้งคุณภาพโดยรวมของสถาบัน และของกลุ่มสาขาวิชา ซึ่งมี 10 กลุ่ม

          2. ประเมินเพื่อรับรองคุณภาพ และเพื่อกระตุ้นการพัฒนาคุณภาพ

           3. ทั้งประเมินตามตัวชี้วัด (objective) และประเมินแบบ peer review (subjective)

           4. ส่วนที่เป็นการประเมินแบบปรนัย มี 7 มาตรฐาน 48 ตัวบ่งชี้

       สมศ. ไม่ได้ให้น้ำหนัก ว่าส่วนปรนัย กับส่วนอัตนัยให้น้ำหนักในสัดส่วนอย่างไร    ความเห็นของผมคือให้ส่วนอัตนัย (peer review) มากกว่า อาจถึง 2:1    คงต้องตกลงกับผู้แทน สมศ. (ดร. กิตติยา เอ็ฟฟานส) อีกที    ทางที่ดีที่สุดคือตกลงกับ ทาง มอ. เองด้วย    ผมดูเกณฑ์ต่างๆ ในคู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา ของ สมศ. แล้ว     มีความเห็นว่า คงต้องเอาเกณฑ์ต่างๆ ไปทำความ ตกลงกับ ทาง มอ. ที่จะรับการประเมิน   ว่าจะทำให้เกณฑ์ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับเฉพาะ มอ. ตรงไหนบ้าง     การทำเช่นนี้จะช่วยให้ สมศ. ได้เรียนรู้ และจะได้พัฒนาเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ชัดเจน ยืดหยุ่น และเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนขบวนการคุณภาพของการศึกษาของประเทศ ได้ดียิ่งขึ้น

        อีกมิติหนึ่งที่น่าจะทำความชัดเจน คือมิติการประเมินแบบ benchmarking เพื่อให้รู้ว่ามหาวิทยาลัยนั้นอยู่ตรงไหนในกลุ่ม

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 35572เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2006 21:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท