การแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล


ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับวัณโรค กับการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลและการติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรพยาบาล

            วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของบรรพบุรุษของเรามากกว่า 6 พันปี  มีการค้นพบเชื้อวัณโรคโดยโรเบิร์ต คอค นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันและได้มีวิวัฒนาการในการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคมาตามลำดับ(นิธิพัฒน์ เจียรกุล, 2552) วัณโรคเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Mycobacterium ซึ่งมีหลายชนิด ที่พบบ่อยที่สุดคือ M.Tuberculosis ซึ่งสามารถติดต่อได้ทางเดินหายใจ  เมื่อร่างกายรับเชื้อวัณโรคเข้าทางระบบทางเดินหายใจเชื้อจะฝังตัวและแบ่งตัวที่เนื้อปอดบริเวณส่วนล่างของกลีบบนหรือส่วนบนของปอดกลีบล่างโดยแบ่งตัวในเซลล์มาโครฟาจของถุงลม  เมื่อเชื้อแบ่งตัวในเซลล์จำนวนมากพอแล้วจะถูกส่งไปตามกระแสน้ำเหลืองไปต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด ซึ่งจะมีการแบ่งตัวมากขึ้น  แล้วเดินทางเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย(ทวี  โชติพิทยาสุนนท์, 2550)    เชื้อวัณโรคส่วนใหญ่จะถูกระบบภูมิคุ้มกันชนิดพึ่งเซลล์ของร่างกายทำลาย  มีเพียงส่วนน้อยที่จะเหลือซ่อนตามอวัยวะต่างๆ  บางแห่งจะอยู่ในภาวะที่สงบโดยไม่ก่อให้เกิดโรคหรือทำให้เห็นรอยโรค  การเกิดวัณโรคโดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 3 ระยะ(อังกูร  เกิดพาณิช, 2545) คือ   

1. ระยะสัมผัสโรค เป็นระยะที่เพิ่งไปสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะติดต่อ โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ผลตรวจเสมหะให้ผลบวก ซึ่งมักเป็นคนในบ้านเดียวกัน ในระยะนี้ยังไม่ปรากฏอาการใดๆ  การตรวจร่างกายจะไม่พบสิ่งผิดปกติและการทดสอบทุเบอร์คูลินจะให้ผลลบ  ถ่ายภาพรังสีปอดจะปกติ  ทั้งนี้ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคไม่จำเป็นต้องติดเชื้อวัณโรคทุกราย

2. ระยะติดเชื้อวัณโรค ในระยะนี้จะยังไม่มีอาการอาการแสดงเนื่องจากอยู่ในระยะฟักตัว แต่ทราบได้โดยการทำการทดสอบทุเบอร์คูลินจะให้ผลบวก 

3. ระยะเป็นวัณโรค เป็นระยะที่เชื้อวัณโรคมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น  ในระยะนี้จะมีอาการและอาการแสดงที่ชัดเจน  ภาพถ่ายรังสีทรวงอกจะพบความผิดปกติ    ซึ่งพบว่าผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงเมื่อรับเชื้อวัณโรคแล้ว เชื้อจะลุกลามจนเป็นวัณโรคภายหลังการรับเชื้อประมาณ 6 เดือน(ทวี  โชติพิทยาสุนนท์, 2550)   

              ปัจจัยที่ทำให้เชื้อวัณโรคมีการลุกลามเกิดจากเชื้อมีระดับความรุนแรงสูง  การเจ็บป่วยด้วยอื่นที่มีผลทำให้ร่างกายอ่อนแอ เช่นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี  หรือผู้ที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี  ทั้งนี้เมื่อมีการติดเชื้อวัณโรคครั้งแรกแล้วจะมีโอกาสลุกลามกลายเป็นวัณโรคเพียงร้อยละ 5-10 ตลอดชีวิต  โดยครึ่งหนึ่งของการเกิดโรควัณโรคนั้นจะเกิดในช่วง 2-3 ปีแรก  แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยอัตราการเป็นวัณโรคจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5-10 ต่อปี (ทวี  โชติพิทยาสุนนท์, 2550)  

             วัณโรคเป็นโรคติดต่อสำคัญที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุข เป็นสาเหตุการป่วยและการตายในหลายๆประเทศทั่วโลก   ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการพัฒนามาตรฐานการรักษาและการควบคุมวัณโรคทำให้องค์การอนามัยโลกเคยคาดการณ์ไว้ว่าในปี      พ.ศ.2543 จะสามารถควบคุมสถานการณ์ของวัณโรคในประชากรโลกให้ได้เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อสำคัญในอดีตเช่นไข้ทรพิษ  แต่ไม่สามารถดำเนินการได้  จนองค์การอนามัยโลกต้องมีการปรับเป้าหมายและประกาศออกมาว่า “วัณโรคกำลังเป็นภาวะฉุกเฉินที่คุกคามมนุษยชาติ”(นิธิพัฒน์ เจียรกุล, 2552)   ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้วัณโรคกลับมามีปัญหาใหม่ทั่วโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์  ความยากจน  การอพยพย้ายถิ่น  และการเคลื่อนย้ายแรงงาน  ส่งผลทำให้การแพร่ระบาดของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น  และตั้งแต่เดือนเมษายน 2536 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้มีการแก้ไขปัญหาวัณโรคอย่างเร่งด่วน(ปราชญ์  บุญยวงศ์วิโรจน์, 2551) องค์การอนามัยโลกรายงานว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกได้ติดเชื้อวัณโรค ความชุกของผู้ป่วยวัณโรคมีประมาณ 14.4 ล้านคน (219 ต่อแสนประชากร) ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่กำลังแพร่เชื้อ และแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 9.15 ล้านคน (139 ต่อแสนประชากร) โดยร้อยละ 95 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา   ซึ่งผู้ป่วยวัณโรคเสียชีวิตปีละประมาณ 1.65 ล้านคน และผู้ป่วยวัณโรคที่เสียชีวิตร้อยละ 98 อยู่ในประเทศที่ยากจน(ปราชญ์  บุญยวงศ์วิโรจน์, 2551)  

           จากการรายงานขององค์การอนามัยโรคเมื่อปี 2551 มี 22 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรค โดย 3 ประเทศแรกที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุดคือ ประเทศอินเดีย  จีนและอินโดนีเซีย  สำหรับประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 18 (ปราชญ์  บุญยวงศ์วิโรจน์, 2551)  โดยมีผู้ป่วยวัณโรคทั้งสิ้น 125,000 ราย (197 ต่อแสนประชากร) และผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยเสียชีวิตปีละ 13,000 ราย (20 ต่อแสนประชากร)

                สถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549 ผลการรักษาผู้ป่วยรายใหม่ระยะแพร่เชื้อได้อัตราความสำเร็จของการรักษาเพียงร้อยละ 77 สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่บรรลุเป้าหมาย (ร้อยละ 85) คืออัตราการตายสูงร้อยละ 8 และอัตราการขาดการรักษาร้อยละ 6   ในปี พ.ศ. 2550 กรมควบคุมโรครับรายงานจากโรงพยาบาลผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12  แห่ง พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ระยะแพร่เชื้อ 28,250 ราย (44  ต่อแสนประชากร) รวมผู้ป่วยทุกประเภท 54,300 ราย (85  ต่อแสนประชากร)  และในปี 2551 มีผู้ป่วย 65,252 ราย หรืออัตรา 113.51 รายต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 1.8 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเอดส์ป่วยเป็นวัณโรคสูงถึงร้อยละ 30 (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2552)  จำนวนผู้ป่วยวัณโรคเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของการระบาดในชุมชนอันแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่คนในสังคมจะรับเชื้อจากผู้ป่วยเหล่านี้    โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้เป็นวัณโรค    และบุคลากรด้านสุขภาพที่ให้การดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่มีการระบาดของวัณโรค

                การแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลซึ่งมีทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์มาใช้บริการและให้บริการร่วมกันทำให้เกิดการระบาดของวัณโรคได้ 3 รูปแบบ(บุญส่ง  พัจนสุนที, 2543) คือ 1. จากผู้ป่วยวัณโรคสู่ผู้ป่วยอื่น  2. จากผู้ป่วยวัณโรคสู่บุคลากรทางการแพทย์  และ 3. จากบุคลากรทางการแพทย์แพร่กระจายสู่ผู้ป่วยและผู้ร่วมงาน  โดยบุคลากรทางการแพทย์มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อวัณโรคจากการปฏิบัติหน้าที่สูงกว่าประชากรโดยทั่วไป(บุญส่ง  พัจนสุนที, 2543) ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลมีสาเหตุมาจาก การวินิจฉัยล่าช้า  ได้รับผลการตรวจเสมหะช้า  ลักษณะทางคลินิกของวัณโรคที่จำเพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี  การแยกผู้ป่วยไม่ได้มาตรฐาน  และการไม่ได้ใช้เครื่องป้องกันในระหว่างการทำหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อการสูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย(นรวีร์  จั่วแจ่มใส, 2545)  เนื่องจากวัณโรคแพร่กระจายเชื้อทางอากาศผู้ที่ใช้อากาศหายใจจึงต้องมีการใช้มาตรการหลายอย่างเป็นแนวทางในการป้องกัน ในดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในสถานพยาบาลให้ประสบผลสำเร็จประกอบด้วยมาตรการทั่วไปที่ต้องทำในทุกพื้นที่ของโรงพยาบาลและมาตรการจำเพาะสำหรับหน่วยงานที่มีความเสี่ยงสูง(บุญส่ง  พัจนสุนที, 2543)  ซึ่งมาตรการในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในสถานพยาบาลประกอบด้วยมาตรการ 3 กลุ่ม คือ

1. ระบบบริหารจัดการเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคเพื่อให้มีการค้นพบผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อโดยเร็ว  จัดห้องแยกที่เหมาะสม ร่วมกับการให้ยารักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว 

2. การควบคุมสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บริเวณที่มีโอกาสเสี่ยงสูงมีระบบถ่ายเทอากาศที่ดี มีแสงแดดส่องถึง หรือมีมาตรการเสริมอื่นๆเพื่อที่จะเจือจางเชื้อวัณโรคที่แขวนลอยในอากาศโดยเร็วที่สุด  

3. การป้องกันบุคลากรไม่ให้รับเชื้อวัณโรคและป้องกันผู้ที่รับเชื้อแล้วไม่ให้ป่วยเป็นวัณโรค  เลือกใช้เครื่องป้องกันที่เหมาะสม และคัดกรองบุคลากรที่ได้รับเชื้อแล้วได้รับยาป้องกันที่เหมาะสม  และที่สำคัญคือการให้ความรู้แก่บุคลากรให้รู้จักป้องกันตนเอง(บุญส่ง  พัจนสุนที, 2543)

         การให้ความรู้แก่บุคลากรในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการติดเชื้อและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเป็นการดำเนินการเพื่อให้บุคลากรเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการควบคุมการติดเชื้อและปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด  ซึ่งการให้ความรู้เรื่องวัณโรคแก่บุคลากรทางการแพทย์ต้องประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ  แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อและแนวทางในการลดปัจจัยเสี่ยง  การใช้เครื่องป้องกันร่างกาย  การเฝ้าระวังอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อ ซึ่งผลสำรวจระบบการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในประเทศไทยพบว่า        โรงพยาบาลที่ได้ดำเนินการในการให้ความรู้บุคลากรเกี่ยวกับวัณโรคมีเพียงร้อยละ 56 (นรวีร์  จั่วแจ่มใส, 2545)  ซึ่งบุคคลที่มีความรู้  ความเข้าใจที่ดีจะนำสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องการปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลนอกจากบุคลากรต้องมีความรู้แล้วความเชื่อยังเป็นส่วนประกอบภายในตัวบุคคล  โดยความเชื่อจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรมของบุคคล  ซึ่งแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) ของเบคเกอร์(Becker, 1974)ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่มีผลต่อพฤติกรรมความร่วมมือในการป้องกันโรคไว้(Becker, 1974; Janz & Becker, 1984) ดังนี้

  1. การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค  เป็นความเชื่อของบุคคลที่มีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะเจ็บป่วย แต่ละบุคคลจะมีความเชื่อในระดับที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นบุคคลทางการแพทย์ที่รับรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคจากการปฏิบัติงานบุคลากรเหล่านี้จึงหลีกเลี่ยงต่อการเป็นวัณโรคด้วยการปฏิบัติตามแนวทางเพื่อป้องกันการรับเชื้อ
  2. การรับรู้ความรุนแรงของโรค   เป็นการประเมินการรับรู้ความรุนแรงของโรค ปัญหาสุขภาพหรือผลกระทบจากการเกิดโรคซึ่งก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยวัณโรคมีการรับรู้ต่อระดับความรุนแรงของการป่วยด้วยโรควัณโรคซึ่งอาจจะมองความรุนแรงของการเจ็บป่วยนั้นทำให้เกิดความพิการหรือตายหรืออาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน  เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย  หายใจเหนื่อย  การรักษาต้องรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน  และผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาอาจจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้   เมื่อบุคคลรับรู้ถึงความรุนแรงของโรคมากเท่าใดจะยิ่งทำให้เกิดความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางในการป้องงกันการการติดเชื้อมากขึ้นเช่นกัน
  3. การรับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค   การที่บุคคลแสวงหาวิธีการปฏิบัติให้ปลอดภัยจากโรคหรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นต้องมีความเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ดีมีประโยชน์ ดังนั้นการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำก็ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบถึงข้อดีและข้อเสียของพฤติกรรมนั้นโดยเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย โดยบุคลากรทางการแพทย์ทราบดีว่าการปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลเป็นการเพิ่มความปลอดภัยจากการติดเชื้อวัณโรค  เมื่อบุคลากรรับรู้ถึงผลดีของการปฏิบัติแล้วจะส่งเสริมให้บุคลากรมีพฤติกรรมต่อความร่วมมือในการดำเนินการมาขึ้น
  4. การรับรู้ต่ออุปสรรค   เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของบุคคลต่อการปฏิบัติพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของบุคคลในทางลบ เช่น การปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลเป็นการดำเนินการที่ยุ่งยาก  รบกวนการปฏิบัติงานและเป็นการเพิ่มภาระงาน  ซึ่งการรับรู้อุปสรรคเป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมการป้องกันโรค และพฤติกรรมนี้สามารถใช้ทำนายพฤติกรรมการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลได้

          ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อวัณโรคเพิ่มมากขึ้น โดยประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อวัณโรคมากเป็นลำดับที่ 18 ของโรค  ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้นบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น  โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล  ทั้งนี้ยังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์มีการติดเชื้อวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไป 2-10 เท่า(บุญส่ง  พัจนสุนที, 2543)

                จากทฤษฎีพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลเป็นปัจจัยด้านบุคคล ได้แก่ ความรู้  และความเชื่อด้านสุขภาพที่จะเป็นปัจจัยทำนายการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อ  หากบุคลากรมีความรู้เรื่องวัณโรค  และมีความเชื่อด้านสุขภาพจะทำให้มีการปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลมากขึ้น และส่งผลให้การติดเชื้อวัณโรคในบุคลากรน้อยลง  ดังนั้นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรู้  ความเชื่อด้านสุขภาพเกี่ยวกับวัณโรค กับการปฏิบัติเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลและการติดเชื้อวัณโรคของบุคลากรพยาบาลจะทำให้ทราบถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อวัณโรคในบุคลากรเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานในการเฝ้าระวังการติดเชื้อวัณโรคในบุคลากรพยาบาลในโรงพยาบาล

 

 

บรรณานุกรม 

Becker, M. H. (1974). The Health belief model and personal health behavior

           Michigan: C. B. Slack.

Janz, N. K., & Becker, M. H. (1984). The health belief model: a decade later

           Health education quarterly.

ทวี  โชติพิทยาสุนนท์ (2550). วัณโรค ใน โรคติดเชื้อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน จุฑารัตน์ 

          เมฆมัลลิกา  ชิษณุ  พันธ์เจริญ  ทวี  โชติพิทยสุนนท์  และ อุษา  ทิสยากร 

          บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: ธนาเพลส.

นรวีร์  จั่วแจ่มใส (2545). การป้องกันวัณโรคในบุคลากรการแพทย์ ใน รายงานการ

         ประชุมทางวิชาการวัณโรคและโรคระบบทางเดินหายใจระดับชาติครั้งที่ 5 วันที่  

         16-18 กรกฎาคม 2545 โรงแรมเซ็นจูรี่  พาร์ค  กรุงเทพฯ: สมาคมปราบวัณโรค

        แห่งประเทศไทย.

นิธิพัฒน์ เจียรกุล (2552). เรียนรู้วัณโรคhttp://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=496. กรุงเทพ: คณะแพทยศาสตร?ศิริราชพยาบาล.

บุญส่ง  พัจนสุนที (2543). วัณโรคในบุคลากรทางการแพทย์  ขอนแก่น: คลังนานา

          วิทยา.

ปราชญ์  บุญยวงศ์วิโรจน์ (2551). สถานการณ์วัณโรคของประเทศไทยและแนวทาง

            แก้ไข. วารสารวัณโรค  โรคทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต, 29(3), 169-172.

พรพรรณ  เธียรปัญญา (2535). ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้  ทัศนคติเกี่ยวกับโรคเอดส์

           กับการปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อโรคเอดส์ของพยาบาลวิชาชีพในการ

           พยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา  โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่.วิทยา

           นิพนธ์พยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต  สาขาการพยาบาลแม่และเด็ก. บัณฑิต

           วิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่.

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (2552). ภาวะ

           สังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2552 หน้า 4 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการ

           เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  http://www.nesdb.go.th/temp_social/ts/temp_social_1-2552.pdf

 อังกูร  เกิดพาณิช (2545). การรักษาวัณโรคในระยะติดเชื้อ ใน รายงานการประชุม

            วิชาการวัณโรคและโรคระบบการหายใจระดับชาติ ครั้งที่ 5 วันที่ 16-18

             กรกฎาคม 2545 โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ: สมาคมปราบวัณโรคแห่ง

             ประเทศไทย.

 

คำสำคัญ (Tags): #วัณโรค
หมายเลขบันทึก: 349850เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

แปลกจังนะคะ

โรคนี้ไม่หมดไปเสียทีค่ะ เป็นกำลังใจให้ ICN ค่ะ

คนไข้ทานยาในระยะสองเดือนแรกได้ไม่ดีนะคะ

โดยเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทันคะ คนไข้มีมากขึ้น

บางคนก็ซ่อนยาไว้คะ บอกว่าทานครบ

ระยะเวลาการรักษา 6 เดือน ที่จะต้องทานยาต่อเนื่องคะคนไข้เลยเบื่อนะคะ หรือไม่มีค่ารถมารับยา

ขอขอบคุณข้อมูลดีดีเกี่ยวกับวัณโรคค่ะ

Medical research of Plasmacluster against Tuberculosis , bacteria and fungi from Thailand Research Team...

http://www.icnurse.org/webboard/webboardDetail.php?detailID=912

http://www.youtube.com/watch?v=cBxSJhkxY5I&feature=player_embedded

The technology may be used for risk reduction of airborne germs ... The further test is useful for reducing the high risk contamination among professor.

กลไกการทำลายเชื้อแบคทีเรียของอนุภาคพลาสม่าคลัสเตอร์

(Bactericidal effects of plasma-generated cluster ions)

ตีพิมพ์ใน Abstract ของวารสารการแพทย์ Med.Biol.Eng.Comput.,2005,43,800-807

----------------------------------------------------------------

Diget , A.Temiz Artmann , K.Nishikawa , M.Cook , E.Kurulgan , G.M.Artmann

University of Applied Sciences, Aachen , Germany

Sharp Corporation , Japan

ระบบ plasmacluster เป็นการพ่นอนุภาค + และ – ออกมา จากผลการทดสอบที่ผ่านมาหลายๆครั้งยืนยันได้ว่าเป็นอาวุธอย่างดีในการทำลายเชื้อโรคหลากหลายสายพันธุ์ แต่เราก็ยังไม่ทราบกลไกการทำงานอย่างกว้างขวางนัก วัตถุประสงค์ของการทดสอบครั้งนี้เป็นการศึกษาวิธีการทำงานและประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรคของอนุภาคพลาสม่าคลัสเตอร์ที่มีต่อเชื้อโรคทั่วไปในครัวเรือน จากการทดลองหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของอนุภาคที่ถูกพ่นออกมากับระยะเวลาที่ใช้ต่อเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococcus, Enterococcus, Micrococcus และ Bacillus เราพบว่าปฎิกริยาการทำลายเกิดขึ้นทันทีภายในไม่กี่นาทีแรกของการพ่นอนุภาคพลาสม่าคลัสเตอร์ รวมถึงการทำลายเชื้อโรค 99.9% อย่างถาวรภายในเวลา 2-8 ชั่วโมง ผลการทำลายได้เกิดขึ้นที่ผนังเซลล์ของเชื้อโรค ซึ่งเราใช้จากการตรวจสอบแบบเทคนิค SOS PAGE และ 2D PAGE จึงได้บันทึกถึงการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนชั้นนอกที่ผนังเชื้อโรค รวมถึงการบันทึกผลต่อการสูญสลายไปทั้ง DNA และ cytoplasm ด้วย ยืนยันได้ว่าอนุภาคพลาม่าคลัสเตอร์ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังเชื้อโรคด้วยปฎิกริยาทางเคมี โดย active hydroxyl ที่เกิดขึ้นมีผลทำให้ผนังโปรตีนของเชื้อโรคถูกทำลายไป ขณะเดียวกันกับการสูญสลายของ DNA ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานของอนุภาคพลาสม่าคลัสเตอร์แต่อย่างใด ข้อมูลการทดสอบครั้งนี้จึงเป็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการนำระบบฆ่าเชื้อโรคนี้ไปทำให้เกิดประสิทธิผลในการประยุกต์ใช้กับเครื่องมือได้ดีขึ้น

อยากทราบว่า เชื้อวัณโรคแพร่กระจายได้ไกลในระยะเท่าไหร่คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท