มุมหนึ่งของ KM ในเวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่ (ตอนที่1 : อุทัยธานี)


การเรียนรู้ในเวทีชุมชนพบว่าแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 คือ เวทีระดับตำบลที่มีผู้นำในการเรียนรู้แต่ละหมู่บ้านมาร่วมพูดคุยเดือนละ 1 ครั้ง ระดับที่ 2 คือ เวทีระดับหมู่บ้านที่ผู้ประสานงานฯ ต้องไปทำเวทีย่อยแต่ละหมู่บ้านโดยการนำประเด็นหรือข้อมูลจากเวทีระดับตำบลมาแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจและวิเคราะห์
             การจัดเวทีนวัตกรรมหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่ เมื่อ  วันที่  30  พฤษภาคม   2549 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมกานต์มณี พาเลช  ต่างมีผู้รู้และผู้ลงมือปฏิบัติ จากหลายภาคส่วน  มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อันก่อเกิดประโยชน์ต่อทุกท่านที่เข้าร่วมงาน   ผู้เขียนเขอนำเสนอความรู้ประเด็นการจัดการความรู้ ในส่วนโครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน  จังหวัดอุทัยธานี  (ตอนที่ 1) และ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ตอนที่ 2)   ดังต่อไปนี้

การจัดการความรู้....สู่หนทางแก้จนคนอุทัยฯ
 
             อุทัยธานี เป็นจังหวัดเล็กๆ บนที่ราบลุ่มเจ้าพระยาในภาคกลางค่อนไปทางเหนือตอนล่าง มีความโดดเด่นด้านหัตถกรรมพื้นถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูง มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ   ปัญหาเรื่องความยากจนของจังหวัดอุทัยธานี จึงมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการขาดแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของจังหวัดอุทัยฯ คือ ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้าน บริเวณชายขอบติดกับป่าสงวนซึ่งไปซ้อนทับกับพื้นที่ป่าสงวน
             จุดแข็งของอุทัยธานีอีกด้านหนึ่งคือ มีทุนทางสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดอยู่มากมีเครือข่ายของคนทำงานที่หลากหลายทั้งราษฎร์และรัฐ และมีความสามารถในการผสมผสานวิธีการทำงานและการจัดการความรู้หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการในจังหวัดนี้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี
จังหวะก้าวย่างในการเดินงานแก้จน
             อุทัยธานี ขับเคลื่อนงานแก้จนโดยใช้กระบวนการแผนชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และเป็นกลไกการบริหารจัดการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนใน 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ  เกษตรปลอดภัย ป่าชุมชน การจัดการน้ำ และ ผ้าทอ  โดยแบ่งการขับเคลื่อนงานออกเป็น 4 กิจกรรม คือ  1.งานค้นหาความจริง  2.งานแผนแม่บทชุมชน  3.งานจัดการความรู้ และ      4.การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ขยายโอกาส 
คาราวานค้นหาความจริง… สาเหตุแห่งจน  
             สาเหตุความยากจนของคนอุทัยธานี ที่ค้นพบจากเวทีค้นหาความจริงพบว่ามาจากสาเหตุสำคัญๆ คือ ฝนแล้ง  ราคาผลผลิตตกต่ำ ขาดแคลนดินทำกิน   รายจ่ายสูงรายได้ต่ำ  หนี้สินมาก    ชราภาพ  ไม่มีที่อยู่อาศัย   ขาดแหล่งเงินทุน  ต้นทุนการผลิตสูง  และเกียจคร้าน  เป็นต้น
เรียนรู้ปัญหาด้วยแผนชุมชน  
              แผนชุมชน เป็นกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนค้นหาปัญหาของตนเองโดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ทั้งรายได้ รายจ่าย ข้อมูลครัวเรือน  และข้อมูลศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่ เป็นเครื่องมือในการศึกษาข้อมูลปัจจัยภายนอก ภายใน ที่มีผลกระทบต่อชุมชน และนำไปสู่แก้ปัญหาของชุมชน  การทำแผนชุมชนของอุทัยธานีมีคณะทำงานทั้งหมด 419 คน   ประกอบด้วย คณะทำงานอำเภอ  นักจัดการความรู้   ภาคประชาชน   วิทยากรค้นหาความจริง    5 เสือแผนชุมชน   และทีมประสานงาน  จะสังเกตได้ว่าไม่มีกลไกระดับตำบล เพราะใช้ แกนนำ 5 เสือแผนชุมชน และวิทยากรค้นหาความจริง   แทนกลไกระดับตำบล ได้แก่ พัฒนาชุมชน  ธกส. อสม. กศน. เกษตร กองทุนหมู่บ้าน และพลังชุมชนพลังแผ่นดิน
กระบวนการที่สำคัญในการจัดทำแผนชุมชน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
             ระดับแรก เป็นการเรียนรู้ของผู้นำชุมชน มีเวทีการเรียนรู้เป็นเครื่องมือ โดยผู้นำ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางธรรมชาติที่ชาวบ้านให้ความเชื่อถือ และผู้นำที่เป็นทางการที่ได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่มองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้รู้ด้านต่างๆ ของชุมชน กระบวนการนี้เริ่มจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลข่าวสาร ระหว่างผู้นำชุมชนและวิทยากรจากภายนอก
             ระดับสอง เมื่อผู้นำที่ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระดับแรกมาแล้ว นำข้อมูลข่าวสารที่ได้รับขยายผลสู่ชุมชนตามบทบาทที่ตนมี ตามความสามารถที่ทำได้ เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและให้เกิดสำนึกของคนในชุมชนที่จะร่วมดำเนินกระบวนการจัดทำแผนชุมชนต่อไป โดยผ่านเวทีเรียนรู้ 7 ครั้ง
             ครั้งที่ 1   รู้ปัญหา รู้พัฒนาการ มีวิธีคิดใหม่ในการมองตนเอง ชุมชน ซึ่งเป็นการศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชนในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของคนในชุมชนในลักษณะใดบ้าง
             ครั้งที่ 2   การเตรียมการศึกษาข้อมูล และปัญหาเพื่อการรู้จักตนเอง เพื่อการวิเคราะห์เชิงปฏิบัติการของตำบล โดยมีการกำหนดประเด็นและแนวทางในการเก็บข้อมูล เช่น ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ข้อมูลศักยภาพของชุมชน เป็นต้น
             ครั้งที่ 3   การสรุปข้อมูล การวิเคราะห์ การจัดทำรายละเอียดของข้อมูลแต่ละประเด็น
             ครั้งที่ 4   การวิเคราะห์ข้อมูลศักยภาพของชุมชน นำเสนอข้อมูลศักยภาพชุมชนช่วยให้ชาวบ้านเห็นทิศทางการวางแผนเพื่อการจัดการตนเอง
             ครั้งที่ 5   กำหนดแผนการจัดการตนเองของชุมชน เป็นแผนชุมชนระดับตำบลในการจัดการปัญหา
             ครั้งที่ 6   การทำแผนที่กำหนดไว้นำเสนอต่อสมาชิกในชุมชน เพื่อการมีส่วนร่วม มีความรู้สึกเป็นเจ้าของแผน ช่วยกันพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียด
             ครั้งที่ 7   (การศึกษาดูงาน)  การแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับชุมชนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์
การเรียนรู้ในเวทีชุมชนพบว่าแบ่งเป็น 2  ระดับ คือ
             ระดับที่ 1  คือ เวทีระดับตำบลที่มีผู้นำในการเรียนรู้แต่ละหมู่บ้านมาร่วมพูดคุยเดือนละ 1 ครั้ง
             ระดับที่ 2  คือ เวทีระดับหมู่บ้านที่ผู้ประสานงานฯ ต้องไปทำเวทีย่อยแต่ละหมู่บ้านโดยการนำประเด็นหรือข้อมูลจากเวทีระดับตำบลมาแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจและวิเคราะห์
ติดอาวุธทางปัญญาด้วย “การจัดการความรู้” เพื่อรักษาทุนทางสังคม
             “การจัดการความรู้” หมายถึง การศึกษาเชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบันและจากปัจจุบันสู่อนาคต การนำความรู้เก่าและความรู้ใหม่มาใช้ผสมผสานกันโดยไม่ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  การจัดการความรู้มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาชุมชนระดับรากหญ้า ที่มักจะขาดการใช้ความรู้ที่ชัดเจนในการทำงานทุกระดับ เพราะความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนนั้นมีทั้งความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนท้องถิ่นเอง เช่น ข้อมูลรายละเอียดประเด็น ความรู้พื้นที่ต้นแบบ ความรู้ปราชญ์ท้องถิ่น และความรู้จากทฤษฎี วิชาการ ซึ่งเป็นข้อมูลความรู้จากหน่วยราชการในพื้นที่ ข้อมูลความรู้จากแหล่งวิชาการ นักวิชาการในพื้นที่ เป็นต้น ความรู้ทั้งสองแบบจะต้องนำมาผสมผสานกัน ดังนั้นการจัดการความรู้จึงเป็นกระบวนการสร้างองค์ความรู้เพื่อการรักษาทุนทางสังคมให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมของแต่ละชุมชน     
             กระบวนการจัดการความรู้ ได้มีการพัฒนาทีมงานจังหวัดอุทัยธานี โดยการจัดกระบวนการ จัดระบบการใช้เทคโนโลยีและสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ พร้อมพัฒนานักจัดการความรู้ ในการจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่จริงเพื่อนำมาวิเคราะห์แบบมีส่วนร่วม และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ โดยผ่านกิจกรรม คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เช่น ในเวทีชาวบ้าน การพบปะสังสรรค์ การสืบค้น วิจัย การอบรม สัมมนา และการนัดประชุม เป็นตัวขับเคลื่อนในการทำงานพื้นที่
ประเด็นที่นำมาจัดการความรู้ของคนอุทัยธานี ที่เป็นเสมือนเส้นทางสู่ชุมชนพัฒนาพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มี 4 เรื่องสำคัญ คือ

             1) เกษตรปลอดภัย  กระบวนการผลิตที่มุ่งมั่นพัฒนากระบวนการใช้และพึ่งพาสารอินทรีย์และชีวภาพ ทดแทนสารเคมีและสารสังเคราะห์ทางการเกษตรที่อันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค รวมถึงกระบวนการผลิตสัตว์ที่จะพัฒนาการจัดการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารเคมีต้องห้าม 
             2) ผ้าทอ  การที่ชาวอุทัยธานีมีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ มีการทอผ้าไว้ใช้เอง เช่น ชุมชนลาวครั่ง ในอำเภอบ้านไร่ และตำบลโคกหม้อ อำเภอทัพทัน ชุมชนกระเหรี่ยง อำเภอบ้านไร่ ต่อมาได้พัฒนาการให้การทอผ้าเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน จึงมีความคิดที่จะร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เก็บข้อมูลผ้าของสมาชิกผู้ทอผ้าจังหวัดอุทัยธานี เพื่อหาแนวทางในการลดต้นทุน สร้างรายได้ โดยทำอย่างไรจะให้สมาชิกผู้ทอผ้าได้ซื้อวัตถุดิบราคาถูก สะดวก มีคุณภาพและมีตลาดที่แน่นอน
             3) ป่าชุมชน  จังหวัดอุทัยธานีมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งเป้าหมายของการจัดการความรู้ป่าชุมชน คือ ป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และแหล่งเรียนรู้ 
             4) น้ำ  ใช้พื้นที่การจัดการน้ำแคตากแดด ในพื้นที่ตำบลโคกหม้อ และตำบลทุ่งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ให้เกิดการจัดการน้ำอย่างพอเพียง

             การทำงานโดยใช้หลักการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการทำงานนั้น ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิด พฤติกรรมของคนในชุมชน รับมือต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เข้ามากระทบได้ จากสถานการณ์ในพื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานี จะเห็นได้ว่า “ชุมชนที่พึ่งตนเองได้นั้นจะต้องเป็นชุมชนที่สามารถจัดการวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้”  ดังนั้นการจัดการความรู้จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการดำเนินวิถีของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงควรเอาฐานชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง พัฒนาบนฐานอาชีพปากท้องของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้สามารถจัดการกับความรู้ที่มีอยู่ และกระแสของสถานการณ์ปัจจุบัน การดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข
             การพัฒนาในยุคสมัยนี้จะเข้ามาแบบแยกส่วนกัน ทำให้การจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นขาดหายไปโดยสิ้นเชิง ชุมชนจึงเกิดความเคยชินที่จะรอคอยความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จากภายนอกทั้งที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชน  จากการทำงานซึ่งเน้นในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยฐานอาชีพของคนในชุมชนเป็นตัวตั้ง จะทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมีภาคีที่เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อยอดพัฒนา จะเห็นได้ว่าการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืนนั้น ต้องพัฒนาคนให้มีวิธีคิดที่สามารถนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและคนรอบข้างได้ ดังนั้น ในการที่เราจะพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเราให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้นั้น ต้องพัฒนาที่ทรัพยากรบุคคล จังหวัดอุทัยธานีจึงได้เริ่มต้นจากการพัฒนา “หัวเชื้อ” นักจัดการความรู้ เสียก่อน เพื่อที่จะทำให้ชุมชนมีคนเข้าใจต่อหลักการทำงาน ที่มีฐานมาจากความคิดของคนในชุมชน เป็นการพัฒนาจากรากของปัญหาที่แท้จริง
ความสัมพันธ์เชิงบวก…ปรากฎการณ์ใหม่ในอุทัยฯ
             จากภาพความเคลื่อนไหวของการพัฒนาชนบทในอุทัยธานีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นการเชื่อมร้อยเครือข่ายของภาคประชาชนที่ดีอยู่แล้ว ส่วนการทำงานของภาคประชาชนร่วมกับภาคราชการนั้นก็ราบรื่น ไม่มีความขัดแย้งกัน  ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะมีแกนหลักของเครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการด้วย  คือ คุณสมพงษ์  สุทธิวงศ์  จากเครือข่ายเครดิตยูเนียน ทำให้มีปัญหาด้านการประสานงานน้อยมาก  โดยสามารถก้าวข้ามผ่านพ้นปัญหาต่างๆ ได้ด้วยการทำงานที่เคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน 
ภาคราชการเองก็ยอมรับภาคประชาชนมากขึ้น โดยมีการประชุมคณะทำงาน ศตจ.ปชช. ร่วมกับ คณะทำงาน ศตจ.จังหวัดอุทัยธานี มีการปฏิบัติงานร่วมกับรัฐอย่างใกล้ชิด และเป็นทีมทำงานทำกิจกรรมกันมากขึ้น รวมทั้งมีการเชื่อมโยงงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เกิดการยอมรับแผนของชุมชนโดยนำไปศึกษาดูความเป็นไปได้ในการผนวกในแผนของ อบต  ภาคราชการ และภาคีพัฒนาในจังหวัดให้ความร่วมมือดี  นอกจากนี้ภาคราชการยังมีความตื่นตัวในเรื่องแผนชุมชนเป็นอย่างมาก โดยการส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคประชาชน ตลอดจนเกิดการวางแผนงานร่วมกัน และการดำเนินงานต่างๆ ร่วมกันอย่างใกล้ชิด
             ความสัมพันธ์เชิงบวกเช่นนี้ก่อให้เกิดผลดีต่อการทำงานของโครงการนำร่องฯ โดยพบว่าทีมงานประเด็น และ ทีมจัดการความรู้ และ เครือข่ายเครดติยูเนียนมีการทำงานร่วมกันอย่างดี มีการปรึกษาหารือแผนงานด้วยกัน และประนีประนอมวิธีการทำงานกันมาตลอด เนื่องจากทุกฝ่ายต่างยึดถือเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างข้อเสนอและแผนของภาคประชาชนเพื่อบูรณาการกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
สิ่งที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ จนถึงวันนี้
             กระบวนการทำงานของโครงการนี้ ไม่ใช่ได้เพียงแค่ยุทธศาสตร์การทำงานต่อของจังหวัด แต่จะมีสิ่งที่ได้นอกเหนือจากนั้นที่มีคุณค่าและความหมาย คือ คน ความรู้  เครือข่าย และยุทธศาสตร์

                1) “ได้คน” คือ นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) หรือคุณอำนวย คือผู้ที่จะต้องอำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ เป็นผู้คอยส่งเสริม เชื่อมโยง และจัดกิจกรรม หรือจัดพื้นที่สำหรับการจัดการความรู้

                2) “ได้ความรู้” คือ วิธีการจัดการความรู้ การเรียนรู้ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นธรรมชาติการเรียนรู้ของชาวบ้าน วิธีการจัดการเรียนรู้กับชาวบ้าน หรือการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งอาจมีการสร้างเงื่อนไขปัจจัยของการออกแบบการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้มีการประมวลข้อมูล ภาพถ่าย ที่ได้จากการทำงานในพื้นที่ นำมาสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เป็นคู่มือในการทำงานในพื้นที่ขยายผลต่อไปภายหน้า  รวมไปถึงการสร้างสื่อ เผยแพร่การทำงานให้แก่ทั้งในและนอกชุมชน
             ทั้งนี้ ความรู้ที่ได้รับจากพื้นที่ต้นแบบนั้น สามารถนำมาปรับใช้กับพื้นที่ในโครงการฯ ได้ เนื่องจากในกระบวนการถอดความรู้พื้นที่ต้นแบบนั้น ได้ทำการเก็บรวบรวมทั้งเอกสาร ชุดความรู้ ภาพ รวมไปถึงทำเนียบกลุ่ม องค์กร เครือข่ายทีมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการทำงานนี้โดยตลอด

                3) “ได้เครือข่าย” ทั้งเครือข่ายผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ เครือข่ายที่เป็นหน่วยงานราชการ รวมไปถึงเครือข่ายในการทำงานทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ การทำงานแบบผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน ทำให้เกิดเครือข่ายผู้รู้ ไปจนถึงแหล่งเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งเครือข่ายระหว่างหน่วยงานได้มากขึ้น มีการผสานความร่วมมือกันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่มีนโยบาย แต่นโยบายที่ลงมานั้น ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นในแต่ละแห่งอีกด้วย เป็นความต้องการที่เกิดจากชุมชนอย่างแท้จริง

                4) “ได้ยุทธศาสตร์” การทำงานเชิงพื้นที่ และในเชิงประเด็น ซึ่งได้จากกระบวนการทำงานโดยใช้ การจัดการความรู้ (KM) เป็นเครื่องมือ ซึ่งการทำงานดังกล่าวทำให้สามารถสร้างองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายการจัดการได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม การทำงานโดยใช้การจัดการความรู้เข้าช่วยนี้ คนทำงานในพื้นที่มีความเข้าใจต่อการทำงานมากขึ้น เพราะมีหลักในการทำงาน ไม่ใช่แค่เพียงทำไปเป็นโครงการๆ การทำงานแบบใช้การจัดการความรู้จึงเป็นการทำงานที่ต่อเนื่อง และได้ผลสำเร็จสูงเพราะเป็นการวางฐาน / แนวคิดในการทำงาน จึงมีการทำการวิจัยต่อยอด พัฒนาองค์ความรู้ หรือแม้กระทั่งการศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ร่วมงานซึ่งสามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับไปพัฒนางาน
 
ผู้ประสานงาน
คุณวิไลวรรณ    จันทร์ผ่อง
ศูนย์ประสานงานประชาคมเมืองอุทัย
เลขที่  119/23  ถ.ศรีน้ำซึม  อ.เมือง  จ.อุทัยธานี  61000
โทรศัพท์ : 0-5657-1485
E-mail address : [email protected]
หมายเลขบันทึก: 34665เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 08:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เดินทางไปทั่วเมืองไทยเลยครับ
นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิต

อัปเดรทเมื่อวันจันทร์ ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2549

กำลังศึกษาเรื่อง แผนแม่บทชุมชนอยู่พอดีเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท