ปารินุช
นางสาว ปารินุช บริสุทธิ์ศรี

การทำข้อตกลง FTA ไทย*สหรัฐ มีผลกระทบอย่างไรกับประเทศไทย


ผลกระทบFTA ไทย-สหรัฐ ด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ในปัจจุบันแต่ละประเทศไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวลำพังได้เพราะจะต้องมีการพึ่งพากับประเทศอื่น เช่น  การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ การนำเข้าหรือการส่งออกสินค้าหรือบริการจะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานการครองชีพที่ดี ในทางตรงกับข้าม หากแต่ละประเทศพยายามที่จะผลิตสินค้าหรือบริการเสียเอง มาตรฐานการครองชีพอาจจะต่ำมาก เพราะเป็นไปได้ยากที่แต่ละประเทศจะมีความชำนาญในการผลิตสินค้าหรือบริการทุกประเภทตามที่ต้องการ

                   แต่ในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศการทำข้อตกลงระหว่างประเทศอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงผลกระทบFTA ไทย-สหรัฐ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา  กล่าวคือ        

                   วัตถุประสงค์สำคัญของสหรัฐในการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คือ การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่เจรจาให้ทัดเทียมกับการคุ้มครองตามกฎหมายของสหรัฐ ข้อเรียกร้องดังกล่าวปรากฏอยู่ในกฎหมาย Trade Promotion Authority ของสหรัฐ (Sec. 2102 ข้อ b (4) –ii ) และในกรอบการเจรจาของสหรัฐกับประเทศไทยตามเอกสารที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ยื่นเสนอต่อรัฐสภาสหรัฐ
ข้อเรียกร้องสำคัญของสหรัฐในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย คือ          (1.) ต้องการให้ประเทศคู่เจรจาขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์          (2.) ต้องการให้ประเทศคู่เจรจาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ซึ่งหมายถึง การให้ยอมรับนำเอาระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบ UPOV มาใช้ในการคุ้มครองพืชผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ที่อาจเกิดขึ้นจากข้อเรียกร้องดังกล่าวของสหรัฐ มีในหลายมิติ คือ
  • ตามกฎหมายสิทธิบัตรของไทยในปัจจุบัน ให้การคุ้มครองเฉพาะจุลิทรีย์ที่มีการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเท่านั้น ไม่รวมถึงพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองที่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ตามความตกลงทริปส์ ( TRIPs) ในองค์การการค้าโลกอยู่แล้ว
                   การขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรไปยังสิ่งมีชีวิตทุกประเภท จะส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแลการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไม่เป็นธรรมผลกระทบต่อสิทธิเกษตรกรในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ฯลฯ เนื่องจากตามระบบกฎหมายสิทธิบัตร ไม่มีข้อกำหนดที่พิจารณาถึงแหล่งที่มาของพันธุกรรมที่ใช้เป็นฐานในการประดิษฐ์ ไม่มีเงื่อนไขเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประดิษฐ์ กับบุคคลหรือชุมชนที่เป็นเจ้าของพันธุกรรมที่เป็นฐานในการประดิษฐ์ ดังนั้น ถ้ามีการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรไปยังพืชและสัตว์ จะทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิง ฉกฉวยทรัพยากรชีวภาพของไทยไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หรือที่เรียกกันว่า Bio-piracy มากขึ้น สร้างผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย
  • ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบกฎหมายของไทยในการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งในกรณีนี้ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เนื่องจากหลักการ เงื่อนไข แนวปฏิบัติในการคุ้มครองพันธุ์พืชตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช แตกต่างกับกฎหมายสิทธิบัตรและระบบการคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV 1991 อย่างมาก
                   ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะ (sui generic system ) จัดทำขึ้นโดยให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย ซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม ให้การคุ้มครองทั้งพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์พืชที่มีอยู่เดิมในป่า หรือในชุมชนท้องถิ่น มีการผ่อนปรนเงื่อนไขการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไม่ให้เข้มงวดจนเกินไป เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกร มีข้อกำหนดเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างนักปรับปรุงพันธุ์ กับภาครัฐหรือกับชุมชนท้องถิ่นจากการนำเอาพันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้เป็นฐานในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชเป็นไปอย่างยั่งยืน มีความเป็นธรรม และเป็นการคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรด้วยแต่ในระบบกฎหมายสิทธิบัตร และอนุสัญญา UPOV 1991 ไม่ได้มีข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น มุ่งเน้นให้การคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชเป็นหลัก ให้การคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ ไม่รวมถึงพันธุ์พืชป่าและพันธุ์พืชพื้นเมือง ดังนั้น ถ้าต้องปรับเปลี่ยนระบบการคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยให้เป็นไปตามกฎหมายสิทธิบัตร หรืออนุสัญญา UPOV ฉบับปี 1991 ซึ่งมีลักษณะการคุ้มครองใกล้เคียงกับระบบสิทธิบัตร จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ นำไปสู่ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์พืชของไทย ผลกระทบต่อการสิทธิเกษตรกร เป็นอุปสรรคต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน
  • ปัญหาผลกระทบต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ ซึ่งตามอนุสัญญาฯ มีข้อกำหนดเรื่องการแจ้งขออนุญาตการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมล่วงหน้า เรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เรื่องการเคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ ถ้าประเทศไทยต้องนำระบบสิทธิบัตรพืชและสัตว์ หรือการคุ้มครองพันธุ์พืชตามระบบ UPOV มาใช้ จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ต่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขดังกล่าวที่เป็นพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา CBD

                  ทั้งนี้ ภายใต้การเจรจาในหัวข้อว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ( Environment Chapter) ทางสหรัฐฯ ได้เสนอข้อเรียกร้องให้ประเทศไทยยอมรับสิทธิ หน้าที่ และพันธกรณีเฉพาะความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม ( Multilateral Environmental Agreements : MEAs ) ที่ประเทศไทยและสหรัฐเป็นภาคีร่วมกันเท่านั้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก MEAs อยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ , อนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก, อนุสัญญาบาเซล แต่สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกความตกลงดังกล่าวเลย ตามข้อเรียกร้องของสหรัฐดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาอย่างมากต่อสิทธิ หน้าที่ และการปฏิบัติตามพันธกรณีใน MEAs ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่  

                  ดังนั้นจึงควรพิจารณาให้ดีหากไทยจะยอมรับข้อเสนอของสหรัฐเพราะอาจเกิดผลเสียตามมา

หมายเลขบันทึก: 35319เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ดีดี...เรายังไม่เสร็จเลย

อ่านแล้วคร้าบบบบบ

เห้อ...ทำไม FTA ที่ไทยทำกับ USA ถึงได้มีข้อตกลง-เงื่อนไขที่ซับซ้อนจัง

USA ต้องการอะไรเหรอ?

USA ทำเขตการค้าเสรีกับ Canada จนสามารถตั้ง NAFTA สำเร็จ จากนั้นก็คืบคลานลงมาที่ละติมอเมริกา  บีบแม็กซิโกและบราซิลให้เข้าร่วมจัดตั้งเขตการค้าแห่งทวีปอเมริกา  อืม...แล้ว USA ก็อุตส่าห์ข้ามมายังเอเซีย  ทำข้อตกลงการค้ากับสิงคโปร์  ที่ทำกับสิงคโปร์ก็เพื่อส่งสัญญาณมายังไทยว่าถึงคิวคุณแล้วนะ

เห้อ...อยากดูรายการที่สุทธิชัย หยุ่น สัมภาษณ์ Mr.Ralph อีกครั้งจัง

นอต

คำตอบง่ายมาก สหรัฐ ต้องการเป็นเจ้าโลกไงคะไม่ว่าจะในทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ กฎหมาย และสงคราม

ก็จริงนะครับ  แค่ช่องว่างของเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองแท้ๆ  อเมริกาถึงได้เข้ามามีบทบาทต่อสังคมโลก  แล้วก็ทวีบทบาทอย่างต่อเนื่อง

. . . แล้วเราจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติไว้ได้อีกนานสักแค่ไหนกันนี่

ใครรู้บ้างคับว่า การทำข้อตกลงเศรษฐกิจ(FTA)ระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท