กลยุทธ์ เอ็มเค สุกี้ ของ ฤทธิี ธีระโกเมน


การหลีกเลี่ยงความล้มเหลวโดยการศึกษาความล้มเหลวผิดพลาดของคนอื่นเพื่อจะได้ไม่ล้มเหลวอย่างรุนแรง

บันทึกนี้เป็นข้อความจากหนังสือที่ผมได้อ่านเรื่อง กลยุทธ์ เอ็มเค สุกี้ ของ ฤทธิ์ ธีระโกเมน เขียนโดย ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์

 

ผมสรุปบันทึกนี้เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่คิดอยากจะทำธุรกิจส่วนตัว สืบเนื่องจากที่ผมเองได้อ่านหนังสือเรื่อง Secret of the Millionaire’s Mind ที่กล่าวถึงการเรียนรู้การทำธุรกิจจากผู้ที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งจากงานที่ทำปัจจุบันในส่วนของการออกแบบหลักสูตรสำหรับกรรมการสภามหาวิยาลัยซึ่งมีการกล่าวกันมากว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ คงหนีไม่พ้นการเรียนรู้จากกรณีศึกษา ต่อมาผมได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร Case Writing และ Case Teaching Workshop ที่จัดโดย Thammasat Business Consulting Cetre ในการฝึกอบรมได้มีการกล่าวถึงกรณีศึกษาที่ดีของ MK สุกี้ ผมจึงได้อ่านและนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้/เล่าไปเรื่อยๆ (ลปรร) ร่วมกัน ดังนี้

 

หลายต่อหลายท่านอาจจะเคยลิ้มลองรสชาติอาหารที่ร้านเอ็มเคสุกี้มาจนนับครั้งไม่ถ้วน  แต่จะมีสักกี่ท่านที่เคยทราบความเป็นมาของร้านอาหารชื่อดังแห่งนี้ และกว่าที่อาหารจะมาเสิร์ฟอยู่บนโต๊ะอย่างที่เห็นนั้น เอ็มเคสุกี้มีเบื้องหลังการทำงานอย่างไรบ้าง ให้เรามาเรียนรู้ร่วมกัน

 

เอ็มเคสุกี้ กำเนิดจากการที่คุณป้าทองคำ เมฆโต (แม่ยายของคุณฤทธิ์ ธีระโกเมน) ที่เป็นลูกจ้างร้านอาหารไทยชื่อ ร้านอาหารเอ็มเค ที่เจ้าของเป็นคนจีนฮ่องกง คือ นางมาคอง คิงยี (Makong King Yee) อันเป็นที่มาของชื่อร้าน MK นางมาคองเปิดร้านได้เพียงปีเศษก็คิดจะเลิกกิจการจึงเซ้งร้านให้กับคุณป้าทองคำ เมฆโต ซึ่งในเวลานั้นเป็นเพียงลูกจ้างอยู่หลังร้านเท่านั้น และไม่มีเงิน แต่ท้ายที่สุดเธอก็ยอมเซ้งร้านต่อด้วยข้อเสนอการผ่อนจ่ายและเริ่มมาบริหารจัดการเองในฐานะเจ้าของร้านอาหาร

 

ร้านของคุณป้าทองคำขายดิบขายดีและเป็นที่รักของลูกค้าย่านสยามเพราะการที่ป้าแกเป็นคนอัธยาสัยดี กระทั่งกิจการเติบโตและขยายสาขาเพิ่มที่เซ็นทรัลลาดพร้าวในชื่อร้าน กรีนเอ็มเค โดยให้ลูกสาวคนโตดูแลกิจการ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ทั้งสองแม่ลูกได้พบกับเจ้าสัวสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ผู้ได้เห็นหน่วยก้านและความขยันขันแข็งของสองแม่ลูกจึงเชิญชวนให้มาเปิดร้านสุกี้ในห้างเซ็นทรัลเพราะห้างเซ็นทรัลในขณะนั้นขาดเพียงแต่ร้านสุกี้อย่างเดียว นี่เป็นจุดเริ่มต้นของร้านสุกี้ที่ป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศไทยในชื่อ เอ็มเคสุกี้

 

ในการทำสุกี้ในร้านสุกี้เอ็มเคนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนมากเท่าการทำร้านอาหารไทย ป้าทองคำจึงให้ลูกสาวคนโตคือ คุณยุพิน ธีระโกเมนกับสามีคุณฤทธ์ ธีระโกเมนพร้อมด้วยลูกชายเป็นผู้บริหาร คุณฤทธ์ ในฐานะผู้บริหารในขณะนั้นไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องการทำร้านอาหารมาก่อน จะมีก็เพียงประสบการณ์การบริหารร้านหนังสือที่ชื่อซีเอ็ดบุ๊คเท่านั้น แต่ปัจจุบันเอ็มเคสุกี้มีสาขาเกิบ 300 สาขาทั่วประเทศไทย และเป็นเป็นแบรนด์ไทยที่ได้ไปแจ้งเกิดในตลาดที่หินอย่างประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ รวมถึงประเทศสิงคโปร์และประเทศเวียดนามด้วย

 

ต่อไปนี้เป็นข้อคิดดีๆ จากคุณฤทธิ์ ธีระโกเมน

การสร้างบริษัทก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ถ้าพันธ์ดีก็จะโตเร็ว ยิ่งถ้าได้ดินดีและปุ๋ยดีก็ยิ่งดีใหญ่ ผมนั่งดูการบริหารของทั้งแบบฝรั่ง จีน และไทย จึงดึงเอาจุดดีของแต่ละชาติ แต่ละสไตน์ออกมา และพยายามอุดช่องโหว่วัฒนธรรมหนึ่งด้วยวัฒนธรรมหนึ่ง

 

ควรมีการเตรียมตัวที่ดี มีผู้ใหญ่คอยชี้แนะเรื่องการทำธุรกิจ “ผมไม่ใช่นักวิจัย ไม่ใช่นักการตลาด แต่ผมคือนักการจัดการมากว่า เริ่มจากการที่เรามีใจเป็น Entrepreneur บริหารงานบนคอนเซ็บที่ถูกต้อง และมีผู้ใหญ่คอยชี้ทาง”

 

เอ็มเคทำธุรกิจบนหลัก “ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาตนเอง” คือ ทำธุรกิจด้วยเงินตัวเอง พยามไม่ก่อหนี้ยืมสิน

 

การบริการเป็นหัวใจสำคัญ ข้อแรก ต้องสร้างความพอใจให้ลูกค้า สอง ถ้าลูกค้าไมพอใจต้องน้อมรับ สาม จะต้องมีการปรับปรุงอยู่เสมอ ตัวอย่างที่ดี คือ การพัฒนาจากการใช้แก็สมาเป็นเตาไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยของลูกค้า การเสิร์ฟผักที่ไม่ต้องให้ลูกค้าหักเองเพราะอาจจะมีเชื้อโรคที่มือ จึงมีการตัดผักให้ แต่จะไม่ตัดเป็นกองๆ เดี๋ยวจะหาว่าเอาเศษผักมาขาย เอ็มเคจึงเรียงให้เห็นเป็นต้นผักจริงๆ

 

นอกจากน้ำจิ้มแล้ว จุดขายที่โดดเด่นอื่นๆ เช่น การนำเป็ดย่าง ขนมจีบและซาลาเปามาขายในร้านนั้น ซึ่งในขณะนั้นหาทานได้ไม่ง่ายนักก็ถือเป็นจุดเด่นของร้านเอ็มเคเช่นกัน

 

มีการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า สร้าง Personality และที่สำคัญในธุรกิจบริการจะต้องมี Service mind และมีความโปร่งใส เช่น กุ้งที่ลูกค้ารับประทานนั้นใช้กุ้งอะไร มาจากไหน อันนี้ต้องตอบได้ และสามารถพาลูกค้าไปดูโรงงานได้

 

มีการเรียนรู้และนำ Good practice มาปฏิบัติ

 

ต้องจัดลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ไม่ใช่จากเร่งด่วนมากไปหาเร่งด่วนน้อย

 

มีนวตกรรมใหม่ๆ และมีการพัฒนาตลอดเวลา เช่น การวางระบบเตาไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย การใช้กระจกนิรภัย การที่สุกี้มีจานมาก ดังนั้นคุณฤทธิ์จึงสร้างชั้นแบบปิ่นโตเพื่อให้วางของได้มากขึ้น ตลอดจนการนำ PDA มาใช้ในการจดเมนู เป็นต้น

 

เอ็มเคเป็นร้านอาหารที่อยู่ระหว่าง Fast Food กับ Family Restaurant โดยการสร้างบรรยากาศให้ลูกค้ารู้สึกสบาย และได้มีโอกาสสังสรรค์กับครอบครับ โดยมี Keyword คือ ช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น

 

เอ็มเคมีแนวคิดเกี่ยวกับเฟรนด์ไชว่า ระบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับประเทศไทย การทำเองสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีกว่า แต่การเปิดตลาดที่ญี่ปุ่น เพราะคนที่นำไปเป็นคนท้องถิ่นจึงรู้ตลาดของเขาดีพอ รู้จักพฤติกรรมการทานอาหารของคนของเขาเป็นอย่างดี เช่น จานชามที่ญี่ปุ่นต้องใช้เซรามิค ไม่ใช้เมลามีน และตะเกียบจะต้องมีลักษณะเฉพาะมือ เป็นต้น

 

ดูว่าสิ่งไหนที่เราทำได้ จงทำ แต่ถ้ำทำไม่ได้ก็ซื้อเขาดีกว่า คือ ให้ระบบโดยรวมอยู่ได้ มีคุณภาพและมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ในระดับสากล

 

มีการคิด วิเคราะห์และแก้ปัญหาเสมอ เช่น น้ำที่ใช้เตาไฟฟ้าจะเดือดช้ากว่าเตาแก็สถึง 8 นาที อันที่จริงก็ไม่มีกฎอะไรบอกให้ใส่น้ำซุปที่อุณภูมิปกตินี่ คุณฤทธ์จึงแก้ปัญหาด้วยการอุ่นน้ำซุปก่อนเสิร์ฟที่ 70 องศา ทีนี้ เตาไฟฟ้าจะเดือดช้ากว่าเตาแก็สเพียง 1 นาทีเท่านั้น ซึ่งเพียงพอที่ผู้บริโภคจะรับได้

 

มีการจัดการเรื่อง Logistic ที่ดีโดยมีครัวกลาง อาหารทุกประเภทจะถูกรวมอยู่ที่เดียว แล้วจึงเอารถรับไปส่งที่ร้านเอ็มเคจากจุดเดียว

 

นอกจากการป็นร้านอาหารที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้ว เอ็มเคยังคงให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานเดิมไว้ โดยยังเน้นความสะอาด และความปลอดภัยของลูกค้าเป็นสำคัญ ตลอดจนความจริงใจกับลูกค้า สิ่งเหล่านี้หลอมรวมเป็น MK Character

 

แม้จะเผชิญกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เอ็มเคก็ผ่านมาได้อย่างไม่สะทกสะท้านด้วยการแก้ไขปัญหาอย่างชาญฉลาด เช่น การติดตั้งระบบ GPS เพื่อนำทางการขนส่งและจำกัดความเร็วที่ไม่เกิน 90 กม./ชม. เพื่อลดอุบัติเหตุ และทำให้ประหยัดน้ำมันได้ถึง 10 เปอร์เซ็น การใช้มะนาวบีบใส่ขวดแทนการใช้มะนาวเป็นลูกช่วยให้ประหยัดได้ถึง 20 ล้านบาทต่อปี

 

นอกจากนี้เอ็มเคยังพัฒนาความปลอดภัยของอาหารให้ได้มาตรฐานโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรับรองรวมทั้งการได้รับมาตรฐานสากลอย่าง GMP HACCP ISO 9001 : 2000 เป็นต้น

 

มีการฝึกอบรมพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการทำคู่มือมาตรฐานสำหรับพนักงานเพื่อให้พนักงานทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไรในมาตรฐานเดียวกันและเป็นที่สำหรับการอ้างอิงได้ เพื่อการบริการที่เป็นเลิศ (Service Excellence)

 

การหลีกเลี่ยงความล้มเหลวโดยการศึกษาความล้มเหลวผิดพลาดของคนอื่นเพื่อจะได้ไม่ล้มเหลวอย่างรุนแรง

 

เลือกสินค้าที่โดนใจคนในสังคมอย่างสม่ำเสมอ ไม่เสียเวลากับสินค้าที่ไม่มีอนาคต

 

จะต้องคิดให้กระจ่างว่าเราต้องเก่งและชำนาญในเรื่องอะไรบ้างสำหรับธุรกิจที่ทำอยู่ ต้องขวานขวายหาความรู้และฝึกฝนความรู้นั้นๆ ให้ช่ำชองจนเป็นฝีมือ และให้เข้าสู่ระดับที่เป็นที่ยอมรับให้ได้ว่า “เป็นมืออาชีพ” (Professional)

 

ปัจจุบัน มีความไม่เป็นมืออาชีพในธุรกิจต่างๆ รอบตัวเรามากมาย เช่น คนขับเท๊กซี่ที่ไม่มีมารยาท ปั้มน้ำมันที่ห้องน้ำสกปรกและมักทำน้ำมันหกใส่รถ ร้านอาหารที่มาช้าจนหายไปเลย โรงเรียนที่สอนแล้วลูกเราไม่รู้เรื่อง ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้แหละคือโอกาส

 

[จากเรื่องราวข้างต้น ทำให้คิดถึงเรื่องเล่าของบริษัทรองเท้ากีฬาแห่งหนึ่งที่ส่งผู้จัดการคนแรกไปดูงานที่อัฟริกา เมื่อกลับมาผู้จัดการคนนี้รายงานว่า เราคงหมดหวังกับการทำตลาดในประเทศนี้ เพราะคนที่นั่นมีวัฒนธรรมที่ไม่ใส่รองเท้า แต่กระนั้น บริษัทผลิตรองเท้ายังไม่ละความพยายามจึงส่งผู้จัดการคนที่สองไป เมื่อกลับมาผู้จัดการคนนี้กล่าวรายงานอย่างตื่นเต้นว่า นี่จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มหาศาลของบริษัทเรา เพราะที่นั่นผู้คนยังไม่มีรองเท้าใส่ เราจะต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้แก่เขาและขายรองเท้าของเรา]

 

ต้องมีการปรับสมดุล ไม่ตั้งราคินค้าสูงเกินไปจนลูกค้าไม่พอใจ แต่ก็ไม่ต่ำจนธุรกิจอยู่ไม่ได้ การซื้อวัตถุดิบก็ต้องไม่แพงจนต้นทุนสูง แต่ก็ไม่ถูกจนผู้ขายวัตถุดิบอยู่ไม่ได้ กำไรที่ได้จากธุรกิจจะต้องเอามาแบ่งสรรปันส่วนอย่างยุติธรรมแก่ผู้ลงทุน พนักงาน แบ่งบางส่วนไว้สำหรับการพัฒนาธุรกิจสำหรับอนาคต และบางส่วนเพื่อช่วยเหลือสังคม

 

ความสมหวัง กับ ผิดหวัง  มีสมการคือ ความจริง ลบ ความคาดหวัง ถ้าความคาดหวังสูงกว่าความจริง ผลคือ ความผิดหวัง แต่ถ้าความคาดหวังต่ำกว่าความจริง ผลคือ ความสมหวังนั่นเอง

 

[ข้อความบางส่วนอาจไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากเป็นการจับเฉพาะประเด็นที่สำคัญในแต่ละส่วนมาเท่านั้น ผมหวังว่าสิ่งที่ผู้อ่านได้รับจากการอ่านบันทึกนี้ จะให้แรงบัลดาลใจหรือเป็นข้อคิดที่เป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจหรือการดำรงชีวิตที่ดีต่อไป]

เดชอุดม ขุนนะสิทธิ์

16.04.2010

หมายเลขบันทึก: 351855เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท