สภามหาวิทยาลัย : 22. หารือวิธีทำงานของสภาฯ และของนายกสภาฯ


• ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ มากว่า ๑๐ ปี    กว่า ๑๐ มหาวิทยาลัย (ขณะนี้เป็นอยู่เพียง ๔ มหาวิทยาลัย)    ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำหน้าที่นายกสภา     ที่จริงเคยมีคนมาทาบทามให้เป็นนายกสภาของบางมหาวิทยาลัย    ผมก็เอาตัวรอดมาได้   แต่คราวนี้เป็นของมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนจบมาและทำงานในช่วงต้นชีวิตการทำงาน คือมหาวิทยาลัยมหิดล    และกรรมการสรรหาที่มาทาบทามมีวิธีต้อนให้ผมจนมุม   จึงปฏิเสธไม่ได้
• การเป็นกรรมการสภาฯ เราแค่เข้าไปมีส่วนร่วม   แต่การเป็นนายกสภาฯ ต้องคิดเชิงระบบ ต้องคิดวิธีทำงาน
• หัวใจคือ ต้องหาวิธีทำให้สภามหาวิทยาลัยมีบทบาท add value ไม่ใช่ add burden แก่มหาวิทยาลัย และแก่ทีมบริหารมหาวิทยาลัย  
• ในการประชุมนัดแรกที่ผมจะเป็นประธานคือเดือนมิถุนายน    ผมขอให้มีวาระหารือหลักการและวิธีทำงานของสภาฯ 
• เพื่อเตรียมข้อเสนอในวาระนี้ผมเชิญผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสภาฯ ประชุมหารือเมื่อวันที่ ๕ มิย. ๔๙    มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นรองอธิการบดี ๔ ท่าน    ผอ. กองหรือเทียบเท่า ๑๒ ท่าน   และเจ้าหน้าที่อื่น ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด ๒๑ คน
• เรามีเวลา ๙๐ นาทีในการหารือ    ผมใช้เทคนิค BAR ในการดำเนินการประชุม   โดยสร้างบรรยากาศสบายๆ และเป็นอิสระ ให้ทุกคนพูดออกมาจากใจ   ไม่มีถูก-ผิด    ให้แต่ละท่านบอกว่า (๑) คาดหวังให้สภาฯ ทำ/ไม่ทำ อะไร เพื่อ add value แก่วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย  และแก่งานในหน้าที่ของตน และ (๒) เพื่อแสดงบทบาทดังกล่าวสภาควร/ไม่ควร ทำอย่างไร  (๓) ตนเองจะทำอะไรเพื่อสนธิพลังกับสภาฯ ในการบรรลุเป้าหมายนั้น   
• เราจัดให้มี “คุณลิขิต” คอยจดบันทึก “ภาพฝัน” ดังกล่าว    และสังเคราะห์เป็นประเด็นสำหรับนำเสนอต่อสภาฯ ในการประชุม วันที่ ๒๑ มิย. ๔๙    งานนี้มีรองอธิการบดีที่เป็นเลขานุการสภาฯ เป็นแม่กอง
• ผลสรุปของการประชุมที่ผมจับความได้ ไม่แปลกไปจากความคาดหมาย    คือนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ และกฎหมายอื่นๆ   สภามหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่เป็น “เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน – connective tissue” เชื่อมประสานพลังต่างๆ ที่มีอยู่ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล    ให้ประกอบหรือสนธิกันเข้าเป็นพลังขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุดมศึกษาของชาติ  
• ผมได้เสนอว่าการประชุมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นทางการ เดือนละครั้ง ครั้งละ ๒ – ๓ ชั่วโมง ควรแบ่งเป็นเวลาสำหรับพิจารณาเรื่องงานสร้างสรรค์ งานเชิงพัฒนาระบบ ประมาณครึ่งหนึ่งของเวลา   และควรเพิ่มเวลาที่ไม่เป็นทางการให้สมาชิกของสภามหาวิทยาลัยได้มีปฏิสัมพันธ์กันในมิติของการมองภาพใหญ่ เช่นการสัมมนาประจำปี    การจัด lunch talk ก่อนการประชุมสภาฯเป็นต้น และอาจมีการจัดให้กรรมการสภาฯ ไปเยี่ยมชื่นชมกิจการของ คณะ/หน่วยงาน ต่างๆ หมุนเวียนกันไป

วิจารณ์ พานิช
๕ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 34344เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2006 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นับว่าเป็นโอกาสดีของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างมากครับ ที่ได้อาจารย์มาเป็นนายกสภา ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในเรื่องการพัฒนาและมีแนวทางในการจัดทรัพยากรเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัย อยากให้นายกมหาวิทยาลัยอื่นได้มีแนวคิดแบบนี้บ้าง เพราะเท่าที่ผมสังเกตหลายๆ มหาวิทยาลัยมักเชิญนักการเมืองมาเป็นนายกสภา โดยหวังเพียงเพื่อของการสนับสนุนเรื่องงบประมาณ แต่ไม่ค่อยหวังเรื่องแนวคิดทางการพัฒนาเท่าใดนัก ทำให้มหาวิทยาลัยยังไปไม่ถูกทาง พัฒนาไม่ได้นัก โดยส่วนใหญ่ก็มักใช้ผู้บริหารภายในเป็นผู้กำกับนโยบาย ซึ่งมักเป็นเชิงการบริหารมากกว่า เท่าที่ผมเห็นมามักเป็นเรื่องการบริหารมากกว่าการคิดเชิงนโยบาย หากอาจารย์ได้กระจายแนวคิดของบทบาทหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย ก็คงได้ประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกด้วยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท