แปรทุกข์มาสร้างสุขภาวะปัญญา..วันหนึ่งกับเครือข่ายพ่อ-แม่เด็กพิการ


...องค์กรท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลุ่มอาสาสมัคร รวมถึงใครก็ตาม ที่พอมีความสามารถนำตนเองไปเกี่ยวข้อง ช่วยดูแลกันให้มากยิ่งๆขึ้นได้ แม้เพียงเข้าไปร่วมปรับทุกข์ ร่วมรับรู้ จะเป็นกิจที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงจะก่อเกิดผลดีต่อชีวิตหนึ่งของเด็ก ทว่า ต่อครอบครัวและคนรอบข้างอีกเกือบ 10 คน เหมือกับเป็นการกอบกู้สังคมที่ระดับรากฐานหน่วยหนึ่งเลยทีเดียว...

        ไปช่วยจัดเวทีถอดบทเรียนและยกระดับประสบการณ์ให้เครือข่ายพ่อแม่เด็กพิการ ที่จังหวัดนครปฐม รู้สึกได้คุณค่าของการเป็นทุกข์-สุขร่วมกันและกันของผู้คนในสังคมมากเลย และเมื่อกลับมาแล้ว ก็อยากร่วมรณรงค์ให้ได้รับการเอาใจใส่จากสังคม  (ทางด้านการศึกษา สุขภาพ สวัสดิภาพ พัฒนาสังคม) จังหวัด และท้องถิ่น ในการดูแลเด็กพิการผ่านครอบครัว ชุมชน และกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวเพื่อพึ่งตนเอง ในพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นพิเศษมากขึ้น...ใครที่ทำอยู่แล้วก็ขออนุโมทนา และคารวะธรรมปัญญาของท่านอย่างยิ่ง

        กลุ่มพ่อแม่ และผู้ปกครองเด็กพิการที่ได้ไปช่วยจัดเวทีถอดบทเรียนให้นี้ เป็นกล่มที่ขับเคลื่อนการจัดตั้ง โดย มูลนิธิชาวคริสเตียนเพื่อการพัฒนา / และมูลนิธิ บ้านตะวัน จันทร์ ดาว / กองทุน สสส เป็นโครงการที่กลุ่มอาสาสมัครจากมูลนิธิชาวคริสเตียน ได้พยายามเข้าถึงครอบครัวของกลุ่มเด็กพิการในอำเภอกำแพงแสน  อำเภอดอนตูม และอำเภอเมือง  จังหวัดนครปฐม ซึ่งพบถึง 200-300  ราย  จากนั้น  ได้พยายามประสานงาน  และร่วมกันจัดทำเป็นโครงการช่วยเหลือแบบเสริมพลังกลุ่มจัดการตนเอง (Self-helf Group) ขอรับการสนับสนุนจากกองทุน สสส ครอบครัวพ่อแม่มาร่วมเป็นเครือข่าย และจัดตั้งระบบจัดการ  เพื่อช่วยกันสร้างเสริมศักยภาพ พัฒนาองค์ประกอบที่จำเป็นต่างๆ ให้สามารถดูแลตนเอง  รวมไปจนถึงสามารถพัฒนาตนเองได้มากขึ้น เป็นการจัดการแบบคนไม่ยอมจำนนกับชะตาชีวิต

      หะแรกนั้น ผมคิดว่าเป็นการประชุมหรือกลุ่มอบรมทั่วไป  เลยก็เลี่ยงไปเลี่ยงมา เพราะคิดว่าคงทำไม่ได้ดี  อีกทั้งถึงแม้นจะคาดว่าจะทำได้ไม่ค่อยดีนั้น  เบื้องหลังแล้ว  เรามักต้องเตรียมตัวมากมายอยู่เสมอ ไปช่วยคนอื่นเขาก็ไม่ค่อยได้  งานข้างหลังของตนเองก็ต้องกลับมาแก้ปัญหาเอง  พลอยเดือดร้อนคนรอบข้างไปด้วย เหมือนไม่รู้จักลำดับความสำคัญ ใจมันก็บีบคั้น แต่ภายหลัง  ผู้ประสานงานบอกว่า ไปช่วยหน่อยเหอะ  พวกเขาเป็นพ่อแม่ของลูกๆ ซึ่งเป็นเด็กพิการ การรับรู้ใหม่ตรงนี้ ทำให้ผมตัดสินใจใหม่...ตกลงผมไป ทุกข็ของเราน่าจะน้อยกว่า

      ผมจัดกระบวนการให้พ่อแม่ได้พูดคุย  แล้วก็ค่อยๆผุดประเด็นขึ้นมาจากการคุยทั่วไป  จากนั้น  ก็จัดกลุ่มความคิด  ให้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยลงลึก เพื่อดูเรื่องการจัดการเพื่อลูกๆในวันข้างหน้า ให้ดีขึ้น พ่อแม่เด็กๆ มองได้ทั่วถึง และศึกษารายละเอียดต่างๆ อย่างเป็นระบบและมียุทธศาสตร์การคิดพอสมควร เรื่องนี้ก็อยากให้ได้ เพราะมันเป็นเครื่องมือหาความเข้าใจใหม่ให้กับตนเองบนเรื่องราวเก่าๆของชีวิต  บรรยากาศโดยรวมเป็นแบบไม่เป็นทางการ  ลากเก้าอี้ทั้งห้องออก  ให้ทุกคนนั่งล้อมเป็นวงกลมเหมืองวงสนทนาบนศาลาวัด บทเรียนด้านหนึ่ง ช่วยจัดประสบการณ์ที่ผ่านมาของกลุ่มว่าทำอะไรได้มากน้อยเพียงใด  มาถึงไหน  เด็กๆและพ่อแม่พอรู้สึกมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมากน้อยเพียงใด  อย่างไร  การเพิ่มพูนทักษะการจัดการ  น่าจะมาจากการย้อนประสบการณ์มาดูประมาณนี้แหละ   ก็ทำเพื่อช่วยกันไปตามแต่จะมีความสามารถ

        จัดว่าไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเป็นการดึงประสบการณ์ที่แต่ละคนมีแล้วนำออกมาแผ่  พินิจพิจารณา  ให้ได้คุณค่าและความซาบซึ้งที่ละเอียด แยบคายมากขึ้น เสร็จแล้วก็สะท้อนกลับเข้าไปสู่ตัวเขาเอง ให้เป็นพลังใจ  ส่องทางนำชีวิต ใช้สติปัญญาเป็นเพื่อแก่ตนเองต่อไป  เหมือนกับการหยิบยืมพลังภายในเพื่อสร้างแรงดึงและผ่อนคลายอยู่ในตัวเอง ให้ร่างกายใช้พลังชีวิต กลับมาดูแลตนเองเวลาเล่นโยคะ อย่างนั้นเลยทีเดียว...สำหรับการเผชิญความทุกข์ยาก  การหยัดยืนและความยั่งยืนย่อมเติบกล้าจากภายใน

        ได้ฟังเรื่องราวของเด็กพิการ  แม่  แม่ของแม่ของเด็ก(ยาย)  ครอบครัว และกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง แล้ว  รู้สึกว่าตัดสินใจดีแล้วที่มาช่วยเขาทำเวที  และรู้สึกว่าความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล  ช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกันนั้น  มีความหมายที่จะอยู่ร่วมกันมากอย่างยิ่ง  ครอบครัวทุกครอบครัว  ต้องเจ็บปวดตั้งแต่เห็นลูกออกมาแล้วไม่ครบ 32 เหมือนคนอื่นเขา ชีวิตหลังจากนั้น เต็มไปด้วยความโหดร้าย  บางครอบครัวโดนพ่อ-แม่ ของสามี ว่าร้ายซ้ำเติม ไม่ช่วยเหลือกันแล้วยังพอทานทน แต่เคราะห์ร้ายกลับมีคนมากระหน่ำซ้ำให้จิตใจตกต่ำ 

          หลายครอบครัวถูกเครือญาติและชุมชนทอดทิ้ง  บางครอบครัว  แม้นลูกเกิดมาแล้ว 5-6 ปี ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยกับญาติพี่น้องได้  ต้องเก็บลูกไว้ในห้องหับที่พ้นสายตาจากคนนอกบ้าน  แม่ต้องกลับมาดูแลลูกสาว-ลูกเขยตนเองเพื่อเป็นสติและขวัญกำลังใจ พร้อมกับดูแลหลานไปด้วย  ทุกข์แผ่คลุมเป็นกลุ่มคน-กลุ่มสังคม

         บางครอบครัวเป็นนักธุรกิจ  มีฐานะดีมาก่อน  พอมีลูกพิการ  ก็ต้องทุ่มเททั้งกายใจ เวลา  และทรัพย์สิน  หมดเนื้อหมดตัว  ที่สุดในความพยายามบนฐานของการมีทักษะการจัดการชีวิตที่ได้มาจากการเป็นนักธุรกิจภูธร  ก็กลับฟื้นคืนฐานะได้อีกครั้ง เลยวางแผนใหม่เพื่อขยายกิจการรองรับการดำเนินชีวิตที่พึ่งตนเองได้พอประมาณและมีคุณภาพชีวิตตามอัตภาพ  ไม่เพียงดีกว่าเดิม   ทว่าแกร่งกร้า  พ้นขีดจำกัดความทุกข์

          เด็กพิการบางราย  เป็นความผิดปรกติทางสมอง  เมื่อเข้าเรียน  นอกจากโอกาสจะไม่เท่าเขาแล้ว  เพื่อนฝูง  ซึ่งบางทีก็รวมไปถึงครูด้วย  ก็พลอยไม่อยากเล่นด้วย  แม่ต้องตรมตรอมกับลูกไปทุกอริยาบท

         บางครอบครัวเกือบหมดความสามารถในการดูแลตนเอง  องค์กรท้องถิ่นก็ไม่มาดูแล  ทุนช่วยเหลือก็ไม่ถึง....ความทุกข์ในชีวิตสุดประมาณ  ทั้งต่อเด็ก  แม่หญิง  รวมทั้งคนใกล้ชิด  องค์กรท้องถิ่น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  กลุ่มอาสาสมัคร  รวมถึงใครก็ตาม ที่พอมีความสามารถนำตนเองไปเกี่ยวข้อง  ช่วยดูแลกันให้มากยิ่งๆขึ้นได้  แม้เพียงเข้าไปร่วมปรับทุกข์  ร่วมรับรู้ จะเป็นกิจที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่ง  เพราะไม่เพียงจะก่อเกิดผลดีต่อชีวิตหนึ่งของเด็ก  ทว่า ต่อครอบครัวและคนรอบข้างอีกเกือบ 10 คน เหมือกับเป็นการกอบกู้สังคมที่ระดับรากฐานหน่วยหนึ่งเลยทีเดียว

       

หมายเลขบันทึก: 35202เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2006 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอเจริญพรโยมอาจารย์ ดร.วิรัตน์

อาตมาอ่านเรื่องนี้แล้วนึกถึงญาติผู้พี่(ลูกลุง)คนหนึ่งเมื่อก่อนหน้านี้มีฐานะพออยู่พอพอกินไม่ลำบากเดือดร้อนอะไร ต่อมาลูกสาวของเขาได้แต่งงานและอยู่กินกันมาแบบรวมเป็นครัวเดียวกันกับพ่อตาแม่ยายได้ไม่กี่ปีสามีของเธอก็ประสบอุติเหตุทางครอบครัวก็ได้ทำการรักษาพยาบาลอย่างดีมาตลอดโดยไม่คิดเสียดายทรัพย์สินที่เสียไป มีความคิดอยู่อย่างเดียวว่าทำอย่างไรบุตรเขยจะหายจากโรคเสียทีแต่รักษาไปเท่าไรก็รักษาไม่หาย เมื่อรักษาอยู่เป็นเวลานาน ก็มีความจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ค่อย ๆ หมดไปกับการรักษานาหลายสิบไร่บ้านรถทรัพย์สินอย่างอื่นอีกมากมายถูกขายจนหมดเพื่อนำเงินมารักษาบุตรเขยของตนแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จบุตรเขยเป็นผู้พิการอย่างถาวร ญาติผู้นั้นปรารภเชิงน้อยใจนิด ๆ กับอาตมาว่า มีคนบางคนถามเขาอย่างสงสัยว่าทำไมแกจึงต้องขายทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อรักษาคนเพียงคนเดียว ถ้าเป็นตัวเขาละก็ปล่อยให้ตายไปเลยดีกว่า แถมมีบางคนพูดแรงมากพูดว่าที่แกทำอย่างนี้ทำแบบคนโง่ อาตมาตอบไปว่าคนที่มีความคิดแบบนี้เขานึกถึงแต่ทรัพย์สินเงินทองว่ามีความสำคัญกว่าชีวิตคนวัตถุสิ่งของสำคัญที่สุด อาตมาพูดให้กำลังใจเขาไปว่าอันที่จริงครอบครัวเราที่ทำการรักษาจนหมดทุกสิ่งทุกอย่างนี่น่าจะได้รับการยกย่องสรรเสริญชมเชยไปในทางที่ดีว่าแม้แต่เป็นเพียงบุตรเขยที่มาจากถิ่นแคว้นแดนไกลภาคอีสานพ่อแม่เสียชีวิตหมดแล้วก็ยังรักและดูแลรักษาอย่างดีโดยไม่ทอดทิ้งผู้อื่นน่าจะมองเราในด้านความเป็นคนมีน้ำใจความรักความเสียสละความเอื้ออาทรความมีมนุษยธรรมอย่างนั้นมากกว่า

เมื่อเขาฟ้งอาตมาจบเขาก็เห็นด้วยว่าน่าจะมองแบบให้กำลังใจกันบ้าง อาตมาก็นึกชมเชยน้ำใจในความเสียสละและให้กำลังใจพร้อมกับบอกเขาว่า เราได้ทำความดีอันยิ่งใหญ่ได้บำเพ็ญบุญที่ประเสริฐได้ช่วยชีวิตมนุษย์ด้วยความรักความเมตตาไว้หนึ่งชีวิต

นับว่าเป็นบุญมหาศาล ถึงแม้ฐานะจะยากจนกว่าเดิมแต่ทุกคนในครอบครัวยังอยู่กันครบถ้วน ดีกว่าร่ำรวยเงินทองแล้วปล่อยให้คนที่เรารักตายไปต่อหน้าต่อตาโดยที่เรายังพอช่วยให้รอดได้แต่ก็ไม่ช่วย ถ้าเป็นอย่างนั้นเราคงเสียใจและมีตราบาปทุกข์ใจติดตัวไปตลอดชีวิต

ขอเจริญพร

phramaha lae

  • เป็นตัวอย่างสุขภาพทางจิตวิญญาณและการดูแลกันด้านความเป็นมนุษย์มากๆเลยครับ
  • ชาวบ้านบางทีก็ไม่ได้แค่รักษาโรคและเยีวยาคนให้หายจากความเจ็บป่วย แต่ดูแลกันที่ความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณของกันและกันไม่ให้ตกต่ำ รวมทั้งดูแลผู้อื่นด้วยเหตุผลคุณธรรมและมนุษยธรรมของตนเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท