Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ถามว่า เรตติ้ง หรือ Rating คืออะไรน่ะหรือ ? สำคัญไหม ? ควรเป็นอย่างไร ?


แค่มี TV4Kids ไม่เพียงพอ เรายังต้องการ TV4People อีกด้วย ลดความเป็น TV4Business ลงไปบ้างก็ดีค่ะ

        อาจารย์โก๋ถามว่า ถามว่า เรตติ้ง หรือ Rating คืออะไรน่ะหรือ ? สำคัญไหม ? ควรเป็นอย่างไร ?

         อาจารย์แหววขอตอบดังนี้ค่ะ         

         ในประการแรก เรตติ้ง หรือ Rating มิใช่คำที่ใช้เพียงในธุรกิจสื่อ แต่เป็นคำที่ใช้มากในธุรกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่นักการตลาดต้องการทราบว่า ความนิยมในสินค้าหรือบริการนั้นเป็นอย่างไร ? และมีจำนวนมากหรือน้อยแค่ไหน ?  เรตติ้ง เป็นกลไกที่สำคัญสำหรับธุรกิจ ถ้านักลงทุนไม่ทราบถึงความนิยมที่ลูกค้ามีต่อสินค้าหรือบริการ ก็จะตัดสินใจไม่ถูกว่า ควรจะผลิตสินค้าหรือบริการอย่างไร ? จำนวนเท่าไหร่ ? ถ้าความนิยมสูง แต่กลับผลิตน้อย ก็จะเสียโอกาสที่จะขาย หรือถ้าความนิยมต่ำ แต่กลับผลิตมาก ก็จะขาดทุน การเรตติ้งหรือการประเมินความนิยมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างขาดไปเสียไม่ได้สำหรับการลงทุน

         ในประการที่สอง เรื่องของ “เรตติ้ง” ตกเป็นตัวร้ายในธุรกิจสื่อโทรทัศน์ เพราะนักลงทุนในพื้นที่สื่อโทรทัศน์ได้ใช้ระบบเรตติ้งโดยวัดความนิยมจากจำนวนคนดูรายการโทรทัศน์ ถ้ารายการใดคนดูมาก รายการนั้นก็จะได้รับการสนับสนุนการโฆษณามาก และสิ่งที่ต้องยอมรับต่อมา ก็คือ รายการที่สนุกมาก คนดูก็จะมาก ซึ่งเรื่องที่สนุกมักจะไม่มีสาระ ในท้ายที่สุดของวงจร ก็คือ รายการโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุด อาจไม่ใช่รายการที่มีสาระมากที่สุด ในทางตรงข้าม รายการที่คนดูมากที่สุด อาจเป็นรายการที่ให้ทัศนคติที่เลวร้ายที่สุดแก่มนุษย์

        ดังนั้น การแก้ไขปัญหาสำหรับจอโทรทัศน์ซึ่งเป็นสมาชิกของทุกครัวเรือนอย่างขาดไม่ได้ ก็คือ ศิลปินด้านโทรทัศน์จะต้องพยายามผสมผสาน “สาระ” และ “ความสนุก” เข้าด้วยกัน ดังที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “edufun”  นักเทคโนโลยีทางการศึกษาจะต้องพยายามตอบโจทย์ในเรื่องนี้ให้ได้ ส่วนรัฐ ก็ควรจะต้องลงทุนในการส่งเสริมให้เกิดรายการโทรทัศน์ที่ประเทืองปัญญาแก่คนในสังคมไทยมากๆ เป็นการป้อนวิตามินบำรุงสมองของประชาชน เมื่อติดโทรทัศน์กันนัก ก็ใส่ความรู้ในโทรทัศน์ซะเลย

           แค่มี TV4Kids ไม่เพียงพอ

           เรายังต้องการ TV4People อีกด้วย

           ลดความเป็น TV4Business ลงไปบ้างก็ดีค่ะ

หมายเลขบันทึก: 34588เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2006 04:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ถึงว่าค่ะประเทศไทยเปิดไปช่องไหนมีแต่ละครน้ำเน่าสนิทเลย...อิอิ  

เห็นว่ารายการทีวีที่ประเทืองปัญญาหรือสอดแทรกความดีงานทางศึลธรรมประเพณียังมีน้อยยิ่งนั่น เด็กในปัจจุบันจึงขาดทั้งความรู้และคุณธรรมไปพร้อมกัน

อาจจะเป็นเพราะ"เงิน"ตัวเดียว ที่ตราหน้าทุกคนที่ในองค์กรธุรกิจหลงมัวเมาจนลืมมองดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมเรายุคต่อไป....เด็ก....ที่กำลังจะเติบโตนั้นไม่ได้ดูดซับความรู้ใดเลยหรือ?จากรายการทีวีในปัจจุบัน...เพราะพ่อแม่เองก็ยังเปิดช่องละครน้ำเน่าค้างไว้...วันดีคืนดีก็ต้องดูด้วยกันซักวันแน่

แต่ถ้ามีทีวีทางเลือกอย่างที่มีการพยายามผลักดันกันแล้ว ย่อมเป็นผลดีต่อสังคมทั้งเด็กและอาจจะเป็นผู้ใหญ่ด้วยที่จะได้รับความรู้จากรายการเด็กที่ไทยผลิตเอง...(เพราะปัจจุบันต้องซื้อสิทธิจากเมืองนอกมาฉายกันอยู่เนืองจากรายการของไทยไม่มีความน่าสนใจพอ)

ดังนั้นนอกจากการเพิ่มทีวีทางเลือกเพื่อเด็กและเยาชนแล้ว ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ควรนำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงรายการของตนโดยคำนึงถึงสังคมด้วย โดยนำเรตติ้งพิจารณาจากความมีประโยชน์มิใช่จากจำนวนคน และที่สำคัญที่สุดไม่ใช่จากเงินค่าโฆษณา...

ผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้ง มีเรื่องหนึ่งที่นึกถึงเสมอเวลาดูรายการทีวีบ้านเขา  นั่นคือ เนื้อหารายการบ้านเขา ที่มีสาระและความบันเทิงควบคู่กัน โดยแต่ละรายการสนองตอบกลุ่มผู้ชมที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาจะไม่ทำรายการออกมาไม่มีคุณภาพ ตัวอย่างเช่น รายการข่าวกรณีช่วงปีใหม่ เขาจะสรุปเนื้อข่าวโดยนำมาวิเคราะห์ให้เห็นด้วย เช่นการวิเคราะห์การใช้งบประมาณของสหรัฐในการสร้างเครื่องบินรบ โดยมีการแสดงสัดส่วน เทคโนโลยี เงิน ที่ใช้พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ ออกมาเป็นอุปกรณ์สื่อให้ผู้ชมเห็นและเข้าใจได้ง่ายขึ้น  หรืออย่างเช่นรายการบันเทิงช่วงปีใหม่ จะมีการแข่งขันของทีมดารานักร้อง 2 กลุ่มใหญ่ๆ เพื่อมาประชันความสามารถด้านอื่นๆ ที่ไปฝึกฝนมา แล้วมาให้คะแนนว่าทีมใดจะชนะ โดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือมีทักษะด้านที่เกี่ยวข้องกับการแสดงนั้นๆ มาเป็นผู้โหวดให้คะแนน ซึ่งไม่มีของรางวัลให้ มีเพียงเสียงปรบมือทั้งช่วงตอนแสดง และช่วงตอนแสดงผลโหวด ซึ่งผมขอยกตัวอย่าง เช่น นักแสดง 6 คน ไปฝึกการเชิดสิงโต เชิดยืนบนกลุ่มของแท่งเหล็ก มีการกระโดดไปมา หรือประสานทักษะอื่นๆ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่เคยทำมาก่อน หรือ รายการที่นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น การทำซ่อมหรือขจัดคราบเปื้อนบนเสื้อผ้าว่าจะทำอย่างไร ซึ่งนำไปใช้ได้เลย เป็นต้น 

สรุปคือ เมืองไทยควรพัฒนารายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพน่าสนใจ และการใช้ลูกเล่นของสื่อโทรทัศน์ให้เต็มประสิทธิภาพ  เห็นที่ประเทศอื่นเขาพัฒนาและดีอย่างไร ก็ควรนำปรับปรุงให้เข้ากับบริบทของเรา ซึ่งผมเห็นด้วยกับที่อาจารย์ว่าครับ "ลดความเป็น TV4Business "

ผมอยากได้ข้อมูลการ เรตติ้ง ของต่างประเทศนะคับผมจะหาได้ที่ไหนหรอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท