นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น กับการบันทึก


ผมนึกเล่นๆว่า หากบนดอยมี อินเทอร์เนต จะแนะนำให้ พะตี่อาศรี รู้จักและแนะนำการเขียน Blog ใน Gotoknow.org ด้วย เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนผู้แสวงหาความรู้ที่หลากหลาย...อันนี้ผมคิดเล่นๆแค่นั้นเองครับ

ว่าด้วยการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผ่านสื่อ หรือเอกสาร เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ อย่างหนึ่ง ที่เป็นผลลัพธ์ของการกระทำระหว่างวัน

บ่อยครั้งที่องค์ความรู้เหล่านี้ เลือนหายไปตามกาลเวลา การใช้ประโยชน์จากประสบการณ์เดิม ก็ทำได้ไม่เต็มเท่าที่ควรจะเป็น                 

วันนี้ผมได้โอกาสเข้าร่วมเวที "ชุมชนคนวิจัยเพื่อท้องถิ่น แม่ฮ่องสอน" ซึ่งเราจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน โดยเครือข่ายนักวิจัยแม่ฮ่องสอน (ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๕) ผมได้พูดคุยกับนักวิจัยชาวบ้านท่านหนึ่ง เป็นนักวิจัยชาวบ้านชนเผ่าปกาเกอเญอ หนุ่มใหญ่วัยเฉียด ๕๐ ชื่อ พะตี่อาศรี ศรีโย ทำงานวิจัยประเด็น “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” และกระบวนงานวิจัยใกล้จะสิ้นสุดตามช่วงระยะเวลาการทำงานแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่ง ที่ผมสังเกตเห็นและประทับใจ ก็คือ การเขียนบันทึก ของพะตี่อาศรี ว่าด้วยเรื่องการเขียนบันทึก ผมคิดว่าน้อยคนที่จะสนใจบันทึกเรื่องราวตนเอง เพื่อที่จะเก็บไว้เป็นบทเรียน และ หรือ ใช้เป็นจดหมายเหตุให้แก่ตนเอง พะตี่บอกผมว่า “ การที่เขียนบันทึก ก็เพราะว่า เก็บไว้เพื่อทบทวนตัวเอง และเป็นการเตือนตัวเองไปในตัวว่ามีภาระงานใดที่ยังไม่ได้ทำ หรือทำแล้วมีกระบวนการเติบโตอย่างไร อีกทั้งตั้งใจจะเก็บไว้เป็นประสบการณ์เอาไว้สอนลูกสอนหลาน ปกาเกอเญอ” ...นี่ เป็นเหตุผลดีๆที่น่าประทับใจจากนักวิจัยชาวบ้าน ของแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นนักวิจัยที่เป็นชนเผ่ากลุ่มชาติพันธ์ และ อาศรีเรียนจบชั้น ป.๔ และเรียน กศน.ต่อเนื่อง ตอนนี้จบระดับชั้น มัธยมต้น...น่าชื่นใจยิ่งนัก

ผมขอดูบันทึกของพะตี่อาศรี พบว่า ถูกเขียนด้วยลายมือเรียบร้อย มีประเด็นสำคัญสรุปแทรกอยู่ในแต่ละช่วงบันทึก บางบันทึกก็เป็นภาษาชนเผ่าที่แปลกตา ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าตรงนี้ก็ถือได้ว่าเป็นคุณูปการหนึ่ง ของ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ในการพัฒนาศักยภาพคน ในการบันทึก การเก็บข้อมูล อย่างเป็นระบบ

การสร้าง หรือ เปิดโอกาส ส่งเสริมให้มีการบันทึกกันเป็นนิสัย ถือว่าเป็นความสำคัญยิ่งในการ "จัดการองค์ความรู้" และในที่สุดแล้ว "องค์ความรู้" ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง จะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ที่สำคัญทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดของตัวเองด้วย

ผมนึกเล่นๆว่า หากบนดอยมี อินเทอร์เนต จะแนะนำให้ พะตี่อาศรี รู้จักและแนะนำการเขียน Blog ใน Gotoknow.org ด้วย เพื่อที่จะได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนผู้แสวงหาความรู้ที่หลากหลาย...

อันนี้ผมคิดเล่นๆแค่นั้นเองครับ

หมายเลขบันทึก: 35421เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2006 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • คิดเล่นๆ เช่นกันว่า  ถ้าจะต่อเนตก็น่าจะทำได้ขอให้มี notebook  มือถือ และบลูทรูท   แต่ว่า..คงเปลืองตังน่าดู
  • อีกอย่าง...การบันทึกไว้ในสมุดดูเหมือนว่าจะเป็นส่วนตัวมากกว่า   บางคนอาจจะชอบแบบนั้น    ส่วนการบันทึกบนเวบ   อาจทำให้ความเป็นส่วนตัว  หายไป  กลายเป็นคนสาธารณะ
  • งานของคุณจตุพร  น่าสนุกนะคะ    งานนี้หรือเปล่าที่บอกว่าเป็น "คำตอบของชีวิต"
  • ถ้ามีรูปให้ดูด้วย   น่าจะดี    อยากเห็นชีวิตคนดอยค่ะ
คุณNidnoiครับ........................... ครับการบันทึกบนเวปอาจจะไม่มีความเป็นส่วนตัว แต่จุดประสงค์ของบันทึกบนเวปคือ "การสื่อสาร" สื่อสารเพื่อการแลกเปลี่ยน ผมดูสมุดบันทึกของพะตี่อาศรีแล้ว น่ารักมากครับ เก่าๆ เยินๆเล็กน้อย แต่มีข้อมูลตั้งแต่ค่ากะปิ น้ำปลา ถึงแผนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเลยทีเดียว/// งานที่เป็นคำตอบ ในชีวิตผมเหรอครับ ก็งานนี้เป็นส่วนหนึ่ง ผมมีความสุขที่ได้ ทำ และ ที่สำคัญงานแบบนี้ทำให้ผมมีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้กับ คนหลากหลายทั้งกลุ่มชาติพันธุ์-ภาษา-ประเพณี-และนักวิชาการ งานนี้ถือว่าผมได้กับได้ครับ- - - งานส่วนหนึ่งที่ผมตั้งใจจะทำเป็นจริงเป็นจังที่แม่ฮ่องสอน ก็คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (community based tourism)ครับ ช่วงหลังทำงานวิชาการเชิงสังเคราะห์ในภาพรวมอยู่ทั้งส่วนของภาคเหนือและระดับจังหวัด เพื่อที่จะทำให้งานท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแบบนี้ให้เด่นชัดและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ครับ///ผมมีรูปในคลังเยอะครับ ผมชอบถ่ายรูป และแม่ฮ่องสอนเรามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย และหลากวิถึชีวิตเช่นกัน...วิถีแบบนั้นงดงามและเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ น่าสนใจมากครับ ผมจะพยายามนำภาพเหล่านั้นมาประกอบการบันทึกในครั้งต่อไปครับ
ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ   
คุณจตุพรเป็นคนหนึ่งที่ตั้งอกตั้งใจตอบข้อคิดเห็น   อ่านแล้วได้เรื่องได้ราว    ตรงใจดีค่ะ   หวังว่าจะได้อ่านเรื่อง  'การท่องเที่ยวโดยชุมชน'   ในเร็วๆ นี้
ขอให้สนุกกันงาน...และยินดีด้วยค่ะที่มีโอกาสได้เลือกทางที่ตัวเองชอบ
การเขียนเป็นอะไรมากกว่าข้อความเสมอ คุณจตุพรสะท้อนว่าบันทึกมอมๆของคนดอยก็เป็นวรรณกรรมได้ เป็นวรรณกรรมชีวิตที่เขียนอยู่บนพื้นฐานอัตลักษณ์และความจริงของชีวิตของพวกเขา เป็นช่องทางจากมือสู่ใจชาวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย ใช่ไหมครับ

พี่ยอดดอย

intellectual ของพะตี่อาศรีที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพจากงานวิจัยชาวบ้านก่อเกิด วรรณกรรมที่บริสุทธิ์ วรรณกรรมที่สวยงงามเรียบง่าย มีคุณค่า เฉกเช่นพะตี่อาศรีได้ทำ มันทำให้ผมมีกำลังใจและ ตั้งใจในการบันทึกเรื่องราวต่างๆของตนเองมากขึ้นครับ

  • น่าสนใจมากครับ
  • ชอบศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน
พี่ สุรีย์ กศน.ชุมพร

เรียน น้องจตุพร

  ติดตามผลงานตลอด..เยี่ยมมาก ขอให้งานวิจัยท้องถิ่นโดยคนในชุมชน..เป็นพื้นฐานของการพัฒนาคน ในแผน ฯ 10 ชุมชนจะได้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

พี่สุรีย์ กศน.ชุมพร.... ดีใจและเป็นเกียรติมากครับ ที่พี่ติดตามการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาโดยตลอด///งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่แม่ฮ่องสอน เรากำลังจะทำงานร่วมกับ "กศน" ด้วยครับ บรรดาคุณครู กศน.เอง ก็ทำงานจัดการศึกษา และพัฒนาชุมชนเคียงบ่าเคียงไหล่ชุมชน ประกอบกับ วิธีคิดของ "คนนอกระบบ" แบบ "กศน" ถูกจริตกับ "การวิจัยเพื่อท้องถิ่น" มากครับ
ขอบคุณครับ อ่านทั้งตัวบันทึกและ การต่อยอดของทุกท่านด้วยความรู้สึกที่ดี ผ่อนคลาย หายเหนื่อย ทั้งๆที่หนักมาทั้งวันแล้ว .. ยินดีที่แผ่นดินนี้มีคนดีๆ ทำสิ่งดีๆ โดยไม่หวั่นไหวกับกระแสโลกที่หลักลอย เลอะเลือน และ หลอกลวง ที่เพื่อนไทยไม่น้อยกำลังแหวกว่ายและจมดิ่งอยู่ในวังวน แห่งความหายนะนั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

อาจารย์ Handy ครับ

             เป็นเกียรติและดีใจเช่นกันครับ ที่มาให้กำลังใจครับ...จุดประสงค์หนึ่งของการเขียนบันทึก ก็คงเป็นเรื่อง "กำลังใจ" นี่หละครับ...ที่ทำให้มีพลังใจในการขับเคลื่อนงานใหม่ๆเพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท