เปิดตลาดนัดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (๒)


การแลกเปลี่ยนกันอย่างลึกๆ ทำให้ได้รู้ว่ากว่าจะมาถึงความสำเร็จที่คนทำงานภูมิใจนั้น ผ่านการใช้เวลาและความพยายามอย่างมากมาย

เช้าวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ดิฉันตื่นแต่เช้า (ความจริงตั้งแต่ดึกมากกว่า) ตรวจดูความพร้อมของไฟล์ PowerPoint ที่จะใช้ในวันนี้ ไปรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น. เจอคุณธวัชรับประทานอาหารใกล้จะเสร็จแล้ว คุยกันอีกครั้งถึงแผนงานในวันนี้

ประมาณ ๐๘.๐๐ น. ดิฉันมีเวลาว่างไปจัดเตรียมห้องประชุม รอจนถึงใกล้ ๐๘.๓๐ น. ผู้เข้าประชุมยังมากันไม่ครบ รู้สึกร้อนใจว่าเกิดอะไรขึ้น พอดีผู้เข้าประชุมที่มาก่อนบอกว่าตามกำหนดการที่ส่งให้นั้นการประชุมวันนี้เริ่ม ๐๙.๐๐ น. ค่อยโล่งใจ

๐๙.๐๐ น. เริ่มกิจกรรมวันที่ ๒ โดยดิฉันสรุปแก่นความรู้ที่ได้เมื่อวานนี้ซ้ำ แล้วให้แบ่งกลุ่มย่อยสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จ เขียนขึ้น flipchart ไว้ ดิฉันและคุณธวัชช่วยกันบอกแนวทางการสร้างเกณฑ์ว่าไม่ควรใช้กระบวนการทำงานมาเป็นเกณฑ์ ไม่ควรสร้างเกณฑ์แบบขั้นบันได ควรคิดย้อนกลับไปที่เรื่องเล่าและขุมความรู้ด้วย คือเรื่องเล่า ขุมความรู้ แก่นความรู้ และเกณฑ์ระดับความสำเร็จเป็นเรื่องที่ควรต่อเนื่องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่เป็นคนละเรื่อง ใช้เวลาประมาณ ๑ ชม.กว่าๆ กลุ่มต่างๆ ก็สร้างเกณฑ์เสร็จเรียบร้อย พร้อมให้ทีมจาก รพ./อำเภอต่างๆ เดินทัวร์และประเมินตนเองตามเกณฑ์ใหม่ที่แต่ละกลุ่มสร้างขึ้น คุณธวัชเสนอให้มีการให้คะแนนเกณฑ์ที่แต่ละกลุ่มสร้างด้วย คะแนนมีตั้งแต่ ๑-๕ โดยให้พิจารณาว่ามีลักษณะต่อไปนี้หรือไม่ มาก-น้อยเพียงใด คือ เข้าใจและตัดสินใจได้ง่าย มีความสมเหตุสมผล ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป และเป็นไปได้จริง

ช่วยกันทำเกณฑ์ เขียนขึ้น flipchart

ทีมงานขอเวลา ๓๐ นาทีในการบันทึกข้อมูลการประเมิน ทำแผนภูมิแม่น้ำ ธารปัญญา และบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างนั้นคุณธวัชได้แนะนำเว็บบล็อก gotoknow ก่อนที่ดิฉันจะนำเสนอข้อมูลที่วิเคราะห์ได้และจับคู่ว่า รพ.ใดควรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับใครในเรื่องอะไร

หลังรับประทานอาหารกลางวัน เป็นการจับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บางคู่ก็กลุ่มเล็ก บางคู่ก็กลุ่มใหญ่ ต่างคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง ด้วยบรรยากาศดีๆ ผู้แบ่งปันก็มีใจอยากเรียนรู้ด้วย ทีมบางปะกงถามน้องจากท่าตะเกียบว่า “หนูทำอะไรดีๆ บ้างพี่จะได้เรียนรู้ด้วย” น้องก็ถ่อมตัวว่าที่ทำมาอาจไม่ดีเท่าพี่หรอกเมื่อเล่าว่าได้ทำอะไรมาบ้าง คิดอย่างไรจึงทำเช่นนั้น พี่ก็ชื่นชมว่า “เมื่อพี่อายุเท่าหนู ไม่ได้มีความคิดดีๆ แบบหนูหรอก” การแลกเปลี่ยนกันอย่างลึกๆ ทำให้ได้รู้ว่ากว่าจะมาถึงความสำเร็จที่คนทำงานภูมิใจนั้น ผ่านการใช้เวลาและความพยายามอย่างมากมาย เช่น ใช้เวลากว่า ๒ ปี จึงจะมาคุยกันเป็นสหวิชาชีพได้ ดิฉันสังเกตการณ์อยู่นอกกลุ่มอดไม่ได้ที่จะบอกความรู้สึกประทับใจ

จับคู่แลกเปลี่ยนเรียนรู้

หลังจบการแลกเปลี่ยน เราให้ตัวแทนทีมจาก รพ./อำเภอมานำเสนอว่าได้เรียนรู้อะไรจากเพื่อนบ้าง โดยให้บอกว่า “ปิ๊งไอเดียอะไร” เกือบทั้งหมดก็บอกได้ มีเพียงทีมบางคล้าที่บอกว่ายังไม่ปิ๊งไอเดียอะไรจากทีมแปลงยาว ในขณะที่ทีมแปลงยาวได้ไอเดียจากบางคล้าหลายเรื่อง เช่น การให้ผู้ป่วยที่มาทางเดียวกัน มาด้วยกัน (นัดพร้อมกัน) การขอการสนับสนุนเรื่องอาหารจากชมรมและองค์กรท้องถิ่น การฝึก อสม.ให้ช่วยงานตรวจเลือด (คนนำเสนอใช้ภาษาสูงว่าตรวจโลหิต) การตรวจเท้า การคิดเครื่องมือ การสอนผู้ป่วย เป็นต้น

ใก้ลเวลา ๑๕.๐๐ น. เราให้ผู้เข้าประชุมเสนอความคิดเห็น หาวิธีการขับเคลื่อนเครือข่ายเบาหวาน ฉะเชิงเทรา ได้หลากหลายความคิด แต่ที่สำคัญ นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผอ.รพ.บางน้ำเปรี้ยว ในฐานะประธานกรรมการเบาหวาน เสนอว่าอยากให้เกิดเครือข่ายแบบยั่งยืน ไม่ใช่เกิดจากการสั่งการ เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต้องการความต่อเนื่อง รพ.บางน้ำเปรี้ยวรับเป็นแกนให้ ขอให้ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วม คุณหมอสรลักษณ์จะช่วยพูดคุยกับผู้บริหารให้ให้การสนับสนุน คุณศุภลักษณ์บอกย้ำอีกครั้งว่าผู้สนใจสามารถแจ้งชื่อได้เลย จะได้ร่วมกันวางแผนกิจกรรมของเครือข่ายต่อไป ทีมจากพนมสารคามนำโดยคุณหมอจำเนียร ยืนยงรีบส่งชื่อทันที

กิจกรรมสุดท้ายคือ AAR คุณธวัชขอให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยที่สุดของแต่ละทีมได้พูดก่อน วนได้ ๒ รอบ เราถือว่าข้อมูลส่วนนี้สำคัญมากจึงได้อัดเทปไว้ ดิฉันจะให้คุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณนำลงในบล็อกต่อไป สมควรแก่เวลาคุณหมอสรลักษณ์จึงกล่าวปิดการประชุม พร้อมมอบของที่ระลึก เป็นขนมของดีของแปดริ้วให้แก่ทีมวิทยากรและผู้ให้การสนับสนุน ปิดประชุมเวลา ๑๖.๓๐ น. ตามที่กำหนด เราถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 35026เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท