เด็กดอยผู้ (ถูกทำให้) ติดลบ


เด็กดอยเค้าไม่ได้ติดลบโดยตัวเขาเอง แต่การศึกษาแผนปัจจุบันต่างหากที่ทำให้เขาติดลบ ทำให้เขารู้สึกด้อย รู้สึกต่ำต้อยกว่าคนไทย คนญี่ปุ่น คนฝรั่ง หรือคนที่มีวัตถุนิยมมากกว่า พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้มากกว่า พวกเขาถูกทำให้หลงลืมและเหยียดหยามวัฒนธรรมของตนเองผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชน และโครงการพัฒนาต่างๆอย่างแนบเนียน
(ก่อนอื่น ขออภัยที่ต้องใช้จุดไข่ปลาคั่นระหว่างย่อหน้า เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถเว้นย่อหน้าได้ตามปกติครับ)................................................................................................................................................................ หลายวันก่อนได้พูดคุยกับหัวหน้าสถานศึกษาแห่งหนึ่งในปางมะผ้า ท่านได้สะท้อนมุมมองจากประสบการณ์หลายปีที่ได้จัดการเรียนการสอนให้กับเด็กบนพื้นที่สูงที่นี่ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า มันไม่ยุติธรรมเลยที่ใช้หลักสูตรและวิธีประเมินผลจากส่วนกลาง มาตัดสินเด็กที่นี่ เพราะฐานคิด วิถีชีวิตของเด็กกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงกับเด็กไทยพื้นราบต่างกันอย่างมาก ในระดับชั้นเดียวกัน หากเด็กนักเรียนในเมืองเริ่มจากศูนย์ เด็กที่นี่จะต่ำกว่าศูนย์อีก คือเริ่มต้นก็ติดลบแล้ว................................................................................................................................................................ และถึงแม้รัฐจะกำหนดให้โรงเรียนสามารถจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นได้ ในสัดส่วนร้อยละ 30 แต่เอาเข้าจริง การทำหลักสูตรท้องถิ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆแบบสุกเอาเผากินเลย คนที่จะทำหลักสูตรท้องถิ่น ต้องมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คน ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆมานานพอสมควร แต่สำหรับที่นี่ (และชนบทอีกหลายๆที่) ครูสักเท่าไรกันที่จะปักหลักใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายเคียงข้างชาวบ้านที่ยากจน ยิ่งในถิ่นทุรกันดารแล้ว ส่วนใหญ่ ครูและข้าราชการจะใช้เป็นทางผ่านเพียงเพื่อที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ยศถาบรรดาศักดิ์ที่เย้ายวนอยู่ในเมืองใหญ่กันทั้งนั้น อันนี้ ผมเห็นด้วยกับท่านเต็มที่ และกำลังร่วมวางแผนที่จะส่งเสริมการใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะอยู่ในรูปโครงการ “ยุววิทยากรชุมชน” ส่วนความก้าวหน้าจะเป็นอย่างไร คงต้องหารือกันอีกหลายรอบ ................................................................................................................................................................ หลายๆคนอาจจะแย้งว่า ในส่วนของครู นักพัฒนารวมถึงนักวิชาการทั่วไป เขาก็ควรจะมีสิทธิในการเลือกความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของแต่ละคน อันนี้ก็ไม่เถียงว่าก็สิทธิของใคร ใครๆก็อยากสบาย ................................................................................................................................................................ แต่ด้วยความคาดหวังทางสังคมและอุดมการณ์ของวิชาชีพเหล่านี้แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนที่อยู่ในสายงานดังกล่าวต้องรักษาอุดมการณ์ทางวิชาชีพเอาไว้ด้วย ยิ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่จบมาด้วยการอุดหนุนภาษีจากประชาชนคนจนด้วยแล้ว ก็จะเห็นว่า ปริญญาของแต่ละคนมิใช่เรื่องความสามารถเฉพาะตัว แต่มันมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของชนชั้นล่างที่เราได้เปรียบในเชิงโครงสร้าง และทุกวันนี้ ชนชั้นล่างที่เคยเป็นผู้อุดหนุนการศึกษาให้แก่เรา ผู้เสียสละเป็นแรงงานราคาถูกปลูกสร้างบ้าน อาคาร สนามกีฬา สละผืนนาเพื่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าแก่เรา ก็ยังยากจนเหมือนเดิม และถูกพันธนาการด้วยหนี้สิน ที่ต้องพึ่งพิงภายนอก อย่างยากจะหลุดพ้น ................................................................................................................................................................ ผมเองในฐานะที่เติบโตมาจากการรดน้ำใส่ปุ๋ยและการเบียดเบียนคนยากไร้ ต้องหันกลับมาถามตัวเองในฐานะนักวิชาการอยู่เสมอว่า เราได้ทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้บ้าง ................................................................................................................................................................ การที่ผมผันตัวเองออกมาเป็นนักวิชาการอิสระ แม้จะฝืดเคืองด้านเงินทอง แต่ก็ได้อะไรๆที่ดีกลับมาไม่น้อย ได้แบ่งปันมิตรภาพกับเพื่อนใหม่ๆทั้งในและนอกวงการเพิ่มขึ้น รวมถึงเวลาที่จะทบทวน ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม สองวันมานี้ ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “โลกาภิวัตน์กับชุมชนที่ยั่งยืน : บทเรียนแห่งลาดักและทางเลือกใหม่อันหลากหลายจากทั่วโลก” ที่ เฮเลนา นอร์เบอร์ก-ฮอดจ์ เป็นผู้เขียน เฮเลนาเป็นนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวชาวสวีเดน ที่อยู่ในชุมชนลาดัก (ชุมชนทุรกันดารแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย) เป็นเวลาหลายสิบปี จนเธอได้รับรางวัลโนเบลทางเลือก หรือรางวัลสัมมาอาชีวะ (Right Livelihood Award) ในปี ค.ศ. 1986 เป็นหนังสือเล่มบางๆที่กล้าหาญและทรงพลัง เมื่ออ่านแล้ว ผมก็เกิดแรงบันดาลใจมาเขียนบันทึกครั้งนี้ และหันมาทำกิจกรรมที่ “ถอยหลังเข้าคลอง” อย่างภาคภูมิใจ แม้จะขวางหูขัดตาใครในสายตาของโลกาภิวัฒน์มากขึ้น ................................................................................................................................................................ ย้อนกลับมาเรื่องการศึกษาบนพื้นที่สูง เช่นเดียวกับที่เฮเลนาพบในชุมชนลาดัก ในส่วนตัวผมแล้ว ที่ภาคเหนือของประเทศไทยนี้ เด็กดอยเค้าไม่ได้ติดลบโดยตัวเขาเอง แต่การศึกษาแผนปัจจุบันต่างหากที่ทำให้เขาติดลบ ทำให้เขารู้สึกด้อย รู้สึกต่ำต้อยกว่าคนไทย คนญี่ปุ่น คนฝรั่ง หรือคนที่มีวัตถุนิยมมากกว่า พูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษได้มากกว่า พวกเขาถูกทำให้หลงลืมและเหยียดหยามวัฒนธรรมของตนเองผ่านระบบการศึกษา สื่อมวลชน และโครงการพัฒนาต่างๆอย่างแนบเนียน พวกเขาติดมือถือ ติดหนี้ และติดอารยธรรมเมืองกันอย่างงอมแงม และหากจะมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ดีงามดั้งเดิมของพวกเขาเหล่านี้กลับคืนมา ก็มักจะเป็นการจัดตั้งแบบ “Top-down” โดยมุ่งแต่เรื่องเศรษฐกิจ จึงได้มาแต่ซาก เช่น ฟื้นฟูรูปแบบการแต่งกาย การร้องเต้นเล่นระบำ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินและขยายการบริโภค ส่วนมิติทางสังคม จิตวิญญาณและความไม่เบียดเบียนนั้นเป็นอย่างไร ไม่เห็นจะกล่าวถึง ................................................................................................................................................................ ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นที่จะปฏิรูปการศึกษาในระดับท้องถิ่นบ้านเรา แรกสุดผู้สอนและชุมชนต้องยอมรับอย่างเปิดอกเสียก่อนว่า ระบบการศึกษาและบุคลากรของเราเสื่อมโทรมอย่างมาก และเมื่อครูรวมถึงนักวิชาการ (อย่างผมด้วย) เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมจากระบบที่เสื่อมทราม ที่สร้างบาปกรรมให้กับพวกเขาเหล่านี้ เราจะยืดอกภูมิใจได้อย่างไร ในเมื่อเราพบความจริงว่าเราเรียนจบ ได้ตำแหน่งหน้าที่การงาน ได้ยศถาบรรดาศักดิ์ และรางวัลทางสังคม บนพื้นฐานของการเอาเปรียบเชิงโครงสร้างต่อคนยากจนเหล่านี้ มิหนำซ้ำ เราส่วนใหญ่ยังถูกหลอกโดยการศึกษาแผนใหม่ให้มุ่งวัตถุนิยมและมองชีวิตตัวเองอย่างแยกส่วนจากผู้คนท้องถิ่น จากคนยากจน คนต่างวัฒนธรรม และแยกจากธรรมชาติ ................................................................................................................................................................ ดังนั้น เราน่าจะต้องสำนึกในความผิดพลาดดังกล่าวและอ่อนน้อมไปเรียนรู้จากชาวบ้านชาวดอยเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกับพวกเขาให้รอดจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และเพื่อชดใช้ในสิ่งที่เราเคยกระทำกับพวกเขามา ไม่มากก็น้อย ................................................................................................................................................................ คนเดี๋ยวนี้เชื่อเรื่องบาปกรรมน้อยลง แต่สำหรับผม เชื่อว่าบาปบุญคุณโทษมีจริง ซึ่งมันอาจจะตอบแทนมาในรูปของสิ่งที่เราไม่นึกฝันก็ได้ ฉะนั้น คิดดี ทำดีไว้ ย่อมได้ดี ไม่ช้าก็เร็วครับ
หมายเลขบันทึก: 34667เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
แมวเหมียว แอนโทรพอธ
แล้วในประเด็นเนื้อการหลักสูตร ที่พยายามใช้ แนวคิด ชาตินิยม ที่มุ่งให้นักเรียนไทย ทุกชน ทุกเหล่า ตระหนัก ถึง คุณค่า ความเสียสละ ของเหล่า บรรพชน ที่ได้กอบกู้บ้านเมืองไว้ จากการศึกสงคราม แนวคิดนี้คงใช้ได้ดี สำหรับ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ สถานที่และประวัติศาสตร์ และอาจรวมถึงความเป็นเชื้อสายที่สืบทอดมาเป็นเหล่ากอตระกูล ทั้งนี้ เราคงจะลืมไปว่า ในประวัติศาสตร์สร้างชาติ นี้ แท้ที่จริงมันเป็นอาวุธที่คอยทิ่มแทง และย้ำถึง ความไม่เป็นธรรมที่ไป รวบเอาบ้านเผาเอาเมืองของคนบางกลุ่มมา แล้วพยายามจะบอกว่าตรงนั้นตรงนี้ เป็น เพราะบรรพบุรุษ (ที่เคยรุกรานบีฑา) รักษาเอาไว้ ผมกล่าวเช่นนี้ก็คงทราบว่า พูดถึงพื้นที่แห่งใด จะให้เขายอมรับก็คงจะ ยากไม่น้อย แม้กาลเวลาผ่านเลยมานานแสนนานแล้วก็ตาม ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่มีการผลิตซ้ำ และรับใช้สังคมใดสังคมหนึ่งมาโดยตลอด ที่นี้ หันมามองกลุ่มชาวเขาชาวดอยที่อพยพมา อาศัยอยู่ทั้งที่ก่อนจะมีรัฐชาติ และหลังรัฐชาติ ถามว่า ในความสำนึกของเขาจะมีส่วนเสี้ยวตรงไหนที่ พอจะซาบซึ้งกับประวัติศาสตร์ชาตินิยมเช่นนี้ โดยเนื้อแท้ พวกเขาต่างไปทั้ง วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ และความสำนึกเรื่องชาติ ดังนี้ แล้ว เป็นการถูกต้องเหมาะสมมากน้อยประการใดกับการสอนประวัติศาสตร์สร้างชาติของวีรชนในอดีต ที่เขียนเช่นนี้ไม่ได้มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายหรือประการใด แต่ การสร้างความสำนึกรักชาติให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้นบนที่สูงและที่ใต้ นั้น น่าจะหารูปแบบและเหตุผลอื่น มาปลูกฝังให้มีเกิดความรักประเทศชาติรักแผ่นดินและความรักสามัคคีโดยไม่แบ่งแยก ม้นเป็นผลพวงจากอะไร ถ้ามิใช่ วาทกรรมของอำนาจ
เห็นด้วยครับ
ผมเห็นด้วยกับคุณแมวเหมียวนะครับว่าประวัติศาตร์รัฐชาติล้วนให้ความชอบธรรมกับสงครามและการใช้ความรุนแรง แม้แต่รัฐที่อ้างความเป็นประชาธิปไตยและเป็นแม่แบบสิทธิมนุษยชนก็มีฐานประวัติศาสตร์เช่นนี้ ซึ่งสำนึกทางประวัติศาสตร์เช่นนี้มีปัญหา กล่าวคือ ทำให้เรามักมองเห็นการใช้ความรุนแรง ประหัตประหารกันเป็นเรื่องสามัญธรรมดา เป็นสิ่งที่พลเมืองใน "ชาติ" ควรทำเพื่อปกป้อง "ความมั่นคง" ของชาติหรือของรัฐ ผมคิดว่า ถ้าเราเข้าใจที่มาของการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ และมองเห็นว่าสำนึกแบบนี้มีปัญหา ก็ต้องมาสร้างความหมายใหม่ ให้เกิดสำนึกทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ ที่วางอยู่บนฐานการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม แต่ก่อนอื่น ต่างฝ่ายต่างต้องยอมรับในความผิดพลาดของการสร้างประวัติศาสตร์และให้อภัยกันเสียก่อน จากนั้นจึงจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ร่วมในลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอนุภูมิภาค ข้ามพรมแดนรัฐชาติ เป็นต้น อันนี้ในทางวิชาการ พอจะมองออก และเห็นว่า นักสังคมศาสตร์โดยเฉพาะกลุ่มศึกษาชาติพันธุ์วรรณาและโบราณคดีได้ทำไปบ้างแล้ว แต่ยังต้องต่อสู้กับนักประวัติศาสตร์กระแสหลักและคนที่ยึดติดกับประวัติศาสตร์ที่รัฐชาติสร้างขึ้นอยู่ อันนี้ต้องใช้เวลาและความอดทนอดกลั้นกับการถูกต่อต้านเป็นอย่างสูงครับ อย่างไรก็ตาม ก็จะเห็นบทเรียนที่การรื้อถอนทางความคิด (deconstructionist)บางครั้งนำไปสู่การเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ถ้าโดนกระแสสังคมปะทะมากๆ การสร้างประวัติศาสตร์แนวใหม่นี้อาจไม่เป็นผลดีก็ได้ เพราะในอีกด้านหนึ่ง มันก็อาจชักนำไปสู่ความรุนแรงและการเผชิญหน้าของผู้คนสองความเชื่อก็เป็นได้ จุดลงตัวสำหรับการสร้างประวัติศาสตร์ น่าจะอยู่ที่การทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักว่ามันเป็นสิ่งปลูกสร้างทางสังคม (social constructed)ที่ไม่จริงเสมอไป (dynamic) และมันผลิตความรุนแรงออกมาได้เสมอ ดังนั้น ถ้าอยากเป็นมนุษย์ผู้ใฝ่สันติ จึงต้องเข้าใจการติดยึดแบบนี้ รวมทั้งไม่ติดยึดในประวัติศาสตร์ซีรีส์ใหม่ที่เราหรือนักวิชาการชายขอบเป็นผู้สร้างขึ้นมาตอบโต้ด้วย ขอบคุณสำหรับทั้งสองความเห็นนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท