เสวนา วิถีพอเพียง:ชีวิต งานและภูมิปัญญา จากปราชญ์ชาวบ้านอีสาน


 ปราชญ์ชาวบ้านชาวอีสานหลายท่านมี หลักคิด วิถีชีวิตทั้งในเรื่องชีวิตครอบครัว  การงาน และภูมิปัญญา  เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองภายใต้การสังเกต  ผ่านการลองผิดลองถูก เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ สรุปบทเรียน สร้างเครือข่าย  จนกลายเป็นภูมิปัญญา เผื่อแผ่ให้แก่ชุมชนและสังคม สามารถนำไปปฏิบัติใช้ในที่อื่นๆ ได้

ในวันที่ 4 มีนาคม 2553  สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) ร่วมกับชมรมเศรษฐกิจพอเพียง กรมส่งเสริมการเกษตร จัดเสวนาเรื่อง  วิถีพอเพียง:ชีวิต งานและภูมิปัญญา จากปราชญ์ชาวบ้านอีสาน ที่ตึกสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร  มีปราชญ์มาร่วม 4 ท่านคือ

พ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานสถาบันฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย

พ่อผาย สร้อยสระกลาง ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย

อาจารย์ไพรัช ชื่นศรี ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแสงจันทร์ จังหวัดบุรีรัมย์

ลุงโชคดี ปรโลกานนท์ แหล่งเรียนรู้การเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น

ดำเนินรายการโดย รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน จากมสธ.

เริ่มจากการฉายวีดีทัศน์สัมภาษณ์ ปราชญ์ 5 คนคือ

พ่อคำเดื่อง ภาษี ให้ข้อคิดถึงจุดเปลี่ยนแปลงจากเดิมปี 2549 กู้เงินจาก ธกส.มาปลูกปอ จนเป็นหนี้ พ่อมีความคิดว่าต้องไม่กู้จึงจะไม่เป็นหนี้ เงินเป็นเหยื่อ เราคือปลาและธนาคารคือคันเบ็ด เราต้องไม่เห็นแก่ตัว ใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน ให้โลกน่าอยู่และส่งต่อให้ลูกหลานดูแล

พ่อผาย สร้อยสระกลาง เมื่อก่อนนี้เป็นพระมา 10 ปี ช่วงปี 2500 จบนักธรรมเอก พื้นที่สระคูณไม่มีแหล่งน้ำๆเกิดขึ้นได้จากคน ต้องพัฒนาคนก่อน สอนคนให้รู้จักทำงานเหมือนผึ้งซึ่งมีการรวมกลุ่ม ทุกคนต้องทำงาน ใน 2 ปี มีสระ158 แห่ง ปลูกทุกอย่างทั้งของกิน ไม้ยืนต้น ไม้ประดับทำให้ชาวบ้านมีอยู่มีกิน มีหลักคิดคือร่างกายเป็นเงิน เป็นทุน เงินไม่ใช่มรดก การเกษตรมีความสำคัญ การเกษตรเลี้ยงโลก เป็นรากฝอยของประเทศ ดูดอาหารให้รากแก้วซึ่งหมายถึงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

อาจารย์ไพรัช ชื่นศรี  ได้องค์ความรู้จากการศึกษาดูงานจากปราชญ์ชาวบ้าน ได้เห็นความรู้ทั้ง 2 ด้าน จากภูมิปัญญาและเทคโนโลยี นำมาปรับใช้ น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการในศูนย์เรียนรู้ฯ ทำงานวิจัยกับชาวบ้านเช่นการเลี้ยงไส้เดือน การทำปุ๋ย 24 ชั่วโมง การขยายพันธุ์พืชฯลฯ เผยแพร่ให้ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มีเกษตรกรต้นแบบ20 คนประชุมทุกเดือนที่อ.สตึก ปัจจัยสำคัญในการทำงานเรื่องนี้คือ ใจมาก่อน มีจิตอาสา

ลุงโชคดี ปรโลกานนท์  ก่อนนี้เคยทำการเกษตรที่พึ่งพิงการตลาด ทำ 2-3 ปี ไปไม่ได้ จุดเปลี่ยนคือปรับรูปแบบการผลิตใหม่นำไปสู่ความยั่งยืน คิดอยู่ 2 เรื่องคือการปลูกต้นไม้ซึ่งเป็นผู้ให้ และการเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นผู้บริโภค จึงเลือกปลูกต้นไม้ ลดพื้นที่ปลูกลง คิดใหม่เป็น ปลูกเพื่อกิน เหลือกิน จึงแปรรูปและขาย เป็นการปลูกคุณค่าก่อน ผลพลอยได้คือมูลค่า มีองค์ความรู้คือ เรียนจากคน รู้จากสวน

อาจารย์ขวัญดิน สิงห์คำ  ชุมชนศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ จบครูเกียรตินิยมและเป็นครู 11 ปี การเกษตรบ้านเราขาดองค์ความรู้ จึงสนใจการทำปุ๋ยสะอาด และขยะ การทำงานใช้หลักธรรมคือศาสนา ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้ที่ประชุมในการปกครอง 6 ฐานงานเช่นร้านค้า สมุนไพร แชมพู ฯลฯ มีรายได้ ส่วนอีก 40 กว่าฐานงาน เป็นงานบริการ มีการขายต่ำกว่าทุนเป็นการจุนเจือ เท่าทุนเป็นการทำบุญคืนประชาชนไม่มีใครรวย ใครจน ขายต่ำกว่าทุนและแจกฟรี การทำงานต้องไม่โลภ มีความเสียสละ ทำให้เกิดมิตรมากมาย คบใคร คนนั้นก็ไม่ทิ้ง กำไรที่ได้คือมิตรและเพื่อน

ส่วนการอภิปรายจะได้เล่าต่อนะคะ

ธุวนันท์ พานิชโยทัย

10 มี.ค.53

หมายเลขบันทึก: 343282เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2010 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอชื่นชม คุณธุวนันท์

1. สรุปได้เก่งมาก

2. นำเสนอจุดเปลี่ยน ของคนที่เราถอดบทเรียน

ขอติดตามอ่านด้วยคนค่ะ

สวัสดีครับ คุณธุวนันท์ พานิชโยทัย

แนวคิดของปราชญ์ชาวบ้านอีสาน เน้นกาพึ่งตนเอง ลดการใช้สารเคมี คิดเปลี่ยนไปจากคนทั่วไป

มองแนวทางดำเนินชีวิตล่วงหน้าจากคนทั่วไป บุคคลเหล่านี้แรกเริ่มคนทั่วไปบอกบ้า ปัจจุบันคนเริ่มยอมรับในความคิดดังกล่าว

ผมศึกษาเรื่องภูมิปัญญาจึงเห็นว่าเขาคิดได้ล้ำลึก

ขอติดตามงานเสวนาฯ ด้วยคนครับ

:)

เรียนคุณพรชัย

  • ขอบคุณคะ
  • วันหลังขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยนะคะด้านภูมิปัญญา

ชอบการเกษตร ชอบอาจารย์ขวัญดินครับ รักแผ่นดินอยากให้อุดมทั่วประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท