กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ


WTO ผู้มีบทบาทสำคัญกับกฏหมายระหว่างประเทศ

WTO กับกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

                     แหล่งกำเนิดของระบบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่สำคัญและมีบทบาทมากในสังคมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คือ องค์การการค้าโลก ( World Trade Organization: WTO) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ ที่สามารถสร้างกฎเกณฑ์ในกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยผ่านการออกข้อมติภายในองค์การ และการใช้เทคนิคของกฎหมายสนธิสัญญาที่มีผลทำให้ประเทศสมาชิกต่างๆต้องมีพันธะผูกพัน เนื่องจากประเทศต่างๆได้สละอำนาจอธิปไตยบางส่วน เพื่อเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO 

                    องค์การการค้าโลก ( WTO ) มีจุดกำเนิดจากความต้องการของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ที่มีความประสงค์ให้มีการจัดระเบียบการค้าและเศรษฐกิจโลก ซึ่งต้องการให้มีการขจัดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดภาษีศุลกากร และประเทศมหาอำนาจทั้งสองมีความเห็นพ้องต้องกันว่าระเบียบดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม โดยเชื่อกันว่าระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกื้อกูลผลประโยชน์ให้แก่ประเทศมหาอำนาจเป็นอย่างมาก โดยเริ่มมีการทำการเจรจาในระดับพหุภาคี   ต่อมามีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) และมีมติให้มีการจัดตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศ (ITO) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ ITO จัดการในเรื่องความสัมพันธ์และระเบียบทางการค้าโลก เพื่อนำไปสู่การค้าเสรี แต่เนื่องจากการจัดตั้งองค์การดังกล่าวต้องใช้เวลามาก จึงมีการทำข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดภาษีศุลการกรและการค้า (GATT)  ต่อมาการจัดตั้งองค์การการค้าระหว่างประเทศได้ล้มเหลวลง และทำให้ GATT กลายเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ตามโครงสร้างของGATT  มีข้อตกลงทั้งหมด 38 ข้อ  โดยแบ่งออกได้ 4 ส่วน คือ 1.เกี่ยวกับพันธะหน้าที่ของรัฐภาคี  2.มาตรการที่ก่อให้เกิดการค้าเสรี 3. เกี่ยวกับกระบวนการใช้และแก้ไขข้อตกลง 4.เกี่ยวกับการค้าและการพัฒนา  โดยบทบาทที่สำคัญของ GATT ต่อระบบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คือ สร้างกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศ โดยบัญญัติของข้อตกลงจะกำหนดพันธกรณีต่างๆ ที่ประเทศภาคีต้องปฏิบัติตาม และเป็นเวทีในการเจรจาการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นกระบวนการที่นานาประเทศเจรจาและตกลงจัดระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเศรษฐกิจต่างๆเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ  และความตกลงต่างๆก็จะเป็นพันธะผูกพันให้ชาติภาคีต่างๆต้องนำปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นบ่อเกิดของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  โดยขั้นตอนการเจรจาตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน (Reciprocity) ซึ่ง GATT ได้มีการจัดการเจรจามาแล้ว 8 รอบ โดยรอบที่ 8 หรือ การเจรจารอบอุรุกวัย ได้มีความตกลงให้มีการยกฐานะของ GATT ขึ้นเป็นองค์การการค้าโลก (WTO)  ตามที่เคยประสงค์จะจัดตั้งตั้งแต่แรก

                     เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1994  ณ เมืองมาราเคช ประเทศโมรอคโก  ประเทศภาคีทั้ง 124 ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์รับรองร่างกรรมสารสุดท้าย ( Final Act ) ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการเจรจารอบอุรุกวัยและยอมรับให้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก หรือ WTO ขึ้นมาทำหน้าที่แทน GATT ภายในวันที่ 1 มกราคม 1995 โดยองค์การการค้าโลกมีวัตถุประสงค์ บทบาทและหน้าที่ อย่างเดียวกับ GATT คือต้องการลดข้อจำกัดทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ เพื่อต้องการให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรี มีการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยปราศจากอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า  ดังนั้นเพื่อให้บรรลุถึงการค้าเสรีโดยคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ WTO จึงสร้างกลไก  โดยวางกฎเกณฑ์ กฎหมายเกี่ยวกับการค้าสินค้า บริการ ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการการลงทุนเกี่ยวกับการค้าตลอดจนกระบวนการในการระงับข้อพิพาท   และเพื่อให้ประเทศสมาชิกตั้งอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน จึงกำหนดหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ( Non- discrimination ) และหลักการต่างตอบแทนไว้ ( Reciprocity )ไว้ เนื่องจากWTO ไม่มีอำนาจไปบังคับรัฐอธิปไตย ให้ทำการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันได้ ทำได้แต่เพียงกำหนดกลไก  ข้อตกลงต่างๆที่ทำให้ผลการเจรจาเรื่องต่างๆในแต่ละรอบ(Round)ที่ WTO จัดขึ้น มีผลไปยังประเทศภาคีอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาด้วย แต่ต้องยอมรับพันธะผูกพันเพราะเป็นสมาชิกของ WTO โดยWTO มุ่งหวังให้ผลของการเจรจาในรอบต่างๆขยายไปสู่ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกเพื่อให้การค้ามีความเสรีมากยิ่งขึ้น  

หลักการสำคัญของ WTO คือ  

1.หลักการไม่เลือกปฏิบัติ เป็นหลักการที่หากประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่งมีกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ หรือการค้าในการปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่งอย่างไร ก็จะต้องปฏิบัติเช่นนั้นต่อประเทศสมาชิกอื่นด้วย เพื่อให้ทุกประเทศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยแยกพิจารณาได้ 2 หลักการ คือ

1.1 หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง หรือ MFN (Most-Favoured  Nation Treatment เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎเกณฑ์ที่ระบุใน WTO ที่กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกห้ามเลือกปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกคู่ค้า ห้ามให้สิทธิพิเศษ (Special Favor) แก่ประเทศใดๆ หากให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่ง ก็จะต้องให้สิทธิเช่นนั้นแก่ประเทศสมาชิกอื่นๆเช่นกัน  โดยหลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในมาตราแรก ( Article 1)  แต่หลักการนี้ ยังมีข้อยกเว้น เช่น ข้อตกลงการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยสิทธิพิเศษที่ให้แก่กันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกที่ร่วมกลุ่มกัน ไม่ผูกพันประเทศสมาชิกอื่นๆของ WTO ด้วย ตามมาตรา 24 ( Article 24 ) 

1.2  หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติ (National Treatment) เป็นหลักที่สืบเนื่องมาจากหลักการไม่เลือกปฏิบัติ โดยเป็นการห้ามเลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าที่ผลิตในประเทศกับสินค้าที่เหมือนกันซึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยหลักการดังกล่าวระบุอยู่ในมาตรา 3 ( Article 3) โดยหลักการดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะสินค้าที่สามารถเข้ามาสู่ตลาดในประเทศได้แล้ว ทว่าการใช้การนโยบายใดๆต่อสินค้านั้นก่อนเข้ามาในประเทศ 

2.หลักการต่างตอบแทน( Reciprocity) เป็นการปฏิบัติทางการค้า หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านโยบายการค้าที่เป็นธรรม ( Fair Trade) ซึ่งเป็นการที่ประเทศต่างๆแลกเปลี่ยนข้อลดหย่อนทางการค้าระหว่างกัน หรือให้ประโยชน์อย่างอื่นในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกหนึ่งจะลดอุปสรรคทางการค้าลง หรือให้ประโยชน์เมื่อได้รับผลตอบแทนซึ่งอีกประเทศหนึ่งยินยอมที่จะลดอุปสรรคทางการค้าอื่นๆลงมาด้วย หรือเสนอผลประโยชน์ในลักษณะอย่างเดียวกัน หรือ ใกล้เคียงกัน โดยมุ่งเน้นให้มีลักษณะต่างตอบแทนกันและได้ประโยชน์เท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้มีการลดกำแพงภาษีศุลการกรและการยกเลิกการเลือกปฏิบัติในทางการค้าระหว่างประเทศ

                    ถึงแม้ WTO จะสร้างกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาไปสู่การค้าเสรี ซึ่งจะก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ปราศจากอุปสรรคต่างๆในทางการค้า โดยให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์เท่าเทียมกัน และเปิดโอกาสหรือสร้างโอกาสให้ประเทศต่างสามารถเข้าทำการค้าได้มากขึ้น โดยทุกฝ่ายได้รับประโยชน์  เช่น ประชาชนในประเทศต่างๆสามารถเลือกสินค้าได้หลากหลายขึ้น เลือกรับบริการต่างๆที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น เนื่องจากมาตรฐานในการแข่งขันสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปิดเสรีทางการค้าและบริการตามนโยบายของ WTO แต่ในทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของ WTO ที่ต้องการให้เกิดการค้าเสรีที่เป็นธรรมเป็นไปได้ยากมาก ถึงแม้จะมีการวางกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ตาม เนื่องจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความมั่งคั่งและมั่นคงไม่เท่าเทียมกัน โดยเห็นได้ชัดเจนจากช่องว่างของสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น กับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย เป็นต้น โดยจะเห็นได้ว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่สามารเทียบเคียงกับประเทศพัฒนาแล้วได้เลย ดังนั้นในการเปิดเสรีทางการค้าตามวัตถุประสงค์ขององค์การการค้าโลกจึงอาจทำให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เสียเปรียบเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากการเจรจาภายใต้ข้อตกลงของ WTO ประเด็นการเจรจาที่ได้ข้อสรุปมักเป็นประเด็นที่ประเทศพัฒนาแล้วเรียกร้อง ในขณะที่ประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาเรียกร้อง ซึ่งอาจทำให้ประเทศพัฒนาแล้วเสียผลประโยชน์หรือได้รับผลประโยชน์น้อยลงกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร   ดังนั้น การที่ WTO จะบรรลุจุดประสงค์ได้คงต้องอาศัยระยะเวลาอีกนาน รวมทั้งต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศสมาชิกต่างๆ โดยแต่ละประเทศต้องยอมเสียผลประโยชน์บางอย่างให้แก่กัน เพราะหากแต่ละประเทศไม่ยอมลดอุปสรรคให้แก่กันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการค้าเสรีที่เป็นธรรมตามที่ WTO ต้องการ 

องค์การการค้าโลกและกลุ่มเศรษฐกิจระหว่างประเทศ / กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์.

องค์กรการค้าโลก = World Trade Organization-WTO : ผลประโยชน์และผลกระทบต่อภาคเอกชนไทย / จัดทำโดย ฝ่ายประสานงานส่วนกลาง หอการค้าไทย.

พันธกรณีของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก / กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กองการค้าพหุภาคี.
หมายเลขบันทึก: 35100เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท