คำว่า "เศรษฐกิจระหว่างประเทศ" แล้วคุณคิดถึงอะไร?


เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับการลงทุนและการเงิน

     เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในปัจจุบันนั้นได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการวางข้อบังคับสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และยังมีส่วนเกี่ยวพันกับความเคลื่อนไหวของทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งการบริหารในระดับระหว่างประเทศด้วย โดยที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศที่กำลังพัฒนามีระบบกฎหมายที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจในลักษณะที่ต่างกัน การสร้างกฏเกณฑ์ของกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศทำให้เห็นถึงแนวความคิดระหว่างรัฐและแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงคำว่าเศรษฐกิจระหว่างประเทศแล้ว นอกจากกฎเกณฑ์ต่างๆที่สำคัญแล้ว สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศสามารถดำเนินการไปได้นั้น ก็คือ การลงทุน นักลงทุนต้องหาทุนทรัพย์มาไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสิ่งของ หรือในรูปของการลงแรงงาน ทั้งนี้โดยมุ่งให้มีการสร้างรายได้ โดยอาจเป็นการลงทุนด้านการเงิน หรือลงทุนด้านเทคนิค ซึ่งในปัจจุบัน การลงทุนระหว่างประเทศในเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังปราศจากความหมายที่เป็นเอกภาพและทั่วไป แม้จะมีสนธิสัญญาจำนวนมาก แต่ก็ล้วนมีวัตถุประสงค์และเนื้อหาแตกต่างกัน แต่แม้กระนั้นก็ตาม ข้อสำคัญอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าการลงทุนต้องอาศัยการสนับสนุนจากปัจจัยอื่น เช่น สิทธิในการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนทางการค้า การเคลื่อนไหวอย่างเสรีของเงินทุน

      ความหมายของการลงทุนระหว่างประเทศ อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงแตกต่างจากการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายภายใน แต่การแบ่งแยกการลงทุนทั้งสองประเภทนี้มิใช่เรื่องง่ายนัก ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนภายในอาจได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายระหว่างประเทศก็ได้ โดยที่กฎหมายภายในมักใช้เกณฑ์ของผู้มีถิ่นที่อยู่เป็นหลักในการให้ความคุ้มครองสำหรับบุคคลธรรมดาและเกณฑ์ของการมีองค์กรธุรกิจสำหรับนิติบุคคล ทั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของบุคคลหรือบริษัท แม้แต่อย่างใด แต่สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศแล้วจะใช้เกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งของสัญชาติหรือการควบคุม โดยเกณฑ์แห่งสัญชาติ กฏหมายระหว่างประเทศจะย้อนส่งให้กฎหมายภายในเป็นผู้กำหนดว่าบุคคลใดได้รับสัญขาติของตน ส่วนสัญชาติของนิติบุคคลจะพิจารณาจากกฎหมายของรัฐซึ่งมองสัญชาติ และเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุม โดยใช้สำหรับระบุว่าการลงทุนมีลักษณะเป็นการลงทุนระหว่างประเทศ

     และในขณะนี้ การลงทุนระหว่างประเทศได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมิได้จำกัดอยู่เพียงในวงของประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้น การเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลจากการเปิดเสรีอย่างก้าวหน้าของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จมีสาเหตุหลักจากการวางระบบกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินการ การพัฒนาด้านการลงทุนนี้ทำให้รัฐต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยไม่อาจยึดถือหลักอธิปไตยทางเศรษฐกิจได้อย่างเคร่งครัด

     บ่อเกิดของกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ มีทั้งกฎหมายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กฏหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องต้องสอดคล้องตามข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายภายในมักจะไม่วางข้อบังคับเป็นการทั่วไปสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีแต่เพียงเรื่องการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีฐานะเป็นประเทศผู้รับการลงทุนมีความจำเป็นต้องดึงดูดนักลงทุนจากต่างขาติ จึงล้วนมีนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ โดยอาศัยการให้การคุ้มครองและหลักประกันเป็นพิเศษภายใต้กรอบของสนธิสัญญาทวิภาคี ส่วนบ่อเกิดที่เกิดจากสนธิสัญญานั้น เนื่องจากมีจำนวนมาก แต่ไม่มีระบบที่สมบูรณ์จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อเสรีทางด้านนี้

      ตัวอย่างของการลงทุนร่วมที่น่าสนใจ คือ การลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน

การลงทุนระหว่างกันมีโอกาสมากขึ้นเนื่องจาก ทั้งจีนและอาเซียนไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง (ในด้าน merchandise trade ยังมีความแตกต่างอยู่มากเกี่ยวกับสินค้าออก และแม้แต่ในการค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง) แต่เอื้อต่อกันมากกว่า (โดยเฉพาะในภาคการส่งออกสินค้าบริการ) ด้วยเหตุนี้ อาเซียนจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางด้านการลงทุนกับจีนมากขึ้น โดยการปรับนโยบายการลงทุนของอาเซียนเอง โดยเน้นใน areas ที่เอื้อต่อกันและลดอุปสรรคทางด้านการลงทุน ความร่วมมือต่อกันนี้อาจได้แก่ การลงทุนร่วม การใช้ทรัพยากรร่วมกันในด้านสาธารณูปโภคและด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและการส่งเสริมการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ ด้าน IT การท่องเที่ยว การธนาคาร การแพทย์และการคมนาคม

ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ จีนมักมองอาเซียนว่าเป็นแหล่งลงทุนที่มีความหลากหลายมากเกินไป มีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันในกลุ่มอาเซียน ทำให้การลงทุนจากจีนมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ขณะที่อาเซียนมองว่า จีนก็ยังไม่ได้ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ แต่ก็หวังว่า หากจีนเป็นส่วนหนึ่งของ WTO จะทำให้เงื่อนไขภายในประเทศของจีนเปลี่ยนไปในทางบวก

การจัดทำข้อตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ในกรอบทางกฎหมาย)

มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ FTA และด้านกฎหมายอยู่มากมาย อาทิ การลดภาษีระหว่างกัน การกำหนดมาตรการทางการค้า เช่น anti-dumping หรือเรื่อง rules of origin การแก้ไขปัญหาทางการค้า (dispute resolution) ซึ่งความเห็นชอบในความคิดเรื่อง FTA แม้จะยังไม่นำไปสู่การจัดตั้ง FTA ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของสองฝ่าย หัวใจสำคัญอยู่ที่ อาเซียนและจีนมองเห็นความสำคัญของการเปิดเสรีและการจัดทำกฎเกณฑ์ทางการค้าที่เอื้อต่อการติดต่อทางธุรกิจระหว่างกันมากขึ้น

วิทยากรเห็นว่า ในประเด็น FTA ควรมีการให้ความสำคัญกับเรื่อง rules of origin โดยเฉพาะในยุคที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจัดทำ FTA มากมายในระดับต่างๆ ดังนั้น อาเซียนและจีนจำเป็นต้องรับกฎเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีลักษณะ identical หรือ similar ในการจัดทำ FTA แต่ละครั้งของประเทศในภูมิภาคเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน และต้องร่วมใจส่งเสริมกฎ anti-dumping/anti-subsidy ด้วย

      นอกจากเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่สำคัญเกี่ยงโยงอย่างเด่นชัด คือ การเงิน ซึ่งรัฐมีอธิปไตยในการดำเนินนโยบายด้านการเงินของตนเอง โดยมีสิทธิในการตราและพิมพ์เงินสกุลของตนเอง รวมทั้งการกำหนดค่าของสกุลเงินของตน ตลอดจนวางข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินเป็นเครื่องมือสนับสนุนและอำนวนความสะดวกในการชำระหนี้ทางด้านการค้าระหว่างกัน เงินจึงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการทำธุรกรรมทั้งปวง ทั้งในด้านการค้าเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ด้านการคลังเพื่อซื้อสิทธิในทรัพย์และหนี้สิน ทำให้รัฐทั้งหลายต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการเงินที่ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อจัดระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันวิกฤตการณ์ทางการเงินและกำหนดวิธีการรับมือ ซึ่งในด้านการเงินระหว่างประเทศนั้น ก็จะมีองค์การฯกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF:International Monetary Fund) เป็นองค์การฯที่มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนของเงินอย่างมีเสรีภาพและป้องกันมิให้มีการลดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้า นอกจากนี้ องค์การฯยังมุ่งที่จะจัดตั้งระบบการชำระเงินที่เหมาะสมและขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้การควบคุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยเหลือรัฐที่ประสบวิกฤตทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขาดดุลการชำระเงิน โดยมีรัฐที่มีความสำคัญทางการเงินส่วนใหญ่เข้าร่วมเป็นสมาชิก

ที่มา : หนังสือกฎหมายระหว่างประเทศ อ.จตุรนต์ ถิระวัฒน์

หมายเลขบันทึก: 35043เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท