ศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์


ศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์

                                                          ศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์                                                                  

                ตามหลักสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม  วัฒนธรรมที่แตกต่างกันจะยอมรับหลักศีลธรรมที่ไม่เหมือนกัน  และมีการวินิจฉัยด้านศีลธรรมที่ผิดแผกกันไป  จึงพบว่าในหลายๆ ประเด็นทางด้านศีลธรรมในต่างวัฒนธรรม จะมีมุมมองต่างกัน         หลักคิดเช่นนี้เห็นได้ชัดในเนื้อหาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์  มานุษยวิทยา  และสังคมศาสตร์แขนงอื่นๆ  เช่น ในบางวัฒนธรรมมีความคิดว่าการแต่งงานแบบหลายผัวหลายเมีย (polygamy)  เป็นพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม  แต่อีกบางวัฒนธรรมกลับมิได้คิดเช่นนั้น  ในบางวัฒนธรรมมองว่าการมีทาสเป็นเรื่องผิดศีลธรรม  ขณะที่วัฒนธรรมอื่นๆ อาจมองว่าไม่          

                หากหลักคิดสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรมมีความถูกต้อง  จะมีนัยสำคัญอะไรบ้าง  กล่าวสำหรับบางคนแล้วเห็นว่า  หลักสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรมนำมาซึ่งการมองศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์  ทำให้ย้อนรำลึกไปถึงข้อกล่าวอ้างของ Protagoras ใน Theaetetus ของเพลโต  มีอยู่ตอนหนึ่งที่เปรียบเทียบว่า  มนุษย์เป็นมาตรวัดของทุกๆ อย่าง  แต่ในอีกบางตอนอื่นๆ เขากลับกล่าวว่าชุมชนคือมาตรวัดของทุกสิ่งทุกอย่าง          สำหรับโสคราตีส นั้นเห็นว่าความเชื่อด้านศีลธรรมของชุมชนเฉพาะใดๆ  ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับชุมชนนั้น  ไม่มีอะไรที่เป็นความจริงและถูกต้องสมบูรณ์แบบอย่างวัตถุวิสัย  นั่นย่อมหมายความว่า  ชุมชนตัดสินคุณค่าเชิงศีลธรรมอะไรไปแล้วย่อมถูกต้องเสมอสำหรับชุมชนนั้น  หากชุมชนใดเห็นว่าอะไรเป็นสิ่งผิดศีลธรรม  ก็ย่อมเป็นการผิดศีลธรรมสำหรับชุมชนนั้น                

                ตามหลักศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์จะไม่ยอมรับว่ามีหลักศีลธรรมสากลที่ทุกคนควรจักยอมรับเสมอเหมือนกัน  แต่จะเห็นว่ามีหลักศีลธรรมเฉพาะถิ่นเฉพาะที่อันเป็นที่ยอมรับเฉพาะสังคมนั้น  สิ่งที่สังคมหนึ่งวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดก็ตาม  อาจไม่จำเป็นต้องถูกวินิจฉัยด้วยมุมมองเดียวกันในสังคมอื่นๆ              

                กล่าวตามหลักคิดเช่นนี้  จึงไม่อาจกำหนดมาตรฐานสากลทางศีลธรรมไปใช้วินิจฉัยกับผู้คนหรือสังคมที่มิได้เกี่ยวข้องยอมรับหลักศีลธรรมนั้นด้วย  จะไม่มีการกล่าวอ้างเป็นศีลธรรมสากล  ตัวอย่างเช่น  ไม่อาจระบุว่า  คำกล่าวว่า  การมีทาสเป็นพฤติการณ์ที่ผิด  เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องแน่นอนทั่วไปอย่างวัตถุวิสัย  หากแต่ที่เราสามารถบอกได้ควรมีแต่เพียงว่า  ในบางสังคมนั้น  การมีทาสมิใช่เรื่องผิดศีลธรรมแต่อย่างใด   การวินิจฉัยลงไปทันทีว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก  ย่อมเป็นการพิจารณาไปจากจุดยืนทางศีลธรรมของเราเอง  แต่มิใช่จุดยืนทางศีลธรรมของเฉพาะกลุ่มสังคมนั้น             

                 การที่เราไม่ควรวินิจฉัยศีลธรรมของสังคมอื่นใดโดยใช้มาตรฐานศีลธรรมของเราเอง  ก็เพราะว่าศีลธรรมของเราใช่ว่าจะมีความถูกต้อง  สมเหตุสมผล  หรือเที่ยงธรรม  เหนือกว่าศีลธรรมของสังคมอื่นๆ  หลักศีลธรรมของทุกสังคมล้วนมีความเท่าเทียมกัน  และหลักศีลธรรมของแต่ละสังคมล้วนมาจากการวิจารณ์เชิงเหตุผลของสังคมนั้นมาแล้ว           

                หลักศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์ยังใช้ในกรณีของบุคคลด้วย  ต่างบุคคลไม่ควรถูกมองว่าทำผิดศีลธรรม  หากต่างมาจากคนละสังคม    การวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดศีลธรรมด้วยมาตรฐานหนึ่งๆเป็นเรื่องที่กระทำได้กับเฉพาะบุคคลที่ต่างก็อยู่ในสังคมเดียวกันเท่านั้น                               

                คนเรามีความโน้มเอียงจะคิดว่า  ความเชื่อที่ตนยึดถืออยู่มีความถูกต้องเสมอ  ส่วนความเชื่อที่ต่างออกไปล้วนผิดและไม่สมเหตุและผล  ถ้าหากหลักศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์มีความถูกต้องแล้วไซร้  ความคิดหรือคำกล่าวในเชิงว่าเราถูกเขาผิดก็เป็นสิ่งมิบังควรอีกต่อไป                               

                 แล้วจะมีเหตุผลอะไรอื่นหรือไม่  ที่จะทำให้เชื่อได้ว่า  หลักการอธิบายเชิงสัมพัทธ์นี้มีความถูกต้องแล้วจริงๆ !!

หมายเลขบันทึก: 34899เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2006 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์คะ หลังจากที่หนูรับปริญญาแล้ว เตรียมตัวจะเรียนต่อ  หนูก็เกิดคำถามคล้าย ๆ เช่นนี้เหมือนกันว่า สิ่งที่เรียน แนวคิดมีหลากหลาย  แล้วอะไร คือ "คามจริง"  หลาย ๆ แนวคิดที่หนูรู้จัก  ก็จะมีอีกแนวคิดที่เข้ามาค้านอย่างมีเหตุผล หากจะยึดหาแต่ความจริง ก็เหมือนตั้ง อคติ อยู่ท่าเดียว ไม่ตั้งท่าอื่น

เมื่อคิดเช่นนั้น หนูก็คิดถึงหนังจีน ที่สุดยอดอาจารย์หมัดเมา สอนท่าร่ายรำวิทยายุทธ์ ให้ศิษย์เอก  เมื่อศิษย์จำท่าได้หมดแล้ว ฝึกจนคล่องแล้ว ก็บอกให้ศิษย์ลืมทุกท่าให้หมด เมื่อนั้น เจ้าจึงจะบรรลุ สุดยอดหมัดเมา

หนูก็มาแปลความว่า เมื่อศึกษารายละเอียดอย่างถ่องแท้แล้วให้ปล่อยมันไป อย่ายึดติด เพราะถ้ายึดติด จะไม่พัฒนา

แต่ .. พอดิฉันใช้ชีวิตทำงาน (เป็นนักสังคมสงเคราะห์) การจัดการกับเคส ก็จะเกิดโจทย์ปัญหามากมาย  ดิฉันจะถามหาหลักการ หลักวิชาการที่ร่ำเรียนมา เพื่อประโยชนืของเคส และเพื่อรักษาศักดิ์ศรีในสังคมการทำงาน ก็ต้องย้อนกลับไปหาวิชาการอีก

โจทย์ปัญหาแต่ละโจทย์  ก็จะใช้ความรู้ในการพิจารณาต่างกัน บางครั้งพิจารณาแบบ pure มันต้องทำแบบนี้ แต่ทำไม่ได้เพราะ การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง  แล้ว.. เราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างมันผ่านไปได้ โดยที่ Cl เราได้รับประโยชน์มากที่สุด

 สุดท้าย  ดิฉันก็เรียนรู้ว่า ความรู้ที่อาจารย์สอน  ก็คือ  กระบวนท่าแต่ละท่า เราเรียนมาแล้วทุกท่า  แต่จะเอาไปสู้กับจอมยุทธ์ท่านไหน เราก็ต้องประยุกต์เอาเอง  อาจารยืจึงสอนว่าไม่ให้ยึดติดในแต่ละท่า  แต่ให้ปล่อยกระบวนท่าไปตามธรรมชาติ ตามสถานการณ์ ...

ดังนั้น  ทุกวันนี้ ดิฉันจึงรู้สึกสบายขึ้น เมื่อไม่ต้องตอบคำถามตัวเองว่า อะไรคือ ความจริง ให้มองว่า อะไรคือความเหมาะสมตามสถานการณ์นั้น ๆ จะดีกว่า

จนกระทั่ง เมื่อคืน ดิฉันได้อ่านหนังสือธรรมะฉบับการ์ตูน  ก็เกิดความรู้ (กระบวนท่า) ใหม่ อีกแล้วว่า  การปรับตัวกับสถานการณ์ปัจจุบันต่างหากที่เป็นความจริงอยู่ชั่วขณะจิต ... ความจริงมันมีเยอะจังเลยค่ะอาจารย์ ...

k.วิภาวี สงสัยอ่านหนังสือนวนิยายจีนมากไป

เรียนต่อเถอะครับแล้วดีกับตัวคุณเอง

แล้วคุณจะรู้ว่าโลกนี้มีอะไรอีกเยอะ

;-)

555 ไม่เคยอ่านเลยค่ะ นวนิยายจีนน่ะ

เรียนหนังสือ ต้องอาศัยจินตนาการนะ ถ้าคุณอ่าน text คุณจะรู้ว่า วิชาการ คู่กับ จินตนาการ แล้วจะเข้าใจลึกกว่าการท่อง มาก ๆ เลย ขอบอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท