สภามหาวิทยาลัย : 27. แนวโน้มในอนาคต


สภามหาวิทยาลัยในรูปแบบแบ่งปันอำนาจ ต้องรวมพลังกันกำกับขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เดินตรงทาง (แต่ละมหาวิทยาลัยมีทางของตัวเอง ไม่ลอกเลียนกัน) และสร้างผลสัมฤทธิ์ต่อสังคมคุ้มค่าต่อทรัพยากรที่สังคมสนับสนุน

สภามหาวิทยาลัย  : 27. แนวโน้มในอนาคต

            ผมมองแนวโน้มจากร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. .... ตามที่อยู่ใน เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดูได้ที่นี่  http://www.op.mahidol.ac.th/orla/fp/fp_file/pageprb_draff.htm  แต่ผมสงสัยว่า ฉบับที่มีการตรวจแก้โดยกรรมาธิการแล้วค้างเติ่งอยู่คงจะมีแก้ไขผิดไปจากนี้บ้าง    เอาเป็นว่าผมขอใช้ฉบับในเว็บเป็นตัวบอกเจตนารมณ์ของการมีสภามหาวิทยาลัยใน ร่าง พรบ. ใหม่ก็แล้วกัน

           จะเห็นว่า องค์คณะบุคคลที่กำกับและขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในอนาคต มี ๓ องค์คณะ คือ สภามหาวิทยาลัย   สภาวิชาการ   และสภาคณาจารย์     เราคงต้องยอมรับนะครับว่า มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรที่พนักงานขององค์กรมีสิทธิ์มีเสียงสูงกว่าองค์กรอื่นๆ     คือเราใช้หลักแบ่งปันอำนาจ ไม่ใช่รวบอำนาจ ที่เรียกว่าระบบ collegial     ตรงนี้คงต้องระวังว่าไม่ใช่ระบบคานอำนาจ    คือไม่ใช่คอยคานคอยทานกัน    แต่เป็นระบบช่วยกันคิดช่วยกันทำ     หลักสำคัญคือหลัก สนธิพลัง (synergy)

           ดูตามภารกิจที่ระบุไว้ในร่าง พรบ. ซึ่งเป็น พรบ. ของมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่ใช่อยู่ใต้ระบบราชการ     ที่เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ     สภามหาวิทยาลัยมีหน้าที่มากมาย     แต่ผมมองว่าจริงๆ แล้วหน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือกำกับให้มหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งทางวิชาการ    และทำหน้าที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างจริงจัง    นี่คือหลักใหญ่ที่สุด   เรื่องอื่นๆ เป็นรายละเอียด     

         สรุปว่า แนวโน้มในอนาคต สภามหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่เป็น องค์กรรวมหัวใจ หรือองค์กรสูงสุดของแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง     ไม่ใช่เป็นปลอมๆ (มี สกอ. คอยสั่งการอยู่เบื้องหลัง) อย่างในปัจจุบัน    สภามหาวิทยาลัยในรูปแบบแบ่งปันอำนาจ ต้องรวมพลังกันกำกับขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เดินตรงทาง (แต่ละมหาวิทยาลัยมีทางของตัวเอง ไม่ลอกเลียนกัน) และสร้างผลสัมฤทธิ์ต่อสังคมคุ้มค่าต่อทรัพยากรที่สังคมสนับสนุน  

วิจารณ์ พานิช
๒๔ มิย. ๔๙
วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หมายเลขบันทึก: 35439เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2006 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เห็นด้วยกับคุณหมออย่างยิ่งเลยครับ เพราะสภามหาวิทยาลัยปัจจุบันจัดตั้งขึ้นเพื่อมาให้รู้ว่ามีการจัดตั้งครับ แต่ละส่วนที่จัดตั้งขึ้นมาก็ทำงานใครทำงานมัน ต้องทำอย่างที่คุณหมอว่าก็คือนำส่วนต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาผสานสนธิกำลังกันผสานกำลังคน คนเดียวหัวหายสองคนเพื่อนตายครับ เขาจัดตั้งมาแล้วก็ต้องผสานทำงานด้วยกันระดมสมองเพื่อมหาวิทยาลัยก้าวหน้าครับ แต่ปัญหาหลัก ๆ อันนี้ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นอันหนึ่งครับ ก็คือ บุคลากรส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยไม่ให้ความสำคัญ สอน ๆ ๆ ๆกันอย่างเดียว จะไปแสดงความคิดเห็น เลือกตั้ง ลงสมัครก็ไม่ทำกันครับ ประชุม พูด คิดก็ยังไม่ทำกันเลยครับ สอนกันอย่างเดียวครับ ไม่สนใจในความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัย เพราะแต่ละคนมีรายได้อันเกิดจากหน้าที่หลักกันอยู่แล้วครับ ทำให้คนที่ไปทำงานอยู่ข้างบนมักจะเป็นคนเดิม ๆ พอทำงานไปดีหรือไม่ดี คนข้างล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็ไม่ช่วยคิด ไม่ช่วยทำ ไม่ช่วยตรวจสอบแก้ไข ข้างบนอยากทำอะไรก็ทำ ข้างล่างก็ไม่สนใจครับ ถ้าข้างล่างกับข้างบน อาจารย์ พนักงาน บุคลากร ผู้บริหาร สภามหาวิทยาลัย ร่วมมือร่วมแรงกันทำงานจะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ๆ เลยครับ เพราะแต่ละคนในมหาวิทยาลัยจบสูง ๆ กันมาทั้งนั้นครับ แถมแต่ละคนก็เก่งฉกาจกันอย่างยิ่ง เพราะถ้าจบไม่สูง เรียนไม่เก่ง ก็ไม่สามารถมาเป็นอาจารย์คนกันได้ครับ (บางแห่งก็เลือกอาจารย์แทบไม่ได้เหมือนกันครับ) ดังนั้น ถ้าสภามหาวิทยาลัยรู้จักใช้สมองของบุคลากรเหล่านี้ จัดการความรู้ของคนเหล่านี้ได้ สุดยอดเลยครับ
ขอบพระคุณที่กรุณาให้ภาพที่เกิดขึ้นจริงในสังคมครับ    ผมเองไม่รู้ภาพจริงเหล่านี้ จึงได้ประโยชน์มากจาก comment นี้ครับ
ขอขอบพระคุณคุณหมอเป็นอย่างสูงครับ ที่ไม่รังเกียจและให้โอกาสความคิดจากกระผม ผมติดตามอ่านบันทึกของคุณหมอมานานแล้วครับ เห็นภาพหลาย ๆ อย่างเหมือนคุณหมอ แต่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นน่ะครับ ด้วยความเป็นเด็ก อ่อนเยาว์ประสบการณ์ครับ แต่ตอนนี้เริ่มมองเห็นประเทศเราเริ่มซวนเซหนัก ก็เลยต้องขออนุญาตคุณหมอที่จะแสดงความคิดเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ ถ้าผิดพลาดพลั้งไปก็ขออภัยคุณหมอมาที่นี่อีกครั้งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท