ตื่นตา ตื่นใจ กับ KM ศูนย์ 6 (ตอนที่ 3)


อยากให้การทำงาน KM ของกรมอนามัย เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทำงาน

 

ก่อนจะไปดูกิจกรรมอันเกิดจาก KM จริงจริง ศูนย์อนามัยที่ 6 นั้น KM Team ได้ถือโอกาส share ความคาดหวัง และประสบการณ์บางอย่างให้ชาว ศูนย์ 6 ฟังด้วย

เริ่มที่อาจารย์หมอสมศักดิ์นะคะ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย"ผมก็อยากดูที่พวกเราทำ แต่วันนี้มีเวลาก็ขอคุยภาพรวมก่อนสักหน่อยก็คือ ... ข้อที่หนึ่ง วันนี้ พวกเราทีมส่วนกลางขอมาเรียนรู้ ไม่ได้มาสอน ... เพราะอยากรู้จริงๆ ว่า เวลาพวกเราทำเรื่อง KM แล้ว เป็นอย่างไร ตั้งแต่ทำง่าย หรือทำยาก ทำแล้วได้ประโยชน์ หรือเปล่า

แต่ที่อยากพูดมีอยู่ 2-3 ประเด็น

การเรียนรู้ตลอดชีวิต ...

อันที่หนึ่ง เล่าถึงวิธีคิดของผมก่อน พอดีกับที่คุณหมอประณีตเขียนถึงเรื่องแนวคิด 2 ฝ่าย ที่เป็นที่มาของ KM ศูนย์ ... ที่บอกว่าเอามาประยุกต์ โดยอ้างอิงแนวคิด กพร. และ สคส. ก็เลยขอนุญาตพูดนิดหนึ่งว่า ... ที่กรมฯ ตอนที่ผมถูกขอให้มาช่วยดูแลงาน KM ก็บอกตัวเองไว้ว่า อยากให้การทำงาน KM ของกรมอนามัย เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทำงาน เพราะว่าผมเองเรียนรู้เรื่อง KM แล้ว มีความรู้สึกว่า ในที่สุดมันเหมือนกับการทำให้คนทุกคน เรียนหนังสือเป็นไปในระหว่างการทำงาน พูดง่ายๆ ก็คือ แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าเข้าใจ KM ก็จะช่วยให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ KM ก็จะเป็นทั้ง สิ่งที่เรียกว่า ปรัชญา ค่านิยม อาจจะมีเทคนิคบ้างเล็กน้อย ผมก็หวังว่า เราทำ KM มันจะทำให้พวกเรารู้วิธีทำงาน และรู้ วิธีเรียนรู้ระหว่างการทำงาน โดยไม่ต้องไปทำกิจกรรมพิเศษ มันไม่ใช่ project พิเศษ และไม่ใช่โครงการที่จะประเมินแยกไปจากการทำงาน

พอไปดูของจริง มันก็คงไม่ง่าย คือ ถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็คือ มาคุยกันว่า เรามีความรู้อะไรขาดอยู่ จะเรียนอย่างนั้นได้ยังไง มานั่งฟัง lecture กันได้มั๊ย ซึ่งอย่างนั้นอาจจะเป็นการเรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งมันไม่จริง ... เวลาเราฟัง lecture นี่ สมมติว่าเราทำเรื่องพัฒนาบุคลากร การที่ทีมพัฒนาบุคลากรมาฟัง lecture เรื่องแนวคิดการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเดี๋ยวนี้ที่ฮิตมาก คือ Human resource หรือ HR เป็นอะไรขึ้นหม้อมาก ใครรู้เขาก็จะจ้างกัน เราก็ไปเชิญคนเก่งๆ มาเล่าให้เราฟัง ว่าเขาทำยังไงบ้าง ผมไม่ถือว่า เป็นการเรียนรู้จากการทำงาน คือ การที่เราได้ฟัง lecture ในเรื่องงานที่เราทำ ก็เป็นการเรียนรู้ระหว่างการทำงาน แต่ไม่รู้ภาพการทำงาน ภาพการทำงานคือ ทำแล้วได้ความรู้ รู้จักสิ่งที่เราทำมา ... แนวคิด KM จะเน้นมากที่อันหนึ่ง ว่า ความรู้ได้จากการทำงานนี้ โดยเฉพาะ เรื่อง HOW คือ ทำยังไง ไม่ใช่ WHAT พวกเรามักจะรู้ what ถ้าพวกเราไปฟัง lecture ก็จะรู้ what เยอะ เช่น พัฒนาบุคลากรนี่ บทบาทสมัยใหม่มีอะไรบ้าง แต่เขาก็จะไม่ได้เล่าให้เราฟังว่า how ... how นี่ต้องมาทำเอง และเป็นตัวสำคัญ

 เรื่องของ How

  • เมื่อเช้าเราคุยกันเล่นๆ เรื่อง มีพวกเราคนหนึ่งไปถวายพระพรวันที่ 9 มิย. ที่กรุงเทพฯ ... ก็เล่าว่า ไปยังไง นั่งรถไฟไป ไปนอนที่กรุงเทพฯ ก็เข้าไปในกลุ่ม ไปดูพลุ ความจริงนี่ ถ้าพวกเรารู้นะ เราก็จะถามกันว่า ... ไปกันได้ยังไงนะ หนึ่ง วันที่ 9 นี่ รถไฟก็จะแน่นมากเลย นี่อุตส่าห์จองรถไฟได้ โรงแรมก็จะหายากเหมือนกันแถวนั้น เอ๊ แล้วจองโรงแรมได้ยังไง แล้วฝ่าไปถึงเมืองทองธานีได้น่ะ ไปยังไง พวกนี้เป็น how ทั้งนั้น และเราก็คงอยากรู้ว่าเขาจัดการได้ยังไง ... แบบนี้ต้องไปเขียน blog เล่าให้ฟังกันสักหน่อยนะครับ ... เผื่อใครไปเจองานคนเยอะๆ อย่างนี้จะได้รู้วิธีการจัดการว่า เข้าไปในที่มีคนเยอะๆ ยังไง เพราะว่าทุกคนก็จะรู้หมดว่า การจะเข้าไปในที่คนเยอะๆ จะต้องทำอะไรบ้าง จากนี่ไปถวายพระพรวันที่ 9 ทุกคนรู้หมด แต่ how น่ะ อยากจะรู้ได้ยังไง อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเล็กๆ ว่าด้วยเรื่อง how
  • เมื่อวานนี้ ผมประชุมกับพวกนักข่าว เราพยายามพัฒนานักข่าว คุยกับนักข่าวให้ทำข่าวเชิงสืบสวน สอบสวนเป็น เขาก็จะพยายามอบรมนักข่าว เวลาอบรมก็จะเล่าให้ฟังว่า การทำข่าวเชิงสืบสวน สอบสวนแปลว่าอะไร แต่พอมีคนที่เขาเขียนเป็น มาเล่าให้ฟังนะ มันก็จะมีอะไรอีกเยอะมากเลย ... ยกตัวอย่างที่เขาเล่าให้ฟังว่า นักข่าวนี่เขาจะเขียนเรื่องยาวๆ ต่อเนื่องไม่จบ นักสืบสวนสอบสวน ต้องเขียนเรื่องต่อเนื่องจบ ... นักข่าวก็จะเขียนข่าวเป็นวันๆ เลย ส่งโรงพิมพ์แล้วก็จบ ... คนที่เขาทำเป็น คุณประสงค์ ที่มติชน เขาก็จะมาเล่าให้ฟังว่า วิธีการทำงานของเขา ก็คือ เขาก็เขียนข่าวปกติทุกวัน แต่สักพัก เขาก็จะเอาข่าวที่เขาเขียนทุกวันมาดูอีกที และปะติดปะต่อให้เป็นเรื่อง ก็เป็นเทคนิคของเขา ซึ่งก็เมื่อได้เทคนิคนี้ เขาก็สะสมทีละวันๆ ไปเรื่อย และค่อยมาว่า มาดูอีกที ก็เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ง่ายมาก สิ่งนี้มาเล่าให้ฟังเพราะว่า อยากให้เห็นรูปธรรมว่า สิ่งที่บอกว่ารู้จากการทำงานนั้นแปลว่าอะไร มันต่างกับการเรียนรู้ระหว่างการทำงานอย่างไร

ที่นี้ เรื่อง KM ของพวกเรา ... พอ กพร. เขาอยากให้เราทำ เราก็ต้องรู้อีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมตระหนักตลอดเวลา เมื่อมาทำงานกรมอนามัย ... ก็คือว่า

  • สิ่งที่เราพูดกันอยู่ทุกวันนี้ ว่าด้วยเรื่อง KM ... ไม่ใช่การมาพูดว่า แต่ละคนจะเรียนรู้จากการทำงานได้อย่างไรเท่านั้น ... แต่เป็นการบอกว่า ในฐานหน่วยงานหนึ่งหน่วยงาน เราจะมาสร้างบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้จากการทำงานได้อย่างไร มันเป็นอีกทางหนึ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ว่า เวลาบอกว่า ทำการจัดการความรู้ในหน่วยงาน แปลว่าอะไร มันแปลว่า ทำให้เกิดสิ่งแวดล้อม บรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้จากการทำงาน ได้มีประสิทธิภา
  • คำถามก็จะถามต่อว่า ทำยังไงล่ะ จึงจะสร้างบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวก ให้คนเรียนรู้จากการทำงานได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้เข้าใจว่าเป็น how ที่ใหญ่มาก ทุกคนอยากทำทั้งนั้น เพราะว่าทุกคนก็จะรู้ว่า ถ้าบอกให้เรียนรู้จากการทำงาน ก็จะมีคำตอบ 2 คำตอบ หนึ่งก็คือ ไม่มีเวลา แค่ทำงานให้เสร็จก็จะแย่แล้ว ยังจะมาให้เรียนอะไรกันอีก ทีนี้ถ้าตอบแบบนี้ก็ต้องกลับไปที่คำถามแรก ประเด็นแรกที่ผมบอกมาว่า เอ๊ย ยุ่งแค่ไหนมันก็เรียนรู้กันทั้งนั้นแหล่ะ คนเราเรียนรู้ตลอดเวลา คำถามที่สอง คือ จะตอบว่า ไม่เห็นมีใครสนับสนุนเลย ก็ต้องกลับไปคุยกันเยอะเลย ว่า การสนับสนุนนี้ต้องการการสนับสนุนแบบไหน อะไรคือตัวสำคัญ ที่บอกว่า คอมพิวเตอร์น่ะ ก็อาจบอกว่า ถ้ามีคอมพิวเตอร์ แล้วไม่มีเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ก็คงไม่มีประโยชน์ มีเครื่องมือสนับสนุน มีคอมพิวเตอร์ แต่พวกเราไม่มีแรงกระตุ้น หรือ Motivation หรือสิ่งเร้า ก็ไม่มีประโยชน์ ที่เล่าทั้งหมดนี้ ก็จะบอกว่า เวลาที่เราส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้นี้ เราก็พยายามทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน มันจึงเกิดคำว่า คุณเอื้อ คุณอำนวย คนที่ทำให้ทุกคนสร้างสิ่งแวดล้อม

อันสุดท้ายที่จะเล่าให้ฟังก็คือ เรื่อง กพร. เพราะว่า กพร. ขอให้กรมต่างๆ ทำแผน KM ส่ง กพร. และมีแบบฟอร์มเยอะมาก ให้เขียนแผน และแบบฟอร์มมาถึงกรมอนามัย หลังจากกรมอนามัยเขียนแผนไปแล้ว ตอนนั้นเราก็มีคำถามกันเล็กน้อยในกรมว่า เราจะทำยังไงดี เราจะสั่งให้ทุกหน่วยงานเอาแบบฟอร์ม กพร. มาดู และกรอก และเขียนเป็นแผน ตามแนวทางของ กพร. แล้วส่งกลับไปให้กรมฯ และส่ง กพร. หรือเปล่า ผมก็ต้องขอบคุณคุณศรีวิภา และพี่นันทา เพราะว่าที่เราคุยกันไปสักพักหนึ่ง ผมก็ยืนยันว่า เราจะไม่ทำอย่างนั้น เราจะยังยึดแผนที่หน่วยงานต่างๆ ทำอยู่ เราจะไม่สนใจว่า มันจะ follow แบบฟอร์ม กพร. หรือไม่ เหตุผลสำคัญคือ ผมดูแบบฟอร์ม กพร. แล้ว ผมก็ดูว่าเวลาที่เราทำแผนกันแต่ละแห่ง เราก็ได้พยายาม follow วิธีคิดเหล่านั้น แม้จะไม่ได้ใช้แบบฟอร์มของเขา พูดง่ายๆ ว่า เราก็วิเคราะห์ว่าเราขาดอะไร อยากได้อะไร การวิเคราะห์ว่าเราควรจะทำอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็เลยไม่ได้ส่งแบบฟอร์มนั้นมาให้กรอก คุณศรีวิภาก็ทำหน้าที่กรอกแบบฟอร์ม ของ กพร. อย่างแผนส่วนกลาง แต่แผนของหน่วยงานต่างๆ เราก็ไม่ได้มาขอให้วุ่นวายมาก ซึ่งตอนหลังสุดที่ทำได้ อย่างน้อยก็เพราะว่า กพร. เขาก็สนใจที่แผนภาพรวมของกรมอนามัย และหลังจากที่เราได้ทำอย่างนั้นไปแล้ว เขาก็ได้มาตรวจสอบ พวกเราก็คงทราบแล้วว่า กรมอนามัยก็ได้รับคำชมเชยว่าทำได้ดี โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรวุ่นวาย และไม่ได้มั่ว ก็เอาที่พวกเราคิดเขียนเข้าไป  และก็พวกเราคงทราบว่า กพร. ก็อยากขอดูหน่วยงานตัวอย่างสัก 1 หน่วยงานในกรมฯ ที่ทำได้ ที่เป็นตัวอย่างรูปธรรม ก็เลือกศูนย์ 1 ส่ง กพร.

ที่ผมเล่ามาให้ฟังนี้ ก็อยากให้พวกเราเห็นว่า การรับรู้วิธีคิดของ กพร. ก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าบางอย่าง ที่ส่วนกลางก็ไม่ได้ follow เสียทุกอย่าง เหตุผลหนึ่งผมคิดว่า กพร. เขายังประเมินเรื่องการจัดการความรู้ในแบบเดิมๆ ถ้าใช้สำนวนอาจารย์หมอวิจารณ์ก็คงว่า ประเมินการจัดการความรู้ยุคแรก คือ ดูว่ามีระบบ IT ไหม การเอาความรู้ที่จำเป็นมาเก็บรวบรวมไว้ไหม คนที่เกี่ยวข้องนั้นเอาความรู้ไปใช้หรือเปล่า ใช้แล้วเป็นยังไง เขายังไม่ได้เน้นเรื่องการจัดการความรู้ยุคสอง ซึ่งเน้นเรื่องการแคะความรู้จากตัวคน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่อยู่ในตัวคน คงเน้นตรงนั้นน้อยไปหน่อย ... แต่ว่าแนวคิดที่ สคส. ที่อาจารย์วิจารณ์มาขายมาก และดูเหมือนทำที่ไหน คนก็จะชอบ ก็คือ แนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ ที่พยายามจะแคะความรู้จากที่เรามี มาแลกกัน ซึ่งเป็นที่มาของการเน้นเรื่อง How เพราะว่าทุกคนมี how ที่ไม่เหมือนกัน และทุก how มีความหมาย

อย่างหนึ่ง คนก็ชอบถามว่า มาแคะความรู้แล้วจะรู้ได้ยังไง ว่าความรู้นั้นมันถูก คำตอบก็ง่ายๆ ว่า ถ้าคนพูดทำจริง ไม่ได้มั่ว ไม่ได้มาเล่าเพราะว่าต้องการขายผ้าเอาหน้ารอด และเมื่อเล่าก็ต้องเล่าตามทฤษฎี ถ้าเขาเล่าสิ่งที่เขาทำจริง มันก็จะถูกเสมอ เพราะเขาก็ทำมาแล้ว ส่วนคุณจะนำไปใช้ได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง คุณก็ต้องนำไปใช้ในบริบทของคุณ พูดให้รู้ว่า มันมีข้อจำกัดในบริบทของคุณหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เอาไปใช้ก็บอกไม่ได้ว่า ใช้ได้หรือไม่ได้ เพราะว่า how เป็นความรู้ที่ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า Conflict specific มันขึ้นกับบริบทใครบริบทมัน อันนี้ก็ขออนุญาตพูดพาดพิงไปถึง กพร. เล็กน้อย เพราะต้องการย้ำประเด็นที่ผมพูดไปตั้งแต่ต้นว่า เวลาเราคิดในกรม สิ่งที่เราก็พยายามมาก ก็คือ การ follow เรื่องการทำเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องที่อยู่ในตัวคน ก็จะได้เรื่องราวเรื่อง success story ก็จะเข้ามาเยอะ

ผมมีประสบการณ์เรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ กับเรื่องพิมพ์ดีด

  • ผมเป็นผู้บริหาร และผมก็ชอบเขียน ซึ่งผมต้องมีลูกน้องไปพิมพ์ และผมก็เป็นคนที่มีลายมือสวยมาก เป็นที่รู้กัน เพราะฉะนั้นผมต้องใช้เวลาในแก้สิ่งที่ลูกน้องพิมพ์ประมาณ 2-3 รอบ จึงจะเรียบร้อย และก็จะรู้สึกเสียเวลามาก ลูกน้องก็จะรู้สึกทรมาน ในที่สุดผมก็ตัดสินใจหัดพิมพ์ดีด ... ตอนแรกๆ ก็คิดหนักมากเลยครับ เรื่องหัดพิมพ์ดีด เพราะรู้สึกว่า เสียเวลา เราเป็นผู้บริหาร ทำไมต้องพิมพ์ดีด ทำไมไม่ให้ลูกน้องพิมพ์ เพราะว่า เวลาของเราก็มีค่า (นี่ก็เล่ากันอย่างตรงไปตรงมาครับ เพื่อการ ลปรร.) และผมก็บอกตัวเองว่า เออ ถ้ามัวแต่คิดอย่างนั้นละก็ ก็จะเป็นอย่างนี้น่ะแหล่ะ คือ เสียเวลามากขึ้น เพราะว่าไปเสียเวลาแก้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ ให้คนอื่นแก้ก็ไม่มีทาง เพราะว่ามันเป็นลายมือของเรา ยกเว้นจ้างอีกคนหนึ่ง ซึ่งต้องอยู่กับเรามานานกว่า 20 ปี อ่านลายมือเราเก่งมาก ซึ่งผมก็มีลูกน้องประเภทนั้นครับ แต่เขาก็จะมีค่าพอที่จะไปทำอย่างอื่นด้วย เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีทางหรอก ... ก็เลยตอบตัวเองว่า ถ้าเราพิมพ์ดีดไม่เป็น ก็จะเสียเวลาที่มีค่านี้มากไปโดยใช่เหตุ สุดท้ายก็เลยหัดพิมพ์ดีด และตอนนี้ก็พิมพ์ได้แล้ว และผมหวังว่า พวกเราคงไม่มีใครที่คิดจะเกลียด หรือกลัวการพิมพ์ดีด
  • เมื่อเราพิมพ์เป็น เดี๋ยวนี้ก็มีข้อสรุปที่ 2 ก็คือว่า ใครพิมพ์ดีดไม่เป็นในยุคนี้ ก็จะสื่อสารได้น้อยมาก เพราะเดี๋ยวนี้ มันเป็น Electronic communication และ software ที่จะอ่านลายมือเราออกนั้น อีกนานกว่าจะเสร็จ ... ผมก็ขอย้ำว่า หัดพิมพ์ดีดเถอะ เพราะจะใช้งานกับคนอื่นได้มาก communicate ได้ดีมาก ตอนนี้ผมทำงานกับคนต่างประเทศได้ เพราะ email ถ้าไม่มี email และผมพิมพ์ดีดไม่เป็น ผมก็จะแย่มาก เพราะว่ามีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง เวลาประชุมก็คุยได้ดีมากเลย แต่หลังประชุมก็ไม่เห็นหน้าเขาเลย เพราะว่าเขาเข้า internet ไม่ได้ email ไม่เก่ง พิมพ์ดีดช้า ... และที่นี่ก็มี wireless มีเครื่องเยอะ ก็คงมีจำกัดบ้าง แต่เอาที่มีให้เป็นประโยชน์สูงสุดก่อนก็คือ ต้องจัดการเวลาของตนเองนะ ผมดีตรงที่ผมมีเครื่อง ผมอยากใช้อะไรก็เปิด ที่บ้านผมมี wireless ผมก็มีความสุขมาก แต่ถ้าไม่มี wireless ก็คงลำบากหน่อย แปลว่า ถ้าที่นี่มี wireless ก็สบาย มี server 4 ตัว security ก็คงดี

ประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ผมขออนุญาตพูดเลยก็คือ

  • พวกเราจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยชอบแลกเปลี่ยนกัน เพราะอาย ไม่รู้มีหรือเปล่า ก็ไม่เชิงอาย อาจเป็นการสงวนท่าที คือ มักจะบอกว่า ความรู้ที่ฉันมี พูดไปคนมักจะหัวเราะ เล่าไปเขาก็จะรู้สึกว่า ไม่มีคุณค่า ... ผมไม่แน่ใจว่า พวกเรากี่คนที่รู้สึกเหมือนคุณหมอปราณีตเล่าในสไลด์เกือบท้ายๆ ที่บอกว่า การทำ KM ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า ผมก็พบว่า คนที่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกที่ไม่มั่นใจเลยนี่ ถ้าได้ลองไป ลปรร. แล้ว ดูเหมือนจะมีความสุขกันทุกคน คือ มีความมั่นใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร
  • ผมไปจัด workshop กับชาวต่างประเทศ 5-6 ประเทศ เป็นคนอินโด พม่า บังคลาเทศ ประมาณ 10 คน พูดเรื่อง KM กับการจัดการงานวิจัย หลายคนมาพร้อมกับความไม่มั่นใจว่า ตัวเองมีอะไรจะแลก แต่ว่าความที่บรรยากาศดี เขาก็เริ่มเล่าเรื่องที่เขาทำ เราก็เล่าเรื่องที่เราทำ แล้วเขาก็พบเองว่า สิ่งที่เขาทำตั้งหลายอย่าง เช่น ที่คนอินโดทำแล้ว เรายังทำไม่ได้ก็มี สิ่งที่เราทำแล้ว เขาเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้ก็มี มันก็เลยมีการติดต่อ คุยกันทาง email มีการเล่าเรื่องต่างๆ คนพม่าก็ไปชวนเพื่อมาเข้ากลุ่ม เราก็นึกว่า คนพม่าคงไม่กล้าพูดกล้าเขียน ปรากฏว่า เขาก็เขียนเยอะ ก็ ลปรร. กันได้ และผมก็เข้าใจว่า อีกสักพักก็คงจะมีสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปใช้ประโยชน์ และนำมาเล่าสู่กันฟังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อยากสรุปอยากเดียวว่า อย่ากลัว ถ้าเป็นอาจารย์หมอวิจารณ์ก็จะพูดอยู่เรื่อยว่า ในยุคการจัดการความรู้ ความรู้ที่มีค่าที่สุดก็คือ ความรู้ที่มีอยู่ในตัวเรา เพราะฉะนั้น ของที่มีค่านั้น เอามาแลกกันเสีย ส่วนที่มาแลกกันแล้วมีคนมาขโมยไป แล้วไม่ให้เครดิตเรา ผมก็คิดว่า ถือเสียว่า ทำบุญนะ ... และข้อดีอย่างหนึ่งของการแลกผ่านคอมพิวเตอร์ เวลาที่เราบันทึกลงไปใน computer system นี้ เข้าไปใน server ในเครื่องเราแล้ว จะมี reference ถึงเรื่องวันเวลาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะไปอ้างว่า นี่เป็นของเรา เพราะเรามีมาก่อน เราก็พิสูจน์ได้
  • มีอีกเรื่องเล็กๆ ก็คือ เวปไซต์ที่เราได้ทำกับต่างประเทศเมื่อกี้ เรามีเวปไซต์ต่างหาก เวปหนึ่ง ในเวปนี้จะบอกเลย ว่า อ้างข้อตกลงของ UN เพราะผมถูกคนอินเดียต่อว่า ... ส่งเรื่องมาให้เขาตั้งใจจะมาใช้ประชุม ไม่ได้ให้ไปขึ้นเวปสักหน่อย คุณเอาไปขึ้นเวปได้ยังไง ไปลุกล้ำสิทธิส่วนตัวของเขา ... คนที่ทำเวปก็เลยบอกว่า มีข้อตกลงสหประชาชาติอยู่ข้อหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการ share ข้อมูลบนเวป หลักง่ายๆ ก็คือว่า สิ่งนี้เป็นข้อมูลสาธารณะ กรุณา acknowledge นี่ก็เป็นเรื่องทั่วไป เพราะว่าเวลาคุณเอาของใครเขามา ก็กรุณาบอกด้วยว่า เอามาจากไหน ว่าเราไม่สงวนสิทธิหรอก ก็คือไม่ต้องจ่ายตังค์ แต่เวลาเอาไปใช้ก็บอกด้วยว่าเป็นของใคร เขาก็จะขึ้นประโยคนี้ในหน้าเวปไซต์ ผมว่า เราเอาข้อตกลงนี้มาทำก็ไม่เลวนะ ถ้าอยากอ่านก็คลิ๊กไปอ่านรายละเอียด แต่ก็เป็นตัวช่วยให้เขามีมรรยาทมากขึ้นก็ได้

ทพญ.ณัฏฐา ได้เสริมบรรยากาศเย็นๆ ที่ศูนย์อนามัยที่ 1 ซึ่งก็คือ ... ขอแลกเปลี่ยนบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในศูนย์อนามัยที่ 1 ในการประชุมครั้งหนึ่ง ที่ยังไม่เคยมีบรรยากาศอย่างนี้เลยเท่าที่ได้ประชุมมา ตั้งแต่ทำงานมา 20 กว่าปี ก็คือ มีความรู้สึกเย็นไปหมด และผู้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้คือ ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่อนามัย ที่เล่าเรื่องที่เขาอยู่ช่วยงานในห้องทำคลอด ... เวลาเขาพูดเราก็มีความรู้สึกว่า มองเห็นบรรยากาศในห้องทำคลอด เขา Manage ยังไงกับการทำคลอด หรือคนที่จะคลอด เขามีความสุข และวันนั้นเป็นการประชุมตอนบ่าย ทุกคนไม่ออกจากห้องประชุมเลย และเมื่อออกมากันแล้ว ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส นานๆ จะเจอบรรยากาศอย่างนี้ และก็เชื่อว่า ศูนย์ 6 ก็คงเหมือนกัน เพราะเริ่มด้วยคุณเอื้อ (ทพญ.ปราณีต) ที่มีความเย็นอยู่ในตัว ด้วยคำพูด ท่าทางที่เย็น ก็ทำให้เย็นใจได้มาก

... มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วละค่ะ  บรรยากาศที่ศูนย์อนามัยที่ 6 เพราะเริ่มต้นด้วยบรรยากาศที่เย็นสบายจริงๆ ...

 

หมายเลขบันทึก: 34480เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2006 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลังจากที่ได้อ่าน ความรู้สึกทุกเส้นบรรทัดเหมือนได้เข้าไปนั่งฟังด้วยจริงๆครับ ...

ต้องขอบคุณ หมอนนทลี มากๆครับ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไป ก็เหมือนว่าได้ไปจริงๆ แล้วครับ

ขอพูดถึงเรื่อง How to ที่ได้จากการอ่านนะครับ เช่น...

 - ถวายพระพรวันที่ 9 มิย. ที่กรุงเทพฯ ...

 - เทคนิคการเขียนข่าวแบบสืบสวน สอบสวน

 - การประเมินการจัดการความรู้ ยุคแรก หรือการยังไม่เน้น เรื่องการจัดการความรู้ยุคที่สอง (ยุคปัจจุบัน)

 - ที่มาที่ไป เกี่ยวกับการพิมพ์ดีด ของ หมอสมศักดิ์ 

 ...และอีกหลากเรื่องราว ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ ได้ประโยชฯมากครับ ที่หมอนนทลี เอามาเขียนอย่างละเอียดยิบ

เห็นประเด็นในเชิงกระบวนการจาก How to ที่ หมอสมศักดิ์ได้เล่าเมไปหมด และก็ได้เห็นภาพรวม ของศูนย์อนามัยที่ 6 ขอนแก่น ซึ่งยังถือว่าเป็นเพียงน้ำย่อย อย่างที่หมอนนทลี บอกเอาไว้ตั้งแต่ ตอนที่ 1  

และก็จะติดตามต่อไปครับ...

**ขอบคุณครับ**

                                       นายแขก

 

ขอบคุณคุณหมอนนทลีมากค่ะ ที่ช่วยเก็บและช่วยแกะทุกคำพูดของคุณหมอสมศักดิ์ คุณหมอณัฎฐา และขอบคุณศูนย์อนามัยที่6 ที่ทำผลงานดีดีโดยใช้KMเป็นเครื่องมือ

ทุกข้อความ...ทำให้ได้เรียนรู้จากเรื่องเล่านี้มาก ขอบคุณทกท่านจริงๆค่ะ แม้ไม่ได้ไปด้วยก็ขอเรียนรู้และชื่นชมด้วยคนนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท