ตะลุยอังกอร์


                                                             ตะลุยอังกอร์               

เป็นปกติของคนใกล้จะแก่  ตื่นขึ้นตอน  6  โมงกว่า ๆ  ตะวันเริ่มมีแสงรำไรมองผ่าน     ช่องหน้าต่างกระจกบานใหญ่ผ่านต้นไม้ใบหญ้าหน้าโรงแรม  ไม่ได้ยินเสียงไก่ขันหรือเสียงนกร้องเหมือนที่บ้าน  เปิดทีวีดูสรยุทธจ้อยามเช้าได้ชัดเจน  จัดการกับตัวเอง  ทั้งเครื่องมือหากิน  กล้องดิจิตอลขนาดความคมชัด  5.2  ล้านพิกแซล พอใช้ได้  ส่วนกล้องวีดีโอ  ยืมเขามา  บรรจุไฟเต็มพิกัด        จัดเก็บเข้ากระเป๋าและถุงย่าม  ขาตั้งกล้องคงเอาไปไม่ไหวแน่เพราะหนักเกิน                ผู้คนต่างวุ่นวายกับอาหารเช้าแบบบุ๊ฟเฟ่มีอาหารให้เลือกหลายชาติ  ทั้งจีน  ไทย  เกาหลี  กิมซิ  กลิ่นฉุน   ขนมปัง  กาแฟ  ข้าวผัด  ข้าวต้ม  ผลไม้จากเมืองไทย  ใส่จานไว้พร้อมสรรพ  ที่นี่ ไม่ต้องมีคูปองอาหารแบบเมืองไทยให้เสียกระดาษ  เพราะแน่ใจว่าคงไม่มีใครบ้าเข้ามานั่งกินฟรีแน่นอน  08.30  น.  ตามเวลานัด  เป็นเวลาที่ไม่ต้องปรับเวลาของเมืองไทย                  คุณซาร่าไกด์ใจดี  ได้จัดหาไกด์มาเปลี่ยนด้วยตัวเองจะต้องไปรับคณะจาก ม.สุรินทร์      ไปเวียดนาม   เลยไม่ได้ไปด้วยกันในวันนี้  ไกด์ใหม่แนะนำชื่อแซ่  และก็เช็คลูกทัวร์  เต็มคัน  30  คน  เราออกเดินทางจากโรงแรมเพื่อไปชมโบราณสถานมรดกโลก  อันเรื่องลือนามว่าอังกอร์  หรือ อองโกร์    รถแล่นผ่านเมืองไปเส้นทางเดิม  จะต้องตรวจบัตรเข้าชมอีกทุกครั้ง  มีเจ้าหน้าที่สาว  ชาวแขมร์  ด๊อก  ธม  มายืน   ตรวจบัตรหน้ารถยืนนับจำนวนบัตร    เราจึงลองทดสอบดูว่านับจริงหรือเล่น  ถือบัตรอยู่แต่ไม่ยก  เธอหันไปพูดอะไรสักอย่างกับไกด์  แล้วก็มองมาที่เรา  เราจึงยกโชว์บัตรราคา  20  US  ขึ้น  นั่นแสดงว่าตรวจกันจริง ๆ  นี่แหละการทำงานในระบบเอกชน  ขนาดขาดบัตรไป  1  ใบ  คิดเป็นเงินเดือนก็มากอยู่  การเดินทางจะใช้เวลา  1  ชั่วโมง  ในระยะทาง  25  ก.ม.  ด้วยถนนกำลังก่อสร้างอีกเช่นกัน  บริษัทที่สัมประทานได้เป็นผู้ดำเนินการลงทุนทั้งหมด  ตามกฎเกณฑ์ที่วางกันไว้  สภาพเครื่องจักรกลดูใหม่เอี่ยม  เป็นของเขมรเองไม่ใช่จากเมืองไทย  กำลังเกรดบดอัดคันทางอย่างเร่งรีบไม่รีรอ                ระยะทางจะพบเห็นหมู่บ้าน  OTOP  เขมร  ริมถนนเขามีชื่อมากเรื่องการผลิตน้ำตาลโตนด  นั่นแสดงว่าคงมีคนไทยไปบอกไกด์ไว้แน่นอน  ของเขมรคงมีชื่อเรียกของเขา  มีคนถามว่ามีน้ำตาลดองหรือเปล่า  ไกด์รีบตอบว่าไม่มี  เราไม่เชื่อคงมีไว้ดื่มกันเอง หรือไม่ไกด์คงไม่รู้  มีน้ำตาลก้อนวางขายในซุ้มหน้าบ้านยาวตลอดเป็นกิโลเมตร  ใต้ถุนบ้าน บริเวณรอบบ้านเต็มไปด้วยอุปกรณ์  สัมภาระในกระบวนการผลิตแบบบ้านเราทุกประการ  เห็นเตาเคี่ยวด้วยฟืนไม้  กระบอกน้ำตาลไม้ไผ่รมควัน  มีสายห้อยแขวนห้อยกันเป็นระนาง  ใต้ถุนเรือนมีสินค้าอื่นประกอบบ้างเล็กน้อย เช่น  หมากจากใบตาล  กังหันพัดลมเด็กเล่นจากใบตาล                รถแล่นผ่านเมืองโบราณไปแต่ยังไม่แวะให้ชม  โดยไปตั้งต้นกันท้ายสุดของเมือง  คือปราสาทบันทายศรี  แต่เขาเรียกตามภาษาของเขาว่าบันทายสารี  รถแล่นผ่านปราสาทไปเล็กน้อยเพื่อให้ทุกคนเข้าห้องน้ำให้เสร็จสรรพ  เพราะเมื่อลงเดินชมเมืองแล้วจะไม่มีที่ให้บริการตลอดทางที่เดินชมหลายกิโลเมตร  ห้องน้ำถูกจัดทำไว้อย่างดีเป็นเรือนไม้  ภายในปูกระเบื้องสะอาด             มีสะพานทางเดินทอดยาวออกไปให้ห่างจากถนน  รูปทรงองค์อาคารออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ  ไม่ใช่ดูขัดตา มองเผิน ๆ จะไม่รู้อีกว่าเป็นห้องน้ำ  เขาพิถีพิถันทุกกรณี  คณะเราทุกคนดูว่านอนสอนง่าย  เดินเข้าใช้บริการกันทุกคน  จากคำที่ไกด์ขู่เอาไว้ว่าห้ามฉี่ในบริเวณโบราณสถานเด็ดขาด             ทั้งที่เป็นป่าทึบอยู่โดยรอบ                รถพาคณะเราแล่นออกจากบริเวณห้องน้ำราว 300 400  เมตร  ที่เขาทำไว้ให้ห่างไกลตัวปราสาท  นัดแนะกันว่าใช้เวลา    ที่นี้  1  ชั่วโมง  ผู้คนมากมายมีทั้งชาวเขมรเองและชาวต่างชาติ ที่มากันเป็นหมู่คณะและมากันส่วนตัว  นั่งสามล้อมาก็มี  เดินชมกันเต็มบริเวณวัด  อันอลังการไปด้วยสุดยอดศิลปะอันอ่อนช้อย  งดงาม  มีความหมายที่มาที่ไปของเรื่องราวแกะสลักวิจิตรบรรจง  ตั้งแต่ประตูทางเข้าจนสุดปราสาท  สภาพส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์  มีถูกโจรกรรมบ้างเล็กน้อย  โดยเฉพาะส่วนพระเศียรของเทวรูปหลายองค์  ไกด์บอกว่าเพิ่งเสียไปเมื่อไม่นานมานี้เอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสงครามกลางเมือง  เมื่อ 10 กว่าปีมานี้เอง                ปราสาทบันทายศรีเป็นปราสาทที่สร้างไว้เพื่อเป็นที่บูชา ประกอบพิธีกรรม บวงสรวง   ทางศาสนาพราหมณ์   หินทรายสีทองถูกแกะสลักอ่อนช้อย  เล่าเรืองราวในชีวประวัติในรามายานะเป็นชุด ๆ  ตอน ๆ เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยศิลปะอันงดงาม  กลีบใบบัวบางพลิ้วด้วย        มีเพียงค้อนสิ่วหรือสลักปลายแหลมคมเพียงไม่กี่ชั้นของสกลช่างเขมรโบราณ

                บานทับหลังทางเข้าที่ไกด์เล่าให้ฟังว่าเป็นภาพสลักถึงเรื่องราวของสาวงามคนหนึ่ง           ที่งดงามมากจนเกิดการแย่งชิงที่จะเอาตัวนางไปเป็นมเหสี  ถึงกับมีการรบราฆ่าฟันกันเกิดขึ้น     นางมีชื่อว่า  นางการี  เป็นคนที่มีจิตใจไม่งาม  ไกด์พูดว่าจิตใจก็ไม่ดี  ในความหมายเดียวกัน       นางจึงไปขอพรจากพระพรหมณ์ให้ตัวนางนั้นไม่น่าดูหรือไม่ให้เป็นสาวสวย  ด้วยเหตุดังกล่าว พระพรหมณ์ก็ประทานพรที่ขอให้ตามความประสงค์  นางจึงกลับกลายเป็นคนแก่หน้าเหี่ยวหน้าย่น ยักแย่ยักยัน  เมื่อเป็นเช่นนั้นการแก่งแย่งชิงนางจึงยุติลง  เราถามว่า นางการี นั้น ใช้ที่คนไทยใช้เรียกนางกลางเมืองว่า   กะ...รี  หรือไม่  ไกด์หัวเราะ ตอบว่าอาจจะใช่     

                ภาพแกะสลักมีภาพของการรบราฆ่าฟัน และรูปแกะสลักของนางการีที่สวยสดงดงามอ่อนช้อยในตอนต้นและท้ายภาพ  ตอนที่กลายเป็นคนแก่เฒ่าเหลาเหย่อยู่บนทับหลังทางเข้าด้านหน้า  และมีภาพแกะสลักอีกมากมายดูกันไม่หวัดไม่ไหว  จะศึกษาให้ละเอียดต้องไปนอนทำวิจัย  สเก็ดภาพ  ถ่ายภาพทำวิทยานิพนธ์กันเลยก็จะรู้ซึ้งถึงเรืองราวต่าง ๆ เป็นร้อยเรื่องร้อยราว  การไปเที่ยวดู       ยืนถ่ายรูปว่าข้าเองก็เคยได้มาที่นี่เพียงเท่านั้นดูว่ามันไม่ค่อยจะคุ้มสักเท่าใด  แม้กระทั่งล่องลอย   การก่อสร้างก็บ่งบอกให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการวางแผนงานไว้ได้อย่างดีเยี่ยม  การตั้ง การต่อสลักเดือย เพื่อให้องค์อาคารประกอบกันเป็นโครงสร้างทั้งหมดก็สุดวิเศษ  เช่นเดียวกับที่พนมรุ้ง  หรือ  พิมายบ้านเรา  น่าจะเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน

                การแกะสลักลวดลายนั้นมีขึ้นภายหลังจากที่ได้จัดประกอบโครงสร้างแล้วเสร็จ  จะมองให้เห็นถึงการต่อเนื่องของภาพนูนต่ำ ของหินทรายแต่ละก้อนที่วางเรียงซ้อนกันขึ้นไปจากฐาน  เป็นเสา  เป็นลาน  เป็นทับหลัง  ภาพถูกสลักเรื่องราวได้ต่อเนื่องการแกะสลักบนนั่งร้าน แข็งแรง จากบนลงล่าง ที่ช่างจะต้องร่างภาพจำลองภาพก่อนลงมือแกะแน่นอน  ภาพทุกภาพจบลงตัวไม่ขาดแหว่งขาดตอนของเนื้อเรื่อง

                ภาพอาจถูกเขียนร่างบนพื้นทราย  หรือไม่ก็แผ่นดินเหนียวก่อนแน่นอน  จนเป็นที่ถูกใจ พอใจแก่ผู้เป็นเจ้าของปราสาทแล้วจึงเริ่มดำเนินการเจาะของจริงเป็นแน่  ในทัศนของผู้รายงานเองยังไม่ได้ศึกษาจากที่ใดมาก่อน  หรืออาจจะมีผู้ศึกษาไว้แล้วก็ได้  ถ้าไม่รู้จริง ๆ ก็เล่าสู่กันฟังไป   ตามความนึกคิดของเราเอง  ต้องขออภัยสำหรับผู้ทีได้ศึกษาไว้ก็แล้วกัน

                ความทรุดโทรมทำลายนั้นมีน้อยมาก  มีบางส่วนเท่านั้นที่เริ่มจะเอียงเอนตามธรรมชาติ   แต่ก็ได้รับการดูแลค้ำยันประคองกันไว้เป็นอย่างดี  ซึ่งต่างกับพนมรุ้งหรือสต๊อกด๊อกโฮม  ที่ทรุดโทรมพังทลายด้วยน้ำมือมนุษย์สุดจะเอ่ย  ที่กรมศิลปากรกำลังดำเนินการซ่อมบูรณะกันขึ้นมาใหม่        ซึ่งอย่างไรก็ไม่เหมือนเก่าอย่างแน่นอน  แต่ก็ยังดีที่ยังได้รับวามสนใจ เอาใจใส่สมบัติของบรรพชน

อรุณสุดสไดย์.....สบายดี 

หมายเลขบันทึก: 35167เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท