ชีวิตที่พอเพียง : 44. สร้างฐานะ


• ผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกนี้จากการร่วมประชุม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การศึกษาดูงานการส่งเสริมคุณธรรมของประเทศเวียดนาม” จัดโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม    เมื่อวันที่ ๖ มิย. ๔๙    และเขียนบันทึกนี้จบในระหว่างการประชุมนั้นเอง
• ผมเป็นคนมีพลังขับดันด้านการสร้างฐานะสูงมาก    เพราะตอนเป็นเด็กรู้สึกว่าตนเป็นลูกชาวบ้าน     คล้ายๆ เป็นพลเมืองชั้นสอง     ไม่เหมือนลูกข้าราชการและลูกเศรษฐีคนจีน    ผมอยากเป็น “พลเมือง” ที่ไม่ใช่ชั้นสอง     ผมอยากหนีจากสภาพเป็นพลเมืองชั้นสอง
• เดาว่าจิตใต้สำนึกแบบนี้คงเป็นแรงขับดันให้ผมขยันเรียนตั้งแต่เป็นเด็ก    และติดเป็นนิสัยขยันเรียนรู้มาจนแก่ขนาดนี้     คงจะกลายเป็นนิสัยหรือสันดานไปเรียบร้อยแล้ว
• ผมสังเกตว่ารุ่นลูกไม่มีแรงบันดาลใจรุนแรงอย่างรุ่นผม (น้องๆ ของผมก็ขยันเรียน แต่ไม่มากผิดปกติอย่างผม)     เดาว่าเพราะชีวิตของเขาสบายขึ้น    มีความรู้สึกมั่นคงในชีวิตสูง     แรงขับดันเพื่อหนีสภาพเดิมจึงไม่มีอย่างที่ผมมี
• แต่ก็แปลก ที่ผมไม่มีแรงขับดันให้สร้างฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการเงิน    ในกลุ่มเพื่อนที่เรียนจบศิริราช รุ่น ๗๑  จำนวน ๑๐๙ คน ผมน่าจะจนเงินที่สุด    แต่ผมมักจะคุยโม้กับใครต่อใครว่าผมไม่ “จน”     หรืออวดว่าผมเป็นคน “รวย”    เพราะจนหรือรวยเป็นเรื่องของใจ    ถ้าใจของเรารู้สึกว่าเราเพียงพอ พอใจ มั่นใจ ในฐานะของตน เราก็เป็นคนรวย   
• ผมมีความเชื่อว่าคนที่มีเงินมาก แต่จิตใจเร่าร้อนที่จะ “เอา” เข้าตัวให้มากยิ่งขึ้น     ถือเป็นคน “จน”     คนที่ “ให้” แก่สังคมยิ่งมากเพียงใด ก็ยิ่งถือว่าเป็นคนที่ “รวย” มากเท่านั้น  
• ผมไม่มีเงิน และหาเงินไม่เป็น    จึงหันมา “ให้” แก่สังคมในรูปแบบอื่น ที่ผมพอจะ “ให้” ได้     สิ่งที่ให้ได้ก็คือสิ่งที่ผมพอจะมี ได้แก่ความขยันขันแข็ง    ความซื่อสัตย์สุจริต    ความรักงานเชิงระบบ เชิงสร้างสรรค์
• แต่ก็แปลก การ “ให้” แบบนี้ผมไม่ได้เสียสละใดๆ เลย     กลายเป็นว่าผมยิ่ง “ได้” มากยิ่งขึ้น    คือ ได้เรียนรู้     ได้โอกาสเรียนรู้ มากขึ้นอย่างน่าพิศวง     ผมได้รับสิทธิพิเศษในการเรียนอย่างที่น้อยคนนักจะได้รับ    นั่นคือการเรียนรู้จาก ปราชญ์ และคนดีคนเก่งของแผ่นดิน ที่เข้ามาร่วมกันทำงานในองค์กร/หน่วยงานต่างๆ ที่ผมเคยเข้าไปทำงาน    และที่เข้ามาเป็นกรรมการต่างๆ ที่ผมมีโอกาสเข้าไปรับใช้   
• ทุกสิ่งทุกอย่างต้องการความพอดี    ภรรยาบอกว่าผมเป็นคนไม่พอดี     คือมีตุ้มถ่วงไปทางทำงานมากเกินไป    และการได้รับสิทธิพิเศษในการทำงานในชีวิตตอนแก่ ชักจะมากเกินพอดี  

วิจารณ์ พานิช
๖ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 34338เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2006 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
จริงครับ เรื่องความรู้ ความคิด นี้ยิ่งให้ยิ่งมีครับ ขอให้อาจารย์มีความสุขกับการให้แบบนี้ต่อไปนะครับ คนรุ่นใหม่จะได้รับแนวคิด การให้ จากอาจารย์ให้มากขึ้นๆ ครับ
  • ชอบอ่านครับ ได้แนวคิดดีมาก
  • ขอบคุณมากครับ
มีคนบอกว่ายิ่งให้ยิ่งได้ค่ะอาจารย์       อาจารย์ให้มาตลอดชีวิตขณะนี้คงได้ไปเรื่อยๆค่ะ

อาจารย์คะ ครอบครัวหนูมีปัญหาหนักมาก ที่ซุกหัวนอนยังจะไม่มี ตอนนี้หนูอายุ 22 ปี ทำงานในพื้นที่เงินเดือนน้อยนิด หนูอยากมีบ้าน อยากจะดูแลแม่ให้แม่มีความสุข อยากจะสร้างฐานะตนเอง แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าจะทำยังไง การที่เราเป็นคนต้อยต่ำ แล้วได้มาอยู่ภายในวงล้อมของคนรวยนี้ ความรู้สึกเราช่างแย่จริงๆนะคะ ทำไมเค้าถึงโชคดีได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย มีพร้อมทุกอย่าง ไม่ต้องไขว่คว้าอะไร แต่เราสิ****

หนูก็มีแรงขับดันให้หนูอยากเรียนสูงๆคะ แต่ว่าอย่างอื่นไม่มีก็เลยไม่ได้เรียน

แต่หนูเชื่อมั่นว่าสักวันหนูต้องมีบ้าน มีทุกอย่างเหมือนกับคนอื่นให้ได้ แค่เราขยัน และกตัญญูใช่มั๊ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท