นวัตกรรมกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ


นวัตกรรมกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ 

                ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต  และมีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไปโดยไม่มีวันสิ้นสุด  เคยลองสังเกตรอบ ๆ ตัวเราดูไหมว่าตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนกระทั่งเข้านอนตอนกลางคืน  ได้สัมผัสกับเทคโนโลยีแบบใดบ้าง  เช่น การปรุงอาหาร  การเดินทาง  การสื่อสารหลากหลายรูปแบบ  วัสดุ-อุปกรณ์สำหรับการทำงานในอาชีพต่าง ๆ ฯลฯ  จะเห็นว่าเราได้ใช้เทคโนโลยีหลาย ๆ รูปแบบโดยไม่รู้ตัว  และได้ยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว  ทั้งนี้เนื่องจากความง่ายและให้ประโยชน์มากมายกับมนุษย์ จึงทำให้คนรู้สึกเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน  แต่ในทางเดียวกัน  หากมีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมาและทำให้รู้สึกไม่เป็นปกติในการดำเนินชีวิตทำให้เกิดการต่อต้านและต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะได้รับการยอมรับ  โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีความยากในการผสมผสานให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์และในบางครั้งก็ได้รับการปฏิเสธจากมนุษย์ไป

                ในทางการศึกษาก็เช่นเดียวกันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทั้งในด้านการบริหาร  และการปฏิบัติงาน ลดความซ้ำซ้อนของงาน  ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว  เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน  การติดต่อสื่อสารรวดเร็ว  การเรียนการสอนในยุคนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ดังจะเห็นได้จากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่หลากหลาย  เช่น  ระบบการบริหารการจัดการในสถานศึกษา (MIS) ,  บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)  ,  Web-base  Instruction,  Courseware,  e-Learning,  e- Library, e- Portfolio,  Video on  Demand,  Video  Conference,  โทรทัศน์วงจรปิด,  โทรทัศน์การศึกษาทางไกล ,  วิทยุการศึกษา  เป็นต้น  ทั้งนี้เพราะสื่อการสอนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน  สื่อการสอนมีให้เลือกมากมายหลายชนิด  สิ่งสำคัญคือผู้สอนจะต้องเลือกและใช้สื่อการสอนให้เหมาะสมกับบทเรียน  โดยสื่อดังกล่าวต้องใช้ได้อย่างสะดวก และเมื่อนำมาใช้แล้วต้องช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  สื่อการสอนไม่ว่าจะเป็นสื่อชนิดหรือรูปแบบใด  ความคิด  และทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่มากมายไปด้วยข้อมูลข่าวสาร การใช้สื่อการสอนในรูปแบบที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นมากขึ้น  เพราะสื่อจะช่วยให้การรับรู้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของสื่อและวิธีการเสนอสื่อนั้น ๆ สื่อธรรมดาที่สุด เช่น ชอล์ก,  กระดานดำหรือไวท์บอร์ด  หากมีการออกแบบการใช้ที่ดีก็อาจมีประสิทธิภาพในการสื่อความหมายมากกว่าการใช้สื่อที่ซับซ้อน และมีราคาแพงกว่าก็เป็นได้  อย่างไรก็ตาม สื่อแต่ละประเภทย่อมมีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเอง

 ความหมายของนวัตกรรมและระบบสารสนเทศ

นวัตกรรม(Innovation)

                หมายถึง  การนำสิ่งใหม่ ๆ อาจเป็นแนวคิด หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและได้ผลดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงกว่าเดิม ทั้งยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานด้วย

นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational  Innovation)

                หมายถึง การนำเอาสิ่งใหม่ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำรวมถึงสิ่งประดิษฐ์ก็ตาม เข้ามาใช้ในระบบการศึกษาเพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นทำให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วก็เกิดแรงจูงใจในการเรียนและช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน เช่น  การสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย  การใช้วีดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive  Video)  สื่อหลายมิติ(Hypermedia)  และอินเตอร์เน็ต  เหล่านี้เป็นต้น

หลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาว่าสิ่งใดคือนวัตกรรม 

                1.  เป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน

                2.  มีการนำวิธีการจัดระบบ  (System  Approach)  มาใช้พิจารณาองค์ประกอบทั้งส่วน  ข้อมูลที่ใช้เข้าไปในกระบวนการและผลลัพธ์ให้เหมาะสมก่อที่จะทำการเปลี่ยนแปลง

                3.  มีการพิสูจน์ด้วยการวิจัยหรืออยู่ระหว่างการวิจัยว่าจะช่วยให้ดำเนินงานบางอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

                4.  ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งในระบบงานปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรม 

                1.  แนวคิดพื้นฐานในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล ( Individual  Different)  นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวคิดพื้นฐานนี้ เช่น

                                -  การเรียนแบบไม่แบ่งชั้น  (Non- Graded  School)

                                -  แบบเรียนสำเร็จรูป  (Programmed  Text  Book)

                                -  เครื่องสอน  (Teaching  Machine)

                                -  การสอนเป็นคณะ  (Team  teaching)

                                -  การจัดการเรียนในโรงเรียน (School within  School)

                                -  เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (  Computer  Assisted  Instruction)

               2.  แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องความพร้อม  (Readiness)  นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้ เช่น

                                -  ศูนย์การเรียน  (Learning  Center)

                                -  การจัดโรงเรียนในโรงเรียน (School within  School)

                                -  การปรับปรุงการสอนสามชั้น  (Instructional  Development  in 3 Phases)

                3.  แนวความคิดพื้นฐานในเรื่องการใช้เวลาเพื่อการศึกษานวัตกรรมที่สนองแนวความคิด เช่น

                                -  การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น (  Flexible  Scheduling)

                                -  มหาวิทยาลัยเปิด  (Open  University)

                                -  แบบเรียนสำเร็จรูป  (Programmed  Text  Book)

                                -  การเรียนทางไปรษณีย์

                4.  แนวคิดพื้นฐานในเรื่องการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มประชากรนวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น เช่น 

                                -  มหาวิทยาลัยเปิด

                                -  การเรียนทางวิทยุการเรียนทางโทรทัศน์

                                -  การเรียนทางไปรษณีย์  แบบเรียนสำเร็จรูป

                                - ชุดการเรียน

 สารสนเทศ (Information)  หมายถึง ข่าวสารที่ได้จากการนำ ข้อมูลดิบ (raw  data)    มาคำนวณทางสถิติหรือประมวลผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งข่าวสารที่ได้ออกมานั้นจะอยู่ในรูปที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที  ในส่วนของเทคโนโลยีสารสนเทศ  (Information  Technology)  จะหมายถึงกระบวนการต่าง ๆ ในระบบงานที่ช่วยให้ได้สารสนเทศที่ต้องการโดยจะรวมถึง

  1. เครื่องมือ อุปกรณ์ ต่าง  ๆ  ซึ่งส่วนมากแล้วจะหมายถึง  เครื่องคอมพิวเตอร์  เครื่องใช้สำนักงาน  อุปกรณ์โทรคมนาคมต่าง ๆ  รวมทั้งซอฟแวร์ทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบพัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะด้าน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จัดเป็นเครื่องมือสมัยใหม่และเทคโนโลยีระดับสูง
  2. กระบวนการในการนำอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ข้างต้นมาใช้งานเพื่อรวบรวม  จัดเก็บ  ประมวลผล  และแสดงผลลัพธ์เป็นสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามรถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ระบบสารสนเทศ  (Information  System)  เป็นคำที่มีคยวามหมายกว้าง  อาจหมายถึง ระบบที่ดำเนินการจัดการข้อมูลข่าวสารในองค์กรให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบโดยไม่มีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

   แต่ในที่นี้จะหมายถึงระบบที่มีการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยจัดข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ได้มาเพื่อสารสนเทศเพื่อนำไปประกอบการตัดสอนใจในเวลาอัดรวดเร็วและถูกต้องที่สุด  ดังนั้นระบบสารสนเทศในที่นี้ประกอบด้วย ฮาร์ดแวร์  ซอฟแวร์  ผู้ใช้  กระบวนการ  และตัวข้อมูลหรือสารสนเทศโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนสามารถตรวจสอบและประเมินผลระบบได้  อธิบายได้คือ เมื่อมีข้อมูลข่าวสารที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการบริหารจัดการ องค์กรสามารถสร้างระบบสารสนเทศในระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีชุดคำสั่งหรือซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดการกับข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น  ให้อยู่ในรูปของฐานข้อมูลหรือ web base  มีฮาร์ดแวร์ที่ทำงานสัมพันธ์กับซอฟต์แวร์เกิดกระบวนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนจากการทำงานประสานกันของฮาร์ดแวร์  ซอฟต์แวร์  ข้อมูล(ข่าวสาร)  โดยบุคลากรทางวิชาชีพ  เช่น  นักคอมพิวเตอร์  นักบริหารฐานข้อมูล  หรือนักเขียนโปรแกรม รวมทั้งนักวิเคราะห์และนักออกแบบระบบเป็นผู้ดำเนินงานตามที่ผู้ใช้ ต้องการ จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรารู้จักกันในนาม “ระบบสารสนเทศ”  ดังนั้นเมื่อมีระบบ สารสนเทศแล้วองค์กรหรือธุรกิจจะสามารถได้รับประโยชน์หลัก 2 ประการดังนี้

1.สามารถประมวลผลสารสนเทศในลักษณะต่าง ๆ เช่น เป็นการประมวลระบบสารสนเทศเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นำมาใช้เฉพาะด้านเฉพาะส่วนหรือสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจของทั้งองค์กร ยกตัวอย่างเช่น  บริษัทขายหนังสือ ย่อมต้องการข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้ากรณีที่มีลูกค้าและรายการสินค้าที่สั่งซื้อจำนวนมาก บริษัทจะต้องติดต่อผู้ผลิตหลายราย  ข้อมูลอาจสับสนหากไม่มีระบบการสั่งซื้อที่มีประสิทธิภาพ  ดังนั้น  เมื่อนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลลูกค้าก็จะสามารถตรวจสอบ วัน เดือน ปี ที่สั่งซื้อสินค้า  จำนวนสินค้าแต่ละรายการ  สำนักพิมพ์หรือผู้ผลิตสินค้า ราคา  การตรวจสอบสินค้าที่มีอยู่ในร้านบางส่วน  การจัดส่ง  การชำระเงิน  การตรวจสอบรายการสินค้ากับลูกค้า ฯลฯ  ได้อย่างรวดเร็วทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ และเมื่อบริษัทมีข้อมูลที่ถูกต้องจะสามารถป้องกันการรั่วไหลของผลกำไรได้

2. ผู้บริหารสามารถใช้ผลลัพธ์ของระบบหรือสารสนเทศจากระบบไปประกอบการตัดสินใจภายในหน่วยงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถทำรายงานสรุปเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อผู้บริหารระดับสูงสามารถนำไปพิจารณาประกอบการวางแผนธุรกิจในอนาคตต่อไป

สรุปได้ว่า  ระบบสารสนเทศ  จำเป็นต้องมีระบบข้อมูลหรือระบบฐานข้อมูลที่จัดเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพและการเข้าถึงระบบข้อมูลนี้อาจจัดการให้อยู่ในรูปของระบบผู้ใช้คนเดียว หรือระบบเครือข่ายเฉพาะที่  (LAN)  หรือระบบหลากผู้ใช้ที่มีคอมพิวเตอร์ระดับ เมนเฟรมเป็นแม่ข่าย  ตลอดจนระบบเครือข่ายแบบ client/server system  ที่ผู้ใช้ขององค์กรกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ แต่สามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงสารสนเทศซึ่งกันและกันได้ 

นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา 

สาระความรู้ 

  1.  แนวคิด ทฤษฎี เทคโนโลยี และนวัตกรรมการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้
  2. เทคโนโลยีและสารสนเทศ
  3. การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ
  4. แหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้
  5. การออกแบบ  การสร้าง  การนำไปใช้ การประเมินและการปรับปรุงนวัตกรรม

สมรรถนะ 

  1. สามารถเลือกใช้  ออกแบบ  สร้างและปรับปรุงนวัตกรรมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี
  2. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี
  3. สามารถแสวงหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของผู้เรียน

มีรายละเอียดดังนี้

                เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา

                การนำเอาเทคโนโลยีทางการศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนนั้น เรามักจะพบว่าเมื่อสถานการณ์ของการใช้เปลี่ยนแปลงไป เช่น  ชั้นเรียนที่ผู้เรียนเปลี่ยนไป หรือเวลาที่ต่างกัน สิ่งเหล่านั้นมีผลต่อประสิทธิภาพของวิธีการที่ผู้สอนนำไปใช้ในการเรียนการสอนทั้งสิ้น  ในกรณีที่ใช้วิธีการนั้นต่อไป  ซึ่งนับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี  แต่ในกรณีที่ประสิทธิภาพลดลง  ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวิธีการนั้น ๆ หรืออาจต้องหาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ สิ่งใหม่ที่นำมาใช้หรือวิธีการที่ได้รับนำเอาการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนี้เรียกว่า นวัตกรรม  (Innovation)   นวัตกรรม= นว(ใหม่)+อัตตา(ตนเอง)+กรรม(การกระทำ)

                ในการดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ มักจะเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมายมนุษย์จึงพยายามสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เพื่อแลกเปลี่ยนจากสภาพที่เคยเป็นอยู่ไปสู่สภาพที่อยากเป็น  นวัตกรรมจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการต่าง ๆ เช่น  นวัตกรรมทางการแพทย์  นวัตกรรมทางการเกษตร  นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม  นวัตกรรมทางการบริหาร  นวัตกรรมทางการประมง  นวัตกรรมทางการสื่อสาร  ฯลฯ

ลักษณะของนวัตกรรม  สิ่งที่ต้องจัดว่าเป็นนวัตกรรม ควรประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้

  1.  จะต้องเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ (creative)  และเป็นความคิดที่สามารถปฏิบัติได้  (Feasible  ideas)
  2. จะต้องสามารถนำไปใช้ได้ผลจริงจัง (practical  application)
  3. มีการเผยแพร่ออกสู่ชุมชน  (diffusion  through) 

        ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ  (๒๕๔๙)  ได้กำหนดแนวทางการออกแบบมัลติมีเดียเพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพไว้ 5 ประการ ได้แก่

               1. กำหนดเป้าหมาย (Goal)  การกำหนดเป้าหมายจะช่วยให้สามารถสร้างสื่อฯได้ตรงกับความต้องการมากที่สุด  โดยสามารถจำแนกเป้าหมายได้ดังนี้

1.1  เพื่อถ่ายทอดความรู้

1.2  เพื่อสร้างทักษะ

1.3  เพื่อสนับสนุนการทำงาน

                2.  ศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน โดยจะต้องศึกษาว่าผู้เรียนคิดอย่างไร  ยอมรับนวัตกรรมใหม่ รูปแบบนี้หรือไม่  ผู้เรียนเรียนรู้จาก Concept   หรือศึกษากระบวนการก่อนนำไปพัฒนาความเข้าใจในเนื้อหา

                3.  พิจารณาถึงประสบการณ์ที่ดีที่สุดของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกมีส่วนร่วมกับสื่อ

                4.  ศึกษาความคงทนของเนื้อหา  พิจารณาว่าเนื้อหามีความคงทนนำไปใช้งานได้นานแค่ไหน  มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งหรือไป อย่างไร

                5.  ใช้เทคนิคของทีม นำผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านมานำเสนอความรู้ ผสมผสานกับผู้เรียนออกความเห็นต่อสื่อ

                ในส่วนของโรงเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้มีการสำรวจการใช้สื่อมัลติมีเดียในโรงเรียน  พบว่า มีความหลากหลายและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  เนื่องจากความแตกต่างของขนาดโรงเรียน ภูมิภาค  และการให้ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอน  โดยการใช้สื่อของแต่ละแห่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

1.ระดับพื้นฐาน  เป็นการนำสื่อที่มีอยู่แล้วทั่วไปมาใช้ร่วมในการเรียนการสอนอย่างไม่เป็นทางการ เช่น นำบทเรียนบรรจุในCD-ROM    ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด  ดาวน์โหลดสื่อรูปต่าง ๆ ที่บริการแจกฟรีจากอินเตอร์เน็ต  การได้รับจัดสรรสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากส่วนกลางหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้นักเรียนใช้เรียนเสริมในเวลาว่างหรือในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างเรียน  ทั้งนี้สื่อที่นำมาใช้จะมีรูปแบบไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับครูผู้สอน ทำให้มีความยืดหยุ่นสูงแต่เนื้อหาสื่ออาจจะตรงหรือไม่ตรงกับบทเรียนเลยก็ได้

2. ระดับบูรณาการร่วมกับการสอน  เป็นการนำเสนอมัลติมีเดียมาใช้อย่างมีแบบแผน  โดยนำสื่อไปไว้ในส่วนหนึ่งของแผนการสอนแบบรูปธรรมเป็นแผนการสอนที่นำ ICT  มาใช้ในการบูรณาการในชั้นเรียน  การได้มาของสื่อมัลติมีเดียจัดหามาได้หลายทาง เช่น ผลิตขึ้นเอง การจัดซื้อ จัดจ้าง ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตทั้งที่บริการแจกฟรีหรือเสียค่าใช้จ่าย ได้จัดสรรจากส่วนกลาง หรือได้รับบริจาคจากหน่วยงานภายนอก เป็นต้น 

3. ระดับบูรณาการร่วมกับระบบเครือข่าย  โดยการนำเทคโนโลยีมัลติมีเดียไปใช้งานร่วมกับระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์  หรือที่รู้จักกันทั่วไปเรียกว่า e- Learning  ซึ่งมีระบบบริหารจัดการชั้นเรียน คือ LMS  การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนสามารถติดต่อได้โดยผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  มีแผนการสอนชัดเจนและเป็นแผนการสอนด้าน ICT  ครูผู้สอนสามารถสร้างบทเรียนได้ด้วยตนเอง  นอกจากนี้การจัดหาและพัฒนาสื่อยังมีความหลากหลายและมีจำนวนเพียงพอสำหรับจัดการสอน  ทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ  การใช้สื่อเป็นรูปแบบปฏิสัมพันธ์ ทั้งในตัวสื่อเองและระบบบริหารจัดการชั้นเรียน  การจัดระบบการเรียนการสอนแบบนี้ต้องใช้งบประมาณการลงทุนสูงและต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะด้านมาช่วยสนับสนุน  จะพบว่าในโรงเรียนขนาดใหญ่- ใหญ่พิเศษ หรือโรงเรียนต้นแบบ ICT  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

 นวัตกรรมการศึกษา Innovation

                หมายถึง  การนำความคิดใหม่ ๆ วิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่แปลกไปจากเดิมหรืออาจจะได้รับการปรับปรุงของเก่าให้ใหม่และเหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้รับการทดลอง พิสูจน์และพัฒนาเป็นขั้นตอนเป็นระบบ  จนเป็นที่เชื่อถือได้ว่าให้ผลดีในทางปฏิบัติ ทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรานำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติทางการศึกษา โดยจุดมุ่งหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษาให้สูงขึ้น

ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษา

ประเภทตามเนื้องาน

  1.  นวัตกรรมด้านระบบการศึกษา  เช่น  การศึกษารายบุคคล  ระบบการสอนทางไกล  การสอนระบบเปิด  การศึกษานอกระบบโรงเรียน
  2. นวัตกรรมด้านหลักสูตร เช่น หลักสูตรแบบบูรณาการ  หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่
  3. นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน เช่นการสอนเป็นคณะ  ชุดการสอน  บทเรียนโปรแกรม  ศูนย์การเรียน  การเรียนด้วยตนเอง  การสอนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  การสอบแบบคอนสทรัคทิวิสซึ่ม  การสอนแบบคอล์แลปบอราเทอรี่ (ร่วมมือกัน)
  4. นวัตกรรมด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีทางการศึกษา เช่น สไลด์  วีดีทัศน์  วิทยุ  โทรทัศน์  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน  การสอนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  5. นวัตกรรมด้านการประเมินผล  เช่น  ดารวัดผลแบบอิงกลุ่ม  อิงเกณฑ์การวัดผล  ก่อนเรียน  การวัดผลหลังเรียน การวิเคราะห์ข้อสอบ

    นวัตกรรมด้านการบริหารการศึกษา  การใช้ทฤษฎีบริหารจัดการ การใช้คอมพิวเตอร์จัดเก็บข้อมูล

กระบวนการของการพัฒนาการเรียนการสอน  โดยทั่วไปมักเกิดจากความต้องการในการแก้ปัญหาปรับปรุงการเรียนการสอนของครู  ดังนั้นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนานวัตกรรมจึงอยู่ที่การศึกษาสภาพปัญหา  การคิดค้นหรืออกแบบ นวัตกรรมให้สอดคล้องกับปัญหา  การสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมให้สมบูรณ์ตามแนวหรือกรอบของแบบนวัตกรรมที่กำหนด  การทดลองวิจัย และพัฒนาเพื่อให้นวัตกรรมมีประสิทธิภาพสูงสุด การเผยแพร่ไปสู่ประชากรเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง

เทคโนโลยีสารสนเทศ

                คำว่าเทคโนโลยี หมายถึง การประยุกต์เอาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์  การศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ก็เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ กฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ  และหาทางนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์

                ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา

                    -เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในทุก ๆ ด้าน เช่น การเกษตร การค้าขาย การแพทย์  อุตสาหกรรม ฯลฯ  และเมื่อเรานำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการศึกษาเราจึงเรียกว่า “เทคโนโลยีการศึกษา(Educational  Technology)”  เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย   วิธีการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีได้

                   -เทคโนโลยีการศึกษา Educational  Technology  เป็นการประยุกต์เอาเทคนิค  วิธีการ  แนวความคิด  วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งต่าง ๆ อันสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา

ขอบข่ายของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ด้านการศึกษาสามารถแบ่งออกเป็นลักษณะใหญ่  5 ลักษณะ คือ(กิดานันท์  มลิทอง.  2540: 5 อ้างมาจาก  Anandam  and  Kelly  1981:127)

  1.  เทคโนโลยีการพิมพ์
  2. โทรคมนาคมรวมถึงโทรศัพท์ วิทยุ  และระบบการสื่อสารสองทางในรูปแบบและลักษณะต่าง ๆ
  3. ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ซึ่งเป็นผลรวมของภาพเคลื่อนไหวและเสียง
  4. คอมพิวเตอร์
  5. การเชื่อมโยงเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยในการทำงานและในการเพิ่มพูนความสามารถมนุษย์ปัจจุบัน

ลักษณะสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศ

                -เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน  และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

                -เทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนรูปแบบการบริการเป็นแบบกระจาย

                -เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการดำเนินการในหน่วยงานต่าง ๆ

                -เทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวข้องกับคนทุกระดับ

ประโยชน์ที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

                 -การสร้างเสริมความเท่าเทียมในสังคมและการกระจายโอกาส

                 -การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนสะดวก  รวดเร็วและเป็นระบบมากขึ้น

ปัญหาที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

                   -ขาดการนำไปใช้อย่างเหมาะสม

                   -ขาดผู้รู้จริง หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะนำไปใช้ประโยชน์

การพัฒนาระบบสารสนเทศที่ยั่งยืน

                การบริหารงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจหรือการบริหารการศึกษาก็ตามได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้มากมาย  ผู้บริหารสถานศึกษาจึงจำเป็นที่จะต้องติดตามข่าวสารและพัฒนาการทางเทคโนโลยีทางการศึกษาอยู่ตลอดเวลา  เพราะผู้ที่ตามทันเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการจัดการศึกษา การบริหารงาน หรือแม้แต่การทำงานทุกอย่างในชีวิตประจำวัน 

ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ในปัจจุบัน เราพบว่าทุกหน่วยงานได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้พร้อมติดตั้งอินเตอร์เน็ตสำหรับค้นหาข้อมูลข่าวสารและการติดต่อธุรกิจ  ธุรกิจ  สถาบันการศึกษาได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือช่วยสอน  การผลิตสื่อการเรียนการสอน  ตลอดจนการบริหารงานด้วย  ผู้บริหารที่ไม่สนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษาจะขาดโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ขาดโอกาสที่จะรับรู้ข่าวสารและความก้าวหน้าต่าง ๆ ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้เวลาผ่านไปมากก็จะกลายเป็นคนตกยุคไปเลย

ระบบสารสนเทศ(ในองค์กร)ประกอบด้วย 4 ระบบย่อย ได้แก่

  1.  ระบบประมวลผลรายการ(TPS)  บางครั้งเรียกว่า ระบบประมวลผลข้อมูล เช่น  การสั่งสินค้า การสั่งยา  สั่งแล๊ป ทำรายการซื้อขาย ทำรายการยา เป็นต้น
  2. ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS)  เป็นระบบที่ช่วยในการเตรียมรายงานเพื่อให้ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ใช้ในการควบคุมการปฏิบัติงาน
  3. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ(DSS)  อาศัยสารสนเทศจาก TPS  และ MIS  แบบสรุปมาใช้ประกอบการตัดสินใจ  DSS   แตกต่างจากระบบอื่น ๆ คือ เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่นต่อการตัดสินใจ  และมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นระบบที่ สนับสนุนความต้องการเฉพาะของผู้บริหารแต่ละคน
  4. ระบบสารสนเทศสำนักงาน (OIS)   เป็นระบบการจัดการสารสนเทศในสำนักงานโดยใช้อุปกรณ์ในสำนักงาน  เช่น อุปกรณ์ทางด้านคอมพิวเตอร์  ระบบอินเทอร์เน็ต  การส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

สรุป

                ปัจจุบัน เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้พัฒนาระบบงานข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้สำหรับช่วยการดำเนินงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการประมวลผลเพื่อให้ได้ระบบสารสนเทศ  เป็นการรวมกลุ่มของฮาร์ดแวร์  ซอฟต์แวร์   กระบวนการ  ฐานข้อมูล และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศภายในองค์กรให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้  สำหรับใช้ในงานระบบปฏิบัติการ การบริหารและการตัดสินใจในการทำงาน

 

 

เอกสารอ้างอิง

ถนอมพร  เลาหจรัสแสง.  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน.  กรุงเทพฯ :  ภาควิชาโสตทัศนศึกษา  คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2541.

สุกรี  รอดโพธิ์ทอง.  เอกสารคำสอน  วิชา  คอมพิวเตอร์ช่วยสอน.  คณะครุศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2546.

สุมาลี  ชัยเจริญ.  ทฤษฎีการเรียนรู้  คอนสตรัคติวิสต์.  ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.  (เอกสารอัดสำเนา).  2545.

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ.  วารสารวิชาการ.  2552.

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 349750เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท