จากหอคอยสู่ชุมชน


เทพธารินทร์และชาวชุมชนจะทำงานร่วมกัน ให้เป็นตัวอย่างของที่อื่นๆ

วันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘ เป็นวันนัดหมายที่ชาวชุมชนแสนสบาย-แสนสุข และชุมชนแฟลต ๒๓-๒๔ จะมาฟังการบรรยายของ ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ ทีมงานเตรียมการล่วงหน้าทั้งในด้านสถานที่ กิจกรรม (ลิงค์) อุปกรณ์เครื่องใช้ และอาหารว่างที่เราพยายามเลือกชนิดของอาหารอยู่นาน เพื่อให้ดูดี สะดวกและไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมากนัก

ทีมงานของฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานโครงการพิเศษ และของมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน มาต้อนรับชาวชุมชนตั้งแต่เช้า ดิฉันเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลา ๐๘.๐๐ น. เล็กน้อย เมื่อขึ้นไปที่ชั้น ๑๐ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน พบว่าชาวชุมชนแฟลต ๒๓-๒๔ มากันหลายคนแล้ว ส่วนชาวชุมชนแสนสบาย-แสนสุขทะยอยเดินทางมาเรื่อยๆ เนื่องจากบางส่วนเพิ่งกลับจากต่างจังหวัดและคืนก่อนมีไฟไหม้ในชุมชน ชาวชุมชนบางส่วนจึงนอนดึก

ประธานและรองประธานทั้ง ๒ ชุมชนมาร่วมด้วย ชาวชุมชนที่มาทั้งหมดมีจำนวนมากกว่า ๘๐ คน

เรามีการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต (พบว่าชาวชุมชนจำนวนไม่น้อยที่มีความดันโลหิตสูง) ตรวจสุขภาพเท้า มีซุ้มให้ความรู้เรื่องเบาหวาน มีต้นไม้ที่ให้ชาวชุมชนเขียนคำถามที่ต้องการรู้ในใบไม้แล้วปะติดไว้ มีซุ้มความรู้เรื่องอาหาร ชาวชุมชนสนใจเรื่องตรวจสุขภาพเท้า เข้าแถวต่อคิวรอกันยาวเลย (ดูภาพบรรยากาศท้ายบันทึก)

ระหว่างรอให้ผู้ฟังมาครบ เราเปิด VDO การออกกำลังกายประกอบเพลงของภาคต่างๆ ให้ดู ชาวชุมชนสนใจมาก ต้องการขออัดสำเนาเทปไปไว้ใช้ต่อ

อาจารย์เทพมาที่ห้องประชุมประมาณ ๐๙.๐๐ น.พูดคุยทักทายกับชาวชุมชนแบบกันเอง เริ่มการบรรยายประมาณ ๐๙.๓๐ น. จริงๆ ไม่เชิงเป็นการบรรยาย แต่เป็นการพูดคุยให้ความรู้บางประเด็นเสียมากกว่า อาจารย์เทพบอกให้ชาวชุมชนรู้ถึงความตั้งใจและนโยบายการทำงานของเทพธารินทร์ ในการทำหน้าที่องค์การสาธารณประโยชน์ร่วมกับสมาคมวิชาชีพต่างๆ เป็นการทำหน้าที่นำหอคอยงาช้างมาสู่รากหญ้า ซึ่งการที่จะทำสิ่งนี้ได้ ต้องได้รับการยอมรับจากบรรดาหอคอยทั้งหลายก่อน และต้องมีจิตที่สัมผัสกับรากหญ้าได้ ขณะนี้กำลังเอาความรู้ลงสู่ประชาชนให้ปฏิบัติได้

เป้าหมายของเทพธารินทร์อยู่ที่การสร้างคุณภาพชีวิตให้เกิดขึ้นกับชาวชุมชนรอบๆ โรงพยาบาล โดยเทพธารินทร์และชาวชุมชนจะทำงานร่วมกัน ให้เป็นตัวอย่างของที่อื่นๆ

อาจารย์เทพพูดว่าเป็นเบาหวานอย่างมีความสุขก็ได้ แต่ถอยกลับไปว่า "อย่าเป็นเบาหวานเลยดีกว่า" กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลักษณะ "โหงวเฮ้ง" ของผู้ที่จะเป็นเบาหวาน กรรมพันธุ์และอายุที่มากขึ้นเป็นปัจจัยที่แก้ไม่ได้ แต่เรื่องของความอ้วนแก้ได้และป้องกันได้ ต้องระวังไม่ให้เด็กอ้วน สอนเรื่องกิน เรื่องการออกกำลังตั้งแต่เด็กจะติดตัวไปอีกนาน เน้นเรื่องเบาหวานป้องกันได้

น้ำตาลสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ มีผลทำให้หลอดเลือดแดงตีบแข็ง พร้อมฉาย VDO ให้เห็นภาพที่เกิดขึ้นภายในและที่ผนังหลอดเลือดแดง ย้ำว่าต้องป้องกันโรคอ้วน ความดัน (โลหิตสูง) ไขมัน เบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อถามว่าในห้องนี้มีใครเป็นเบาหวานบ้าง ใครที่มีพ่อแม่เป็นเบาหวาน ชาวชุมชนที่ยกมือตอบมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว

รองประธานชุมชนแสนสบาย-แสนสุข บอกว่าชาวชุมชนเป็นประเภท "ปากกัด ตีนถีบ" ไม่สนใจดูแลสุขภาพ ไม่อยากมาตรวจ เพราะตรวจแล้วกลัวเจอโรค

คำถามที่ชาวชุมชนเขียนไว้มีจำนวนมาก เลือกมาถามให้อาจารย์เทพตอบได้ไม่กี่ข้อ เวลาก็ล่วงเลยไปกว่า ๑๑.๐๐ น. วันนี้จึงต้องยุติกันก่อน ประธานและรองประธานชุมชน กล่าวขอบคุณอาจารย์เทพ มีการแต่งกลอนให้ด้วย พร้อมทั้งให้ชื่อโครงการว่า "จากหอคอยสู่ชุมชน" ทุกฝ่ายยิ้มแย้มแจ่มใส บางคนมากระซิบบอกว่า เดิมไม่กล้าเข้ามา ร.พ. เพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แต่พอเข้ามาสัมผัสแล้ว รู้สึกดี ทุกคนให้การต้อนรับดีมาก

ประธานชุมชนแสนสบาย-แสนสุขบอกว่า "เรามาศึกษาความรู้ มาเป็นนักเรียน โดยมีอาจารย์เทพเป็นคนสอน เราภูมิใจ เดิมเราคิดว่าโรงพยาบาลเอกชน make money อย่างเดียว เราประทับใจที่ท่านสละเวลาให้ เราเห็นโรงพยาบาลนี้ตั้งแต่เล็กๆ จนเดี๋ยวนี้ใหญ่โตสง่างาม เราภูมิใจที่ท่านสนใจสุขภาพประชาชน เห็นชีวิตมนุษย์สำคัญกว่าธุรกิจ.......ขอให้โรงพยาบาลอยู่คู่กับชุมชน"

เราจบกิจกรรมวันนี้ด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกัน ดิฉันนึกถึงคำพูดของคุณหมอกิตติไกร คมกฤส ไกรแก้ว หน่วย PCU ศิริราช ในงานตลาดนัดความรู้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ที่บอกถึงวิธีการเข้าสู่ชุมชนเมืองว่าต้องอาศัยการพูดคุยทำความเข้าใจ พูดหลายๆ ครั้ง ประสบการณ์ในวันนี้ตรงกับที่คุณหมอกิตติไกรบอกไว้เลยค่ะ และถ้าเป้าหมายตรงกัน จะทำอะไรต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๘

   

 ต้นไม้คำถาม

 เข้าคิวรอตรวจสุขภาพเท้า

   
 ในห้องบรรยาย
หมายเลขบันทึก: 3471เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2005 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะอาจารย์ น้ำได้อ่านบันทึกของอาจารย์วันนี้แล้วรู้สึกดีค่ะ พร้อมกับมองเห็นภาพความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาล กับชุมชนแห่งนี้ในอนาคตไว้แล้ว และน้ำเชื่อว่าความร่วมมือนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะลองนำกระบวนการ KM เข้าไปลองใช้กับชุมชนนี้ โดยไม่ต้องบอกเขาว่าเรากำลังทำKM และไม่จำเป็นต้องเต็มรูปเสมอไปก็ได้ค่ะ แต่เป้าหมายก็เพื่อป้องกัน และดูแลตนเองของชุมชนในเรื่องโรคเบาหวาน

อ่านแล้วก็เห็นtacit ที่โรงพยาบาลนำมาใช้ ด้วยค่ะ แล้วครั้งหน้าจะมีอีกเมื่อไหร่ค่ะ รูปแบบจะเป็นอย่างไร มีการวางแผนไว้หรือยังค่ะ แล้วจะติดตามอ่านค่ะ

 

ปล.อยากเห็นภาพของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ เป็นคุณอำนวย แล้วสร้างคุณอำนวยน้อยๆ ขึ้นในชุมชนค่ะ

เห็นการทำงานในชุมชนของเทพธารินทร์ ทำให้รู้สึกว่าโรงพยาบาลที่อยู่ในอำเภอ ต่างจังหวัด หรือที่เรีกว่า ร.พ.ชุมชน มีโอกาสเข้าสู่ชุมชนได้ง่ายมากๆๆๆ   มากจนมองไม่เห็นว่าเป็นจุดแข็ง บางทีกลับมัวแต่มองหาอุปสรรคเสียด้วยซ้ำ

ขอบคุณเทพธารินทร์ ที่ให้ข้อคิดครับ

 

 

  

แนวคิดของ KM ต้องมองหาจุดแข็งเพื่อต่อยอดและไม่ตัวมองหาแต่อุปสรรคค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท