ปริญญาเอก มจร.
พุทธสาวก นักศักษาปริญญาเอก มหาจุฬาฯ

ศึกษาเฉพาะเรื่องในความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนา 16 มิถุนายน


วันนี้เป็นวันแรกที่พระอาจารย์ ดร. พระมหาสมจินต์ บรรยายวิชานี้  ครั้งแรกนี้ท่านได้ให้ขอบเขตของเนื้อหา  แผนการเรียนการสอนที่มีรายการหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน

ขอบเขตเนื้อหาที่ท่านนำเสนอในครั้งแรกนี้  ท่านนำเสนอยังไม่หมด  เพราะหมดเวลาเสียก่อน  โดยท่านเล่าให้ฟังก่อนว่า  การนำเสนอขอบเขตนี้จะกินเวลาประมาณสามถึงสี่ครั้ง  หลังจากนั้นท่านและวิทยากรรับเชิญจะบรรยายเนื้อหาในรายละเอียดในประเด็นที่น่าสนใจไปจนถึงครั้งที่แปด  เวลาที่เหลือนับแต่ครั้งที่เก้าเป็นต้นไปจะเป็นการนำเสนองานกลุ่ม  รายชื่อกลุ่ม  และลำดับการนำเสนอได้มาการจัดลำดับแล้วโดยการจับสลากในการพบกันครั้งแรกนี้  ระหว่างนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์โดย "พี่เม่า" แล้วจะส่งมาให้ผมเพื่อนำเสนอในชุมชนนี้ต่อไป

งานมอบหมายในวิชานี้พระอาจารย์แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ  งานกลุ่มดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น  และงานเดี่ยวที่ต้องเขียนคนละ สามชิ้น  ที่สำคัญท่านเน้นว่า  ต้องเขียนอย่างดีนะ (ผมตีความว่า  คือการเขียนบทความเชิงวิชาการเต็มรูปแบบ) ท่านใดที่มีแนวทางในการเขียนบทความเชิงวิชาการอยู่แล้ว  โดยเฉพาะ คุณ "นันทพล" ที่พวกเราเคยอ่านงานท่านแล้วในวิชาของ พระอาจารย์ ดร. พระมหาหรรษา  ผมว่าเราต้องเขยนประมาณนั้นครับ  ส่วนท่านใดที่ยังไม่มีแนวทาง  ผมยินดีแลกเปลี่ยนแนวทางการเขียน บทความเชิงวิชาการหรือบทความวิจัยครับ  ลองเข้าไปดูที่ Thesis Community ของผมดูครับ  เผื่อจะจุดประกายในวิธีการเขียนได้  หากท่านที่มีแนวทางการเขียนอยู่แล้วจะเข้าไปให้แสดงความคิดเห็น  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  จะขอบคุณมากครับ

ประเด็นเนื้อหาที่พระอาจารย์ คณบดี  บรรยายในวันนี้  เป็นการให้ "คำหลัก" ในการศึกษา  ซึ่งแต่ละคำล้วนเป็นคำที่สามารถนำไปเป็นหัวข้อในการทำงานมอบหมายได้ทั้งงานเดี่ยวและงานกลุ่ม  ที่สำคัญท่านเน้นว่า "ต้องเป็นประเด็น  หรือแง่มุมใหม่ ๆ โดยเฉพาะทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา"  ประเด็นหลักที่ผมพอจะนึกออกมาดังนี้ครับ

วิถีชีวิตในสังคมอินเดียโบราณ  มีคำถามที่นำไปสู่การศึกษาต่อไปในประเด็นนี้หลายคำถามเช่น

(หนึ่ง) วิถีชีวิตแบบ "อาศรมสี่" ของคนอินเดียโบราณ  มีส่วนอย่างไรหรือไม่ต่อการออกบวชของพระพุทธเจ้าใจสมัยนั้น  หากวิเคราะห์ใจเชิงสังคมวิทยา  และมานุษยวิทยา  ประเด็นนี้  ส่วนตัวผมเห็นว่า  ก็มีความน่าสนใจ  โดยเฉพาะท่านที่สนใจประวัติศาสตร์อินเดีย  แต่ว่าท่านควรรู้จักวิธีการวิเคราะห์ความเป็นจริงทางสังคมของนักสังคมวิทยาด้วย  จะทำให้พลังในการวิเคราะห์ของท่านมีพลังในการอธิบายมากขึ้นเช่น  หากวิเคราะห์จากมุมมองของ "สำนักโครงสร้างนิยม" การอธิบาย  และคำตอบ  ก็จะได้อีกคำตอบหนึ่ง" สำนักโครงสร้างหน้าที่นิยม" "สำนักแฟรงค์เฟิร์ท" "สำนักศาสตร์ระบบ (system science)" คำตอบก็จะมีมิติในการอธิบายที่จะแตกต่างกันออกไปครับ  หรือท่านเห็นว่าอย่างไร  เชิญแลกเปลี่ยนครับ

(สอง) ประเด็นเรื่องวรรณสี่  ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเช่นเดียวกับประเด็นเรื่อง อาศรมสี่ครับ  แต่ในทัศนะผม  ประเด็นนี้จะมีความซับซ้อนเพิ่มเข้ามาอีก  เครื่องมือในการวิเคราะห์ประเด็นนี้  อาจดูได้จากวิธีการวิเคราะห์ของ Anthony Giddens แห่ง London School of Economic and Political Science LSE ที่ชื่อว่า Structuration Theory ซึ่งเสนอว่า  โครงสร้างเกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง Actor กับ Structure ของสังคม  ซึ่งคล้ายกับ Hermeneutic Circle ของนักอรรถประวรรตศาสตร์ยุคคลาสสิคและโรแมนติค  หรือ วิธีการวิเคราะห์ของ Jurgen Habermas ที่เสนอว่า  โครงสร้างทางสังคมมาจากระบบการติดต่อสื่อสารในสังคม ในงานของเขาชื่อ The Theory of Communicative Action วิธีของ Habermas นี้  มีลักษณะคล้ายกับข้อเสนอของ Niklass Luhmann ในงาน Social Systems แต่แตกต่างกันในรายละเอียดเรื่องการให้ความหมายของการสื่อสารครับ  เห็นไหมครับ  ประเด็นเรื่องวรรณสี่  สามารถวิเคราะห์ในทางสังคมวิทยาได้อย่างน่าสนใจมาก  ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยครับ  วิธีการวิเคราะห์ของนักวิชาการไทยที่ไม่แพ้นักวิชาการตะวันตกที่ยกตัวอย่างให้ดูนั้น  ท่านสามารถอ่านได้จากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. นิธี เอียวศรีวงศ์ ครับ  วิธีการวิเคราะห์ของท่านอาจสงเคราะห์เข้าได้กับวิธีการที่เรียนว่า Double Hermeneutic ของ Giddens หรือ Hermeneutic Circle ครับ  งานของท่านมีพลังในการอธิบายมากครับ  ลองมาหามาอ่านดูครับมาหลายเรื่องน่าสนใจ  ที่สำคัญต้องตั้งเป้าหมายในการอ่านไว้ว่า  "ไม่ได้อ่านเพื่อดูว่าท่านเขียนอะไรครับ  แต่อ่านโดยตั้งประเด็นไว้ในใจว่า  ท่านเขียนอย่างไร  หรือถามตนเองว่า  ประเด็นนั้น ๆ ทำไมท่านจึงใช้วิธีการอธิบายอย่างนี้"  จะได้ประโยชน์ในเชิงเครื่องมือในการวิเคราะห์มากครับ  ผมลองใช้แล้วครับ

(สาม) ประเด็นเรื่องทิฏฐิสอง "ขาดสูญ" กับ "เที่ยง"

(สี่) ประเด็นเรื่องวิธีปฏิบัติ "หย่อน" กับ "ตึง"

(ห้า) ประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า  และพระพุทธศาสนา  ในแง่คำสอน  และในแง่บุคคลและเหตุการณ์

วันนี้ท่านพระอาจารย์คณบดีได้เสนอถึงประเด็นนี้ครับ  ส่วนประเด็นที่พระอาจารย์เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนในห้อง  มีหลายเรื่องที่น่าสนใจครับ  โดยเฉพาะ "กระทู้" ที่ "พี่แอ๊ว" ดร.เสาวลักษ์ ตั้งขึ้นมาว่า "รูปเป็นอนัตตา นั้นพอเข้าใจ  แต่ นามเป็นอนัตตานั้น ยังรู้สึกยัดแย้งอยู่" เห็นประเด็นแล้ว  ทำให้หลายคนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันครับ  บรรยากาศในการแลกเปลี่ยนดีมาก  เป็นเรื่องที่ดีซึ่งจะทำให้เราได้ศึกษาต่อไปครับ

อีกประเด็นนี้ "พี่แอ๊ว" ถามอีกได้แก่  "อะไรเป็นตัวที่นำ "รหัสกรรม" ไปยังอีกภพชาติต่อไป" ประเด็นนี้ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนกันอีกยาวครับ  นอกจากในชั่วโมงนี้แล้ว  ผมยังมีโอกาสนำประเด็นนี้ไปถามต่อในชั่วโมงของ Prof. Dr. Perter Masefield ที่ท่านเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "กรรม" มาพอดีครับ  ท่านก็ยอมรับแบบ "ถ่อมตน" ว่า  ท่านก็ไม่รู้

โดยภาพรวม  ชั่วโมงแรกของวิชาพระอาจารย์จุดประการความอยากรู้อยากเห็นขึ้นในแววตาของเพื่อน ๆ หลายคนครับ  โดยเฉพาะผม

ชั่วโมงหน้าวันที่ 23 มิถุนายน  พระอาจารย์ขอเลื่อนสอนเป็น 09.00-11.30 ครับ  เพราะพระอาจารย์มีภาระกิจช่วงบ่าย  และขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของ "พี่เม่า" ที่จะมีวันเกิดในวันที่ 24 มิถุนายน (วันแห่งการอภิวัติประเทศไทย) จะเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล แต่พระเพื่อนของเราครับ  พวกเราก็พลอยได้รับอานิสงค์ด้วย...สาธุ

พบกันโอกาสนหน้าครับ  อย่าลืมแลกเปลี่ยนความเห็นของท่านกับชุมชนครับ  หากเป็นเป็นได้  "เพิ่มบันทึกใหม่" ด้วย จะดีต่อชุมชนเราเป็นอย่างยิ่งครับ

สวัสดิ์  พุ้มพวง
หมายเลขบันทึก: 34495เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2006 07:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
     ตามอ่านอยู่นะครับ แต่ขออภัยที่ยังไม่ได้มีการ ลปรร. เพราะผมมองตนเองว่ายังไม่รู้ในประเด็นนี้อีกเยอะมากครับ กำลังพยายามอ่านจากงานของ ดร.สวัสดิ์ เพื่อเรียนรู้ครับ

 

อภิวัติประเทศไทย  คืออะไร  ช่วยแปลหน่อย

ถ้าให้  มหา  แปล  ตามศัพท์จะได้อย่างนี้

อภิ  แปลว่า  ยิ่ง,  ใหญ่, ทับ  เป็น  อัพพยศัพท์ 

วัตติ  แปลว่า  เป็นไป, หมุนไป  เป็นกิริยา 

สองคำรวมกันแปลว่า  หมุนไปทับ  กลิ้งไปทับ 

คำถามมีว่า  ประเทศไทยหมุนไปทับอะไร 

ถ้าบอกว่า  วันชาติไทยในอดีต  จะไม่ฟังง่ายกว่าหรือ

(แซวพระเอกลิเกเล่น) 

 

คำถามมิใช่ นามเป็นอนัตตาหรือไม่ แต่ หมายถึง กรรมต้องมีสิ่งที่นำพาไปโดยที่ยังไม่เป็นอนิจจังให้ข้ามภพข้ามชาติชีวิตมนุษย์ จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน ใสสะอาดและหลุดพ้นการเวียนไหว้ตายเกิดในโลกมนุษย์นี้ และเมื่อถึงซึ่งนิพพานแล้ว สิ่งนั้นจะเป็นอย่างไร อนิจจังและอนัตตาหรือไม่
ขอบคุณ "พี่แอ๊ว" ครับ ที่ช่วยทวนคำถามทำให้คำถามชัดเจนขึ้นครับ  ผมเองฟังในคำถามในห้องบรรยายอาจจะยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่  เลยจับประเด็นมาบันทึกไม่ครบถ้วนครับ  เมื่อมีคำถามชัดแล้วผมขออนุญาตแลกเปลี่ยนในคำถามนี้ดังต่อไปนี้ครับ

ผมเข้าใจคำถามตามภาษาผมดังนี้ว่า "กรรมและผลของกรรมจะไปสู่ภพอื่นได้อย่างไรเมื่อคนตายไปแล้ว?" ไม่แน่ใจว่าจะถูกหรือเปล่านะครับ  เอาเป็นว่าจากการ "ตีความ" คำถามแบบนี้  ขอจะพยายามตอบดังนี้ครับ

เรื่องนี้ผมขอคัดลอกข้อความจากหนังสือของ Ven. Dr. W. Rahula ในส่วนที่กล่าวถึงขันธ์ห้า  ดังต่อไปนี้ครับ  พี่อ่านแล้วหากสนใจหนังสือมีจำหน่ายที่มหาจุฬาบรรณาคารครับ  จะได้มีประเด็นที่แลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อไปครับ

"...being is nothing but a combination of physical and mental forces or energies. What we call death is the tatal non-functioning of the physical body. Do all these forces and energies stop altogether with the non-functioning of the body? Budhdism says 'No'. Will, volition, desire, thirst to exist, to continue, to become more and more, is a tremendous force that moves whole lives, whole existences, that even moves the whole world." pp. 32-33.

จากข้อความที่ผมยกมานี้  "พี่แอ๊ว" อาจจะเริ่มมองเห็นคำตอบหรืออาจจะเริ่มเข้าใจเรื่องกรรมว่า  "กรรมมีการไหลเวียนและให้ผลตลอดเวลา  เวลาคนตายลง  เป็นการตายแค่กาย  จิตไม่ได้ตายหรือดบ  เพราะยังมีกระบวนการสืบเนื่องตลอดเวลา  จิตจะดับก็ต่อเมื่อหยุดการปรุงแต่งอย่างสนิท" เรื่องกายดับแต่จิตไม่ดับนี้  ท่านเปรียบกับสถานการณ์ที่คนธรรมพอนึกออกได้แก่เรื่อง "เวลาคนเรานอนหลับ" ครับ  ไม่ทราบว่าผมตอบเข้าประเด็นหรือเปล่าครับ

คำอธิบายอีกแนวหนึ่งที่ท่านพยายามอธิบายเรื่องกรรม  โดยท่านไปเปรียบกับรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ว่านั่นแหละ  เป็นการถ่ายทอดกรรม  โดยมีตัว "จิต" เป็นตัวบันทึกรหัสกรรมนั้น  ท่านให้เหตุผลว่า  มนุษย์มีการสั่งสมกรรมตลอด  นับแต่อภัสราพรหมลงมากินง้วนดิน  จนกลายเป็นมนุษย์แล้ว  การสั่งสมกรรมนั้นจะเพิ่มจำนวนรหัสกรรมขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจำนวนรหัสพันธุกรรมของมนุษย์  มีจำนวนใกล้เท่ากันหรือเคียงกันกับจำนวนปีที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาบนโลก (นับตั้งแต่เซลล์เดียวจนถึงมนุษย์)

หนังสื่อชื่อ "รหัสกรรม" ของท่าน นวองคุลี  พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ DMG น่าจะเป็นแหล่งค้นคว้าที่พอเพิ่มความกระจ่างแก่ "พี่แอ๊ว" ได้เป็นลำดับครับ  ผมอ่านเล่มนี้แล้ว  ก็เพิ่มพูนความเข้าใจสำหรับตัวเองขึ้นกว่าก่อนอ่านมากทีเดียวครับ

ผมเชื่อว่า  "พี่แอ๊ว" มาที่นี่เพื่อความรู้ครับ  ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายเดียวกับผม  ฉะนั้นหากมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อสร้างความรู้ที่สูงกว่าความรู้ระดับ "การจำข้อมูล" ไปสู่ความรู้ระดับ "ความเข้าใจ" ผมยินดีแลกเปลี่ยนอย่างเต็มที่ครับ  เพราะผมเชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความรู้ระดับ "ความเข้าใจ" เป็นกระบวนการที่เป็น "Reflexivity" ของการสานเสวนากับการคิดวิเคราะห์ครับ นี่ก็ไม่ใช่ฝรั่งเช่นกันครับ  เรื่องนี้คือ "สุตตมยปัญญา" และ "จิตตมยปัญหา" ที่พี่แอ๊วเคยสานเสวนากับ "น้องยุ้ย" เมื่อคราวนั่งรถไปแคมป์สนครับ

สำหรับหนังสือเล่มหลังนี้  "พี่แอ๊ว" อ่านแล้วตีความอย่างไร  ผมจะดีใจมากหากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันครับ

ด้วยความเคารพ
สวัสดิ์
กราบนมัสการท่านมหา

ก่อนอื่นต้องกราบขออภัยครับที่สะกด "อภิวัติ" ผิด  ที่ถูกต้องคำนี้สะกดว่า "อภิวัฒน์" ครับ  หากท่านลองแยกปัจจัยคำนี้อีกครั้งก็ดีครับ ฆารวาสจะได้เข้าใจบาลีเพิ่มขึ้น

คำว่า "การอภิวัฒน์ประเทศไทย" เป็นคำบัญญัติของศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ แห่งของสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง "เพื่อนบ้านเรา" ท่านบัญญัติคำนี้ขึ้น  จากภาษาอังกฤษที่ว่า "Revolution" การเปลี่ยนแปลงในแนวคิดของอาจารย์ปรีดี  ท่านต้องการให้การเปลี่ยนแปลงเป็นการเปลี่ยนเพื่อก้าวไปข้างหน้า  การเปลี่ยนแปลงในปี 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาสังคมไปข้างหน้า  จากหลัง 6 ประการของคณะราษฎรที่ร่างโดยอาจารย์ปรีดี  ท่านจึงต้องการให้ใช้คำว่า "อภิวัฒน์" ที่มีความหมายถึงการหมุนไปข้างหน้า แทนคำว่า "ปฏิวัติ" ที่มีความหมายไปในเชิงหมุนถอยหลัง (ท่านมหาแยกปัจจัยแล้วคงจะเห็นด้วยกับวิธีคิดของอาจารย์ปรีดีนะครับ)

24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ของไทย  ผมจึงตีความว่า ห้วงเวลานี้เป็น "ห้วงเวลาแห่งการอภิวัฒน์ประเทศไทย" วันเกิดพี่เม่าที่เป็นวันที่ 24 มิถุนายน ไปสอดคล้องกันวันดังกล่าว  ทำให้ผมนึกถึงเรื่องนี้ได้  เลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ความพยายามในการ "อภิวัฒน์" ประเทศไทยปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ครับ "ท่านสุปรีดา พนมยงค์" บุตรชายของอาจารย์ปรีดี  มีส่วนอย่างยิ่งในแนวคิดนี้  ท่านที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ "โครงการปฏิรูปประเทศไทย" ครับ (มีประเด็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิทยานิพนธ์ของท่าน พลตรี อภิสิทธิ์ ด้วยครับ)

โอกาสหน้า  ผมอยากอ่านเรื่องเล่า  จากท่านอื่น ๆ บ้างครับ (ผมใกล้จะหมดเรื่องเล่าแล้ว)
ขอบคุณคุณสวัสดิ์มากที่ขยันอ่านและมาเล่าสู่กันค่ะ เห็นด้วยตามที่เขียนขยายความมาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษชัดเจนและรัดกุมดี และได้อ่านเพิ่มเติมเนื้อหาของท่านพุทธทาส ท่านพระสังฆราชฯ ท่านพระธรรมปิฏก ท่านพระปัญญาฯ และ ท่านคณบดีพระมหาสมจินต์ที่เขียนอยู่ในWeb มจร แล้วทำให้เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามสมมุติฐานที่ตั้งกราบเรียนถามพระอาจารย์ในวันเรียนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่คงจะหาอ่านต่อไปอีก เพราะยิ่งค้นก็รู้สึกดีทีเดียวค่ะ ซาบซึ้งในนำใจไมตรีของท่านทุกรูป/คนค่ะ เสาวลักษณ์-แอ๊ว
ด้วยความยินดีครับ "พี่แอ๊ว" หนังสือที่กล่าวมาน่าสนใจทั้งนั้นเลยครับ  อ่านแล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ
สวัสดิ์

กราบนมัสการ และ สวัสดีค่ะ,

 

หนูไม่ได้เป็นนักศึกษาปริญญาเอกในโครงการของท่านหรอกค่ะ 

 

แต่บังเอิญค้นคำว่า Giddens ใน Go to know นี้เข้ามาแล้วดีใจมากค่ะที่มาเจอบล๊อกนี้

 

ไม่ทราบว่าบล๊อกยัง active อยู่หรือเปล่าคะ?  เห็นไม่ได้อัพเดทอีกเลย หลังจาก มิถุนายน ๒๕๔๙

 

หนูเพิ่งกลับจากไปรับทุนวิจัยป.เอกที่ญี่ปุ่นค่ะ   สาขาของหนูคือ สังคมวิทยา ยังไม่เสร็จดี คงต้องกลับไปอีก  หรือไม่ก็คงจบที่นี่  อ.ที่ปรึกษาให้โจทย์ไปค้นคว้าเพิ่มในเรื่องทฤษฎีของ Giddens

 

ไม่ใช่เฉพาะ Structuration Theory แต่เรื่อง Territorization Theory ด้วยน่ะค่ะ

 

ทฤษฎีหลังหนูยังหาไม่เจอเลยค่ะ  เจอแต่ของ Goffman  ที่พูดถึง Territories of Self เอาไว้  แล้ว Giddens ไปวิจารณ์อีกทีหนึ่ง

 

เลยอยากหาคน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยน่ะค่ะ  เพราะจะว่าไปแล้ว  วิทยานิพนธ์หนู  ก็เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาอยู่บ้างน่ะค่ะ

 

ไม่ทราบมีใครย้งคุยกันอยู่ในนี้บ้างไหมคะ?

 

ขอบพระคุณ และกราบนมัสการค่ะ,

 

ณัชร

...-*ตามแผนน่ะครับ*-...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท