การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา


การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา : จุดเริ่มต้นการพัฒนาประเทศ

                     การพัฒนาประเทศเป็นหน้าที่ของทุกคนในประเทศที่จะต้องเข้าใจหน้าที่ และแสดงบทบาทให้ถูกต้องเหมาะสม กลไกการพัฒนาประเทศมีหลายด้านที่คอยขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านการเมืองการปกครอง ด้านอุตสาหกรรม ด้านการค้าธุรกิจต่างๆ     เป็นต้น สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศคือการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เพราะการศึกษาของคนในชาติเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงในทุกๆ ด้าน

                    การให้ความสำคัญในด้านการศึกษาถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทุกประเทศ สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่เป็นประเทศที่มีประชาชนได้รับการพัฒนาด้านการศึกษาที่ดีมาก่อนแล้วค่อยมุ่งพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไป เหตุนี้เองทำให้ทุกภาคส่วนก็เริ่มมีความตระหนักให้ความสำคัญมากขึ้น และปรากฏภาพความชัดเจนขึ้นเมื่อพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ      พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติสาระที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ ผู้ปกครอง องค์กรหน่วยงานต่างๆ ในการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา และพัฒนาด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการให้สังคมได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ให้สถานศึกษามีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ชุมชมทุกๆ ฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ ซึ่งสาระและหลักการดังกล่าวล้วนแล้วมีการระบุในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติทั้งสิ้น

                    สถานศึกษากับชุมชนนั้นคงจะแยกออกจากกันเด็ดขาดไม่ได้ เพราะสถานศึกษาเปรียบเสมือนต้นไม้ ชุมชนเปรียบเหมือนพื้นดิน ยิ่งดินมีคุณภาพเพียงใดก็ย่อมทำให้ต้นไม้เติบโตได้เร็วแข็งแรง มีลำต้น กิ่งกาน ใบ และผลที่ดี มีอายุยืนยาว นอกจากนี้ต้นไม้ยังช่วยยึดดินให้ติดอยู่ด้วยกันไม่ถล่มไปง่ายๆ ส่วนชุมชนเปรียบเหมือนพื้นดินให้ประโยชน์กับต้นไม้ พื้นดินจะดีมีคุณภาพดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็เพราะเมื่อต้นไม้เติบโตมากขึ้น ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้แก่จัดก็จะร่วงหล่นลงพื้นดินมันก็กลายเป็นปุ๋ยในดินให้ประโยชน์กับต้นไม้ต่อไปอีกเช่นกัน ฉะนั้นต้นไม้และพื้นดินต้องพึ่งพาอาศัยกันฉันใด ชุมชนกับสถานศึกษาก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันฉันนั้น (สุดา ทัพสุวรรณ.2545 : 23) ดังนั้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษานับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

                    การพัฒนาการศึกษามีความจำเป็นยิ่งที่หลายภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐและชุมชนควรมีบทบาทช่วยเหลือครอบครัวและส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา สนับสนุนให้สถานศึกษาทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียน การประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียน ครูและโรงเรียน รวมทั้งร่วมกับโรงเรียนจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาที่ท้าทายพร้อมคู่มือครู แบบฝึกหัด และแนวทางจัดกิจกรรม บทบาทของโรงเรียนควรร่วมมือกับชุมชนและสังคมเพื่อพัฒนาครูให้สามารถสนองความต้องการในการเรียนของเด็กและผู้ปกครอง การสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้มีความปลอดภัยถูกสุขลักษณะความเป็นระเบียบสวยงาม ให้ความรู้และสร้างความไว้วางใจกัน การสรรหาครูและผู้บริหารที่มีคุณภาพให้มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตมาบริหารงานโรงเรียน บทบาทของครูใช้วิธีการสอนและวิธีประเมินที่ผ่านการทดสอบและวิจัยมาแล้วว่าได้ผลดีต่อการพัฒนาของผู้เรียน จัดเนื้อหาวิชาที่กว้างลึก เป็นที่สนใจทั้งแทรกข้อคิดทางคุณธรรมจริยธรรมในบทเรียนตามกิจกรรมอย่างมีความเหมาะสม มีบรรยากาศของการเรียนรู้ที่มีความสุข ครูมีความผูกพันระหว่างนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งด้านจิตวิทยา การแนะแนว และสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียน สำหรับด้านสุขภาพและโภชนาการก็มีส่วนสำคัญ ดังนั้นควรมีที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต สุขภาพกาย อาหารและโภชนาการของโรงเรียน พัฒนานโยบายด้านสุขภาพจิต สุขภาพกายอย่างครอบคลุม บูรณาการกิจกรรมพลศึกษา และโภชนาการเข้าไปในชีวิตประจำวันของนักเรียนและโรงเรียน บูรณาการโภชนาศึกษา บริการอาหารที่มีประโยชน์ และกิจกรรมการเคลื่อนไหวเข้าไปในกิจกรรมของโรงเรียน และกระตุ้นให้ครูเป็นตัวแบบที่ดีในด้านโภชนาการและสุขภาพเน้นอาหาร 5 หมู่ และอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพร่างกาย สติปัญญา และลดไขมันในโลหิต (Satcher : 2005)

                    จากที่กล่าวมาข้างต้นทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทำไมประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา นั่นก็เพราะเราต้องการสร้างฟันเฟืองที่แข็งแกร่งรองรับการพัฒนาประเทศ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่ากฎหมาย หรือนักวิชาการทางการศึกษาจะให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน เอกชน แต่มุมมองในการปฏิบัติแล้วก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเหมือนกันว่าการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นน้อย ซึ่งก็มีคำถามต่อไปว่า “ทำไม?” ในเมื่อทุกภาคส่วนก็ให้ความสำคัญเสมอมา จึงเป็นเหตุให้ต้องสนใจลักษณะและรูปแบบของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการศึกษาอย่างจริงจังชัดเจน

                    จากการศึกษาของ ศิริกาญจน์ โกสุมภ์ (2542 : 189) ได้ศึกษาวิจัยการมีส่วนของชุมชนและโรงเรียน ได้แบบของการมีส่วนร่วม 3 แบบ ประกอบด้วย

                    1) การมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงเรียนแบบชายขอบ (Margiral Participation) เป็นลักษณะการมีส่วนร่วมมือ หรือการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนที่มีข้อจำกัดอันทำให้มีการมีส่วนร่วมไม่เต็มที่ คือมีน้อยนั่นเอง ข้อจำกัดนี้อาจเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่าง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนเองด้อยอำนาจกว่าหรือมีทรัพยากรเชิงอำนาจ เช่น เป็นผู้มีความรู้น้อยกว่าจึงทำให้ไม่ปรารถนาเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ นั้นคือความเข้มข้นของการมีส่วนร่วมน้อย

                    2) การมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงเรียนแบบเป็นบางส่วน (Partial Participation) การมีส่วนร่วมแบบบางส่วนเป็นการเข้ามาเกี่ยวข้องของประชาชนในชุมชน หรือกิจกรรมการศึกษาในระดับความเข้มข้นมากกว่าแบบชายขอบ กิจกรรมโดยคณะกรรมการโรงเรียนจึงมีความสำคัญที่รัฐถือว่าเป็นนโยบายสำคัญ ซึ่งสามารถสร้างความชอบธรรมในการจัดการศึกษาของไทย

                    3) การมีส่วนร่วมของชุมชนและโรงเรียนแบบสมบูรณ์ (Full Participation) เป็นการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนโดยทั้งสองฝ่ายร่วมกันอย่างเข้มข้น และเท่าเทียมกัน ต่างฝ่ายต่างมีอิทธิพลต่อกิจกรรมร่วมกัน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้เต็มที่

                    จากทั้ง 3 แบบการมีส่วนร่วมของชุมชนกับโรงเรียนคงเป็นที่ชัดเจนว่าความคาดหวังของทุกคนคงอยากให้เป็นลักษณะการมีส่วนร่วมแบบสมบูรณ์มากที่สุด แต่ความเป็นจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนจะอยู่ในแบบบางส่วน หรือไม่ก็แบบชายขอบเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ระบบการศึกษาของประเทศประสบกับปัญหาหลายอย่างตามมา

                    กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนกับโรงเรียนคงไม่ราบรื่นสวยหรูอย่างที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แต่ตรงกันข้ามความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษาและชุมชนนับวันยิ่งเหินห่างออกไปทุกที ยังมีความไม่เท่าเทียมกันด้วยสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ผู้ปกครองก็ไม่เข้าใจความเคลื่อนไหวและการปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของรัฐ และสถานศึกษา และมีทัศนคติที่ไม่ดีเป็นตัวนำ ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นที่แตกต่างกัน รวมทั้งภารกิจการงานของผู้ปกครองก็มีส่วนทำให้ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นสังคมชนบทมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน กิจกรรมธรรมเนียมประเพณีที่มีความเกี่ยวโยงเชื่อมผูกพัน ผสานกันระหว่างวัด บ้าน และโรงเรียน กิจกรรมเหล่านี้จางหายไป ประกอบกับการอพยพย้ายถิ่นฐานทำกินไปสร้างสังคมใหม่ ทำให้ความผูกพันระหว่างกันมีน้อยลง

                    ในสภาวะปัจจุบันการจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาคงจะทำได้ยาก และถึงแม้ทำได้ก็ประสบผลสำเร็จน้อย ทั้งนี้ก็แล้วแต่พื้นที่ แล้วแต่บริบทที่แตกต่างทั้งนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น อย่างไรก็ตามหากมีความจริงจังจริงใจในการพัฒนาการศึกษา การศึกษาข้อมูลพื้นฐานชุมชน บริบทชุมชนเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชน (ทัศนา แสวงศักดิ์. 2548 ; ศิริกาญจน์ โกสุมภ์. 2542) ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่อีกวิธีการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการมีส่วนร่วมที่ดีของชุมชนได้อีกครั้ง และน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีอีกหนทางหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนจะต้องหันหน้าเข้าหาชุมชน โดยโรงเรียนเป็น ผู้เริ่มต้นก่อน  (สุรศักดิ์ หลาบมาลา. 2549) ดีกว่าจะให้ชุมชนหันมาหา ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถทำได้ง่ายกว่า โดยปกติแล้ว ชุมชนจะมีความคาดหวังเสมอว่าสถานศึกษาน่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ มีข้อมูลทางวิชาการมากมายทั้งเอกสาร และทรัพยากรบุคคลสำหรับการเรียนรู้ หากโรงเรียนนำศาสตร์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้เข้าหาชุมชน เป็นการช่วยเหลือชุมชนก่อนที่จะให้ชุมชนยื่นมือมาหาเรา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าจะทำให้การสร้างความสัมพันธ์ได้ดี

                    บทบาทของชุมชนและสถานศึกษาที่จะผลักดันให้เกิดจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งทุนทางมนุษย์ในการพัฒนาประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดบทบาทและแสดงบทบาทของตนให้ชัดเจน

                    บทบาทของชุมชน ประชาชนต้องร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบ้าน วัด โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นสถาบันสังคมที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและเป็นสถาบันทางสังคมที่มีบทบาทหลักในการเพิ่มทุนทางสังคมในชุมชน และสนับสนุนการจัดการองค์ความรู้ในชุมชนให้เป็นระบบ เกิดการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปใช้ประโยชนต่อส่วนร่วม

                    บทบาทของสถานศึกษา สถานศึกษาเป็นแกนนำให้กับชุมชนในการวิจัยท้องถิ่น เพื่อนำทุนทางสังคม ทุนทางปัญญา ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีในท้องถิ่นมาต่อยอดเสริมกับการวิจัยที่มีอยู่ในท้องถิ่น การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและสร้างภูมิคุ้มกันในท้องถิ่น สถานศึกษาร่วมกับชุมชนในการขับเคลื่อนการพัฒนา และเพิ่มทุนทางสัมคมให้สอดคล้องกับโอกาส ศักยภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ โดยการสร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำในพื้นที่โดยร่วมพัฒนาคนในชุมชนให้มีคุณภาพ นอกจากนี้โรงเรียนควรสร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยทำการวิจัยร่วมกับชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลของชุมชน และที่ปรึกษาทางวิชาการ ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน และสนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง นอกจากนั้นควรสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนโดยนำวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่นเป็นสื่อในการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรที่มีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป

                    กล่าวโดยสรุปกลไกการพัฒนาประเทศที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของแต่ละท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้นเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายคือทั้งชุมชน และสถานศึกษา เป็นการเอื้อเฟื้อกันและกัน กล่าวคือชุมชนต้องร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับบ้าน วัด โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มทุนทางสังคม สนับสนุนการจัดการองค์ความรู้ การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมคิด ร่วมทำให้พื้นที่โดยร่วมพัฒนาคนในชุมชนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นทุนทางมนุษย์ ส่วนบทบาทของโรงเรียนก็ต้องเป็นแหล่งความรู้ สร้างองค์ความรู้สู่ชุมชน ร่วมวิจัยกับชุมชน เป็นที่ปรึกษาหารือทางวิชาการ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตนเอง สร้างหลักสูตรการเรียนการสอนโดยนำวิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่นมาเป็นสื่อการเรียนรู้ หากทุกส่วนให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีความตระหนักร่วมกันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศที่สมบูรณ์ และยั่งยืนตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 351031เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2010 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท