KM คืออะไร ทำไมเราต้องทำ KM...เหตุผลง่ายๆอยู่ที่นี่ค่ะ


ถ้าคิดว่าการจัดการความรู้หรือ KM ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น ก็จะรู้ว่าทำไมต้องทำ

KM (Knowledge Management) ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆนี้ ถ้าเราแปลเป็นไทย แล้วคิดให้ดีๆ ว่าการจัดการความรู้คืออะไร ทำไมเราต้องทำก็จะช่วยให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น อย่างที่ตัวเองเริ่มจะเข้าใจมากขึ้นๆ เพราะเคยสงสัยมาก่อนเหมือนกัน เคยคิดว่า อะไรๆก็ KM ใครๆก็พูดถึง KM หน่วยงานจะต้องทำ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา

จากการอ่านบ้าง คิดบ้าง ดูตัวอย่างต่างๆใน GotoKnow รวมทั้งจากการเตรียมตัวเป็นวิทยากรเรื่องเกี่ยวกับ KM และต้องพูดเรื่องบทบาทของคนในองค์กร ทำให้เริ่มเข้าใจขึ้นว่า การจัดการความรู้ ทำได้เสมอ ส่วนใหญ่คนที่ทำงานดีๆ มักจะทำ KM โดยที่ตัวเองไม่รู้ตัวอยู่แล้ว แต่ถ้าเรารู้จักเครื่องมือต่างๆในการทำ KM เราจะยิ่งสามารถจัดการความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเอง และยังสามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นได้ด้วย

เรามีบทบาทในการจัดการความรู้ได้เสมอ ในระดับแรกสุดก็คงจะเป็นงานที่เราทำประจำ (ว่าไปแล้วก็ใช้ได้ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน) ถ้าที่บ้าน ก็ลองนึกถึงภาระกิจประจำวัน ถ้าเราใช้การจัดการความรู้ (KM) ในการล้างจาน โดยมีวัตถุประสงค์ว่า ทำให้เสร็จเร็วและสะอาดดี เราก็จะต้องคิดว่า เราควรเริ่มจากการแยกของต่างๆ จานที่เลอะมาก เลอะน้อย แก้วน้ำที่สะอาดที่สุด ล้างอันไหนก่อนจะเร็วที่สุด จะต้องวางยังไงที่จะทำให้หยิบทุกอย่างได้ตามลำดับ ฯลฯ ถ้าเปรียบเทียบกับการทำไปเรื่อยๆ ไม่คิดถึงการจัดการความรู้ เราอาจจะไม่ได้ทำให้การล้างจานดีขึ้นเลย อาจจะเร็วขึ้นเมื่อเราทำจนชิน รู้โดยอัตโนมัติจากการทำซ้ำๆว่าต้องทำยังไงจึงจะเสร็จเร็ว แต่สิ่งเหล่านี้จะสะสมเป็นความรู้ฝังลึก(tacit knmowledge)ของเราในการล้างจาน ถ้าหากเราสามารถคิดระหว่างทำว่า ทำยังไงถึงจะดีขึ้น เร็วขึ้น ลดเวลาลง ฯลฯ ซึ่งก็คือการทำ KM อย่างตั้งใจในการล้างจาน ไม่ใช้แต่เฉพาะ tacit knowledge เราก็น่าจะพัฒนาการล้างจานให้ดีขึ้นได้ แล้วถ้าต้องสอนให้ลูกล้างจาน เราก็จะบอกสิ่งที่ควรระวังต่างๆ เช่น เอามีดออกจากกองช้อนก่อน แยกแก้วไว้ล้างก่อน ฯลฯ ทำให้ลูกไม่ต้องลองเอาเอง สิ่งเหล่านี้ถ้ามีการบันทึกไว้ก็จะเป็นคลังความรู้ในการล้างจานได้

เห็นๆไหมคะว่า ทำ KM แล้วเราจะพัฒนาตัวเอง ทำให้คิดเวลาลงมือทำงานที่เคยทำๆอยู่เป็นประจำ แล้วถ้าเรามองคนอื่นที่ทำงานแบบเดียวกับเราว่าเขาทำงานนั้นๆอย่างไร เราอาจจะได้อะไรมากขึ้น หรือถ้ามีบางขั้นตอนที่เราทำแล้วได้ผลดีกว่า เราอาจจะเสนอแนะแลกเปลี่ยนกันได้ด้วย ก็จะทำให้เราได้วิธีการในการทำงานนั้นๆที่ดียิ่งๆขึ้น สิ่งที่เรารู้ก็จะได้ถ่ายทอดไปให้คนอื่นที่จะทำงานอย่างเดียวกันได้ด้วย

นี่เป็นเพียงระดับที่หนึ่ง เริ่มที่ตัวเราเองกับภาระกิจของเราในบ้าน หากเราใช้กับการทำงานด้วย มองการงานที่เราทำประจำแบบ KM มองคนอื่นที่ทำงานแบบเดียวกับเราว่าเขาทำ KM ในงานเขาอย่างไร เขาทำได้ดีกว่า ด้อยกว่าเราตรงไหน มีอะไรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้บ้าง เราก็จะได้เห็นประโยชน์ของการทำ KM และจะค่อยๆเข้าใจมากขึ้นว่า KM คืออะไร ทำแล้วดียังไง

การทำ KM ณ.จุดนี้เราเรียกตัวเองว่าเป็น "คุณกิจ" ของการจัดการความรู้ได้อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นงานในองค์กร เราก็จะเป็นเฟืองตัวเล็กๆที่แข็งแรง หมุนได้ไม่ติดขัด 

สำหรับบทบาทในระดับที่เราสามารถช่วยคนอื่นในการจัดการความรู้ได้ด้วย จะดีอย่างไร นั่นคือเราจะมีบทบาทเป็น"คุณอำนวย" ในการทำ KM ได้หรือไม่ ทำแล้วได้อะไร จะมาคุยต่อวันหลังค่ะ  

หมายเลขบันทึก: 34979เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2006 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นการถ่ายทอดเรื่องราว KM ที่มองเห็นภาพชัดเจนดีมากคะ เพิ่งจะรู้นะคะว่า KM นอกจากจะสามารถทำให้เนียนอยู่ในเนื้องานประจำแล้ว ยังแทรกซึมลึกอยู่ในงานบ้านได้ด้วย  ถ้าใครได้อ่านบันทึกนี้ ความคิดที่ว่าKM เป็นเรื่องไกลตัว คงจะใช้ไม่ได้แล้ว ขอบคุณนะคะที่ช่วยถ่ายทอดแนวคิดในการอธิบายให้คนในองค์กรได้เข้าใจเรื่อง KM ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องอาศัยหลักทฤษฎีให้ยุ่งยาก จะขออนุญาตคุณโอ๋ ในการนำเอาตัวอย่างการทำ KM ในแบบฉบับของคุณโอ๋ ไปถ่ายทอดให้เพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ได้เข้าใจเรื่อง KM หวังว่าคงจะไม่สงวนลิขสิทธิ์นะคะ

คุณโอ๋ ทำให้พวกเราเข้าใจในแก่นและประโยชน์ของการจัดการความรู้มากยิ่งขึ้น
สำหรับพี่เม่ยแล้ว คิดว่าการนำ KM มาใช้ให้เป็นธรรมชาติจะสัมฤทธิ์ผลที่สุด เพราะธรรมชาติของทุกคนย่อมไม่เหมือนกัน วิธีการจัดการความรู้ก็ย่อมแตกต่างกันไปได้ เรียกว่าฟรีสไตล์ค่ะ....

อธิบายได้ง่ายดี ชื่นชมครับและก็ดีใจที่ได้เจอตัวจริงเมื่องานวันคล้ายวันเกิดของgotoknowเมื่อ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาครับ

ขออนุญาต เสรอมครับ

การเรียนรู้  ที่ สำคัญ คือ KM ในตัวเรา

รู้ คือ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม

รู้ระดับปรมัติ  นี่แหละ เป็น ไตรสิกขา

ทำ KM แล้ว  ปรับอารมณ์ตนเองได้  แก้ไขตนเองได้ ละนิสัยไม่ดีของตนเองได้   นี่แหละ The real KM

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ เห็นด้วยกับพี่เม่ยว่า เราแต่ละคนจะถนัดทำ KM ได้ในแบบที่ต่างๆกัน ซึ่งนั่นคืออีกอย่างที่เราจะได้ประโยชน์จากการศึกษาวิธีการนั้นๆ เพื่อใช้กับธรรมชาติแต่ละแบบของคน หากเรารับบทเป็น"คุณอำนวย" หรือ "คุณเอื้อ" หรืออื่นๆนอกจากการเป็น "คุณกิจ"เสียเอง

ชอบบันทึกนี้ของพี่โอ๋มากค่ะ เนื้อหา ....เนียน..เนียน ในเนื้อค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท