การสอนแบบโครงงาน


การสอนแบบโครงงาน

ความเป็นมาของการสอนแบบโครงงาน

 

1. ศตวรรษที่ 19-20  John  Dewey  เขียนหนังสือ  Democracy  and  Education 

ซึ่งกล่าวถึงการสนับสนุนให้เด็กทำงานด้วยการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  อันประกอบด้วยการบ่งชี้ปัญหา  การตั้งสมมุติฐาน  การเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาโดยเน้นการทำงานระบบกลุ่ม

2. Kilpatrick  นำแนวคิดของ  John  Dewey  มาประยุกต์ใช้เพื่อฝึกให้นักศึกษารู้จักวิธีการสอนแบบโครงงาน  ทำให้ค้นพบว่าการใช้วิธีสอนแบบโครงงานทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้นและมีระดับความพึงพอใจในการเรียนมากขึ้น  รวมทั้งพัฒนาศักยภาพในด้านต่างของตนเองให้สูงขึ้น  เขาจึงกล่าวว่า 

   “ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบโครงงานคือหัวใจสำคัญของทุกกิจกรรมในการเรียนรู้ของเด็ก”

3. Lilian G. Katz  และ  Siliva C. Chard  ได้ศึกษาดูงานการสอนโดยใช้โครงงาน  (Project  Approach)  ที่โรงเรียน  Reggio  Emilia  ทางตอนเหนือของอิตาลี  จึงจัดพิมพ์หนังสือ  Engaging  Children  Mind : The  Project  Approach)ในปี ค.ศ.1991  และพัฒนารูปแบบการสอนแบบโครงงานให้ชัดเจนขึ้น

4.  ปี พ.ศ.2537 – 2539  ผศ.ดร.พัชรี  ผลโยธี  และ  ดร.วรนาถ  รักสกุลไทย  ได้ส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานในระดับการศึกษาช่วงปฐมวัย  และดร.วัฒนา  มัคคสมัน  ได้วิจัยและพัฒนารูปแบบการสอนแบบโครงงาน  (Project  Approach)ในปี  2540  จนได้รับความสนใจในวงกว้างโดยสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติจัดทำเป็นหนังสือชุด  การปฏิรูปการศึกษา

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของVygotsky

หลักการ 

“การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น  โดยการเรียนรู้จะเกิดที่ Zone of Proximal Development ”

การนำไปใช้

1.  ยั่วยุ ท้าทายให้เด็กอยากเรียนรู้

2.  เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็นแล้วนำมาหลอมรวม

3.  เพิ่มพูนกิจกรรมที่พัฒนาความรู้ของผู้เรียนให้สูงขึ้น

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของPiajet

หลักการ

“กระบวนการเรียนรู้ของเด็กมี 2 กระบวนการ คือ Organization  และ  Adaptation โดยกระบวนการ Assimilation และ accomm0dation ”

การนำไปใช้

1. จัดสภาพแวดล้อมให้ท้าทาย ยั่วยุการแสดงออกและการคิดอย่างอิสระ

2. การวางแผนการสอนต้องแยกระดับความรู้ให้ชัดเจน ระวังที่จะตรวจสอบระดับการคิดของเด็ก

การนำไปใช้

1. จัดสภาพแวดล้อมให้ท้าทาย ยั่วยุการแสดงออกและการคิดอย่างอิสระ

2. การวางแผนการสอนต้องแยกระดับความรู้ให้ชัดเจน ระวังที่จะตรวจสอบระดับการคิดของเด็ก

ทฤษฎีการสอนของBruner

หลักการ

“เด็กค้นพบคำตอบของตนเองเมื่อถูกคำถามปลายเปิด การนำเสนอความรู้ต้องตรงกับการรับรู้ของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าผลการเรียนรู้ ”

การนำไปใช้

1.  ใช้คำถามปลายเปิดเสมอ

2.  ใช้วิธีการแสดงออกทั้ง 3 ระดับ

3.  เน้นกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างความคิดรวบยอด และการนำไปใช้

ความหมายของโครงงาน

สสวท.

การศึกษาค้นคว้าตามความสนใจ ความสามารถของผู้เรียนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบหรือผลงานที่มีความสมบูรณ์ในตัว  ด้วยการใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์  โดยนักเรียนเป็นผู้ดำเนินการเองและมีครูเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ

เป็นการศึกษาค้นคว้าตามความสนใจที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  ภายใต้การแนะนำปรึกษาของครูเกี่ยวกับการคิดสร้างโครงงาน  การวางแผนดำเนินการ การลงมือปฏิบัติ  การกำหนดแนวทางวัดและประเมินผล

ธีรชัย  ปูรณโชติ

เป็นการศึกษาที่เน้นกิจกรรมที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติและศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองโดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ภายใต้คำแนะนำของครูหรือผู้เชี่ยวชาญ

ลัดดา  ภู่เกียรติ

เป็นวิธีการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจของนักเรียน  โดยใช้ทักษะกระบวนการหลายด้าน  มีวิธีการศึกษาอย่างเป็นระบบและขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง แล้วลงมือปฏิบัติตามแผนงานจนได้ข้อสรุปหรือคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ

วัฒนา  มัคสมัน

การจัดประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึก โดยเรื่องนั้นเกิดจากความสนใจของเด็กเอง จัดกิจกรรมมุ่งให้เด็กมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆโดยใช้ระยะเวลาเพียงพอที่เด็กจะได้คำตอบในสิ่งที่อยากรู้และให้เด็กได้สำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ

ทิศนา  แขมมณี

การจัดสภาพการเรียนการสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนเลือกทำโครงงานตามความสนใจ ร่วมกันวางแผนในการศึกษาค้นคว้า ลงมือปฏิบัติตามแผนจนได้ข้อค้นพบใหม่แล้วเขียนรายงานและนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน

สรุป

“โครงงาน  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ที่ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่สนใจอย่างละเอียดลึกซึ้ง  โดยอาศัยทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์และทักษะการแสวงหาความรู้ที่หลากหลาย ผ่านการ ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง  มีการวางแผนการทำงานร่วมกันอย่างละเอียดและปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นระบบขั้นตอนและต่อเนื่องเพื่อแสวงหาคำตอบในเรื่องนั้นๆจนได้รับคำตอบหรือองค์ความรู้  ภายใต้การให้คำแนะนำจากครู ”

รูปแบบและประเภทของโครงงาน

โครงงานประเภทสำรวจ

เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนสำรวจข้อมูล  รวบรวมแล้วนำมาจัดเป็นหมวดหมู่แล้วนำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้น

โครงงานประเภททดลอง

เป็นการศึกษาเพื่อหาคำตอบของปัญหาโดยการออกแบบการทดลอง ดำเนินการทดลอง เพื่อหาคำตอบหรือเพื่อตรวจสอบสมมุติฐาน

โครงงานประเภทการประดิษฐ์

เป็นการพัฒนาหรือประดิษฐ์เครื่องมือ  อุปกรณ์ให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ อาจเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่หรือปรับปรุงของเดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรืออาจเป็นการสร้างจำลองเพื่ออธิบายหรือแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ

โครงงานประเภททฤษฎี

เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุ ความเป็นมา  ผลกระทบตลอดจนเรื่องราวต่างๆอย่างมีเหตุผลแล้วนำหลักการหรือทฤษฎีมาสนับสนุน หรือเป็นการสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่

ขั้นตอนของการสอนแบบโครงงาน

1.  ขั้นสำรวจปัญหา

เป็นการสำรวจความสนใจหรือข้อสงสัยของผู้เรียน  ซึ่งอาจเกิดจากเนื้อหาบทเรียนหรือปัญหาในชีวิตประจำวันก็ได้

2.  ขั้นรวบรวมข้อมูล

เป็นการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่สนใจหรือปัญหาที่ต้องการคำตอบ  โดยการศึกษาจากเอกสาร  สื่อหรือแหล่งข้อมูลต่างๆ

3.  ขั้นวางแผนดำเนินการ

เมื่อตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะศึกษา  ศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนในการปฏิบัติงาน

4.  ขั้นดำเนินการ

เป็นการปฏิบัติงานตามแผนงานที่วางไว้  ซึ่งในขั้นนี้อาจมีการปรับปรุง  เพิ่มเติมหรือแก้ไขโครงงานจนมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

5.  ขั้นนำเสนอผลงาน

เป็นการนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าต่อสาธารณชนในรูปแบบต่างๆ  เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

แนวทางการประเมินโครงงาน 

1.  แนวทางการประเมิน

การประเมินโครงงาน  เป็นการประเมินตามสภาพจริงและการประเมินอิงการปฏิบัติ  ซึ่งพิจารณาได้จากการประเมินพฤติกรรมการทำงานของผู้เรียน  การประเมินกระบวนการปฏิบัติโครงงาน  และการประเมินชิ้นงาน  หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้จากการทำโครงงาน  โดยการประเมินสามารถประเมินเป็นระยะตลอดเวลาที่ผู้เรียนปฏิบัติโครงงาน   ผลจากการประเมินสามารถนำไปปรับปรุงการปฏิบัติโครงงานและตัดสินผลการเรียนของผู้เรียน

2.  ขั้นตอนการประเมินโครงงาน

(1) ศึกษาคุณลักษณะของกิจกรรม หรือภาระงานที่ต้องการประเมิน

(2) นักเรียนและครูกำหนดหัวข้อการประเมิน และเป้าหมายการประเมิน

(3) วิเคราะห์คุณลักษณะ หรือทักษะ ตามหัวข้อที่กำหนด

(4) สร้างตารางแสดงมิติที่ใช้บอกคุณภาพของงานแต่ละระดับ

(5) กำหนดค่าคะแนน

วิธีการวัดและประเมินโครงงาน

การประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม

 1.  แบบสังเกต

2.  แบบสอบถาม

3.  แบบสัมภาษณ์

4.  แบบบันทึกพฤติกรรมรายบุคคลหรือรายกลุ่ม

5.  แบบประเมินพฤติกรรม

6.  แบบประเมินตนเองของนักเรียน

การประเมินกระบวนการปฏิบัติโครงงาน

1.  แบบบันทึกการปฏิบัติงาน

2.  แบบประเมินการออกแบบการทดลอง/การวางแผน  การรวบรวมข้อมูล

3.  แบบประเมินเค้าโครงของโครงงาน

4.  แบบประเมินการใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

การประเมินผลงานหรือสิ่งประดิษฐ์จากการทำโครงงาน

1.  แบบประเมินการเขียนรายงานโครงงาน

2.  แบบประเมินส่วนประกอบของแผงโครงงาน

3.  แบบประเมินการนำเสนอโครงงานด้วยวาจา

4.  แบบประเมินการตอบคำถามเกี่ยวกับโครงงาน

 

หมายเลขบันทึก: 344439เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2010 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท