เสวนา วิถีพอเพียง:ชีวิต งานและภูมิปัญญา จากปราชญ์ชาวบ้านอีสาน ตอน 3


ขอเล่าต่อจากตอนที่ 2 นะคะ

ต่อคำถามที่ว่า บทบาทของปราชญ์ในฐานะนักส่งเสริม เป็นอย่างไร

ลุงโชคดี เล่าให้ฟังว่าปราชญ์เป็นนักส่งเสริมแขนงหนึ่ง ใช้ชีวิตแบบฝังตัวในชุมชน นำชีวิตเป็นเดิมพัน จนชาวบ้านมีความศรัทธา เพราะสามารถเป็นแบบอย่างได้โดยทำงานอย่างจริงจัง ในส่วนขององค์ความรู้ลุงเล่าว่าอาจจะแตกต่างจากนักส่งเสริมทั่วไปคือปราชญ์ใช้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น เน้นความเป็นท้องถิ่นเช่นข้าว มะม่วงซึ่งเมื่อก่อนมีหลากหลายสายพันธุ์มาก

พ่อคำเดื่อง เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าในการทำงานของปราชญ์ชาวบ้านอีสานซึ่งได้ทำงานในรูปแบบเครือข่ายมาระยะหนึ่งจึงคิดว่าการพัฒนาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันชาวบ้านได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต่างก็มีระเบียบ กฎเกณฑ์ของตนเอง บางครั้งก็ไม่เหมาะกับชาวบ้าน และชาวบ้านเองก็ต้องการอิสระ คิดต่อว่าถ้าไม่มีเงินจะทำอย่างไรดี จะพัฒนาอย่างไร ในพื้นที่ขาดน้ำสามารถปลูกกล้วยได้ จึงคิดจะใช้วิธีกล้วย ๆ ในการพัฒนา มีเกษตรกร 20 คนแจกพันธุ์กล้วยคนละ 100 ต้นได้ 2,000 ต้น ขอหน่อคืน 1 หน่อต่อหนึ่งต้นเพื่อขยายผลในกลุ่มอื่นต่อไป ได้ลูกก็ขอเครือละ 1 หวีทำเป็นกองทุนกลาง มีเงิน 20,000 บาทในกลุ่มและผลพลอยได้คือให้ปลูกต้นไม้ 1 ต้นคู่กับกล้วยได้ไม้ยืนต้นอีก 2,000 ต้น ทำเช่นนี้อาหารจะไม่ขาดแคลน ด้วยวิธีนี้กลุ่มหมูหลุมที่จ.ราชบุรี มาดูงานพื้นที่ปราชญ์อีสาน มีความสนใจที่จะปลูกกล้วยเพื่อเลี้ยงหมูด้วยเช่นกัน

ในเรื่องการส่งต่อและสืบทอดอาชีพการเกษตรให้ลูกหลานและคนรุ่นใหม่ มีความคิดอย่างไร

อาจารย์ไพรัช กล่าวว่ามีลูกสาว จบปริญญาตรีที่บางพระด้าน biotech ได้ทำกิจกรรมโดยได้ชวนเยาวชนมาเรียนรู้เป็นกลุ่มโดยใช้สื่อของปราชญ์ชาวบ้าน ใช้ธรรมชาติจูงเข้ามาสู่ชนบท การสืบทอดทายาท รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ การอบรมควรทำตั้งแต่เด็กให้มีคุณธรรม/สร้างจิตสำนึก/ให้ความสำคัญผู้อาวุโส

พ่อคำเดื่อง กล่าวว่าระบบการศึกษาหลอกลวงลูกหลานเรา เรียนจบไปแล้วไม่มีงานทำ เอาลูกเราไปใช้  พ่อจึงจูงใจให้ลูกออกจากโรงเรียนโดยจะยกที่ดินให้ 50 ไร่ แต่ถ้าจะเรียนก็ได้พ่อจะขายที่มาส่งให้เรียน แล้วให้ลูกตัดสินใจเอง มีวิธีการสอนลูกโดยนำลูกไปด้วยเมื่อพ่อไปบรรยายในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจะได้ซึมซับคำสอนและการกระทำของพ่อปลูกต้นไม้ให้เป็นมรดกลูกเช่นไม้สัก และพ่อมีความภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

พ่อผาย กล่าวว่าลูกหลานพ่อผายกลับมาทำงานที่บ้านทุกคน มีหลายอาชีพเช่นขายอุปกรณ์ก่อสร้าง อาหาร ฯลฯ สอนให้ทำตามพ่อแม่ และให้รู้ว่าเป็นชาวนา รู้หน้าที่ เราเป็นชาวนา เราต้องอยู่นา ชาวนาเปรียบเสมือนรากฝอย หากตาย รากแก้ว(ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์)ก็ตายด้วย เรารู้หน้าที่ตนเอง พ่อผายมีที่นา 138 ไร่ อายุ 80 กว่าปีแล้ว เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ และไม่มีหนี้

ลุงโชคดี กล่าวว่าได้ทำงานส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่ จากที่เราเคยได้รับการมอบภารกิจจากคนรุ่นเก่าไม่อยากให้เราสานงานต่อเพราะความเชื่อเรียนมาให้เป็นเจ้าคนนายคน สำหรับลูกและทายาทของเรา เราสร้างทางเลือกให้เขา ต่อทุนเดิม หากทายาทไม่สืบสานเราก็ไม่บังคับ เราชี้ให้เห็นเรื่องทุน เวลา องค์ความรู้  เพราะสังคมปัจจุบันเยาวชน คนหนุ่มสาว ทิ้งฐานทรัพยากร ไม่เรียนรู้เรื่องคนอื่นเลย ไม่ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนมี ภาคเกษตรสามารถเปลี่ยนทัศนคติเด็ก ๆ เน้นไปที่ความสุข ความดี สูงสุดของความสุขไม่ใช่เรื่องเงิน

ข้อเสนอแนะต่องานส่งเสริมการเกษตร

ลุงโชคดี กล่าวว่านโยบายกรมส่งเสริมการเกษตรต้องปรับใหม่ ขณะนี้มีงบประมาณน้อย ควรเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ เอกชน ชาวบ้าน บางหน่วยที่มีงบประมาณจะสามารถใช้งบประมาณเขาได้ด้วย ในระดับพื้นที่งานส่งเสริมการเกษตรหน่วยงานอื่นทำได้ดีกว่าเช่นในจ.บุรีรัมย์ นิคมสหกรณ์ปรับนโยบายให้เข้ากับสถานการณื มีบทบาทสูงในการเรียนรู้ รวมทั้งมุมมองและทัศนคติ ทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่

พ่อคำเดื่อง กล่าวว่าควรมองย้อนหลังกลับไปว่าเราทำอะไร เกิดอะไรขึ้น สรุปว่าต้องปรับอะไร เมื่อก่อนเราพลาดส่งเสริมการปลูกพืชเอื้อระบบทุน การเกษตรบ้านเราดีเพราะอยู่เขตร้อนชื้น เมื่อมีทุนและภูมิปัญญาก็ยิ่งดี ควรส่งเสริมคนเกษตรให้ภาคภูมิใจและยืนบนขาตนเองได้ มีต้นแบบให้เรียนรู้คือศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านซึ่งสามารถฟื้นฟูทรัพยากรและพึ่งพาตนเองได้

พ่อผาย กล่าวว่าการทำงานต้องจริงจรัง หนักเอาเบาสู้ เห็นแก่ประเทศชาติ ช่วยกันแก้และทำ ควรส่งเสริมในพื้นที่ 3 ไร่ขุดสระน้ำ ปลูกต้นไม้ จะอยู่รอด

อ.ไพรัช กล่าวว่า ควรบูรณาการหน่วยงาน เช่น อบต. สหกรณ์ในการเข้าหาเกษตรกร ส่งเสริมให้ปลูกทุกอย่างจนเป็นป่าไม้ก็ยิ่งดี ตัวอย่างเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์(คุณสมบูรณ์ ซารัมย์) ทำเรื่องศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร(ศูนย์หลัก) ดีมากแต่ไม่ต่อเนื่อง มีการขยายผลจากเกษตรกร 1 คนเป็น 10 คน บูรณาการหน่วยงานพัฒนาที่ดินขอสระ และเกษตรกรออกเพิ่ม 2000 บาท ให้ทำงานเชิงรุกกับชาวบ้าน ค้นหาภูมิปัญญา สปกช.เป็นที่พึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือและประสานงานด้านวิชาการเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร

สุดท้าย ผศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน ได้ขอบคุณปราชญ์ชาวบ้านที่มาร่วมอภิปรายให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสมาชิกชมรมเศรษฐกิจพอเพียงและผู้สนใจ ซึ่งจะมีการสรุปการอภิปรายในรูปแบบเอกสารและวีดีทัศน์ต่อไปโดยทีมงานของ มสธ.

ธุวนันท์  พานิชโยทัย

5 พ.ค.53

 

หมายเลขบันทึก: 347084เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2010 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับพ่อคำเดื่อง ภาษีมากเลยครับ แจกกล้วยแล้วเีรียกคืนตอนได้ผล เกษตรกรไม่เสียอะไรเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท