แล้วประชาชนอยากได้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในลักษณะอย่างไร ?


ลักษณะบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่พึงประสงค์ของประชาชน ต้องเป็นบริการที่ตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพ ด้วยการค้นหาและวิเคราะห์ความเป็นที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่หรือชุมชน บริการที่จัดขึ้นต้องมีคุณภาพในสายตาประชาชน มีประสิทธิภาพไม่ต้องฟุ้งเฟ้อ หรือเป็นบริการที่พอดีสมฐานะ ซึ่งควรจะเน้นที่การสร้างเสริมสุขภาพจะได้ไม่สิ้นเปลืองและเกิดความทุกข์ก่อน ทั้งนี้ต้องมีการสนับสนุนให้มีทรัพยากรในการจัดบริการไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ เครื่องใช้ เครื่องมืออย่างเพียงพอ มีบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พอเหมาะพอควร หากขาดเหลืออะไรก็ให้บอกชุมชนให้ได้รับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ต้องโปร่งใสตรวจสอบกันและกันได้ โดยให้ยึดหลักปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

แล้วประชาชนอยากได้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในลักษณะอย่างไร ?

     ด้วยความเชื่อที่ว่าบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ (ที่สถานีอนามัย หรือบริการที่จัดในชุมชน) ที่ชาวบ้านต้องการไม่น่าจะเหมือนกันกับที่นักวิชาการคิดและสร้างกรอบในการพัฒนาไว้เสียทีเดียวทั้งหมด แล้วสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ (พึงประสงค์) และไม่เกินความสามารถของรัฐที่จะจัดหาให้คืออะไร โดยสิ่งนั้นจะบอกได้หรือไม่ว่าเป็นความต้องการที่เรียงลำดับความมาก-น้อย ก่อน-หลัง อย่างไร
     เมื่อมีโอกาสได้เรียนต่อจึงลงมืออย่างไม่ลังเลที่จะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ จึงได้ทำการค้นหาลักษณะบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่พึงประสงค์ของประชาชนว่าเป็นอย่างไร และใช้พื้นที่จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ตัวอย่าง สำหรับวิธีการรวบรวมข้อมูลมาเพื่อทำการวิเคราะห์ ก็ใช้ทั้งการสนทนากลุ่มจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ คละลักษณะกัน นำสิ่งที่เขาพูดหรือกล่าวถึงมาพัฒนาเป็นข้อคำถาม ผนวกกับแนวคิดที่เป็นของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบถามจากประชาชนอีกครั้ง แล้วก็นำไปจัดเป็นองค์ประกอบ โดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ
     พบว่าลักษณะบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่พึงประสงค์ของประชาชนจังหวัดพัทลุงในภาพรวมทั้ง 8 ด้านโดยเป็นลักษณะที่พึงประสงค์ระดับมาก 4 ด้าน คือ 1) ด้านบริการที่ตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพ 2) ด้านคุณภาพของบริการสุขภาพ 3) ด้านประสิทธิภาพของบริการสุขภาพ 4) ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
     และด้านที่พึงประสงค์ระดับปานกลางมี 4 ด้าน คือ 1) ด้านความพร้อมของทรัพยากรสุขภาพ 2) ด้านบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดบริการสุขภาพ 3) ด้านความเสมอภาคของบริการสุขภาพ และ 4) ด้านการมีส่วนร่วมในการจัดบริการและการตรวจสอบ
     กล่าวโดยสรุปก็คือ ลักษณะบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่พึงประสงค์ของประชาชน ต้องเป็นบริการที่ตอบสนองต่อความจำเป็นด้านสุขภาพ ด้วยการค้นหาและวิเคราะห์ความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่หรือชุมชน บริการที่จัดขึ้นต้องมีคุณภาพในสายตาประชาชนไม่เพียงแต่มีคุณภาพเชิงเทคนิคบริการเท่านั้น รวมถึงต้องมีประสิทธิภาพไม่ฟุ้งเฟ้อ หรือเป็นบริการที่พอดีสมฐานะ ซึ่งควรจะเน้นที่การสร้างเสริมสุขภาพจะได้ไม่สิ้นเปลืองและเกิดความทุกข์ขึ้นก่อน ทั้งนี้ต้องมีการสนับสนุนให้มีทรัพยากรในการจัดบริการไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ เครื่องใช้ เครื่องมืออย่างเพียงพอ มีบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พอเหมาะพอควร หากขาดเหลืออะไรก็ให้บอกชุมชนให้ได้รับรู้และแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่ต้องโปร่งใสตรวจสอบกันและกันได้ โดยให้ยึดหลักปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

อนุชา  หนูนุ่น บันทึกไว้เมื่อ 6 กันยายน 2548 เวลา 20.34 น.

 

หมายเลขบันทึก: 3535เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2005 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ คุณชายขอบ ไม่แน่ใจว่าคุณจะเข้ามาในบล็อกของคุณเมื่อไหร่ คือมีเรื่องอยากจะรบกวนถามค่ะว่า ไม่ทราบว่าคุณชายขอบทำวิทยานิพนธ์ เรื่องอะไรค่ะ พอดีว่ากำลังจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับบริการปฐมภูมิอยู่พอดีเลยค่ะ เลยอยากจะสอบถามแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ รบกวนคุณชายขอบให้คำแนะนำด้วยนะค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

คุณ bb รบกวนไปดูหน้าประวัติ แล้วติดต่อมามาตามนั้นครับ สำหรับคำถามหากอ่านบันทึกนี้ดี ๆ แล้วน่าจะมีคำตอบครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท