เงินออมรูด


“เงินออมรูด”ระเบิดเวลาลูกใหม่ สัญญาณไม่พอลงทุน แบงก์ปรับดบ.รับมือ เมกะโปรเจ็กต์
เงินออมรูดระเบิดเวลาลูกใหม่ สัญญาณไม่พอลงทุน แบงก์ปรับดบ.รับมือ
เมกะโปรเจ็กต์
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 25 สิงหาคม 2548 18:42 น.

                อาการ มือเติบ จนเก็บออมได้น้อยลงของคนไทยเป็นอย่างนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากผู้รู้จักอดออมมาเป็นผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อเสถียรภาพประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศต้องการ การลงทุน ทำให้เงินออมที่มีอยู่อาจไม่พอซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยซ้ำ เพราะการใช้จ่ายมีมากกว่า ซึ่งก่อนที่ปัญหาจะสั่งสมมากกว่านี้ ภาครัฐอาจต้องเร่งกระตุ้นภาคครัวเรือนให้มีอัตราการออมมากขึ้น ด้วยมาตรการเพิ่มแรงจูงใจทุกวิถีทาง ขณะที่แบงก์ต่าง ๆ ก็เร่งระดมทุนผ่านบัญชีเงินฝากระยะยาว และบัญชีวงเงินพิเศษของลูกค้าระดับบน ให้สอดรับกับนโยบายเร่งการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์
                อัตราการออมที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นนัยสำคัญที่บอกถึงการสะสมทุนของประเทศอาจไม่เพียงพอต่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งโครงการของภาครัฐและเอกชน ดังนั้นเมื่อเงินออมมีน้อยไม่สอดคล้องกับความต้องการลงทุน การกู้เงินต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่การกู้จากต่างประเทศไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป เพราะยิ่งกู้มากความเสี่ยงก็ยิ่งมาก ซึ่งถึงจุดหนึ่งอาจกลายเป็นฉนวนที่จุดให้เศรษฐกิจระเบิดได้อีกรอบ
          ย้อนกลับไปอดีตก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศในภาวะอัตราแลกเปลี่ยนคงที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการกู้เงินอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบได้นำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และจากประเทศที่เติบโตอย่างมีอนาคตก็กลายเป็นประเทศที่มีแต่หนี้ท่วมหัว เป็นผลมาจากการลงทุนที่เกินตัว ใช้เงินมากกว่าที่ออมไว้ ซึ่งผิดกับหลักการที่ว่ายิ่งลงทุนมากเท่าไรก็ต้องมีการออมมากเท่านั้น
                ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่พยายามลงทุนมากกว่าการออมถึง 8% ต่อจีดีพี 2 ปีซ้อน จริงอยู่แม้จะทำได้ และผลกระทบไม่เกิดขึ้นในทันที แต่ปัญหาที่สั่งสมมานั้นก็เหมือนระเบิดเวลาที่รอเพียงจุดฉนวน ก็พร้อมจะประทุขึ้น ซึ่งผลของการกระทำในครั้งนั้นคือประเทศไทยกลายเป็นลูกหนี้จนว่ากันว่าเด็กที่เกิดในช่วงนั้นก็มีหนี้ติดตัวแล้ว
                กอบศักดิ์ ภูตระกูล หนึ่งในผู้บรรยายบทวิเคราะห์ การออมในประเทศไทย: ความเพียงพอและความเสี่ยง ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการออมของประเทศมีนัยสำคัญยิ่งในเชิงนโยบายต่อดุลบัญชีเดินสะพัด และระดับการเจริญเติบโตของประเทศ หากต้องการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ จะต้องมีเงินออมที่เพียงพอต่อการลงทุน
                แต่สัญญาณการออมเงินของประเทศไทยกำลงอยู่ในช่วงขาลง เห็นได้จากอัตราการออมปี 2534 อยู่ที่ 35.2% และปี 2546 ลดลงมาอยู่ 30.5% ซึ่งการส่งสัญญาณลบในภาวะที่ประเทศต้องการลงทุนเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากังวลเมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ยุคการลงทุนอีกครั้ง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องเพิ่มอัตราการออม
                ในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐทำให้ประเทศไทยจะต้องเพิ่มสัดส่วนเงินออมขึ้น 2% แม้จะเป็นตัวเลขไม่สูงแต่เป็นเรื่องน่าคิดว่าหากอัตราการออมเงินในประเทศลดลงเช่นนี้ เมื่อรัฐบาลออกพันธบัตรใครจะเป็นผู้ลงทุน จริงอยู่ว่าอาจเป็นลูกค้าสถาบัน เช่น กองทุนรวม ธนาคาร เข้ามาลงทุน แต่เม็ดเงินจากสถาบันส่วนหนึ่งก็มาจากรายย่อย ดังนั้นรายย่อยจึงมีความสำคัญต่อภาคเอกชนค่อนข้างมาก
                ย้อนไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ใหญ่หลายแห่ง เริ่มระดมทุนด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะยาว และการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากวงเงินพิเศษระดับ 3-10 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเตรียมรับมือโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ นั่นก็เห็นว่า ภาคการออมยังสำคัญต่อผู้ลงทุนสถาบันอย่างแบงก์พาณิชย์ เนื่องจากการระดมทุนเพื่อให้เกิดการออมมากขึ้น จะต่อยอดไปถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการลงทุนได้มากขึ้น
          อย่างไรก็ตามการลงทุนของรัฐไม่ได้เพิ่มปัญหาด้านเสถียรภาพประเทศของประเทศมากกว่าการลงทุนของภาคเอกชน โดยจากการศึกษาของบทความการออมในประเทศไทย : ความเพียงพอและความเสี่ยง พบว่าการลงทุนของภาคเอกชนต้องเพิ่มสัดส่วนเงินออมถึง4% ดังนั้นการเร่งเพิ่มอัตราเงินออมน่าจะมาจากการรองรับการลงทุนของภาคเอกชน
          ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย บอกว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมจากบริโภคมาออมมากขึ้นนั้นจะต้องมีแรงจูงใจเป็นตัวส่งเสริม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการออมเงินนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าโดยนำเงินออมไปลงทุน และให้ผู้ออมมีสิทธิเลือกว่าจะลงทุนในรูปแบบไหนตั้งแต่การลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือประกันชีวิต นอกจากนี้อาจใช้มาตรการภาษีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้น เช่น ลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาวได้รับสิทธิพิเศษลดหย่อนภาษี 300,000 บาท เป็นต้น
                บทบาทของการออมไม่ได้มีความสำคัญต่อระดับประเทศหรือมหภาคเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความสำคัญต่อระดับจุลภาคด้วย โดยการออมจากประชาชนนั้นอีกนัยหนึ่งคือสร้างความมั่นคงต่อครัวเรือนเมื่อยามแก่ชรา หรือเกษียณอายุ ด้วยผู้ออมมีเงินใช้ในบั้นปลายชีวิต
                เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา บอกว่า การออมในระดับจุลภาคก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยอุปสรรคนานัปการระหว่างเส้นทางออมนั้นมีค่อนข้างมาก โดยปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ พฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งพบว่าครัวเรือนมีความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นทำให้การออมลดลง อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนออมน้อยลงมาจากสวัสดิการที่ภาครัฐจัดขึ้นให้ไม่ว่าจะ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งประชาชนตระหนักแล้วว่าจะมีเม็ดเงินใช้ยามฉุกเฉินทำให้ไม่เกิดการออม
                อย่างไรก็ตามในปัจจัยนี้สำหรับประเทศไทยแล้วยังถือว่ามีผลน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น โดยยังพบอีกว่า ฐานะ รายได้ และการศึกษาก็มีผลต่อการออมเช่นกัน
                การออมที่เพียงพอสำหรับประเทศนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเพียงพอในระดับบุคคล ดังนั้นในอนาคตรัฐควรส่งเสริมให้มีการออมในระยะยาว และควรเพิ่มการออมจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเพิ่มการออมในส่วนของภาคธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อให้เพียงพอต่อการเผชิญปัญหาทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของประเทศ ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3521เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2005 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
จากการศึกษาบทความในเรื่องเงินออมข้างต้น จะพบว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาในเรื่องอัตราการออมที่ลดลง เรื่องนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นภายในปี หรือ 2 ปีนี้เท่านั้น แต่ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเท่าที่ควร  ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การออมลดลงนั้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการบริโภคในอัตราที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในประเทศ ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในความมั่นคงของธนาคาร จึงมักออมโดยการเก็บเงินสดไว้กับตัวเอง อีกทั้งยังมีสวัสดิการที่ภาครัฐจัดขึ้นไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนสำรองเสียงชีพ ซึ่งทำให้ประชาชนคิดว่าตนไม่จำเป็นต้องออมเงินเนื่องจากมีสวัสดิการของรัฐบาลเหล่านี้ไว้ในโอกาสฉุกเฉินแล้ว
รัฐบาลควรหันมาให้ความสนับสนุนในเรื่องการออมให้มากขึ้น เพราะนับตั้งแต่ปี 2540 หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรัฐบาลก็ไม่ได้เข้ามาส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยก็ยังคงทรงตัวและต่อไปอาจจะแย่ลงกว่าเดิมก็เป็นได้ อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยต้องการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ และยังมีโครงการของรัฐบาลที่ชื่อว่า เมกะโปรเจ็กต์ซึ่งโครงการนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ถ้าต้องทำโครงการนี้จริงๆ ประเทศไทยก็ต้องเร่งเพิ่มเงินออมให้มากขึ้น
การเปลี่ยนพฤติกรรมจากการบริโภคมาออมให้มากขึ้นนั้น รัฐบาลจะต้องจูงใจประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการออมเงินนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าโดยอาจนำเงินออมไปลงทุน และการออมเงินยังเป็นการสร้างความมั่นคงต่อครัวเรือนเมื่อยามแก่ชรา หรือเกษียณอายุ เพื่อผู้ออมจะได้มีเงินใช้ในบั้นปลายชีวิต
และธนาคารควรส่งเสริมการออมโดยประชาสัมพันธ์และเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของเงินฝาก เพื่อเป็นการจูงใจให้คนนำเงินมาฝากกับธนาคารมากขึ้น
อีกทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็นน้ำมันได้ เพราะหากเราสามารถผลิตน้ำมันใช้เองได้เป็นจำนวนมาก ในอนาคตประเทศไทยก็จะได้ไม่ต้องสั่งเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และในระยะยาวก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น
นอกจากนี้รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ เพราะจะได้ผลที่ยืนยาวกว่า คือการให้การศึกษา สร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
            เมื่อการออมของประเทศไม่พอ รัฐบาลจึงต้องหาเงินด้วยวิธีอื่น โดยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ แต่การกู้เงินจากต่างประเทศนั้น มิใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพราะหากกู้เงินมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่เห็นได้จากกรณีเงินบาทลอยตัวในปี 2540 และยังเป็นการเสี่ยงในการชำระหนี้อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจของไทยถึงขั้นวิกฤตอีกรอบก็ได้
            เนื่องจากความซับซ้อนของปัญหาต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลจึงไม่สามารถแก้ไขด้วยนโยบายใดนโยบายหนึ่งแต่เพียงนโยบายเดียว  นโยบายการเพิ่มเงินออมของประเทศที่จะสามารถเอาชนะอุปสรรคและปัญหาการออมนั้น จะต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ดี ถูกต้อง และมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจะต้องลดการอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็น ปลูกฝังค่านิยม หรือนิสัยการใช้จ่ายอย่างประหยัดในหมู่ผู้บริโภค ให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารทางการเงินให้กับเยาวชนเพื่อที่ว่าเยาวชนจะใช้ความรู้นั้นสำหรับวางแผนการออมและการลงทุนในชีวิตของเขาต่อไป
การออมด้วยแนวคิด"สัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท ทำสวัสดิการภาคประชาชน แก้จนอย่างยั่งยืน"ของครูชบ ยอดแก้ว น่าสนใจมาก เพราะให้คุณค่ากับสิ่งที่ดูเหมือนไร้ค่าคือเงิน 1 บาทจากการลดรายจ่ายด้วยสัจจะในตัวเองคือความตั้งใจมั่นที่จะลดรายจ่ายสะสมเป็นเงินออมเพื่อสร้างสวัสดิการเพื่อตัวเองและช่วยเหลือกัน
จากบทความ ค่อนข้างเห็นด้วยอย่างมาก แต่รัฐบาลก็ยังส่งเสริมการบริโภคภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น เห็นได้จาก โครงการ SML ที่ให้หมู่บ้านละ 200,000 -300,000 บาท หลังจากกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทที่บางหมู่บ้านหายไปหมดแล้ว รัฐควรเร่งสร้าง " ธนาคารหมู่บ้าน " มากกว่าและให้แข่งกันออม ยังอยากเห็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน ที่ยังเดินไปเก็บเงินแม่ค้าพ่อค้าในตลาด เงิน 10 - 20 บาทแม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อรวมทั้งประเทศก็เป็นจำนวนเงินมหาศาลเช่นกัน รวมทั้งเพลง "ออมสินๆ เก็บออมไว้กินวันหน้า .................." ลืมไปหมดแล้ว น่าจะฟื้นมาเป็นเพลงปลุกระดมชาวประชาได้อีกครั้ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท