ข้อคิดจากการไปตรวจสอบติดตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา


                ผมได้รับแต่งตั้งจาก สพท.นนทบุรี เขต 1 ให้เป็นประธานอนุกรรมการติดตามตรวจสอบประเมินผลการจัดการศึกษา ตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา  ซึ่งตอนนี้คณะอนุกรรมการชุดผมก็ได้ไปตรวจเยี่ยมมาแล้ว  2 โรงเรียน คือโรงเรียนวัดบางไกรใน (ขนาดเล็ก) และโรงเรียนสัมฤทธิ์วิทยา              โรงเรียนแรก สมศ.กำลังจะเข้าประเมินเพื่อรับรองคุณภาพในเร็วๆนี้ ซึ่งเขาก็ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างมากถือว่าอยู่ในระดับดีทีเดียว  แต่ยังมีบางจุดที่ต้องก็แก้ไขก็ได้ถือโอกาสนี้แนะนำเขาไป  ถือว่าการมาครั้งนี้เป็นการมาช่วยเหลือกัน  ส่วนโรงเรียนที่ 2 เพิ่งผ่านการประเมินรับรองจาก สมศ.มาใหม่ๆ  และได้รับการรับรองทุกมาตรฐาน มีมาตรฐานที่ได้ระดับดีมากจำนวนมากกว่าระดับดี  ก็ได้ชี้ประเด็นคุยกันจนเย็นเพื่อพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่ระดับหนึ่งแล้วให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น             ผมมีข้อคิดที่ได้จากการไปตรวจสอบติดตามระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสำหรับโรงเรียนทุกแห่ง บางประการคือ   ผมอยากเห็นโรงเรียนทุกแห่งบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน(เป็นSBMแท้ๆไม่ใช่เทียมๆ) โดยใช้ระบบประกันคุณภาพภายในศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ทุกระดับ) เป็นฐานในการจัดองค์กร  โครงสร้างการบริหารให้เป็นองค์รวม  การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ตั้งแต่วิสัยทัศน์  พันธกิจ  เป้าหมาย  แผน  งาน โครงการ  กิจกรรม ทุกอย่างในโรงเรียนต้องสอดคล้องกับมาตรฐานฯ ตัวชี้วัดทุกตัว  มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน  มีกระบวนการวางแผนและการทำงานที่เป็นระบบ  ตั้งแต่การกำหนดปัญหาความต้องการจำเป็น(NA) ตัวบ่งชี้  สาเหตุของปัญหา  ทางเลือกในการแก้ปัญหา/พัฒนาจนเกิดแผน/โครงการ/กิจกรรม ที่ชัดเจน  และระหว่างดำเนินการก็มีระบบกำกับติดตาม ส่งเสริม สนับสนุน ตรวจสอบประเมินผล เป็นระยะๆ ไม่ใช่ไปประเมินและรายงานอย่างคลุมเครือตอนสิ้นปีแผ่นเดียว  และมีการนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะ(ที่เขียนอย่างชัดเจน)มาเป็นข้อมูลในการวางแผนปรับปรุงพัฒนาในครั้งต่อไป  จึงจะเห็นการขับเคลื่อนตามวงจร PDCA ที่เป็นรูปธรรม (ไม่ใช่ติรูปแบบ) เหมือนที่ ISO 9000 เขากำหนดวินัยเหล็กไว้ว่า เขียนในสิ่งที่ทำ  ทำในสิ่งที่เขียน และปรับปรุงพัฒนาต่อเนื่อง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการ แพลนแล้วก็นิ่ง หรือ แผนการส่ง ไม่ใช่แผนการสอนอย่างที่ล้อเลียนกัน            ที่จริงวัฒนธรรมคุณภาพนี้เขากำหนดไว้แล้วในระบบประกันคุณภาพการศึกษาคือ การประเมินอิงเกณฑ์ และการประเมินอิงสถานศึกษา (ดูทั้งการพัฒนา  การบรรลุเป้าหมาย  ความตระหนัก  ความพยายาม)  จึงอยากเห็นวัฒนธรรมนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นชีวิตจริง และอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำตามรูปแบบเท่านั้น      
หมายเลขบันทึก: 35012เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท