รามเกียรติ์ตอน "พาลีสอนน้อง" : สิบวิธีทำงานให้เจ้านายรัก


หลักการและความจริงยังคงอยู่ แม้เวลาจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม

          “อุเหม่... เจ้ายักษ์ศรี วันนี้เจ้าบังอาจมาก” เสียงน้องเต้ยกำลังร่ายงรำอย่างสนุกสาน เด็ก 5 ขวบคนนี้ชอบโขนเป็นชีวิตจิตใจ วันหยุดเมื่อไหร่จะต้องได้ยินเสียงแจ๋วๆอยู่เป็นประจำ สงสัยตอนอยู่ในท้องคุณแม่ต้องได้ดูโขนบ่อยแน่ๆเลย ได้ฟังแล้วก็ทำให้นึกถึง”รามเกียรติ์” วรรณคดีที่ชาวไทยรู้จักกันมานาน ซึ่งวันก่อนได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ผู้เขียนหัวข้อนี้คือกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำส่วนหนึ่งของรามเกียรติ์มาบอกเล่าแถมยังมีประโยชน์อีกด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

            ในวรรณคดีรามเกียรติ์นอกเหนือจาก “หนุมาน” พญาลิงเผือกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ยังมีลิงอีกตัวหนึ่งที่ถูกกล่าวขานกันอยู่เสมอนั่นคือ “พาลี” ผู้ครองนครขีดขิน หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “พาลีสอนน้อง” อันเป็นตอนหนึ่งในวรรณคดีเรื่องนี้

            “พาลี” เป็นลูกของพระอินทร์กับนางกาลอัจฉา เดิมกำเนิดเป็นคนแต่เพราะถูกฤาษีโคดมสามีของแม่จับได้ว่าเป็นลูกชู้ เลยถูกสาปให้เป็นลิง เช่นเดียวกับ “สุครีพ” ที่เป็นลูกของพระอาทิตย์ (ชู้อีกคนของแม่) ทั้งคู่มีศักดิ์เป็นน้าของหนุมาน เพราะเป็นน้องชายของนางสวาหะ ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมแม่แต่ต่างพ่อกัน โดยนางสวาหะเป็นลูกสาวแท้ๆของฤาษีโคดมและเป็นลูกคนแรกของนางกาลอัจฉา พาลีเป็นลิงที่มีกายเป็นสีเขียว สุครีพมีกายสีแดง เมื่อถูกสาปก็ซัดเซพเนจรอยู่ในป่า พระอาทิตย์เกิดความสงสารลูกตัวจึงได้สร้างเมืองที่ชื่อว่า “ขีดขิน” ให้ลูกไปอยู่ โดยให้พาลีเป็นเจ้าเมือง ส่วนสุครีพให้ดำรงตำแหน่งเป็นมหาอุปราช

            พาลีนับว่าเป็นลิงเจ้าชู้และเจ้าอารมณ์ไม่น้อย เพราะเมื่อทศกัณฐ์พานางมณโฑเหาะผ่านมา พาลีก็ไปแย่งชิงมาเป็นเมีย ต่อมาสุครีพได้ทำความดีความชอบโดยช่วยยกเขาพระสุเมรุที่ทรุดเอียงให้ตั้งตรงใหม่ได้ พระอิศวรก็เลยปูนบำเหน็จฝากผอบแก้ว(ที่มีนางฟ้าดาราอยู่ข้างใน)ให้พาลีเอาไปให้น้องซึ่งไม่ได้มาด้วย ส่วนพาลีก็ได้ตรีเพชรเป็นอาวุธ และพรที่ว่าหากสู้กับใครก็จะได้พลังของฝ่ายนั้นมาอีกครึ่งหนึ่ง แต่กระนั้นเมื่อพาลีเปิดผอบเห็นนางดาราก็เกิดอาการ “ปิ๊ง”ยึดนางเป็นเมียทันที ส่วนสุครีพก็พูดไม่ออก

            ครั้นต่อมาทรพี ควายจอมซ่าส์ฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อได้ ก็เกิดอาการฮึกเหิมท้ารบไปทั่ว จนมาเจอกับพาลีก็ไปสู้กันในถ้ำ ปรากฏว่าพาลีชนะ แต่บังเอิญฝนตกทำให้เลือดทรพีที่ไหลออกมาเจือจางเป็นสีใส สุครีพเข้าใจผิดคิดว่าพี่ตาย ก็ทำตามคำสั่งคือให้ปิดถ้ำ พอพาลีออกจากถ้ำได้ก็โกรธ คิดว่าน้องทรยศจึงขับไล่ออกจากเมืองไป

             ครั้นต่อมาเมื่อหนุมานได้ไปรับใช้พระรามก็มาชักชวนสุครีพน้าชายให้มารับราชการกับพระรามด้วย สุครีพก็เลยแนะนำว่า หากต้องกี่กำลังพลไปสู้กับทศกัณฐ์ต้องไปฆ่าพาลีเพื่อยึดเอาเมืองขีดขินมา พระรามก็ต่อว่าเป็นน้องชายคิดฆ่าพี่ชายได้อย่างไร สุครีพก็เลยท้าวความว่าที่ฆ่าได้เพราะพาลีผิดคำสาบานที่เอานางดารามาเป็นเมียแทนที่จะนำมาให้ตน ดังนั้นจึงต้องตายด้วยศรของพระรามตามคำสัตย์ที่ให้ไว้เมื่อตอนรับผอบมา พาลีเมื่อต้องศรพระรามก็รู้ตัวว่าต้องตายแน่ ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่มีโอกาสอยู่ช่วยพระรามปราบยักษ์ ส่วนพระรามก็เสียดายความสามารถของพาลี จึงแนะนำว่าให้เอาเลือดพาลีสักครึ่งหยด หยดลงไปบนศรพรหมมาศก็จะพ้นคำสาปไม่ต้องตาย เพียงแต่จะมีแผลเป็นขนาดเท่าเส้นผมผ่าเจ็ดที พาลีคิดแล้วเห็นว่าแม้แผลจะเล็กน้อยแต่ก็ดูเสียศักดิ์ศรี เสียสัตย์สาบาน น่าอับอาย เลยยอมตายดีกว่า ว่าแล้วก็เรียกสุครีพและองคตลูกชายมาสั่งลา พร้อมกับแนะนำสุครีพถึงการปฏิบัติตนในการรับใช้พระราม และคำสอนนี้เองจึงเป็นที่มาของ “พาลีสอนน้อง” ซึ่งป็นตอนหนึ่งในบทละครพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเนื้อหาถ้าจะพูดแบบทันสมัยก็คือ “แนะวิธีทำงานให้เจ้านายรัก”

1.      หมั่นเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิจกาล อย่าเกียจคร้านทำตามอำเภอใจ คือ เป็นลูกน้องต้องหมั่นไปหาเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจทำตามใจตนเอง

2.      สิ่งใดพระองค์จะตรัสถาม อย่าเบาความเท็จทูลแต่โดยได้ นั้นคือ หากผู้ใหญ่หรือเจ้านายจะพูดคุยซักถามอะไรก็ให้ตอบตรงประเด็น อย่าพูดมาหรือเลือกพูดเอาแต่ได้ (ประโยชน์เฉพาะตัว)

3.      อย่าแต่งตัวโอ้อวดพระทรงชัย ที่ในพระโรงรัตนา หมอบเฝ้าอย่าก้มอย่าเงยหงาย อย่าเตร่ตร่ายเหลือบแลซ้ายขวา หมายถึง เวลาพบผู้ใหญ่ต้องแต่งกายให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันต้องรู้จักสำรวมกิริยา

4.      พระที่นั่งบัลลังก์อลงการ์ อย่าฝ่าฝืนขึ้นนั่งอิงองค์ แปลตรงตัวที่ว่าที่นั่งของเจ้านาย อย่าขึ้นไปนั่ง นั่นคือ สอนว่าอย่าตีตนเสมอผู้ใหญ่

5.      อันฝูงพระสนมนางใน อย่าผูกจิตพิสมัยใหลหลง ความนัยข้อนี้คือ อย่าไปยุ่งกับของรักของหวงของเจ้านาย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือของ เพราะนายจะคิดว่าเรากำเริบเสิบสานและโอกาสก้าวหน้าจะดับ

6.      จงภักดีต่อใต้บาทบงสุ์ อย่าทะนงว่าทรงพระเมตตา สอนให้รู้จักจงรักภักดี ให้ความเลื่อมใสเคารพนับถือต่อผู้บังคบบัญชาอย่างจริงใจ ไม่โอ้อวดถือดี ตีเสมอ และอย่านำความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อเราไปหาผลประโยชน์ส่วนตัว

7.      แขกเมืองอย่าบอกความลับ อย่าสนิทคบหา หมายถึง อย่าเอาความลับของหน่วยงานไปบอกแก่ผู้อื่น หรอไปทำสนิทสนมกับฝ่ายตรงข้าม พูดง่ายๆก็คือ อย่าไปสาวไส้ให้กากิน

8.      อย่ามีใจฉันทาทัดทาน เมื่อทำงานดีได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ก็ควรจัดสรรปันส่วนให้ลูกน้องหรือผู้ร่วมงานด้วย เขาก็จะรักในน้ำใจ

9.      แม้กริ้วโกรธลงโทษผู้ใดอย่าใส่ใจยุยงจงผลาญ หมายถึง เมื่อเจ้านายเกิดโมโหลงโทษหรือดุว่าใคร ก็อย่าได้ร่วมวงทับถมเพื่อน หรือยุยงให้ลงโทษให้หนักขึ้น หากเขาผิดจริงก็ควรวางเฉยให้นายพิจารณาเอง

10.  อย่าโลภลักราชทรัพย์ศฤงคาร พระบรรหารส่งใดจงจำความ เป็นการสอนว่าอย่าโลภมาก อย่าริอ่านขโมยหรือยักย้ายถ่ายเทสมบัติของนายหรือของหลวงมาเป็นของตัว เพราะเป็นเรื่องผิดทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย

 
          ซึ่งคำสอนของพาลีทั้งสิบข้อนี้ แม้จะเป็นเรื่องโบราณแต่ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันได้ จะว่าไปแล้ววรรคดีไทยมีคำสอนที่ดีๆหลายอย่าง ไม่แพ้หนังสือฝรั่งที่มาแปลขายในบ้านเราเหมือนกันนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3448เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2005 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เยี่ยม เลยครับ เป็นข้อคิดที่อ่านแล้วนำไปใช้ได้ครับ

JJ

ไปนำมา(คัดลอก)จากไหนก็น่าจะอ้างถึงที่มา เป็นการให้เกียรติแหล่งอ้างอิงนะ

ของต้นฉบับอยู่นี่จ้า

http://www.culture.go.th/study.php?&YY=2548&MM=5&DD=6

พอดีค้นเรื่องนี้อยู่พอดี

ขอบคุณนะคะ

ขอเอาไปทำรายงานเน้อจ่ะ

ขอบคุณจ่ะ

ขอบคุงนะคะ

เยี่ยมเลยค่ะ

ตอนแรกยังงกับคำว่าศฤงคาร

เพราะที่อื่นเขียนศฤคาร

ก็เลยงงนิดหน่อยค่ะ

ขอบคุงนะคะ

ขอบคุณคร้าบบบบบบบบบบบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท