ทำ Swot แบบชาวบ้าน


การได้มาซึ่งคำเด็ด ๆ หรือ ประโยคมันส์ๆ ต้องมีเทคนิคการจับประเด็นที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้ 5 และที่สำคัญต้องมีสมาธิ...จิตต้องนิ่ง...
ทำ  SWOT  แบบชาวบ้าน

   เมื่อวันที่  14  มิถุนายน  2549  ได้ไปร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการเพื่อให้

ชาวบ้านจากทุกอำเภอในจังหวัดสิงห์บุรี ประมาณ  100  คน  มาปรึกษาหารือและร่วมกันคิดวิเคราะห์และตัดสินเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับตนเองในการทำกิจกรรมเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าว

   โดยเริ่มจากการนำเสนอทางเลือกต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ให้กับชาวบ้านตัดสินใจ  หลังจากนั้นก็แบ่งกลุ่มชาวบ้านตามอำเภอออกเป็น 6 กลุ่ม 6 อำเภอ  ในขณะที่ชาวบ้านแต่ละกลุ่มปฏิบัติงานเพื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับตนเองนั้น  ดิฉันก็ได้ไปเลียบ ๆ เคียง ๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมตามกลุ่มย่อยต่าง ๆ จึงทำให้เห็นวิธีการคิดและวิเคราะห์ข้อมูลของชาวบ้าน โดยเริ่มจาก                ขั้นที่ 1  รวบรวมกิจกรรม ที่แต่ละคนทำและเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวหรือประสบการณ์ที่ปฏิบัตินั้นมีอะไร? และมีว่าอย่างไรบ้าง? ซึ่งบุคคลนั้นจะต้องแถลงข้อมูลหรือเล่าให้กลุ่มฟัง  โดยจะมีการบันทึกตามข้อมูลที่แถลงไว้ด้วย                ขั้นที่ 2  เมื่อกลุ่มรวบรวมข้อมูลเสร็จแล้ว ก็จะ เริ่มต้นการวิเคราะห์ โดยร่วมกันค้นหา ข้อดี และข้อเสีย  ของแต่ละกิจกรรมที่ทำ  และบางกลุ่มก็จะค้นหาข้อดีและข้อเสียแบบองค์รวม

                ขั้นที่ 3  ร่วมกันแสดงความคิดเห็น  โดยปรึกษาหารือถึงเหตุและผล  ซึ่งช่วงนี้เสียงของแต่ละกลุ่มย่อยจะค่อนข้างดังมาก  บรรยากาศเหมือนกำลังมีการ

โต้คารมระหว่างกัน และพยายามหักล้างข้อดีและข้อเสีย  จึงทำให้เห็น วิธีการคิดของชาวบ้านที่ละเอียดรอบคอบ  เพื่อตัดสินใจ                ขั้นที่ 4  ตัดสินใจและยุติการแลกเปลี่ยน  เมื่อแต่ละกลุ่มปรึกษาหารือและแถลงเหตุผลกันสักระยะหนึ่ง  ก็เห็นบางกลุ่มเริ่มหาข้อยุติในการตัดสินใจเลือกกิจกรรมที่จะปฏิบัติ  ซึ่งมีทั้งวิธีการยกมือโหวต  การลงคะแนนเสียง  และการตัดสินใจรวม  หลังจากนั้น จึงสรุปเป็นกิจกรรมที่กลุ่มเลือกเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าว เช่น เพาะพันธุ์ข้าว (ไว้ขายหรือไว้ปลูกเอง)  และแปรรูปเป็นข้าวสาร เป็นต้น                  ขั้นที่ 5  จัดทำแนวทางการปฏิบัติงาน  เมื่อแต่ละกลุ่มได้กิจกรรมที่จะปฏิบัติเป็นของตนเองแล้วนั้น  ก็หันกลับมาร่วมกันคิดต่ออีกว่า ถ้าเราจะทำให้กิจกรรมนั้นบรรลุผล.....เรามีแนวทางการทำงานอะไรบ้าง?  โดยบางกลุ่มก็คิดและเขียนออกมาเป็นวิธีการดำเนินงาน  บางกลุ่มก็เขียนออกมาเป็นประเด็นงานที่ต้องทำต่าง ๆ  ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การคิดที่ว่า  ถ้าทำเช่นนี้แล้วจะทำให้กิจกรรมที่เลือกประสบผลสำเร็จได้

   ในขณะที่ดิฉันเก็บประเด็นข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ โดยใช้วิธีการ แอบฟัง.....ชาวบ้านคิด ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราคงจะหยุดการพัฒนาตนเองไม่ได้แล้ว...และเราคงจะต้องเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้กับตนเองตลอดเวลา  เพราะว่าสิ่งที่

ชาวบ้านคิด  สิ่งที่ชาวบ้านทำ  และสิ่งที่ชาวบ้านเลือกตัดสินใจนั้น  ชาวบ้านปฏิบัติภายใต้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์การประกอบอาชีพของตนเองที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน  นอกจากนี้ชาวบ้านยังพร้อมที่จะรับรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และกล้าที่จะทดลองทำ   แล้วเราซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอะไรบ้าง? ที่จะไปแลกเปลี่ยนกับชุมชน  โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่จะนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน เราจะใช้วิธีการและเทคนิคไหนดี?  ถึงจะคุยกันได้รู้เรื่อง และเป็นนักส่งเสริมการเกษตรได้อย่างสง่าผ่าเผย  ยืนคู่กับชุมชนได้อย่างมีคุณค่าและถาวร

                ทั้งนี้  การแอบฟัง และแอบดูชาวบ้านคิดงาน  เป็นเทคนิคที่นำมาใช้สังเกตพฤติกรรมการทำงานโดยไม่ให้บุคคลเป้าหมายรู้ตัว ซึ่งจะทำให้เห็นพฤติกรรมการมีส่วนร่วม  การแลกเปลี่ยน  และบรรยากาศ ที่ชัดเจน  โดยเฉพาะทำให้เห็นเนื้อหาสาระและกระบวนการได้มาซึ่งข้อสรุปของประเด็นสำคัญ ๆ และ คำพูดเด็ด ๆ  หรือ ประโยคมันส์ ๆ  ซึ่งเราจะต้องติดตามอย่ากระพริบตา และ

หูต้องฟังตลอดเวลา เพราะนี่คือ  การจับประเด็นเพื่อนำมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลสู่การกระตุ้นจิตสำนึกและการสรุปประเด็นได้ชัดเจนขึ้น.                เริ่มต้นเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น.....ยากยิ่งนัก.

                แต่การจบและปิดเวทีการเรียนรู้นั้น.....ยากยิ่งกว่า.

                                                                       ศิริวรรณ  หวังดี

หมายเลขบันทึก: 35498เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2006 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท