พ.ศ. 2580 ข้าราชการมหาวิทยาลัยสูญพันธุ์


                ปัจจุบัน  การบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งที่เรียกชื่อแตกต่างกันอย่างน้อย 3 ประเภท  คือ  ข้าราชการ  พนักงาน  และพนักงานราชการ  ทั้งๆ ที่ปฏิบัติงานลักษณะเดียวกัน   

                ทำไม  และ ทำไม ?               

               ขออธิบายความแตกต่างก่อนครับ  ส่วนทำไม  เอาไว้ทีหลัง               

               ข้าราชการ  พจนานุกรมอธิบายว่า "ผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการ"  ซึ่งมหาวิทยาลัยก็คือส่วนราชการ  ส่วนคนที่ถือว่าเป็นข้าราชการก็ต้องหมายถึงผู้ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ  ตามระเบียบข้าราชการพลเรือน  และได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์อื่น  อาทิ  ค่ารักษาพยาบาล  ค่าเช่าบ้าน  ค่าเลี้ยงดูบุตร ฯลฯ  จากเงินงบประมาณแผ่นดิน  ตำแหน่งข้าราชการในมหาวิทยาลัยมี 3 สาย  คือ  สาย ก.  มีหน้าที่สอน วิจัย  และให้บริการทางวิชาการ  สาย ข.  มีหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ  และสาย ค.  มีหน้าที่เกี่ยวกับงานบริหารและธุรการ  ปริญญาตรีได้เงินเดือน 7,630 บาท  เพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 1,000 บาท  ข้าราชการใหม่จะต้องทดลองปฏิบัติราชการอย่างน้อย 6 เดือน  แต่ไม่เกิน 1 ปี  เมื่อผ่านการทดลองปฏิบัติราชการแล้วจะได้เป็นข้าราชการประจำไปจนเกษียณอายุราชการ               

                พนักงาน  เป็นตำแหน่งบุคลากรในมหาวิทยาลัยที่มาแทนที่ข้าราชการ  เป็นตำแหน่งที่ใช้ในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล  เช่น  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)  แต่รัฐบาลเห็นว่าไหนๆ มหาวิทยาลัยก็จะไม่เป็นส่วนราชการกันแล้ว (ตามนโยบาย)  จึงกำหนดให้มีอัตราพนักงานแทนที่ข้าราชการในมหาวิทยาลัยของรัฐ (เดิม) ด้วยตั้งแต่ พ.ศ. 2543  ได้รับเงินเดือนแบบล่ำซำ (เหมาจ่าย) ส่วนผลประโยชน์อื่นที่เหมือนข้าราชการให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งไปกำหนดเอง  รัฐไม่จ่าย  มีโครงสร้างตำแหน่งและเงินเดือนกว้างๆ  คือ  พนักงานสายวิชาการ  ได้เงินเดือนไม่เกิน 1.7 เท่า (ของข้าราชการ)  และพนักงานสายบริการ  ได้เงินเดือนไม่เกิน 1.5 เท่า  เงินเดือนพนักงานสายวิชาการ 12,390 บาท  ส่วนสายบริการเงินเดือน 11,120 บาท  การจะได้เป็นพนักงานถาวรจะต้องผ่านการประเมินต่อเนื่อง ในระยะเวลา 2-3 ปี (แล้วแต่เป็นพนักงานสายใด)               

                 พนักงานราชการ  เป็นตำแหน่งบุคลากรอีกประเภทหนึ่งที่กำหนดใช้ในปี พ.ศ. 2549  นี่เอง  มีจุดมุ่งหมายที่น่าจะใช้กับฝ่ายปฏิบัติการ  เพราะกำหนดตำแหน่งไว้ 3 กลุ่มงาน  ได้แก่  กลุ่มงานเทคนิค (ปวส.)  กลุ่มงานบริการทั่วไป (ปริญญาตรี)  และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ (ปริญญาตรี)  ระดับปริญญาตรีได้รับเงินเดือนเริ่มต้น 8,720 บาท  เพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวอีก 1,000 บาท  ได้รับค่าตอบแทน (โบนัส)  มีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละ 2 ครั้ง  และทำสัญญาจ้างคราวละ 4 ปี

                 สรุป    ข้าราชการ   เงินเดือนน้อย  มั่นคงมาก               

                                 พนักงาน     เงินเดือนมาก   มั่นคงปานกลาง               

                                 พนักงานราชการ  เงินเดือนปานกลาง  มั่นคงน้อย               

                                 มาถึงคำตอบของคำถามว่า  ทำไม ?  พอจะมีคำอธิบายดังนี้ครับ               

                                 มหาวิทยาลัยในอดีตเป็นส่วนราชการตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง  ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยจึงเป็นข้าราชการ  ในภาวะวิกฤติสมองไหล  ไม่มีคนดีคนเก่งเข้ามหาวิทยาลัย  เพราะทำงานเอกชนมีรายได้ดีกว่าเยอะ  กอร์ปกับระบบราชการ  ทำให้การบริหารไม่คล่องตัว  จึงมีการคิดให้มหาวิทยาลัยไม่เป็นส่วนราชการ  เรียกว่าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ (Autonomous University)  คือระบบคล่องตัวขึ้น  คนทำงานได้เงินมากขึ้น เพื่อให้สมองไหลกลับ (จริงหรือเปล่าไม่รู้)  เป็นการปรับระบบการบริหารงานบุคคลด้วย  เมื่อแตกต่างกับระบบเดิม  จึงไม่ให้เรียกบุคลากรเป็นข้าราชการ  เรียกว่า  พนักงาน แทน  ฟังดูเหมือนมหาวิทยาลัยเป็นบริษัทอย่างไรชอบกล  แต่ภาครัฐให้เรียกอย่างนี้  กฎหมายก็ต้องออกมาบังคับใช้อย่างนี้               

                 ต่อมาก็มี  ตำแหน่งพนักงานราชการ  ที่ผมฟังดูแรกๆ ก็งง  แต่เมื่อเห็นรูปแบบสัญญาจ้าง 4 ปี  ก็นึกออกว่านี่ก็การบริหารบริษัทอีกเหมือนกัน               

                  ยังจำได้ไหม  การประเมิน 5 เปอร์เซ็นต์ท้าย  ที่ต้องเอาข้าราชการออก  หรือปรับปรุง  นั่นก็แนวคิดบริษัท  เป็นการจัดการแบบเอกชนครับ               

                  ผมเป็นห่วงตามชื่อเรื่อง คือ  พ.ศ. 2580  ข้าราชการมหาวิทยาลัยสูญพันธุ์               

                   สมมติว่า  ข้าราชการคนสุดท้ายของมหาวิทยาลัย  จบปริญญาตรีอายุ 22 ปี  เข้าทำงานเมื่อปี 2543  ปี พ.ศ. 2580  เขาจะเกษียณอายุราชการ               

                   ผมว่าไม่ถึงปี 2580  หรอกครับ  เพราะระบบจะเปลี่ยนและบีบบังคับ  เผลอๆ อีกไม่ถึง 20 ปี  ก็จะไม่มีข้าราชการในมหาวิทยาลัยแล้ว               

                    ผมเรียนบริหาร  รู้ว่าการบริหารจัดการต้องเปลี่ยนแปลง (Change) เพื่อประสิทธิภาพองค์การ               

                     แต่การเปลี่ยนแปลงให้ข้าราชการหมดไป  เหลือเพียง  พนักงาน  และพนักงานราชการ  ในมหาวิทยาลัย  จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพองค์การจริงหรือเปล่า ?  ผมไม่แน่ใจ               

                      ที่แน่ๆ คือ  จะไม่มี ข้า ของในหลวง  ในมหาวิทยาลัยแล้วหรือครับผมเสียดายคำว่า  ข้าราชการ               

                      ข้าราชการ  ที่หมายถึง  ข้า  ที่กระทำการของพระเจ้าอยู่หัว               

                      กลับมาคิดใหม่อีกทีจะดีไหมครับ               

                     เรื่องนี้  เกี่ยวกับ ปฏิญญาฟินแลนด์  หรือเปล่าหนอ ?  ผมคิดมากไปหรือเปล่า ?               

                      ขอแถมตลกร้ายเรื่อง  ประสิทธิภาพของคนในองค์กรครับ               

                      มนตรี  เข้าไปพบร้อยเวรในสถานีตำรวจ  แล้วบอกว่า               

                      ร้อยเวรครับ  เมื่อเจ็ดวันที่แล้ว  ผมมาแจ้งความว่าแหวนผมหาย  แต่วันนี้ผมพบแหวนวงนั้นแล้ว  จึงมาขอถอนแจ้งความครับ               

                      ร้อยเวรขมวดคิ้ว  แล้วพูดว่า               

                      เฮอะ!  ทำไมคุณไม่มาแจ้งให้เร็วกว่านี้  หลังคุณแจ้งความ  วันรุ่งขึ้นเราก็จับขโมยได้  และตอนนี้ศาลก็ตัดสินจำคุกไปเรียบร้อยแล้วด้วย               

                      การบริหารให้องค์การมีประสิทธิภาพไม่ยากอย่างที่คิด  จริงๆ  ใช่ไหม ?

หมายเลขบันทึก: 34347เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2006 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ เป็นห่วงเหมือนกันว่า พนักงานราชการจะทำหน้าที่จริงๆ หรือจะทำเพื่อรอไปหาที่อื่นที่ดีกว่า อำนาจไปอยู่ที่ซีอีโอมากเกินไป ก็คงไม่ดีนะครับ ถ้าอาจารย์มีโอกาสก็ช่วยเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขบ้างนะครับ บ้านเมืองเรามันต้องอยู่ต่อไปอีกนานนะครับ คนที่จะรับผิดชอบต้องเอาประโยชน์ตนน้อย เสียสละให้มากครับ แต่ที่เห็นที่เป็นอยู่นั้น มักประโยชน์ตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม เพราะความต้องการด้านวัตถุมากขึ้นๆ น่าเป็นห่วงอย่างมากเลยครับ

เรียน  คุณประถม  บุญทน

ขอบคุณมากครับที่ร่วมแสดงความคิดเห็น  ขอโทษที่ผมติดงานหลายเรื่อง  ไม่ได้เข้าบล็อกครับ

ผมเห็นด้วยและชอบประโยคที่ว่า "มักประโยชน์ตนมากกว่า ประโยชน์ส่วนรวม" คนที่ทำอย่างนี้  เรียกเพราะๆ ว่า  ขาดจิตสำนึก  เห็นแก่ตัว  เรียกแบบชาวบ้านว่า  หน้าด้าน ครับ  ผมจะหาโอกาสเสนอความคิดต่อครับ  ไม่รู้ว่านอกจากคุณประถมแล้ว  มีคนเข้ามาอ่านอีกหรือเปล่า  ผมหาตัวเลขแสดงจำนวนคนเข้าบล็อกผมไม่เจอครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

บางครังความเจริญทางด้านวัตถุก้าวหน้าไปเร็ว..แต่ความเจริญทางด้านจิตใจของคนเรากลับลดลง...ทำให้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม..
จากใจพนักงานราชการคนหนึ่ง

ขอขอบคุณ รศ.ดร.สมบัติ นพรัก มาเลยค่ะ ที่เห็นความสำคัญเกี่ยวกับพนักงานราชการ และเห็นด้วยอย่างยิ่ง เกี่ยวกับความมั่นคงน้อยของ พนักงานราชการ ถ้ามีทางเลือกก็คงไม่เลือกพนักงานราชการ  1.  สวัสดิการและสิทธิต่างๆ ก็เหมือนลูกจ้างชั่วคราวเลย เพียงแต่มีสัญญาจ้าง 4 ปี  หลังจากนั้นถ้าไม่ได้รับการจ้างต่อจะทำอย่างไร

2. หน้าที่ความรับผิดชอบก็ไม่ได้น้อยไปกว่าข้าราชการ หรือพนักงานมหาวิทยาลัยเลย

3.  บางครั้งผู้บริหารของหน่วยงานยังไม่เข้าใจความแตกต่างของพนักงานราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยเลย ทำให้พนักงานราชการถูกมองข้ามในการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท