วิธีทำ KM ในองค์กรภาครัฐ : 13. วิธีเริ่มต้นทำ KM


• วิธีเริ่มต้นทำ KM น่าจะมีได้หลายแบบ    ในบางสถานการณ์อาจเริ่มด้วยการตีฆ้องร้องป่าวว่าจะทำ KM แล้วนะ     ผู้บริหารกำหนดนโยบายและเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำ KM    แล้วจัดโครงสร้างและแผนงาน KM   จัดกลุ่มคนทำหน้าที่รับผิดชอบ    หลังจากมีประสบการณ์มา ๓ ปี ผมไม่ค่อยชอบวิธีนี้    เพราะเกิด KM ปลอมได้ง่าย
• วันนี้ (๑๕ มิย. ๔๙) ในงานฉลอง ๑ ปี GotoKnow อ. วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ เจ้าของ บล็อก gotoknow.org/km-lampang ที่ได้รับรางวัลสุดคะนึง มาบอกว่าคณบดีของเธอ (ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิทยาเขตลำปาง) อยากเอา KM ไปทำที่คณะ และอยากเชิญผมไปพูด    ผมแนะนำว่าไม่น่าใช้วิธีนั้น เพราะจะได้ผลน้อย หรือเดินผิดทาง
• ผมแนะนำให้ “เริ่มทำ KMแบบไม่พูดถึง KM”    โดยให้เชิญคนที่มี success story ตามเป้าหมายของคณะ มาขึ้นเวที ลปรร. กัน    ว่าได้ความสำเร็จนั้นมาอย่างไร    ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาอย่างไรบ้าง    ค้นพบเคล็ดลับในการสร้างผลสำเร็จนั้นอย่างไรบ้าง
• จุดสำคัญคือต้องอย่าตกหลุม “ความสำเร็จชิ้นใหญ่ หรือก้อนโต”    ให้เน้นที่ความสำเร็จชิ้นเล็กๆ ที่หากมารวมกันแล้วจะนำไปสู่เป้าหมายขององค์กรได้   เน้นความสำเร็จเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่  
• ในเวที ลปรร. ต้องสร้างบรรยากาศชื่นชมยินดี (Appreciative Inquiry – AI) มีการตั้งคำถามที่แสดงความชื่นชม    และผู้บริหารหาทางสนับสนุนให้ขยายผล หรือให้มีการสร้างสรรค์ “ความสำเร็จเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่” ทำนองเดียวกันเพิ่มขึ้น
• ต้องมีการจดบันทึกเรื่องเล่า และ “ขุมความรู้” (Knowledge Assets) เอาไปเล่าต่อ ชื่นชมต่อ ในโอกาสต่างๆ เพื่อแสดงความยกย่องชื่นชม   ให้เรื่องราวความสำเร็จหอมอบอวลไปทั่วองค์กรอยู่ตลอดเวลา โดยการผลิตซ้ำถ้อยคำ ทั้งที่เป็นคำพูดและข้อเขียน ที่เป็นเรื่องราวที่น่าชื่นชมนั้น   เพื่อกระตุ้นความคึกคัก กระตุ้นจิตใจเชิงสร้างสรรค์  
• เป้าหมายในเบื้องต้นคือ ดำเนินการเพื่อฝึกคนให้ “เปิดทวารทั้ง ๕” เป็น    โดยที่เป็นการเปิดปล่อย และเปิดรับสิ่งดีๆ ที่เป็นความสำเร็จ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม   “เปิดทวารทั้ง ๕” ได้แก่ เปิดหู – ให้ฟังอย่างลึก (deep listening) เป็น   เปิดใจ – ให้รับฟังสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย (หรือมีมุมมองที่ต่าง) เป็น    เปิดปาก – เพื่อเล่าเรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ในลักษณะที่เล่าจากใจ   เปิดตา – ให้มองเห็นภาพรวม หรือความเป็นทั้งหมด   เปิดกระบวนทัศน์ – ให้ยอมรับฟังวิธิคิดที่แตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง ให้เห็นพลังของความแตกต่างหลากหลาย   เปิดวิธีมองโลกมองสถานการณ์ ที่เน้นด้านบวก ด้านดี เป็นหลัก 
• นี่เป็นเรื่องของทักษะ และการรับรู้โดยการปฏิบัติ โดยการสัมผัสด้วยตนเอง   ดังนั้นผมจึงไม่ยอมรับเชิญไปบรรยายเรื่อง KM ให้หน่วยงานใดๆ เลย ถ้าหน่วยงานนั้นยังไม่เริ่มปฏิบัติ   
• ผู้บริหาร (ในที่นี้คือคณบดี) คอยหาทางส่งเสริมเชิงระบบ เชิงทรัพยากร ต่อกิจกรรมที่จะนำไปสู่การทำงานสร้างสรรค์ความสำเร็จทำนองนั้นเพิ่มขึ้น หรือในมิติที่ใหญ่ขึ้น ข้ามหน่วยงาน ข้ามสาขาวิชาชีพ ข้ามพื้นที่
• การเชิญคนมาพูดเรื่อง KM ให้ความเข้าใจ KM เชิงหลักการ ควรทำตอนจัดเวที ลปรร. ความสำเร็จเหล่านั้น    และถ้าจัดแบบนี้ ถ้าผมมีเวลา ผมยินดีไปบรรยายนำการประชุม  

ตอนที่ 1 - 12

วิจารณ์ พานิช
๑๕ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 34607เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท