งานวิจัยชุมชนเพื่อการพัฒนา : ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ


ผู้บริหารคือผู้อำนวยการโครงการนี้ต้องทำงานเต็มเวลา จึงจะเกิดผลจริงจัง

งานวิจัยชุมชนเพื่อการพัฒนา : ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการ

          เมื่อวันที่ ๒๓ มิย. ๔๙ ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ไปบรรยายพิเศษเรื่อง "ยุทธศาสตร์การวิจัยชุมชนเพื่อการพัฒนา"     ในการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "เครือข่ายวิจัยชุมชนเพื่อการพัฒนาภาคใต้"    โดยหน่วยงานที่จัดคือ เครือข่ายวิจัยชุมชน  ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนา     เป้าหมายของการสัมมนา คือการเริ่มต้นเครือข่ายวิจัยชุมชนในภาคใต้
        
          ผมได้ให้ความเห็นเชิงยุทธศาสตร์ในประเด็นต่อไปนี้
              1. การมีทักษะการจัดการเครือข่าย
              2. การมีทักษะการจัดการงานวิจัยชุมชน  ซึ่งแตกต่างจากวิธีจัดการงานวิจัยเชิงวิชาการ     และแตกต่างจากวิธีจัดการงานวิจัยและพัฒนา (R&D)
              3. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือมุมมองต่อชุมชน    เปลี่ยนจากการมองว่าชุมชนไม่มีความรู้ เป็นมองว่ามีความรู้ในชุมชนส่วนหนึ่ง     มีคนในชุมชนจำนวนหนึ่งที่มีสติปัญญาสูง     แต่ความรู้ที่มีเป็นความรู้ปฏิบัติ    เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge)    เป็นความรู้บูรณาการ  ไม่แยกออกเป็นสาขาวิชาการ
              4. การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาชุมชน จาก training ไปสู่ learning    คือเปลี่ยนจากการมุ่งเข้าไปจัดการฝึกอบรมให้แก่ชาวบ้าน     เป็นมุ่งเข้าไปอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของชาวบ้าน   เน้นที่การเรียนรู้ของชาวบ้าน    ตัวชาวบ้านเป็นพระเอก-นางเอก    ไม่ใช่ตัวนักวิชาการหรือข้าราชการเป็นศูนย์กลาง       
              5. การจัดกิจกรรม "คืนความรู้ให้แก่ชุมชน" หลังจากที่นักวิจัยได้เก็บข้อมูลและสร้างความรู้จากชุมชนแล้ว 
              6. การจัดให้มี "คุณอำนวย" ที่อยู่ในชุมชน    หรือเป็นคนที่อยู่ในชุมชนตั้งแต่ดั้งเดิมยิ่งดี    ทำหน้าที่ "จุดไฟ" กระตุ้น และอำนวยความสะดวกในการ ลปรร. จากการปฏิบัติจรังในชุมชน
              7. "คุณอำนวย" ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเรียนรู้ของชาวบ้าน    เพื่อให้มีความมั่นใจที่จะทดลองทำสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากความเชื่อเดิมๆ ได้  
              8. ร่วมกันจัดให้มี "สถาบันการเรียนรู้" ขึ้นในชุมชน    เป็นสถาบันที่ไม่เน้นอาคารสถานที่  แต่เน้นกิจกรรม    เน้นความต่อเนื่อง    และเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน    เน้นการที่คนในชุมชนมีสิทธิ์มีเสียงตัดสินใจกันเอง    ไม่ใช่คนภายนอกมาตัดสินใจแทน หรือแย่งอำนาจเอาไปตัดสินใจ  
              9. หาทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  เน้นที่ อบต. ให้เข้ามาจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยชุมชน และการเรียนรู้ของชุมชน    สร้างความเข้าใจ (นโยบายสาธารณะ) ว่า หน้าที่สำคัญที่สุดของ อปท. คือการทำให้ท้องถิ่นเป็น "ท้องถิ่นแห่งการเรียนรู้" 
            10. การเริ่มต้นในพื้นที่ที่ยาก เช่นในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้   อาจใช้วิธีการ People Mapping / Knowledge Mapping     และอาจร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ (รศ. ประภาภัทร นิยม และคุณมิรา ชัยมหาวงศ์) ในการเชิญชาวบ้านผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินการที่อำเภอเกาะลันตาใหญ่  จังหวัดกระบี่ ไปร่วมดำเนินการ

        สิ่งที่ผมไม่ได้พูดในที่ประชุม    แต่มานึกขึ้นได้ตอนนั่งเครื่องบินกลับ    ก็คืองานนี้เป็นงานยาก    ต้องการความทุ่มเท    ถ้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ต้องการทำงานนี้ให้สำเร็จจริงจัง ต้องมีผู้บริหารโครงการนี้แบบเต็มเวลา    ไม่ใช่ใช้วิธีมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลาเพียงคนเดียวอย่างที่ ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ บอกผมเป็นการส่วนตัว     ย้ำว่าผู้บริหารคือผู้อำนวยการโครงการนี้ต้องทำงานเต็มเวลา จึงจะเกิดผลจริงจัง    หรือมิฉนั้นก็จะเป็นเพียงโครงการเล่นๆ ไม่จริงจัง อย่างที่เห็นกันทั่วไป

วิจารณ์ พานิช
๒๔ มิย. ๔๙
วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หมายเลขบันทึก: 35346เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2006 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
สิ่งที่คาดหวังที่สุด และหากเกิดขึ้นได้ก็จะมีการเคลื่อนตัวของ "การยกระดับปัญญาของชุมชน" ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีพลัง ก็ คือ การเข้ามามีส่วนร่วม การจัดการของ อปท.ครับ - - - ทาง ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก็มอง อปท.เป็นกลุ่มเป้าหมายในการเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเช่นกันครับ แต่งานนี้ต้องค่อยคิดและค่อยๆพัฒนาครับผม

เคยติดตามรายการ วิถีชุมชน ทางช่อง 11

สาระโยงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น จากการเรียนรู้และร่วมแก้ปัญหาของคนในชุมชนกันเอง  อยากให้มีรายการแบบนี้มากๆ ค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ ในการปฏิบัติงานและการทำวิจัยชุมชนในแต่ละครั้งควรมีที่จะให้ชาวบ้าน  และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นมามีส่วนร่วมในทางวิชาการและปฏิบัติที่จะทำให้งานวิจัยนั้นสำเร็จ

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้อยู่ระหว่างก่อตั้งเครือข่ายวิจัยชุมชนนี้    มี รศ. ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล รอง ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนา เป็น ประธานกรรมการบริหารเครือข่ายวิจัยชุมชน    และมีเจ้าหน้าที่ประจำเครือข่ายอยู่คนเดียว     ผมมีความเห็นว่ารูปแบบการจัดการเครือข่ายแบบนี้จะทำงานได้จำกัดมาก    มอ. น่าจะพิจารณาเชิงนโยบายระดับมหาวิทยาลัยว่า มอ. จะเอาดีเรื่องนี้ไหม     ถ้าจะทำเล่นๆ ก็แล้วไป    แต่ถ้าเอาจริงต้องคิดระบบการจัดการใหม่     ที่ต้องมีผู้จัดการระดับเซียนและทำงานเต็มเวลา     งานแบบนี้ต้องการ management input เยอะมากครับ     และต้องคล่องตัวด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท